บวชให้แม่ (ที่วัดพระราม ๙) ตอนที่ ๒ เตรียมตัวบวช


คำตอบที่น่าประหลาดใจจากหลวงพี่รินคือ ไม่ต้องห่วงเรื่องอื่น ตั้งใจท่องบทขอบรรพชาอุปสมบทให้ได้เท่านั้น

เตรียมบวชให้แม่

จะบวชวัดไหน จะบวชเมื่อไหร่  เป็นคำถามที่ผมได้รับจากทุกคนที่รู้ว่าผมจะบวช  ในตอนแรกผมก็ยังงงๆ อยู่ เพราะไม่รู้อะไรเลยเรื่องการบวช   กำหนดเวลาที่บอกแม่ไว้ในตอนแรกนั้นเป็นเดือนธันวาคม  เพราะเป็นเดือนที่ผมคาดว่าพอจะลางานได้สะดวกที่สุด ประกอบกับมีวันหยุดหลายวันช่วงปลายปีจะได้ไม่ต้องลางานมาก  ส่วนวัดในตอนแรกผมก็คิดว่าจะเป็นวัดใกล้บ้านที่ได้ไปถวายสังฆทาน  เหตุผลอีกส่วนหนึ่งก็เพราะผมเห็นแม่บนสวรรค์ที่นั่น 

                แต่เมื่อพี่สาวผมได้สอบถามเพื่อนฝูงหลายคนก็ได้รับคำแนะนำว่า วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ซึ่งก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนักจากบ้านผม มีการจัดการเรื่องการบวชเรียนให้พระใหม่ค่อนข้างดี  ผมจึงเบนเข็มมาบวชที่วัดพระราม ๙ นี้  เพราะเคยทราบจากเพื่อนฝูงที่เคยบวชว่าบางวัดนั้น พระใหม่ไม่ได้ทำอะไร นอกจากจำวัดหรือนอนกลางวัน ดึกๆ ก็นอนดูทีวีในกุฎิ  หากเลือกวัดไม่ดี วันเวลาที่อุตส่าห์บวชเรียนก็ต้องเสียเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย ผมจึงค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้พอสมควร

                จะด้วยเหตุบังเอิญหรือโชคชะตานำพาก็ตามแต่ วันที่ผมไปติดต่อที่วัดพระราม ๙ ตอนต้นเดือนพฤศจิกายน ก็พอดีเป็นวันที่มีพิธีอุปสมบทพระใหม่ในช่วงบ่าย  พระที่รับเรื่องการขออุปสมบท (ซึ่งมาทราบชื่อท่านภายหลังว่า หลวงพี่ริน) ให้ผมกรอกในใบสมัคร  พร้อมกับสอบถามว่าจะบวชเมื่อไหร่ ผมตอบท่านว่าขอบวชปลายเดือนธันวาคมได้หรือไม่  หลวงพี่รินบอกว่าไม่ได้ เพราะทางวัดมีกำหนดวันบวชให้พระใหม่บวชเป็นหมู่คณะพร้อมกันในแต่ละเดือน ซึ่งเดือนธันวาคมนั้นจะเป็นช่วงต้นเดือนและมีผู้ประสงค์จะขอบวชจำนวนมาก  มีบางรูปต้องการบวชถวายให้ในหลวงด้วย  ส่วนเดือนมกราคม ยังไม่ทราบกำหนดวัน ต้องรอพระอาจารย์กำหนดอีกครั้งหนึ่ง

                ขณะนั้นในใจผมยังสับสนว่าจะบวชเดือนธันวาคมตามกำหนดเดิมที่ลั่นวาจาไว้กับแม่ดี หรือจะขยับไปเป็นเดือนมกราคม เพราะช่วงต้นเดือนธันวาคมนั้น การงานน่าจะยังไม่เรียบร้อยนัก และยังมีธุระเกี่ยวกับลูกที่ผมไม่อยากละทิ้งในหน้าที่ของพ่ออีก  ในที่สุดผมก็ตัดสินใจว่าขยับไปบวชเดือนมกราคม  จะว่าเสี่ยงก็เสี่ยง เพราะยังไม่ทราบว่าเป็นวันใดด้วย  (ซึ่งในภายหลังผมพบว่าตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว)  

                ผมสอบถามหลวงพี่รินว่าต้องเตรียมตัวเตรียมของอะไรบ้าง คำตอบที่น่าประหลาดใจจากหลวงพี่รินคือ ไม่ต้องห่วงเรื่องอื่น ตั้งใจท่องบทขอบรรพชาอุปสมบทให้ได้เท่านั้น  พร้อมกับให้กระดาษหนึ่งแผ่นที่มีบทสวดเต็มทั้งสองหน้ากับแผ่นซีดีหนึ่งแผ่นมาฟังประกอบ  หลวงพี่รินเน้นว่าพยายามท่องให้ได้ตามเสียงและสำเนียงการอ่านในแผ่นซีดี เพราะมีหลายคำที่ไม่อ่านเหมือนเสียงปกติ

                ไม่ต้องห่วงเรื่องอื่น...ไม่ห่วงก็ไม่ห่วง...กลับบ้าน ผมจัดการแปลงไฟล์เสียงจากแผ่นซีดีเข้าเครื่อง mp4  เปิดฟังช่วงเดินทางนั่งรถไฟฟ้า BTS เช้าและเย็น ไปและกลับจากบ้านกับที่ทำงาน   คำอ่านนั้นเป็นภาษาบาลี ไม่มีความหมายที่เราจะผูกพันเชื่อมโยง อาศัยการหมั่นเพียรขยันท่อง  เมื่อมานึกย้อนหลัง ผมคิดว่าการฟังจากแผ่นซีดีนั้นช่วยให้ท่องจำได้เร็วขึ้นมาก  ประกอบกับความตั้งใจขยันท่อง แม้แต่ตอนเดินไปกินข้าวตอนพักกลางวัน ผมก็ท่องไปด้วยในใจหรือออกเสียงเบาๆ  หรือบางวันที่ต้องขับรถยนต์ ผมก็ท่องออกเสียงดังๆ ในรถ เพราะไม่รบกวนใครแน่   ตกดึกก่อนนอนหรือเช้าวันหยุดก็มาท่องออกเสียงหน้าโต๊ะพระบูชาที่บ้านอีกรอบ  จนกระทั่งคิดว่าขึ้นใจดี ผมก็รู้สึกว่าพร้อมไปซ้อมกับพระท่านที่วัด   

                ราวปลายเดือนพฤศจิกายน ผมไปซ้อมท่องบทขออุปสมบทครั้งแรก ไม่พบหลวงพี่ริน  แต่พบพระอาจารย์บุญยืน ได้รับคำชี้แนะเรื่องการออกเสียงผิดพลาดไปหลายจุดหลายที่  ส่วนการจดจำบทนั้น มีพลาดเล็กน้อย  ผมรับข้อติติงด้วยใจห่อเหี่ยว  เพราะรู้สึกว่าหมั่นท่องมามาก แต่ยังพลาดอีก  ปลอบใจตัวเองว่าอาจด้วยตื่นเต้นพอสมควรกับการมาซ้อมครั้งแรก  แต่ที่เป็นกังวลคือถึงวันนี้แล้วก็ยังไม่ทราบว่าวันบวชเป็นวันไหน 

                ขอคั่นจังหวะตรงนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนว่า วัดพระราม ๙ เป็นวัดธรรมยุติ  บทสวดขอบรรพชาอุปสมบท แม้จะเป็นคำบาลี แต่ให้ออกเสียงตามภาษามคธแบบดั้งเดิม  คำที่หลายคนอาจคุ้นเคยเวลาสวดมนต์  เช่น ภะคะวะโต  ตัว ค จะเปลี่ยนออกเสียงเป็น   (ถ้าจะให้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซนต์เลยต้องออกควบ กง มีเสียง งะ ติดมาด้วย)  คือเป็น ภ๊ะ-ก๊ะ-วะ-โต  หรือ สะระณัง คัจฉามิ  ก็ออกเป็น สะระณัง กั๊จฉ้ามิ   อีกตัวหนึ่งคือ พ ออกเป็น บ เช่นปกติเราออกเสียง พุทธัง ก็ต้องเปลี่ยนเป็น บุ้ดธัง  เป็นต้น  

ตัวที่ออกเสียงยากที่ผมทำไม่ได้ในการซ้อมครั้งแรกคือ จ๊ะ ต้องออกเสียงเป็น จย คือควบ จะยะ แบบรัวเร็วๆ  รู้สึกว่าตัวเองลิ้นแข็ง ออกเป็นเสียง จ อย่างเดียว  ต้องฝึกอยู่หลายวันทีเดียวกว่าจะได้  แต่ที่ยากสุดคือ คำว่า เวระมะณี ในบทอาราธนาศีล  (เช่น ปาณาติปาตา เวรมณี)  ในบทขออุปสมบทนี้จะไม่ออกเสียงท้ายว่า นี แต่ต้องออกเป็น เว-ระ-มะ-นาย-นี หรือคล้ายๆ กับ นาย-อี  โดยตรง นาย ให้ลากเสียงยาวๆ แล้วค่อยขึ้นเสียงเป็น นี   ตรงนี้ก็ฝึกอยู่หลายครั้งทีเดียวกว่าจะแม่น เพราะเราจะหลุดเสียงเป็น นี อย่างที่คุ้นเคยกันมา 

อีกสองอาทิตย์ถัดมา  ผมมาซ้อมท่องบทอุปสมบทครั้งที่ ๒  แม้จะเตรียมตัวมาอย่างดี ก็มามีที่ผิดในเรื่องเสียงสูงต่ำหลายจุด   ครั้งนี้หลวงพี่รินช่วยชี้แนะจนผมเข้าใจว่าที่ผิดนั้นเพราะอะไร จึงนำกลับมาแก้ไขได้ถูกต้อง  การมาซ้อมครั้งที่ ๒ นี้ได้ทราบวันบวชชัดเจนแล้วว่าเป็นวันที่ ๔ มกราคม มีผู้ขอบวช ๙ รูป   ที่สำคัญยังได้รับคำชมจากหลวงพี่รินว่าท่องได้เยี่ยมแล้ว ไม่ต้องมาซ้อมอีก ให้มาวันซ้อมใหญ่ในเวลา ๖ โมงเย็นวันที่ ๒ มกราคมได้เลย (ปกติวันซ้อมใหญ่จะกำหนดไว้ก่อนวันบวช ๓ วัน แต่เนื่องจากกรณีของผมนั้นเป็นคืนวันที่ ๑ มกราคม ทางวัดจึงเลื่อนมาเป็นวันที่ ๒ ให้)

ผมออกจากวัดด้วยหัวใจพองโต  คิดว่าไม่มีอุปสรรคใดๆ ขวางกั้นผมกับวัดแล้ว

หมายเลขบันทึก: 239461เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สาธุ อนุโมทนาค่ะ 

ชอบสวดแบบมนต์แบบ ธรรมยุติและชอบฟังพระท่านสวดแบบธรรมยุติเช่นกันค่ะ

หน่อยกับหนืด ( จืดสนิท ) มาขออนุโมทนา ด้วยค่า

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท