"งาน" วันดอกงิ้วบาน...


สำหรับในช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปีช่วงนี้จัดได้ว่าต้องมี "งาน" สำหรับวันที่ดอกงิ้วบาน...

ในที่มีมี "ต้นงิ้ว" ต้นใหญ่ยืนตระหง่านอยู่จำนวน ๓ ต้น ซึ่งแต่ละต้นอายุ อานามไม่น่าจะต่ำกว่าห้าสิบปี

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดอกงิ้วทั้งสามต้นนั้นบานสะพรั่ง สีแดงสดใส ตัดกับสีฟ้าดูน่าชม

เมื่อดอกงิ้วบานอย่างเต็มที่ ก็ถึงนาทีที่ต้องร่วงหล่น แล้วนั่นก็คือ "งาน" ของพวกเรา

งานเก็บ งานกวาด เป็นหน้าที่จักต้องทำเสมอทั้งเช้าเย็น

 

แต่ครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน มีนักศึกษามีเข้าค่าย พักแรม ปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ นอกจากที่เขาจะได้งานปฏิบัติธรรมด้านจิตด้านใจแล้ว เขายังแบ่งเวลาว่างมาเก็บดอกงิ้วเหล่านี้เอาไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม

นักศึกษาท่านนั้นได้เล่าให้เราฟังว่า...

"ดอกงิ้วนี้ ถ้าขายสด ๆ ในตลาดเขาขายกันขยุ้มหนึ่งสิบบาทมีแค่ไม่กี่ดอก แต่ที่เขาเก็บไปนี้จะเก็บไปตากแห้ง ถ้าตากให้แห้งสนิทดีแล้วก็สามารถเก็บไว้ได้เป็นปี"

 

 

ดอกงิ้วนี้เขาใช้ทำอะไรเหรอ...?

"ทำน้ำเงี้ยว..."

อ้อ... ขนมจีนน้ำเงี้ยว...?

"ครับ ในหนึ่งดอกนี่จะมีประมาณ 6 ช่อ เขาจะฉีกออกไปช่อ ๆ แล้วใส่ลงไป หม้อหนึ่งใส่ไม่เยอะครับ ใส่พอประมาณ..."

 

แล้วในทุก ๆ วันของช่วงที่มีการอบรมนั้น พวกเราเองแทบจะไม่ได้กวาดถนนในบริเวณนั้นเลย เพราะว่าพวกพี่ ๆ นักศึกษาเขาเก็บกวาดดอกงิ้วให้เราอย่างสะอาดตา

ตอนท้ายพี่เขายังเล่าให้ฟังอีกว่า...

"ตอนนี้ต้นงิ้วหายากครับ ถูกตัดเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์หมด ดอกงิ้วก็เลยหายากไปด้วย..."

วัฒนธรรมทางด้านอาหารของชาวเหนือที่ขึ้นชื่อ คือ "น้ำเงี้ยว" เป็นสิ่งที่คนทั้งในและนอกประเทศต่างประจักษ์ถึงรสชาติที่แปลกและแสนอร่อย

วันนี้เมื่อยังมีดอกงิ้วบาน ก็ย่อมมีงานทั้งคนเก็บ คนขาย คนปรุง คนตาก คนใช้ คนจ่าย และคนกิน

"งาน" สำหรับวันดอกงิ้วบานในวันนี้ ล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่าอย่างเอนกอนันต์ เพราะนั่นคือวัฒนธรรมแห่งสังคมไทย...

 

หมายเลขบันทึก: 238872เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2009 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2014 01:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดอกสัมผัสกับท้องฟ้า  สวยไปอีกแบบนะคะ

แวะมาเที่ยวและเรียนรู้ค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน นะคะ

ขอบคุณค่ะ

ดีใจที่ได้ความรู้เพิ่มเติมจากข้อมูลคุณ เพิ่งได้ไปเที่ยว จ.น่าน ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จึงได้เห็นดอกไม้สีแสด ตามทุ่งนา ที่แห้งแล้ง แห้งจนซังข้าวและกอหญ้าเป็นสีขาวเทา ซึ่งแห้งยิ่งกว่าสีน้ำตาลเสียอีก และเห็นต้นไม้ดอกสีแสดสองข้างทางระหว่างพิษณุโลกไปพิจิตรจึงอยากรู้ว่า เป็นดอกอะไรกันแน่ รู้จากเพื่อนๆ ในจังหวัดแถบเหนือตอนบน ว่าเป็นดอกงิ้ว ดอกสีเดียวกับแคแสดและทองหลาง น่าเสียดายนะ ถ้าเราสามารถปลูกเพาะต้นงิ้วได้ ทำไมไม่มีผู้ว่าหรือผู้บริหารในจังหวัดไหนในแถบถิ่นของงิ้ว คิดที่จะปลูกให้เต็มสองข้างทางถนนหลวง จะทำให้น่าชื่นชมและสวยงามไปตลอดทาง ผู้คนต้องไปเที่ยวแน่ๆ ส่วนต้นงิ้วที่ขึ้นเองตามธรรมชาติก็ต้องรักษาไว้ อย่าไปทำลาย เอาต้นไปทำไม้ขาย ปลูกจิตสำนึกชาวบ้านให้หวงแหนแล้วนายทุนก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าชาวบ้านไม่ยอม

ไม่ค่อยจะได้กินอาหารเหนือ

เคยกิน ขนมจีนน้ำเงี้ยว เพียงสองครั้ง

อร่อยดี

เลยให้เขาสอนให้ทำด้วย ก็พอทำเป็นจดไว้แล้ว

แต่ดอกงิ้ว นี่แข็งนิดหน่อย

เพิ่งเคยเห็นดอกจริง ต้นจริง

สูงใหญ่ ให้ดอกสวยงาม กินได้ด้วย มีประโยชน์หลายอย่างจริงๆ

ต้นงิ้วสมัยนี้แปลก "ไม่ค่อยมีหนาม..."

คงเพราะว่าต้นค่อนข้างแก่ หรือบางคนก็เปรียบเปรยว่า คนสมัยนี้ปีนขึ้นปีนลงจนหนามกุดหมดแล้ว...

แต่สิ่งหนึ่งที่เมื่อเราเจอแล้วสามารถเตือนสติให้ระลึกรู้ถึงบาปกรรมก็เป็นเจ้าหนามของ "หวาย" แถว ๆ นี้นี่เอง

แถว ๆ นี้เป็น "ดงหวาย" ถ้าเดินสุ่มสี่สุ่มห้า ขาดสติ ไม่ระมัดระวังแล้วนั้น ก็จะได้มีหนามหวายเป็นเครื่องประดับเท้าได้

แค่หนามหวายยังเจ็บขนาดนี้ แล้วหนามต้นงิ้วจะเจ็บขนาดไหน

โดนทีไรก็สะดุ้งทุกที

แต่ถ้าช่วงไหนไม่โดน ก็มักจะประมาท พลั้งเผลอ จึงต้องหมั่นเตือนสติตนเองบ่อย ๆ...

พอดีลองหาคำว่า ดอกงิ้ว เลยเปิดมาเจอ ได้ความรู้มากขึ้น เพิ่งทราบว่า ดอกงิ้ว กินได้ค่ะ

ขอบคุณที่ลงไว้ให้ได้ค้นหานะคะ มีรายละเอียดเป็นประโยชน์มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท