นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้


การใช้สื่อการเรียนการสอน

เผยเด็กไทยเมินใช้สื่อออนไลน์เพื่อการศึกษา

 

 

ศธ.ร่วมกับ สสส.ดึงเยาวชน-สถานศึกษาทั่วประเทศ ประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิตอล ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ปลัด ศธ.เผยเด็กไทยใช้สื่อออนไลน์เล่นเกมสูงถึง 86% ใช้เพื่อการศึกษาเพียง 14% ขณะที่ 30 อันดับคำเซิรส์ยอดฮิตเน้นเกม ดูดวง และบันเทิง ไม่พบการค้นหาเรื่องการศึกษา

 

นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่า กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประกวดสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงความสามารถในการผลิตสื่อสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ต และเป็นการเพิ่มพื้นที่เชิงบวกในโลกออนไลน์ เนื่องจากโลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของเด็กและเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อความบันเทิง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยทางอินเทอร์เน็ต
      
จากสำรวจของสถาบันวิจัย CMR Market Research พบว่า เด็กไทยใช้บริการอินเทอร์เน็ตในร้านเพื่อการเล่นเกมมากถึง 86% ซึ่งมากกว่าเด็กรัสเซีย ฟิลิปปินส์ และ ยูเครน รองลงมาเป็นการใช้เพื่อการสนทนาออนไลน์ 49% ส่งอีเมล 44% ฟังเพลง 42% ดูหนัง 25% แต่ใช้งานเพื่อการศึกษาเพียง 14% ขณะที่เยาวชนของประเทศแคนาดากลับใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาถึง 94%
      
สาเหตุส่วนหนึ่งที่เด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง เพราะสื่อการเรียนรู้ในอินเทอร์เน็ตมีไม่เพียงพอ และไม่มีทางเลือกที่หลากหลาย จึงได้จัดการประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิตอลสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจสื่อการเรียนรู้บนอินเทอร์เน็ต และผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ในรูปแบบของบทเรียนช่วยสอน เว็บเพจสื่อการสอน บทความ บันทึก (บล็อก) สารคดีสั้น ในระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังคาดหวังให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำชุดการสอนเสริมทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตสร้างสรรค์และปลอดภัย ที่ได้รับการพัฒนาจากมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.ไปใช้เป็นสื่อการสอนเด็กนักเรียน เพื่อให้ใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและรู้เท่าทัน
      
นางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ สสส.กล่าวว่า ปัจจุบันมีเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 6 ล้านคน ใช้เฉลี่ยวันละ 3.8 ชม.ขณะที่เยาวชนจากเกาหลีใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 2 ชั่วโมงกว่า และเยาวชนจากจีนใช้อินเทอร์เน็ต ถึง 18 ล้านคน โดย 2 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทยเป็นไปเพื่อความบันเทิงเป็นอันดับหนึ่ง
      
นางเบญมาภรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของ truehits พบว่า พฤติกรรมการใช้เว็บไซต์ของเด็กและเยาวชน 10 อันดับแรก นิยมใช้บริการสื่อบันเทิงส่วนใหญ่ อาทิ sanook มียอดเข้าบริการวันละ 589,436 คน ตามด้วย kapook ยอด 400,326 คน และ mthai 298,627 คน ขณะที่เด็กและเยาวชนใช้บริการเว็บไซต์ด้านการศึกษา เฉลี่ยอยู่เพียง 25,000 คนเท่านั้น นอกจากนี้ เมื่อเข้าไปตรวจสอบคำที่เด็กและเยาวชนนิยมใช้การค้นหา (keyword) 30 อันดับแรกเป็นคำว่า เกม รองลงมาคือ คำว่า ฟังเพลง หาเพื่อน ดูดวง รวมถึงคลิปอ้น (ศราวุธ) หางาน ดูหนัง โดยทั้ง 30 อันดับไม่พบการค้นหาเรื่องการศึกษาแต่อย่างใด
      
"ทิศทางการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในโลกยุคดิจิตอล จึงได้มุ่งเน้นใน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน โดยเฉพาะการดึงให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถใช้พื้นที่ใหม่ในโลกดิจิตอลเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงมีการส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สร้างเนื้อหาสร้างสรรค์ผ่านการจัดประกวด และสร้างแรงจูงใจอื่นๆ เพื่อขยายการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง" นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
      
พ.ต.ท.หญิง สายสวาท ปัจวิทย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการอินเตอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เกณฑ์การประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิตอลสร้างสรรค์ แบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ สื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบเว็บ และสื่อสารคดีประวัติศาสตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อชิงรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ถ้วยเกียรติยศจากกระทรวงศึกษาธิการ ทุนการศึกษาและของรางวัล มูลค่ากว่า 100,000 บาท โดยสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบเว็บเพจ แบ่งเป็นประเภทกลุ่มและประเภทบุคคล โดยโรงเรียนที่ส่งเนื้อหาเข้าประกวดจะต้องนำหลักสูตรอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสร้างสรรค์ไปใช้ในการสอนด้วย

ซึ่งสามารถ ดาว์นโหลดได้ที่ ,www.inetfoundation.or.th หรือ www.thaigoodview.com สมัครก่อนวันที่ 15 พฤศจิกายน ผ่านทาง www.thaigoodview.com
      
พ.ต.ท.หญิง สายสวาท กล่าวว่า ส่วนรูปแบบสื่อสารคดีประวัติศาสตร์หรือสถานที่ท้องถิ่น สามารถรวมกลุ่มกันทำได้เป็นทีมๆ ละไม่เกิน 6 คน และสมาชิกในทีมไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน แต่ละทีมจะส่งผลงานกี่ชิ้นก็ได้ โดยส่งผลงานผ่านเว็บ www.fuse.in.th หมดเขตส่งผลงาน 31 ธันวาคม 2551 และประกาศผลงานและมอบรางวัล ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park
 

ขอบคุณที่มา : ผู้จัดการ, ข่าวการศึกษา วันที่ 15 ตุลาคม 2551 อักษรเจริญทัศน์ (อจท)

 

หมายเลขบันทึก: 240340เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีคะ คุณครูประสิทธิ์

ยินดีที่รู้จักค่ะ อ่านเนื้อหาแล้วก็ให้เป็นห่วงเยาวชนของชาติเราเหลือเกิน ยิ่งขณะนี้คลิปวีดีโอกำลังแพร่หลายทางโทรศัพท์มือถือของเด็กๆ ที่มักจะโหลดมาเก็บสะสมไว้ที่มือถือที่ผู้ปกครองซื้อให้ เพื่อใช้ติดต่อบุตรหลานของตน แต่เด็กๆก็นำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ แย่จังนะคะ ยังไงก็ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้วงการศึกษาไทยค่ะ สวัสดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท