สอบครั้งแรก.....การสื่อความหมาย ตอนที่สอง


ความเดิมจากตอนที่แล้ว.....ที่ต้องเตรียมตัวสอบเรื่องการสื่อความหมายในการเป็นมัคคุเทศน์ พาเพื่อนๆ เดินไปตามทางเดินที่เราเลือก พร้อมทั้งเล่าเรื่องของต้นไม้ สัตว์ ตลอดจนความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์ที่เราพาเพื่อนๆ ไปเดิน

เนื่องจากตัวเองไม่มีรถขับเลยต้องเลือกทางเดินที่ใกล้ที่พัก สามารถเดินถึงได้สะดวกเพื่อจะได้แวะไปดูต้นไม้บริเวณนั้นเลยเลือกทางเดินแสนสั้นประมาณ 5-7 นาที ชื่อว่า Coronation Domain Walk ตอนแรกก็พบต้นไม้ที่เล่าไปแล้วในตอนที่หนึ่ง ต่อมาเมื่อเดินบ่อยเข้าก็พบว่ามีต้นไม้ที่ไม่สามารถเจอได้ง่ายในเกาะใต้ คือเป็นต้นไม้ที่จะพบในเกาะเหนือเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยรู้สึกสนุกเพราะคิดว่าเพื่อนๆ ก็คงสนุกที่จะได้ทายว่าเป็นต้นอะไร

ดังนั้นนอกจากจะตั้งหัวเรื่องการเดินว่าเป็นการเปรียบเทียบการใช้พืชเป็นสมุนไพรของชาวเมารีกับพืชที่คล้ายคลึงกันในประเทศไทยตามเนื้อเรื่องในตอนที่หนึ่งแล้ว ยังมีโอกาสแนะนำให้เพื่อนๆ ได้เห็นต้นไม้ที่พบในเกาะเหนือเช่น Puriri, Kauri, Celery Pine, New Zealand Honey-suckle(rewarewa) และอื่นๆ อีกมาก และในการบอกชื่อต้นไม้ก็ควรบอกชื่อภาษาเมารี และชื่อทั่วไปให้เพื่อนๆ ทราบ

      

Rewarewa, New Zealand Honey Suckle,Knighsia excelsa

ซึ่งแต่ละต้นก็มีเรื่องราวที่สามารถเล่าได้มาก เช่นต้น Rewarewa หรือ New Zealand Honeysuckle  เมื่อมีฝัก จะมีรูปร่างคล้ายเรือแคนูของชาวเมารี ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าชาวเมารีสมัยก่อนใช้ฝักของต้นไม้ชนิดนี้เป็นแบบในการสร้างเรือ นอกจากนี้ยังใช้ในการเสี่ยงทาย หากมีผู้คลอดบุตรก็จะใช้ัฝักของ Rewarewa เสี่ยงทายลอยน้ำหากฝักลอยไปในน้ำได้ดี ก็แสดงว่าเด็กผู้นั้นจะมีชีวิตที่ดี หากฝักจมก็จะทายในทางกลับกัน

นกพิราบหรือ Kereru ในภาษาเมารี

Puriri moth

ส่วน Puriri หรือ New Zealand Mahogany ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีความสัมพันธ์กับนกพิราบของนิวซีแลนด์หรือที่ชาวเมารีเรียกว่า Kereru กล่าวคือนกพิราบจะช่วยแพร่พันธ์ต้นไม้ชนิดนี้โดยกลืนผลทั้งลูกพร้อมเมล็ดและไปถ่ายที่อื่น ซึ่งการที่เมล็ดผ่านในระบบทางเดินอาหารของนกพิราบและมีมูลนกจะช่วยให้เมล็ดงอกได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถโยงไปถึงผีเสื้อกลางคืนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ที่ชื่อ Puriri moth ซึ่งจะอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ชนิดนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวัชพืชที่รุกรานพืชพื้นเมืองของนิวซีแลนด์หลายชนิดที่มาจากพืชที่บรรดาแม่บ้านชอบนำมาจัดสวนหลังบ้านแล้วมันก็หลุดรอดออกไปเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ยาก

ถึงวันจริงก็ตื่นเต้นมาก เพื่อนๆ ก็แปลกใจเพราะไม่เคยเห็นทางเดินนี้มาก่อนและไม่เคยได้ยิน ก่อนเดินก็ต้องแจ้งให้ทุกคนทราบเรื่องของ New Zealand Environmental care code คือข้อกำหนดในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศนิวซีแลนด์ คือ

  • ปกป้องรักษาพืชและสัตว์ท้องถิ่น
  • คำนึงถึงผู้อื่นเมื่อเดินทาง เช่นหากมีผู้ขี่จักรยานมาให้หลีกทางให้
  • ช่วยกันรักษาความสะอาด
  • ไม่เดินออกนอกเส้นทาง เพื่อป้องกันการเหยียบย่ำพืช
  • รักษาแหล่งน้ำ นอกจากไม่ทิ้งขยะแล้ว ไม่ใช้สารเคมีในการล้าง หรือแชมพูสระผมในแหล่งน้ำทุกชนิด
  • เคารพในมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางโบราณสถาน และความเชื่อของท้องถิ่น

เมื่อทบทวนกันในเรื่องนี้ก่อนออกเดินทางแล้ว ก็ให้เพื่อนๆ เดินเองแล้วตัวเองก็ไปคอยที่จุดสิ้นสุดของเส้นทาง เพื่อรอสอบถามความเห็นเกี่ยวกับเส้นทางนี้

เพื่อนแปลกใจเพราะเส้นทางสั้นมาก ดูไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ แต่เราก็ได้คุยเรื่องวัชพืชเพราะตรงจุดสิ้นสุดของทางเดินมีวัชพืชที่ดอกสีสันสวยงามมาก เช่น Himalayan honeysuckle ดอกสีแดงสด, Buddleia มีดอกสีม่วง ซึ่งวัชพืชเหล่านี้มาจากการที่นำเอาพืชจากต่างประเทศมาปลูกในสวนหลังบ้านเนื่องจากมีสีสันและรูปทรงดอกงดงามแปลกตาต่างจากต้นไม้ของนิวซีแลนด์ มีการถามตอบคำถามและมีรางวัลเป็นปากกาแจกเพื่อนที่ตอบคำถาม

Himalayan Honeysuckle, Leycesteria formosa

Buddleia, Buddleja davidii ปกติดอกจะสีม่วงเป็นพวงห้อยแต่ในรูปนี้ดอกยังไม่บาน

จากนั้นก็ถามเรื่องต้นไม้ที่พบแล้วเดินไปพร้อมๆกันอีกครั้งเพื่อตรวจสอบ ปรากฎว่าเพื่อนๆ ก็ประหลาดใจที่ยังมีต้นไม้หลายชนิดที่เขานึกไม่ถึง ประกอบกับมีนกพิราบมากินลูก Puriri โชว์ให้ดูเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ

เราเตรียมอุปกรณ์อื่นเพิ่มคือรูปภาพของต้นพริกไทย ชะพลู และพลู เพื่อให้เขาดูเปรียบเทียบกับ Kawakawa ของเขา รวมถึงต้นอื่นๆ ตามตอนที่หนึ่ง

ปรากฎว่าเดินและพูดคุยได้ประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็เป็นที่ประทับใจแก่เพื่อนๆ ที่สามารถทำให้เส้นทางเดินที่ดูเหมือนไม่มีอะไร มีชีิวิตชีวาขึ้นมาได้ เราเองก็รู้สึกดีที่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่่ต้องการออกมาได้ ตลอดจนได้เล่าเรื่องของต้นไม้และการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องการใช้สมุนไพรของไทยให้เพื่อนๆและอาจารย์ได้ทราบ

การสอบครั้งนี้นับว่าผ่านอย่างงดงาม อาจารย์ก็ชมว่าประทับใจและสามารถผูกเรื่องราวได้น่าสนใจ.....ดีใจจัง แต่ยังมีสอบใหญ่อีกครั้งแบบนี้แต่เป็นการเดินสถานที่ทางประวัติศาสตร์ แล้วจะแวะมาเล่าตอนต่อไป ตอนนี้ขอแวะไปเรียนดูเมฆกับคุณบัญชา...ชายผู้รักมวลเมฆก่อน กำลังสนุกเลย

หมายเลขบันทึก: 239433เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

เรื่องราวน่าสนใจมากครับ แต่ขอท้วงเรื่องประกอบครับ หากมีรูปประกอบด้วยก็น่าจะทำให้เรื่องนี้โดดเด่นขึ้นมาอีกมากๆเลยครับ ผมสนใจเรื่องของการสื่อความหมายธรรมชาติมากครับ บ้านเราท่องเที่ยวกันแบบผู้พิชิต แคมป์คาร์ ตั้งวงกินเหล้า เล่นไพ่

ร้องเพลงโดยไม่สนใจเพื่อนรอบๆตัว เรื่องของ Environmental care code นี่อยากจะเห็นภาพบ้างจังครับเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมค่ายเยาวชนครับผม

  • ใจเย็นค่ะคุณ nuvall
  • ใส่รูปให้แล้วนะคะ พอดีตอนสอบไม่มีเวลาถ่ายรูปเท่าไร ได้ถ่ายแต่รูปวัชพืช
  • เลยต้องหารูปประกอบจาก web สำหรับต้นไม้อื่นๆค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท