การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 3/2549 (3.1) ต่อ


      เมื่อวานนี้เล่าถึงการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 3/2549  ในวาระที่ 3 ค้างเอาไว้  วันนี้ขอเล่าต่อเลยก็แล้วกันนะคะว่าเมื่อพักรับประทางอาหารกันแล้ว  การประชุมดำเนินต่อไปอย่างไร

 

     วาระที่เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)

 

     คุณปิยชัย  ในฐานะประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านนาป้อใต้ (ต้นธงชัย) ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า  เราน่าจะเอาข้อมูลมาศึกษากันดีกว่า  อย่างกลุ่มของผมซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก (มีสมาชิกร้อยกว่าคนค่ะ) บัญชีถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์  2549  กลุ่มของผมจ่ายเงินเข้ามาที่เครือข่ายฯแล้ว 55,000 กว่าบาท  แต่ติดค่าเฉลียศพที่ต้องจ่ายอีกประมาณ 13,000 บาท รวมทั้งหมดแล้วผมต้องจ่ายเงินเข้าเครือข่ายฯ  69,000 กว่าบาท  ผมรับมาจากเครือข่ายฯแล้วประมาณ  87,000 กว่าบาท  ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ผมจ่ายเงินมาที่เครือข่ายฯประมาณ 60-70 กว่าเปอร์เซ็นต์  ที่ผมเสนออย่างนี้ก็เพราะว่าอยากให้แต่ละกลุ่มไปทำข้อมูลอย่างนี้มา  เราจะได้รู้ว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร 

 

     ประธานบอกว่า  ถ้าเรามีข้อมูลอย่างนี้  เราจะได้เอาข้อมูลมาพูดคุยกันว่าเราจะช่วยเหลือกันอย่างไร  ผมจะพูดให้ฟังว่าการที่ไม่ส่งรายงานฐานะทางการเงินจะมีผลอย่างไร

 

     1.ไม่รู้ยอดสมาชิกในแต่ละเดือนว่าจะต้องส่งค่าเฉลี่ยศพเป็นจำนวนเท่าไหร่ 

 

     2.ไม่รู้ว่าเงินที่เก็บมาจากชาวบ้านอยู่ที่ไหนบ้าง  กองทุนไหนพอหรือไม่พอก็ไม่รู้

 

     แค่ 2 เรื่องนี้ถ้าเราไม่รู้เราก็ไม่รู้ว่าจะเดินต่อกันอย่างไรแล้ว  การที่กติกาบอกว่าต้องส่งเงิน 20% มาที่เครือข่ายฯ  ถ้าเงินค่าเฉลี่ยศพเกิน 12 บาท  เราจะเอาเงินกองทุน 20% นี้มาจ่ายให้  เพราะ  ตอนนี้เราจ่ายเงินค่าศพไปแล้วล้านกว่าบาท  เราเรียกเงินคืนมาไม่ได้  แต่ที่ผ่านมาทุกกลุ่มจ่ายเงินเกิน 12 บาท/หัว/คน/เดือน  ทำให้เงินไม่พอ  อยู่ไม่ได้  ต่อไปนี้ถ้าเดือนไหนจ่ายเงินเกิน 12 บาท/หัว/คน/เดือน  เครือข่ายฯก็จะเอาเงินจากกองทุนกลางเฉลี่ยคืนให้ไปโดยที่ไม่ต้องกู้  ไม่ต้องยืม  แต่ในการที่จะเอาเงินตรงนี้ออกไปได้มันจะต้องเป็นระบบ  มันถึงจะแก้ปัญหาในเรื่องการเฉลี่ยความเสี่ยงได้  อันนี้ต้องเข้าใจ  มันเป็นสูตรที่ในหลักการผมเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มที่บอกว่าเงินไม่พอ  ต่อไปจะมาบอกว่าเงินไม่พอไม่ได้  เพราะว่า  ท่านส่งเงินมาที่เครือข่ายแค่ 12 บาท/คน/เดือน 

 

     อ.ชวนพิศ  ในฐานะประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านเอื้อม  ได้แสดงความคิดเห็นต่อว่า  ตอนแรกที่บอกว่าเงินไม่พอ  มันไม่พอตรงส่วนที่เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน 50%  ตอนนั้นเราไม่สามารถเอาเงินในกองทุนอื่นมาใช้ได้  แต่ตอนนี้ถ้าสามารถเอาเงินในกองทุนอื่นๆมาใช้ได้  เช่น  กองทุนธุรกิจชุมชน  เป็นต้น  มันก็คงจะพอแน่นอน 

 

     ประธานได้ขยายความตรงนี้ต่อว่า  ในกรณีของกองทุนธุรกิจชุมชนนั้น  ที่กันเงินออกมาก็เพราะว่าต้องการให้เอาเงินมาลงทุนเพื่อที่จะก่อดอกออกผล  ดอกผลที่ได้ก็ต้องมามาจัดสวัสดิการชุมชน  แต่ถ้ากลุ่มไม่เอาไปลงทุนก็ต้องมาเอามาจัดสวัสดิการ

 

     อ.ชวนพิศ  แย้งว่า  ในการลงทุนช่วงแรกๆ  ต้องทำใจว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะขาดทุนหรือกำไร 

 

     ขณะที่ประธานบอกว่า  เรื่องนี้แต่ละกลุ่มก็ต้องพิจารณากันให้ดี  ถ้าคิดว่าจัดการไม่ได้  ก็ไม่ต้องเอาไปลงทุน  เอามาจัดสวัสดิการเพียงอย่างเดียวก็ได้ 

 

    วันนี้ขอตัดช่องน้อยจบแค่นี้ก่อนนะคะ  เพราะว่าจะรีบไปเข้านอนค่ะ  พรุ่งนี้ยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากค่ะ  นอนหลับฝันดี  ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

 

   

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24122เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 01:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท