ตอนที่ 70 ศูนย์เรียนรู้แนวทางดีที่น่าศึกษา


คงไม่ยากนักที่จะได้เริ่มเรียนรู้

ดอกทองกวาวเริ่มบานสะพรั่งประดับท้องทุ่งเป็นสัญญาณบอกถึงสภาพแห้งแล้งที่จะเยือนมาถึง 

 ท้องทุ่งใดที่อยู่ในเขตชลประทานคงไม่อาทรร้อนใจเหมือนกับผู้ที่อยู่นอกเขตชลประทาน  จะมีไม่ต่างกันคือความทุกข์ยากด้านปัจจัยการผลิตและราคาผลผลิตซึ่งมักจะสวนทางกันเป็นประจำเสมอมา  โดยเฉพาะราคาปัจจัยการผลิตที่ขึ้นแล้วไม่ยอมลง  แต่การทำนาปรังนั้นยังคงมีมากเช่นกับปีก่อนๆ  แต่จะให้ทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยนั้นคงยากกับการตัดสินใจของเกษตรกร  คิดต่างกันคงไม่ยากนักที่จะได้เริ่มเรียนรู้และเริ่มทำกัน  เงื่อนไขแต่สิ่งนั้นคงจะไม่กระทบกับสิ่งที่เคยทำมานั้นคือเริ่มงานใหม่ที่ไม่กระทบกับงานเก่า หรือถ้ากระทบขอให้แน่ใจว่าดีกว่าเก่านั้นเอง

                        การเดินทางสำรวจสถานการณ์พืชฤดูแล้งในพื้นที่อำเภอสรรพยา  จึงได้แวะเวียนเข้าศึกษาการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ชุมชน  กลุ่มปุ๋ยอัดเม็ด  ของพี่สมพงษ์  วงษ์ก่อ  ซึ่งเพื่อนบ้านเรียก  ทนายสมพงษ์  ได้พบกับเกษตรจังหวัดชัยนาท  (นายรังสรรค์  กองเงิน)  เกษตรอำเภอสรรพยา  (นายถวัลย์  แสงไชย)  และพี่อารักษ์  ภุมมะระ  เจ้าพนักงานการเกษตร  เข้ามาเยี่ยมเยียนเช่นกัน  เมื่อย่างก้าวเข้าไปเยือนจุดแรกที่ได้พบคือรอยยิ้มที่เป็นมิตรไมตรีและใบหน้าอันอิ่มด้วยความสุขของ พี่สมพงษ์  วงษ์ก่อ และเพื่อนเกษตรกรผู้ร่วมงาน

                        พี่สมพงษ์  กล่าวว่า  ก่อนนี้เพื่อนบ้านมีบริเวณพื้นที่บ้านกว้างขวางแต่เมื่อมีลูกหลานมากขึ้นพื้นที่บริเวณบ้านถูกแบ่งปันให้ลูกหลานจึงทำให้พื้นที่แต่ละครัวเรือนน้อยลง รั้วกับบ้านติดกันไม่มีพื้นที่เพียงพอแก่การปลูกพืชผักสวนครัว  ส่งผลให้ต้องซื้ออาหารแทบทุกชนิด  เพื่อการบริโภคในครัวเรือน  อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งในอีกหลาย ๆ ปัจจัย  ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นในครัวเรือนของคนไทย  ในขณะที่มีอีกหลาย ๆ พื้นที่ที่ถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่าอย่างน่าเสียดาย 

จึงเปลี่ยนบริเวณบ้านเลขที่ 105  หมู่ที่  1  ต.ตลุก  อ.สรรพยา  จ.ชัยนาท  ปรับปรุงให้กลายเป็น ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ในปี 2547  จัดสภาพพื้นที่คือ บ้านและอาคารต่าง ๆ  ประมาณ 2 ไร่  และยังคงเหลืออีก 6 ไร่ปลูกพืชผักสวนครัว  จากการปลูกพืชผักสวนครัวและใช้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน  เช่น  ใช้ปุ๋ยอินทรีย์  น้ำสกัดชีวภาพ  และน้ำส้มควันไม้  ผลผลิตพืชผักที่ได้รับนำไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน  ผลที่ได้รับกลับมาเป็นที่พอใจ  เพราะผักมีรสชาติอร่อยกว่าผักที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในตลาด  มีเพื่อนบ้านมาขอซื้อในแปลงผักจึงได้ชักชวนมาลูกโดยให้ปลูกฟรีในพื้นที่ที่มีอยู่บริเวณบ้าน  โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ  กับผู้เริ่มเข้ามาปลูก 7 ราย  แต่มีเงื่อนไข  คือ  ผักที่เหลือจากบริโภคเองและแบ่งปันเพื่อนบ้านแล้ว  เมื่อนำไปจำหน่ายแล้วขอให้นำเงินมาใส่กระปุกจนกว่าจะเก็บผลผลิตแต่ละคราวเสร็จสิ้นจึงสามารถนำเงินไปใช้ตามอัธยาศัย ในการทำลักษณะนี้เพื่อการเรียนรู้ว่าการปลูกผักแต่ละครั้งนั้นให้ผลตอบแทนไม่น้อยอย่างที่คิด  ซึ้งบางร้ายพบว่าบางรายมีรายได้หลายพันบาทจึงเป็นที่ถูกใจและมีเพื่อนบ้านเกษตรกรเข้าร่วมอีก 14 ราย  รวมเป็น 21 ราย  แบ่งพื้นที่ปลูกผักกันรายละประมาณ 80-90  ตารางวา  สนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ  เพื่อช่วยเหลือในระยะแรก  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยที่ผลิตขึ้นในศูนย์เรียนรู้  เช่น  ปุ๋ยอินทรีย์  ฮอร์โมนไข่  สารสกัดสมุนไพร  และน้ำส้มควันไม้  พร้อมเรียนรู้การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชผักแบบผสมผสาน  ให้กับเกษตรกรร่วมงานส่งผลให้ผักปลอดภัยจากสารพิษเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค  แต่ในระยะที่ผ่านมาพบปัญหาผักบางชนิดกระทบหนาวจัดจึงชะงักการเจริญเติบโต  แต่เป็นการเรียนรู้ถึงชนิดผักที่จะต้องปลูกให้ตรงตามฤดูกาลนั้น

                        นายคลอง-นางมณี  เรืองทับ บ้านเลขที่ 133 หมู่ 1 ต.ตลุก  อ.สรรพยา จ.ชัยนาท  กล่าวว่า จากการเข้าร่วมปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษร่วมกับศูนย์เรียนรู้ฯ  ได้ผลผลิตผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน  อีกทั้งเป็นของฝากยามลูกหลานจากกรุงเทพฯ  มาเยี่ยมเยียนญาติและพี่น้อง ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก สุขภาพก็ดีขึ้นเพราะบริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ  จากการติดต่อและสอบถามเพื่อนเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมในศูนย์ฯ ได้เข้าร่วมเรียนรู้การปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษหลายรายนำวิธีการไปปลูกประสบผลสำเร็จ อาจกล่าวได้ว่าการจะทำการเกษตรให้ปลอดภัยจากสารพิษสิ่งสำคัญคือจิตใจที่ต้องการทำนั้นเอง

                        คุณพี่ทนายสมพงษ์  เปิดเผยถึงความรู้อีกความรู้หนึ่งในหลาย ๆ ความรู้ของศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งคล้าย ๆ กับศูนย์เรียนรู้การเกษตรทั่ว ๆ ไป   จะมีความแตกต่างกันคือแนวทางการบริหารจัดการและสูตรที่ได้ปรับปรุงประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่นั้นคือ  การทำเครื่องกรองน้ำส้มควันไม้  ด้วยการนำกระป๋องพลาสติกเก่าใส่ก๊อกน้ำก่อนนำถ่านไม้ใส่ลงไปให้เกือบเต็มแล้วใส่ทรายหยาบลงบนถ่าน  จะได้เครื่องกรองน้ำส้มควันผลไม้  เพื่อกรองเอาสารคันทาออกโดยไม่ต้องรอเพื่อให้ตกตะกอนก่อนนำไปใช้เป็นเวลาสามเดือน  ผลจากการนำไปใช้พบว่าได้ผลดีเหมือนกับการทิ้งไว้ให้ตกตะกอนคือสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ดี  อีกทั้งมีประสิทธิภาพดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับฮอร์โมนและสารสมุนไพรอื่น ๆ  แต่ต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน  ท่านผู้อ่านสามารถติดต่อและเข้าศึกษาเรียนรู้ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน  หรือโทรสอบถามได้ที่เบอร์โทร 08-1281-6786 ยินดีต้อนรับครับ

หมายเลขบันทึก: 240822เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2009 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีครับท่านชัช  ชัยนาท
  • แวะมาเยี่ยมเยียน
  • ขอชื่นชมกลุ่ม"ศูนย์เรียนรู้ชุมชน” ครับ

- สวัสดีครับพี่

- ชอบไอเดีย "เครื่องกรองน้ำส้มควันไม้" ครับ

- ขอบคุณมากครับ

วันนี้ตอนกลับบ้าน  แวะไปดูทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน  ดดยตั้งใจจะไปบันทึกภาพดอกจานไว้สักหน่อย  เพราะที่ตรงนั้น เคยได้ไปเอนกายพักหลบแดดจ้าในยามที่เลี้ยงวัว..

แต่เสียดายมากเลยครับ,  เจ้าของที่นา โค่นทิ้งไปแล้ว  เพียงเพราะเหตุผลว่า ต้องการขุดลอกแปลงนาให้ลึกลงไปกว่าเดิม 

มาเยี่ยมและเก็บเกี่ยวความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท