มหัศจรรย์ ... ความรู้แบบนุ่งผ้า (13) 5 วิธีการง่ายๆ กับการบันทึก "ความรู้ฝังลึก"


ความรู้ฝังลึกทั้งหลายที่ดิฉันได้นำเรื่องต่างๆ มาถ่ายทอดลงในบันทึกต่างๆ นี้ เป็นการบันทึกความรู้ที่ได้รับฟัง จากเรื่องเล่า จากความรู้ต่างๆ จากใครหลายๆ คน ตั้งแต่ผู้ใหญ่ที่เคารพ วิทยากรบรรยาย การอ่านหนังสือ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การไปร่วมกิจกรรมที่ประทับใจ รวมไปถึงผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ และนำมาบันทึกในเวที Gotoknow.org เพื่อเป็นการการแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่น่าสนใจ ในหลายๆ กิจกรรมที่เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งหลายเหล่านั้น และนำมาบันทึกจำแนกตามความรู้ที่ได้รับรู้มา

 

เรื่องดิฉันบันทึกไว้ จากประสบการณ์ของตัวเอง นั่นก็คือ

"... ดิฉันได้เรียนรู้เรื่อง KM หรือ การจัดการความรู้ มาเมื่อไม่นานมานี้เอง อาจพร้อมๆ กับท่านผู้อ่านหลายๆ คน คือ เมื่อได้รับมอบหมายจากอาจารย์หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ให้รับผิดชอบ "ลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรมอนามัย" เมื่อ มกราคม 2549 ใน The Gateway of Thailand's Online Knowledge Management หรือ GotoKnow.org นั่นเอง

ภายใต้หัวใจที่ชอบ และรักที่จะทำงานกับคอมพิวเตอร์ จึงไม่สิ่งที่ยากเลย สำหรับการเริ่มต้นใช้งาน GotoKnow.org โดยการ ศึกษาวิธีการเข้าระบบ และลงบันทึกเล็กๆ เพื่อเป็นการแนะนำตัว ที่จะเปิดบันทึก "แลกเปลี่ยนเรียนรู้  กรมอนามัย" (http://gotoknow.org/blog/kmanamai-nonta) ด้วยข้อความง่ายๆ สั้นๆ ว่า ... "วันนี้ กรมอนามัย โดย KM Team เปิด Blog และ Planet ลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัย เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอเชิญทุกท่านร่วมกันบอกเล่าประสบการณ์ การทำงาน และข้อคิดเห็นอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยน และร่วมเรียนรู้ด้วยกันได้ค่ะ" ที่บันทึกชุดนี้ คือ "ชุมชนลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัย ... http://gotoknow.org/blog/kmanamai-nonta/12083 ..."

ชั่วเวลาหลังจากบันทึกไม่นานนัก ก็ได้รับการต้อนรับจาก ประชาสัมพันธ์ Gotoknow ขณะนั้น ก็คือ คุณแขก และอาจารย์หมอสมศักดิ์ ก็ได้เข้ามาร่วมชวนคุย

นี่ ... คือ จุดเริ่มของการบันทึก ความรู้สึกฝังลึกของดิฉัน

ถ้าจะว่าไปแล้ว ความรู้ฝังลึกทั้งหลายที่ดิฉันได้นำเรื่องต่างๆ มาถ่ายทอดลงในบันทึกต่างๆ นี้ เป็นการบันทึกความรู้ที่ได้รับฟัง จากเรื่องเล่า จากความรู้ต่างๆ จากใครหลายๆ คน ตั้งแต่ผู้ใหญ่ที่เคารพ วิทยากรบรรยาย การอ่านหนังสือ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การไปร่วมกิจกรรมที่ประทับใจ รวมไปถึงผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ และนำมาบันทึกในเวที Gotoknow.org เพื่อเป็นการการแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่น่าสนใจ ในหลายๆ กิจกรรมที่เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งหลายเหล่านั้น และนำมาบันทึกจำแนกตามความรู้ที่ได้รับรู้มา เพราะว่าดิฉันได้เปิดบันทึกขึ้นมาในหลายหัวข้อ นั่นก็คือ

  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัย
  • ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
  • Dent's Story
  • เครือข่ายเพื่อเด็กเด็ก
  • มุมสบาย
  • ส่วนหนึ่ง ... ของลมหายใจ

ถ้าถามว่า แล้วดิฉันบันทึกได้อย่างไร ถึงกับมีบางคนให้ความเห็นไว้ในบันทึก เป็นการบอกเล่ากันมาให้ได้รู้ว่า ... "อาจารย์เขียนได้สนุกมากครับ" ... "ยอดเยี่ยมมากค่ะ สำหรับแก่นที่เก็บมาได้ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนจริงๆ" ... "พี่เม่ยยังไม่เคยได้พบกับคุณครูนงตัวจริงเสียงจริงนะคะ แต่อ่านบันทึกนี้แล้ว เหมือนได้นั่งฟังครูพูดไปด้วยเลยค่ะ" ... "อ่านแล้ว เหมือนจะได้ยินเสียงอาจารย์วิจารณ์ลอยออกมาเลยค่ะ" ... "ขอบคุณครับที่นำเรื่องดีๆ มา Share" ... "สุดยอดมหัศจรรย์จริงๆ ค่ะ" และอื่นๆ อีก ใช่หรือไม่นั้น ต้องเชิญกันไปพิสูจน์ค่ะ

 

เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ทำให้คิดที่จะมาสกัดถึงสิ่งที่ดิฉันได้ทำ ในเรื่องการบันทึกเรื่องเล่าต่างๆ ... นำมาสู่ ... ข้อเสนอ 5 วิธีการง่ายๆ กับการบันทึก ความรู้ฝังลึก ของดิฉัน นั่นก็คือ

  1. ให้ใจกับการทำงาน ดิฉันมีความมุ่งมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่า เรามีโอกาสได้เรียนรู้มากกว่าใครหลายๆ คนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การรับฟังนโยบาย การรับฟังความรู้ที่ดีดี ที่ท่านทั้งหลายอาจไม่มีเวลา หรือไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมการประชุมที่สำคัญๆ ได้ เพราะติดภารกิจที่สำคัญกว่า หรือต้องทำงานประจำ ... ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับเป็นสัญญาใจว่า เมื่อไรที่มีความรู้สึกดีดี กับเรื่องราวในการประชุม ถ้าทำได้ ต้องนำมาถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมฟังด้วย และอยากให้ได้ฟังเหมือนกับที่เราได้ฟังมาด้วยเช่นกัน ... เป็นความตั้งใจที่จะถ่ายทอดให้ได้ทั้ง เรื่องเล่า และบรรยากาศของการประชุมนั้นๆ ด้วย
  2. ซึมซับความรู้ เมื่อได้ฟังจากเรื่องเล่า เรื่องบรรยาย หรือการแลกเปลี่ยน ข้อนี้อาจจะเรียกว่า Deep listening ก็ไม่น่าผิด แต่ต้องมีพลังเสริม ด้วยการเปิดใจ รับฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจความหมายที่ผู้เล่าที่ตั้งใจถ่ายทอด ด้วยการรับฟังโดยไม่คิดถึงข้อขัดแย้งในใจของเรา กับเรื่องเล่านั้นๆ เพื่อที่จะได้เก็บเอาสิ่งดีดีจากเรื่องเล่า นำมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือที่ร้อยเรียงให้ผู้อ่านได้สัมผัส เหมือนการได้ฟังผู้เล่านั้นจริงๆ ระหว่างการฟังนั้น อาจจะมีการบันทึกบ้างเล็กน้อย ในคำพูดสำคัญๆ ที่กินใจ หรือให้ความที่มีความหมาย ที่เราฟังแล้วรู้สึกว่า เป็นคำหลักที่น่าจะถ่ายทอดต่อไป
  3. บันทึกทุกครั้งที่มีโอกาส ดิฉันมีประสบการณ์ในอดีคที่จะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอด สรุปผลในการประชุม หรือการอบรมทางด้านวิชาการมาก่อน ทำให้เรื่องการถอดเทป ไม่เป็นเรื่องที่ยากเลย และวิธีการทอดเทปของดิฉันนั้น จะฟังเสียงจากเทปไปพร้อมๆ กับพิมพ์เรื่องราวที่ฟังมานั้นนั้นด้วยคอมพิวเตอร์ อาจจะต้องหยุดเวลาของการฟังบ้าง เพื่อที่จะใช้เวลามาบันทึก หรืออาจต้องทวนเทปย้อนหลังบ้าง เพื่อฟังให้แน่ใจ ก็เป็นไปได้ ... การบันทึกในที่นี้ หมายถึงการบันทึกด้วยเครื่องอัดเสียง ในยุคแรกๆ ที่เครื่องมือยังมีเครื่องมือที่ทันสมัยมากนัก ก็จะใช้เทปบันทึกเสียง แต่ปัจจุบัน พัฒนาแล้วค่ะ มาใช้ Mp3 หรือ Mp4 คู่ใจ ที่ต้องลงทุนเลือกซื้อหน่อยว่า สามารถจับเสียงได้ไว และเสียงที่ฟังไม่เกิดเสียงแทรกง่าย
    ... แต่นั่นก็คือ ควรจะมีการบันทึกร่วมด้วย เป็นคำพูดกินใจ ที่ไม่ต้องปิ๊งจากใครหรอก นอกจากเราไปปิ๊งเอง เรารู้สึกเอง จะทำให้เราสามารถกำหนดล่วงหน้าไว้ได้ว่า คำพูดนี้ สามารถขยายเรื่องเล่า และนำไปจุดประกายให้กับผู้อ่านที่จะเรียนรู้กับเรื่องเล่าของเราได้อย่างได้อารมณ์
    ... แต่ถ้าไม่มีเครื่องบันทึกเล่า ก็ทำได้เช่นกัน ด้วยการจดบันทึกในกระดาษ หรือสมุด หรือจะเรียกเท่ห์ๆ ว่า Note Book ก็ได้ ใครฟังเพลินๆ ก็อาจคิดว่า เราใช้ Notebook คอมพิวเตอร์นั่งพิมพ์นั่นเอง เมื่อได้จดประเด็นที่น่าสนใจ และขยายความเล็กน้อย มาเสริมกับการฟังอย่างเข้าใจ ก็จะทำให้สามารถนำไปถ่ายทอดต่อได้เช่นกัน
  4. ถ่ายทอดลงสู่บันทึก การบันทึกหลังจากการฟังเรื่องเล่ามาแล้วนั้นทั้งหมด จะถูกถอด และพิมพ์ลงใน Microsoft Word ซึ่งเท่ากับเป็นการรับฟังเรื่องเล่าครั้งที่สอง ที่จะเป็นตัวเสริมให้ได้มีความเข้าใจในเรื่องเล่านั้นมากขึ้น สิ่งนี้ที่เกิดกับตัวเองก็คือ ในเรื่องที่ได้ฟังแล้วชอบนั้น เมื่อฟังซ้ำ ก็จะเกิดความรู้ที่ชัดเจนขึ้นจากครั้งแรก ได้เรียนรู้รายละเอียดมากขึ้น และเห็นประเด็นเด่นของเรื่องเล่านั้นๆ ส่งผลให้รู้ว่า ข้อความไหนจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปบันทึกเพื่อการถ่ายทอดต่อไป
  5. บันทึกเรื่องเล่า เรื่องนี้ไม่ยากแล้ว ด้วยระบบจัดการของ Gotoknow.org ที่มีเครื่องมือช่วยในการบันทึกเรื่องเล่าในบันทึกต่างๆ อย่างมากมาย นั่นก็คือ
    ขั้นที่ 1 คือ กำหนดชื่อเรื่องของบันทึกตามเนื้อหาที่เราจะบันทึกนั้นๆ
    ขั้นที่ 2 คือ ใช้ระบบง่ายๆ ก็คือ Copy + paste โดยเลือก Copy เฉพาะส่วนของข้อความที่จะนำลงเผยแพร่ ที่เป็นเรื่องเล่าที่สามารถจบเรื่องได้ใน 1 บันทึก แต่ถ้าเรื่องเล่ายาวมาก ก็จะทำเป็นบันทึกต่อเนื่อง นำมาเล่าเป็นตอนๆ ต่อกัน
    ขั้นที่ 3 คือ พิมพ์เพิ่มเติม โยกย้าย หรือตัดทอน เพื่อให้เรื่องเล่าสมบูรณ์ และต่อเนื่อง โดยเพิ่มเรื่องของ การเล่าเริ่มต้น เพิ่มข้อความที่ทำให้ผู้อ่านได้รู้ที่มาที่ไปของเรื่องนั้น อ่านเรื่องราวที่บันทึกมาอีกครั้ง เพิ่มคำเชื่อมที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องของเรื่องราว โยกย้ายบางประโยคที่อาจมีการข้ามตอน ให้นึกถึงว่า เหมือนกับการอ่านนิยาย เนื้อหาของนิยายเป็นอย่างไร มีความต่อเนื่องอย่างไร อ่านนิยายแล้วมีความสุขได้ หัวเราะได้ ร้องไห้ได้ ก็ทำให้การเขียนของเราให้ได้อย่างนั้นเลย พร้อมกับการจัดแต่งข้อความให้สบายตา อ่ายง่าย ตอนนึ้ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญในเรื่องงานพิมพ์พอสมควร จึงต้องมีการฝึกในเรื่องการใช้งานโปรแกรมพิมพ์คอมพิวเตอร์มาก่อนด้วยให้ชำนาญ จะได้ไม่เหนื่อยมากนักในการเตรียมข้อความเอง
    ขั้นที่ 4 คือ เน้นความสำคัญของบางประโยค เช่น คำพูดเด่น คำพูดดีดี บุคคลดีดีที่ควรจดจำ หรือควรรู้จัก และอื่นๆ ที่อยากให้รู้ว่ามีความสำคัญ ถ้ามีภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่า สามารถนำมาเสริมกับบันทึกได้อย่างดีทีเดียว
    ... สิ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อคิดจะบันทึก ก็ลงมือทำ และบันทึกทันที แล้วประโยชน์ที่ได้รับนั้นจะตามมา ตั้งแต่ ท่านที่เป็นผู้บันทึกจะเกิดความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น เพื่อนร่วมงานและภาคีเครือข่ายก็จะได้รับความรู้ฝังลึก จากการปฏิบัติจริงจากบันทึกที่ท่านได้เล่า และสุดท้ายก็คือ ทำให้เกิดองค์ความรู้เกิดขึ้นในองค์กร และนำไปต่อยอดการเรียนรู้ได้ด้วยในอนาคต

รวมเรื่อง มหัศจรรย์ ... ความรู้แบบนุ่งผ้า

หมายเลขบันทึก: 238214เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2009 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พลังแห่งการบันทึก ของคุณหมอ สูงมากจริงๆ

  • P
  • ขอบคุณค่ะ ... ทำให้ได้คิดว่า ควรเล่าเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • จะได้ชักชวนผู้คนมาบันทึกได้มากขึ้นละค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท