องค์กรการเงินชุมชนสายที่สาม...หรือจะไปไกลสุดกู่


ดูเหมือน.. ขบวนองค์กรการเงินชุมชน.. กำลังจะไปไกลสุดกู่ ที่ผู้ริเริ่มหรือผู้สนับสนุนก็ตามมันไม่ทัน

7-8  กุมภาพันธ์  พานักศึกษาไปจังหวัดตราด.... 

เราไม่ได้ไปกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของพระอาจารย์สุบิน เพราะได้ฟังเรื่องราวของที่นั่นมามากแล้ว   แต่ไปเรียนรู้ที่อีกตำบลหนึ่ง   

 

ตำบลนี้มีหมู่บ้านเปร็ดในที่เข้มแข็งในการจัดการด้านอนุรักษ์และใช้กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของหมู่บ้านเป็นเครื่องมือในการรักษากติกาการอนุรักษ์    และตำบลนี้มีสถานที่หนึ่งที่เรียกตัวเองแบบไม่เป็นทางการว่า  ธนาคารชุมชน    

 

 ธนาคารชุมชน (ชื่อไม่เป็นทางการ)

   

เป็นองค์กรการเงินชุมชนเครือข่ายในระดับตำบล    เป็นที่ที่ พอช. สนับสนุนโดยทำหนังสือเล่มเล็กเกี่ยวกับองค์กรแห่งนี้ออกเผยแพร่   เป็นที่ที่ธนาคารกรุงไทยมาขึ้นป้ายสนับสนุน

 

แกนนำบอกว่า    เรียกธนาคาร  เพราะเข้าใจง่ายสำหรับชาวบ้าน    เนื่องจากเราทำหน้าที่เหมือนธนาคาร  ... 

 

แกนนำเริ่มเล่าถึงที่มาอย่างคล่องแคล่ว.......    อุดมการณ์ของกลุ่มครูถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายของกลุ่ม  อธิบายให้คนภายนอกซาบซึ้ง.......    ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่คนโน้นคนนี้ทำ  ถูกสรุปรวมมาเป็นคำอธิบายถึง ที่มา  ....ที่มาของใครไม่ชัดเจน เพราะไม่มีประธานของประโยค..นอกจากคำว่า เรา

 

กลุ่มสัจจะฯของบ้านเปร็ดในไม่เข้ามาเป็นสมาชิกองค์กรการเงินชุมชนในระดับตำบลแห่งนี

 

เขาเป็นสายพระ  แกนนำบอก   ของเราเป็นกลุ่มการเงินภาคประชาชน   แกนนำตั้งใจแบ่ง

 

ทำไมแกนนำจึงเรียกตัวเองว่า ภาคประชาชน    คงเป็นเพราะเขามองตัวเองว่าเปิดกว้างสำหรับการฝากเงินของทุกคนทั้งตำบลรวมถึงนอกตำบล  และรวมเงินของกลุ่มต่างๆที่เข้ามาเป็นสมาชิก    คงเป็น บูรณาการ  ตามเป้าหมายของ พอช. 

 

ธนาคารชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2547  เกิดหลังกลุ่มอื่นๆ  แต่รวมกลุ่มอื่นๆได้อย่างไร

 

กลุ่มที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกคือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กลุ่มโอทอป  ร้านค้าชุมชน ...  สมาชิกกลุ่มต่างๆ  แทนที่จะจ่ายเงินค่าหุ้นหรือเงินออมเข้ากลุ่มตัวเอง    ก็มาจ่ายหรือฝากที่ธนาคารชุมชน   แต่การปล่อยเงินกู้จะผ่านที่กลุ่มต่างๆที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก  ธนาคารชุมชนจะไม่ปล่อยกู้ แกนนำบอก    

 

บริการใหม่ของธนาคารชุมชนคือ  ตั๋วเงินชุมชน”  (ตั๋วเพื่อผลัดผ้าขาวม้า)

 

วันที่ 5  เป็นวันส่งเงินของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต    วันที่ 20  เป็นวันส่งเงินของกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน   ธนาคารเปิดบริการให้สมาชิกสามารถมาซื้อตั๋วแลกเงินได้ในวันที่ 4  สำหรับสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์  และวันที่ 19 สำหรับสมาชิกกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน     สมาชิกเหล่านี้จะได้มีเงินไปใช้หนี้กลุ่มของตนได้ทันในวันรุ่งขึ้นเพื่อจะได้มีสิทธิ์กู้ใหม่   ตั๋วนี้จะระบุเงินต้นที่ยืม+ดอกเบี้ย+ค่าธรรมเนียม 50 สตางค์    เมื่อสมาชิกได้กู้เงินจากกลุ่มต้นสังกัดแล้วก็จะนำเงินมาจ่ายหนี้ธนาคารชุมชนภายใน ....?...วัน 

 

ขัดกับประโยคแรกๆที่แกนนำบอกว่า   ธนาคารชุมชนจะไม่ปล่อยกู้อย่างชัดเจน

 

ตั๋วเงินชุมชนทำด้วยกระดาษโรเนียว  เป็นเงินตราชุมชนรูปแบบหนึ่งที่เราเห็นว่า  ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมาศึกษาพัฒนาการ ("ยัง"ไม่แนะนำให้แทรกแซง) มากกว่าไปไล่จับหนูเบี้ยชุมชนที่มีเป้าหมายพึ่งตนเองและปริมาณไม่มาก     

 

ตั๋วเงินชุมชนนี้ปัจจุบันยังใหม่  การใช้ประโยชน์ยังตรงไปตรงมา  แต่เมื่อนานขึ้น   ตั๋วกระดาษแผ่นนี้จะถูกใช้หมุนเวียนอย่างไร  ยังน่าจับตามองเพราะพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนนั้นรวดเร็วมากที่จะนำมันไปเอื้อประโยชน์อย่างอื่น

 

ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า   คือ   การเปิดช่องทางให้สมาชิกหมุนหนี้อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย   สวนทางแนวคิดการพัฒนาแบบพึ่งตนเองอย่างสิ้นเชิง   แต่แกนนำ ก็ย้ำว่า   เราเป็นเศรษฐกิจพอเพียง    ….  นี่แหละคือการรวมรวมอุดมการณ์ต่างๆมาเป็น วาทกรรม  ฟังสวยงามสำหรับผู้คนภายนอกที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร

 

ดีใจที่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ออกมาบอกเราทีหลังว่า  หนูว่าไม่ใช่....

 

สงสัยว่า   พอช. ทำงานสนับสนุนโดยตรวจสอบแนวคิดของกลุ่มต่างๆมากน้อยเพียงใด  ... ยังไม่ต้องถึงขั้นตรวจสอบบัญชีและความเสี่ยง...

 

เราไม่เป็นนิติบุคคล  เราไม่เสียภาษี เพราะถ้าให้เสียภาษี  สมาชิกจะเลิกเป็นสมาชิก  แกนนำเล่า  แต่เราฟังเหมือนเป็นคำขู่.... 

 

เขากำลังทำธนาคารอีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบโดยรัฐ   และแม้แต่การตรวจสอบโดยสมาชิกเองจะมีหรือไม่ เข้มข้นแค่ไหน เรายังไม่มั่นใจ   เพราะระบบนี้ สมาชิกกับธนาคารไม่ได้ใกล้ชิดกันโดยตรง  สมาชิกครึ่งหนึ่งเป็นของกลุ่ม  แล้วกรรมการกลุ่มที่เข้ามาเป็นเครือข่ายจะเป็นกรรมการธนาคาร

 

ตำบลนี้มีองค์กรการเงินสามสาย   .... เราสรุป  

เรานึกถึงความต่าง  ไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยก

 

ใช่   แกนนำรีบตอบรับอย่างมั่นใจ   สายพระ  สายรัฐ  และสายภาคประชาชน

สายพระ  คือ  กลุ่มเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ฯของพระสุบิน ปณีโต 

สายรัฐ  คือ  กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน

สาย ภาคประชาชน  ที่ว่า คือ  ธนาคารชุมชนแห่งนี้

 

บทเรียนเรื่องเป้าหมาย  อุดมการณ์  กระบวนการตรวจสอบ  เป็นจุดต่างที่ชัดเจนระหว่างองค์กรการเงินสามสายนี้  

 

บูรณาการแบบรวมเงินมีประโยชน์ด้านการเงินล้วนๆ   ต้องแลกกับอะไรบ้าง ?

 

ดูเหมือน.. ขบวนองค์กรการเงินชุมชน.. กำลังจะไปไกลสุดกู่  ที่ผู้ริเริ่มหรือผู้สนับสนุนก็ตามมันไม่ทัน และอาจมีอุปสรรคมากในการตามด้วย  คำขู่ที่เอาสมาชิกเป็นข้ออ้างนั่นอย่างไร...

หมายเลขบันทึก: 240762เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2009 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท