กวีเสกศิลป์แม่น้ำร้อยสาย (๓) ลับลวงรอยทาง


เราต่างมองลำห้วยเล็กๆ เชื่อมโยงกับชีวิตเด็กเล็กๆ คนหนึ่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จากเด็กเล็กๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ สู่ความเป็นหลวงปู่มั่น ก็คือลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลหลั่งสั่งสมเป็นสายธาร และค่อยๆ แผ่ขยายไปสู่ความเป็นห้วงน้ำกว้างใหญ่...นั้นเป็นไปดุจเดียวกัน

เราเดินทางจากแก่งตะนะสู่ศรีเมืองใหม่เมื่อบ่ายเย็นของวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒ โดยมีรถยนต์ของคุณโชนศาสตร์ ก้อนทอง ขับนำทางรถของเราไป เป้าหมายทางคือบ้านครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ที่นั่นกำลังมีงานบุญลานบ้านลานธรรมจัดกิจกรรมอบรมนักเรียน ผม และ คุณทนง โคตรชมภู จึงหวังไปช่วยครูพงษ์ศักดิ์ตามกำลังสติปัญญา ก่อนจะเดินทางเสาะแสวงสายน้ำเพื่อเขียนภาพและบทกวีต่อไป

ระหว่างทางได้แวะเก็บภาพเก็บบันทึกกันที่โขงเจียมครู่หนึ่ง และที่โขงเจียมนี่เองนอกจากจะได้มุมภาพมุมกวีตามจุดมุ่งหมายของการเดินทางของเราแล้ว ผมยังได้รับความบันดาลใจแทรกซ้อนให้เขียนเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง แต่เขียนได้เพียงสองท่อนก็ต้องเดินทางต่อ เพราะใกล้ค่ำ ไม่ทันจบเพลง ครั้นถึงศรีเมืองใหม่ ได้พบครูพงษ์ศักดิ์ ก็ได้เล่าเรื่องเพลงที่ยังเขียนไม่จบพร้อมกับร้องให้ท่านฟัง และได้ขอความกรุณาให้ครูพงษ์ศักดิ์มีส่วนร่วมเขียนในอีกสองท่อนที่ค้างอยู่จนจบ เพลงนั้นมีชื่อเพลงและคำร้องดังต่อไปนี้ครับ


จักรยานผ่านใจที่โขงเจียม
ประพันธ์คำร้องและทำนอง : ศิวกานท์ ปทุมสูติ / พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา


......โขงเจียม แรกเจอก็ผูกใจกัน
พี่หนุ่มสุพรรณ ฝันไกลเผลอใจไม่เจียม
แม่น้ำสองสี สาวศรีไม่มีใครเทียม
สวยจริงโขงเจียม ผู้ปั่นจักรยานผ่านใจ
......โขงสีปูน แม่มูลสีครามงามตา
เกาะแก่งโสภา เฝ้ามองน้องเดินเนินทราย
ยิ้มน่าเอ็นดู เหมือนรู้ว่าพี่ทักทาย
ยกกล้องฉับไว ชัตเตอร์หัวใจกดพลัน
......อยาก... จะมาร่วมเดินเคียงข้าง
หยุดการเดินทาง วางรักเป็นหลักประกัน
เชื่อมสายลำโขง ไหลลงร่วมน้ำสุพรรณ
ผูกข้อต่อขวัญ สุพรรณโขงเจียมรวมใจ
......ขอเป็น ลูกเขยแห่งเมืองชายแดน
มาหัดเป่าแคน ให้น้องได้ฟังชิดใกล้
เดินเลียบลำโขง เกี่ยวแขนอวดใครและใคร
โขงเจียมโขงใจ รับรักพี่ได้ไหมเอย


คืนนั้นคณะของเรา คือ ผมและคุณทนงกับผู้ช่วยคุณทนงอีกสองคนได้พักค้างที่เรือนอาคันตุกะบ้านครูพงษ์ศักดิ์ ก่อนนอนได้เสวนาธรรมกับคุณอิ๊ด (สราวุธ แก้วศรีนวม) ศิลปินหนุ่ม กลุ่มศิลปะเด็กบาธวิถี แลกรสชาติชีวิตกันค่อนราตรี ว่าด้วยเรื่องราวอันใดบ้าง ยังคงปล่อยวางไว้ให้วันเวลาสานทอต่อไป...

รุ่งเช้ายังมิได้ช่วยอะไรกับค่ายอบรมนักเรียน ครูพงษ์ศักดิ์จัดคิวให้ผมกับคุณทนงในตอนบ่าย ดังนั้นเราจึงเดินทางไปแสวงหาลำห้วยเล็กๆ ของบ้านคำบง บ้านเกิดหลวงปู่มั่น ที่อยู่ห่างจากบ้านครูพงษ์ศักดิ์ราวสามสิบกิโลเมตร

เราเสาะหาลำห้วยเล็กๆ จนพบลำห้วยยาง ที่ซุกตัวอยู่ในอำพรางของพุ่มไม้ใหญ่น้อย หลังทำนบน้ำใต้เพิงไผ่ คณะของเราได้แหวกหนามกวาดทางเข้าไปให้คุณทนงตั้งอุปกรณ์และจอดรถเข็นในมุมสงบ ตักน้ำจากลำห้วยตรงนั้นขึ้นมาผสมสี ลงมือ (ปากคาบพู่กัน) เขียนภาพ ขณะผมก็นิ่งนึกคิดกับบทกวี เราต่างมองลำห้วยเล็กๆ เชื่อมโยงกับชีวิตเด็กเล็กๆ คนหนึ่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จากเด็กเล็กๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ สู่ความเป็นหลวงปู่มั่น ก็คือลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลหลั่งสั่งสมเป็นสายธาร และค่อยๆ แผ่ขยายไปสู่ความเป็นห้วงน้ำกว้างใหญ่...นั้นเป็นไปดุจเดียวกัน  

ภาพที่ ๓
ชื่อภาพ – ลับลวงรอยทาง


(ภาพล่าง...บทกวีขยายขนาด ให้อ่านง่าย)

ศิวกานท์ ปทุมสูติ

ลำห้วยยาง บ้านคำบง ศรีเมืองใหม่ อุบลราชธานี
๑๙ มกราคม ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 239220เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2009 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมอยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์แบบครู ......จังเลย

ระลึกถึงครูเสมอ

คุณแสงศรีได้สิทธิ์นั้นในบัดดล

อายุบวร

...

  • ดูภาพ อ่านกลอน
  • รู้สึกลึกซึ้งถึงอารมณ์กวีค่ะ

ศน.ลำดวน บอกรู้สึกลึกซึ้งถึงอารมณ์กวี

ดีครับ การที่ดูภาพและอ่านบทกวีแล้วรู้สึกเช่นนั้น

ทักษะแห่งความลึกซึ้งในจิตวิญญาณจะได้เดินทาง

อย่างลึกซึ้งกับชีวิต

ผมเชื่อเช่นนั้น

เชื่อว่าคนทุกคนมีศักยภาพแห่งสุนทรียภาวะ

เป็นของตนเอง

...

อายุบวร

กวีเสกศิลป์แม่น้ำร้อยสาย

กวีเสกศิลป์แม่น้ำร้อยสาย วาดเส้นตวัดลาย

ด้วยสีพู่กันบรรจง

พร้อมกับกลอนกานท์จารลง มโนนึกบอกบ่ง

คมคิดร้อยรัดปรัชญา

ลายเส้นสะท้อนวิญญาณ์ ลายลักษณ์อักขรา

ลีลาบ่งบอกความนัย

ท่ามกลางแห่งความเป็นไป มองใกล้เห็นไกล

สาระซ่อนซุกทุกทิศ

มุมมองไร้ความถูกผิด ซึ้งด้วยดวงจิต

ความคิดร่วมสิ้นจินตนา

สรรค์เสกด้วยรักศรัทธา และเชาว์นปัญญา

สื่อผ่านจากใจสู่ใจ

ดูซิเห็นไหมอะไร บดบังสิ่งใด

อะไรอยู่ในลวดลาย

กวีเสกศิลป์แม่น้ำร้อยสาย เขียนกลอนแต่งลาย

จารึกเรื่องเล่าแผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท