ดูแลนิ้วมือ...ถือของหนักให้ถูกวิธี


นิ้วล็อกเป็นภัยเงียบที่ป้องกันได้ หากพยายามลดความเสี่ยงของการใช้มือผิด ๆ แค่นี้คุณก็จะมีสุขภาพมือที่ดีคู่กับสุขภาพกายที่แข็งแรงไปอีกนาน.

ดูแลนิ้วมือ...ถือของหนักให้ถูกวิธี
 
สาว ๆ นักช้อปทั้งหลายที่ยังไม่มีหนุ่ม ๆ แนบกายคอยช่วยถือของต้องระมัดระวังอาการ “นิ้วล็อก” ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้งานมืออย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการบีบกำ หรือหิ้วของหนัก ๆ ซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง เพราะจะทำให้ปลอกหุ้มเอ็นบวม หดรัด กลายเป็นพังผืดที่ขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก เป็นที่มาของอาการนิ้วล็อกในที่สุด
 
นายแพทย์วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน อธิบายถึงอาการนิ้วล็อกว่าเป็นความผิดปกติของมือคนทำงานยิ่งแข็งแรงมากยิ่งมีโอกาสมาก สามารถพบได้ในแม่บ้านเกือบทุกบ้าน และผู้หญิงมักจะเป็นมากกว่าผู้ชาย 3-4 เท่า เพราะผู้หญิงในเมืองไทยมีการใช้งานของมือรุนแรงซ้ำซากมากกว่าผู้ชาย ตั้งแต่หิ้วของ จ่ายกับข้าวและชอปปิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ยิ่งถูกยิ่งหิ้วมาก การเตรียมอาหาร การสับไก่ สับกระดูก การทำอาหารใช้มือจับกระทะ ตะหลิว การซักผ้า บิดผ้า ทำงานบ้านต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นหน้าที่ของคุณผู้หญิง
 
อาการที่พบ เริ่มจากเจ็บฐานนิ้ว โคนนิ้วด้านฝ่ามือ นิ้วฝืด สะดุด กำมือหรือ เหยียดมือไม่สะดวก กระเด้ง หรือล็อก นิ้วงออยู่เหยียดไม่ออก หรือนิ้วเหยียดอยู่แต่งอไม่ลง นิ้วอาจบวม โก่งงอ นิ้วเกยกัน แบไม่ออก เจ็บปวด มือไม่มีกำลังมีอาการนิ้วชาร่วมด้วย หากพบว่าเพิ่งจะเริ่มมีอาการ ให้พักมือจากการใช้งานสักระยะ แช่น้ำอุ่นผสมกับการกินยาแก้อักเสบ การทำกายภาพบำบัด ฝึก กำ-แบ ด้วยมือเปล่า สะบัดมือเบา ๆ ให้เป็นการผ่อนคลาย ที่สำคัญนวดฐานนิ้วเบา ๆ จะทำให้ดีขึ้น ถ้าอาการเลวร้ายลงจนเกิดการล็อกของนิ้วมือ อาจต้องฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปเพื่อลดการบวม แต่ไม่ควรฉีดเกินสองครั้ง ถ้ายังไม่หายต้องผ่าตัด 
 
หากเรารู้จักระมัดระวังตัวจะป้องกันได้ เช่น การหิ้วถุง ควรหิ้วถุงให้ถูกวิธี หิ้วให้เต็มฝ่ามือแทนการใช้นิ้วเกี่ยว ใช้ผ้ารอง ใช้รถเข็น รถลาก แน่นอนว่าการทำงานบางอย่างอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ควรประยุกต์ใช้เครื่องทุ่นแรง ใส่ถุงมือ ประยุกต์ด้ามจับอุปกรณ์ให้ใหญ่และนิ่มจะลดความเสี่ยงได้ ถึงแม้เป็นโรคนิ้วล็อก การรักษาตั้งแต่แรกย่อมช่วยชะลอหรือตัดขบวนการที่จะพัฒนาต่อไปจนเป็นขั้นรุนแรงให้สามารถหายได้
 
นิ้วล็อกเป็นภัยเงียบที่ป้องกันได้ หากพยายามลดความเสี่ยงของการใช้มือผิด ๆ แค่นี้คุณก็จะมีสุขภาพมือที่ดีคู่กับสุขภาพกายที่แข็งแรงไปอีกนาน.

หมายเลขบันทึก: 241649เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2009 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • การบีบนวดลูกบอลจะช่วยเรื่องนิ้วล๊อกได้รึป่าวคะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ

การรณรงค์โลกร้อนดูจะได้ผลดีหากรณรงค์ควบคู่กับโรคนิ้วล็อกค่ะ คือ ส่วนตัวแล้วจะใช้ตะกร้าไปจ่ายตลาดแทนการหิ้วถุงพลาสติกใบเล็กใบน้อยค่ะ เหตุผลคือไม่อยากเป็นโรคนิ้วล็อกและก็ไม่อยากใช้ถุงพลาสติกถ้าไม่จำเป็นค่ะ

วันก่อนมีกลุ่มนักศึกษาที่รณรงค์เรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติกมาขอถ่ายรูปดิฉันหิ้วตะกร้าตอนจ่ายตลาดเพื่อเป็นตัวอย่างค่ะ ดิฉันก็บอกน้องๆ ไปว่า น่าจะรณรงค์ด้วยว่า หิ้วถุงพลาสติกบ่อยๆ จะทำให้เป็นโรคนิ้วล็อกด้วยนะค่ะ :)

ขอบคุณค่ะ

จันทวรรณ

เรียนคุณ มณีแดง การบีบบอลนิ่ม ไม่ช่วยแก้นิ้วล๋อก แต่กลับทำให้แย่ลง แต่ก็ยังดีกว่า การบีบสปริง บีบมือ (hand grip)จะมีการบดกันที่ฐานนิ้้วทำให้เป็นนิ้วล็อก หากทำบ่อย และเข้าวัยเสื่อม 50+

www.trigger-finger.net

ขออนุญาตนำไปบอกครู เพื่อถ่ายทอดสู่เด็กนะครับคุณหมอ ขอบพระคุณมากครับ

เรียน อ. จันทวรรณ

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ตระกร้า ดีกว่าถุงพลาสติก ( ด้ามจับ กระจาย นำหนักดีกว่า)

คนสมัยเดิมๆ หิ้วตระกร้า จ่ายตลาด ปลอดภัยกว่า แม่บ้านสมัยใหม่ นิ้วล็อกเพี๊ยบ

การใข้ถุงผ้า ก็ช่วนรณรงค์ โลกร้อน นิ้วล็อกพอช่วยบ้าง แต่ให้ดีหิ้วน้อยปล่อยวางบ้าง ใช้รถเข็น รถลาก ปลอดภัยกว่า ตระกร้า ถุงผ้า ส่วนถุงพลาสติก แย่สุดครับ

หมอวิชัย

www.lockfinger.com

แล้วไอ้ที่เป็นเหมือนตระคริวที่นิ้วล่ะคะเหมือนกันไหม

คือแบบว่าจะแยกออกจากกันยังไงล่ะคะ

เรียน อาจารย์วิชัย

ขอสอบถามนิดนึงนะคะ หากดำเนินการรักษาโรคนิ้วล็อกเรียบร้อยแล้ว คือ การผ่าตัด/การเขี่ย จะมีวิธีใดในการช่วยให้นิ้วกลับมามีสภาพเหมือนปกติเร็วที่สุดคะ หรือว่าจะทานยา หรืออาหารประเภทใดดีคะ เพื่อช่วยบำรุงเส้นเอ็น หรือเพื่อไม่ให้กลับมามีอาการเช่นเดิมอีกคะ (พอดีจะซื้อของไปฝากผู้ป่วยค่ะ)

ขอบคุณมากค่ะ

วิไลวรรณ

หลังการเจาะ หรือผ่ารักษาแล้ว ระยะแรกๆควรพักมือ อย่า กำ บีบ หิ้วรุนแรง การประคบร้อน ฝึกกำๆแบๆ จะช่วยฟื้นฟูสภาพให้หายดีขึ้น อาหารคงไม่เกี่ยว ของฝากที่ให้ประโยชน์ หมอคิดว่า เป็นกระเป๋านำร้อน แบบจีน ใช้เสียบไฟฟ้าก็ใช้ได้ครับ

หมอวิชัย

เรียนปรึกษาอาจารย์คะ คือขณะนี้มีอาการของนิ้วล็อกที่นิ้วกลางมือขวาเป็นมาประมาณ 1 เดือน เคยรับประทานแก้อักเสบ ประคบอุ่นบ้าง อาการดีขึ้นแต่ไม่หายสนิทคือไม่สามารถกำมือได้สุด และไม่สามารถกางมือได้สุดเช่นกันคะ จึงอยากปรึกษาอาจารย์ว่าควรทานยาอีกหรือเปล่าคะ แล้วการพักการใช้งานโดยการใช้เครื่องมือดามและการกายภาพ อาจารย์พอจะมีวิธีแนะนำไม่คะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท