๔๙. สุขาภิบาลและสาธารณสุขชุมชนบ้านตาลิน


  เมื่อปลายปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา    ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน ที่บ้านตาลิน ตำบลหนองบัว+ห้วยถั่วใต้+ห้วยร่วม(แสดงว่าเป็นชุมชนหมู่บ้าน ที่คร่อมอยู่บนรอยต่อของสามตำบล) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

ตอนอาบน้ำ ก็ให้แปลกใจว่าน้ำท่าใสแหน๋วอย่างผิดหูผิดตา จนอดถามแม่และน้องๆไม่ได้  เลยก็ได้ความว่า บ้านผมมีน้ำประปาประจำหมู่บ้านแล้ว ก่อนหน้านั้นแถวนั้นใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากสระ  หนอง คลอง และน้ำฝน

ผมเดินออกไปดูก็แลเห็นถังน้ำประปา ก่อสร้างขึ้นริมถนนเชื่อมต่อละแวกบ้านกลางทุ่งนาเวิ้งว้าง สีขาวโพลนตัดกันกับสีเขียวครึ้มของแมกไม้และนาข้าว ทำให้มองย้อนกลับไปและเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินมาอย่างสืบเนื่อง

ในอดีตนั้น  บ้านตาลินมีแหล่งน้ำสาธารณะที่สำคัญอยู่สามแห่ง และผู้นำชุมชน รวมทั้งคนเฒ่าคนแก่  ได้พยายามระดมทุนกันเพื่อว่าจ้างให้เอกชนมาสำรวจและขุดเจาะน้ำบาดาล  ค้นหาและขุดเจาะอยู่หลายปีนับแต่ยุคกว่า ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน้น แต่ก็ไม่สามารถขุดค้นพบตาน้ำบาดาล  สร้างได้เพียงสระสาธารณะ ๓ แห่ง คือ

  • สระธารณ์(1) เป็นสระน้ำสาธารณะขนาดใหญ่  ที่ชาวบ้านระดมน้ำใจและแรงงานช่วยกันขุดขึ้นด้วยมือ ที่ดินบริจาคโดยตาลิน บ้านถนน และค่าจ้างคนขุดบริจาคโดยพ่อใหญ่เบ้า พินสีดา บ้านห้วยถั่วกลาง อยู่ติดกับบริเวณที่เป็นสนามหน้าโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน น้ำจากสระธารณ์นี้เป็นน้ำที่ใสสะอาด ชุมชนใช้ดื่มกินและใช้อุปโภค บริโภค ร่วมกันทั้งชุมชน ในหน้าแล้ง บริเวณโดยรอบจะเป็นแหล่งพบปะ สร้างสังคม  พูดคุย ช่วยกันตักน้ำ และอาบน้ำด้วยกันทั้งเด็กผู้ใหญ่ เก็บกักน้ำสำหรับใช้ในชุมชนได้ตลอดหน้าแล้ง
  • สระหลังโรงเรียนวันครู  เป็นสระน้ำขนาดใหญ่เช่นกัน ขุดโดยใช้รถแทรคเตอร์ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากงบประมาณของราชการ  ทว่า  หากขุดไปตามกำลังงบประมาณแล้ว จะได้สระน้ำเล็กนิดเเดียวเท่านั้น  การที่สามารถขุดให้เป็นสระขนาดใหญ่ได้  ก็โดยการระดมทุนและน้ำใจของชาวบ้าน  รวมทั้งเจ้าของรถแทรคเตอร์  ทั้งว่าจ้างจากภายนอก และรถแทรคเตอร์ของพ่อผู้ใหญ่แถว  แสงอาภา ผู้นำชุมชนเก่าแก่อันเป็นที่รักคนหนึ่งของชุมชน(ถึงแก่กรรมแล้ว)
  • สระวัดกลาง  วัดกลางเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแต่เก่าก่อน ที่นั่นมีสระน้ำขนาดใหญ่ขุดด้วยแรงงานของชาวบ้าน

สระน้ำสาธารณะทั้งสามแห่ง สามารถหล่อเลี้ยงชุมชนได้ตลอดหน้าแล้ง ยกเว้นในบางปีที่แล้งมากอย่างผิดปรกติเท่านั้น

 

                        

 

การขุดสระน้ำสาธารณะแห่งที่ ๒ ของชุมชนบ้านตาลิน ที่ด้านหลังอาคารเรียนโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ชาวบ้านระดมแรงงานและทรัพยากรร่วมสมทบกับงบประมาณของราชการ รถแทรคเตอร์ขุดสระเป็นของผู้ใหญ่แถว แสงอาภา และทิดสวอง แสงอาภา สระน้ำสาธารณะแห่งแรกชาวบ้านเรียกสระธารณ์ อยู่ติดกับถนนและสนามของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ที่ดินของโรงเรียนและแหล่งน้ำรวมกัน ๑๒ ไร่เดิมเป็นที่ดินของพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย แสงอาภา ซึ่งขายให้ราชการและการระดมทุนช่วยกันของชาวบ้านเพื่อแสดงความพร้อมในการนำเอาโรงเรียนวันครูมาตั้งที่บ้านตาลินไร่ละ ๑,๒๐๐ บาท

 

ในทางสาธารณสุขนั้น น้ำ อาหารการกิน  การอุจจาระและขับถ่ายสิ่งต่างๆออกจากร่างกายนั้น เป็นหนทางที่ปัจจัยภายนอกเข้าสู่ร่างกาย และเป็นทางแพร่กระจายออกของสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นภายในร่างกายไปสู่วงกว้างภายนอก ดังนั้น จึงจัดว่าเป็นช่องทางหนึ่งของการก่อเกิดปัญหาสุขภาพในชุมชนและเป็นการดำเนินไปของปัญหาสาธารณสุข

การพัฒนาเกี่ยวกับแหล่งน้ำ การจัดการเกี่ยวกับส้วม(2) และสุขาภิบาลภายในละแวกที่อยู่อาศัย(3)  จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวิถีชีวิต สุขภาพ และสุขภาวะของชุมชน(4)

นอกจากแหล่งน้ำกับสุขภาพและสุขภาวะของชุมชนแล้ว ในอดีตสักประมาณ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านแถวบ้านตาลิน มีปัญหาสุขภาพหลายอย่างในระดับพื้นฐาน ซึ่งในระยะต่อมาจนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงและหายไปสิ้นเชิงอย่างไม่น่าเชื่อ  เช่น  ชาวบ้านกว่าร้อยละ ๗๐ ในอดีตจะกินหมากและสูบยาเส้น แต่ปัจจุบันก็เลิกและแทบจะไม่มีให้เห็นอีกเลย

 

                         

 

           ภาพส้วมที่ดีที่สุดในยุคแรกของชุนบ้านตาลิน : ส้วมหลังเดิมของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของโรงเรียน ก่อนที่จะมีวัดใหม่(นิกร ปทุมรักษ์) ด้านหลังของส้วมแต่เดิมนั้นเป็นที่นาของ ตาไหล พูลสวัสด์ บ้านเตาอิฐ และ พ่อใหญ่อิ้ม คนรังย้อย เป็นส้วมหลุม ใช้ไม้แก้งก้น ปะโดยรอบด้วยสังกะสี แต่ก็นับว่าเป็นส้วมหลุมที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในยุคแรกของชุมชนบ้านตาลิน  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์          

  ส้วมและถาน   แต่เดิมก็เป็นการนั่งทุ่งเกือบทั้งสิ้น  อย่างดีที่สุดก็เป็นส้วมหลุม ของโรงเรียน วัด และชาวบ้านที่รู้จักทำที่อยู่อาศัยให้เป็นสัดเป็นส่วน จึงเป็นที่แน่นอนว่า โรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งโรคพยาธิ  จึงแพร่ระบาดอย่างง่ายดาย  เมื่อเป็นก็มักจะเป็นไปตามๆ กันทั้งหมู่บ้านและชุมชน เช่น บิด ท้องร่วง พยาธิตัวตืด  พยาธิไส้เดือน ตัวจี๊ด พยาธิเส้นด้าย  ในยุคนั้น หนังเร่และรถขายยาถ่ายพยาธิ จึงเข้าออกหมู่บ้านและขายดิบ-ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ประมาณปี ๒๕๑๕  ทางโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ซึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นองค์กรจัดการชุมชนไปในตัว  โดยครูและหมออนามัยที่มาปลูกฝีเด็กๆ รวมทั้งให้สุขศึกษาชุมชน รณรงค์การมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ  และพัฒนาสาธารณสุขชุมชน ก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับวัฒนธรรมขึ้นในวิถีชีวิตดั้งเดิมหลายอย่าง โดยเฉพาะโครงการโภชนาการ การทำสวนครัว และการใช้ส้วมซึม โดยเริ่มที่โรงเรียน วัด และผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ

ในละแวกบ้านผมนั้น  พ่อผมเป็นผู้ร่วมนำการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังคนหนึ่ง ซึ่งนึกถึงพัฒนาการที่ชาวบ้านเปลี่ยนผ่าน ย้ายก้นจากการนั่งทุ่งไปสู่การนั่งส้วมซึมคราใด ก็ให้นึกขัน

ที่บ้านผม พ่อกับผู้ใหญ่ ๒-๓ ครอบครัว ของญาติพี่น้องในละแวกใกล้เคียง ช่วยกันประเดิมติดตั้งส้วมซึม จากนั้น ก็เกิดความโกลาหล หรือภาวะไร้ระเบียบอยู่เป็นนาน เนื่องจาก ทั้งพวกเด็กๆ และชาวบ้าน กว่าจะยอมใช้ส้วมซึมแทนการนั่งทุ่งนั้น  ก็เกิดกิจกรรมและกระบวนการทางสังคมก่อนการเปลี่ยนแปลงที่นึกถึงแล้วก็สนุก  คือ 

อย่างแรก  แทนที่ส้วมซึมที่สร้างเสร็จแล้วจะถูกชาวบ้านใช้  ก็กลายเป็นสิ่งอัศจรรย์ของชาวบ้าน 

เนื่องจากทั้งเด็กๆและชาวบ้าน  มักอยากลองดูด้วยตนเองที่จะนำน้ำไปเทใส่ แล้วก็ได้เห็นกับตาว่า  จะเทน้ำลงไปอย่างไรน้ำก็ไม่ล้น ไม่เต็ม อีกทั้งไม่ยุบ มีน้ำอยู่ในคอห่านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในยุคแรกมีนั้น ต่างเห็นเป็นเรื่องประหลาดและอัศจรรย์ดีแท้

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ยังแปลกแยกกับส้วมซึม โดยถ่ายนั่งทุ่งกระจายไปตามบิรเวณรอบๆส้วมซึม จึงกว่าส้วมซึมจะเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ก็ล่วงไปหลายปี

จากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและวิถีวัฒนธรรมของการขับถ่าย การเลิกกินหมากและยาสูบ ผ่านพ้นไปนานนับ ๒๐-๓๐ ปีหรือกว่าสามทศวรรษ  ณ เวลานี้ ชุมชนบ้านตาลินก็มีน้ำประปาชุมชน

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน ก็เริ่มมีลูกหลานของชาวบ้านเริ่มมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ บางส่วนเป็นสาขาสุขภาพ เมื่อจบก็กลับไปเป็นหมออนามัย และเมื่อปีที่ผ่านมา ผมก็ได้ทราบอีกว่า ลูกหลานของญาติพี่น้องแถวบ้านใต้ ซึ่งมาจากครอบครัวของชาวนาแท้ๆ สอบเข้าเป็นเป็นนักศึกษาพยาบาลของวิทยาลัยพยาบาล โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์          

ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่เพียงมีส่วนทำให้สาธารณสุขชุมชน และสุขภาวะโดยรวมของชาวบ้าน ดีขึ้นมากแล้วเท่านั้น  สุขภาวะของชุมชนที่ดีขึ้น นำมาซึ่งโอกาสหล่อหลอมและสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ให้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและผู้นำการพัฒนาให้กับสังคม แม้นเพียงทีละเล็กละน้อย  แต่ก็เปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้รอได้รับการพัฒนาและให้ความช่วยเหลืออย่างเดียว สู่การเป็นผู้มีสุขภาวะพอสมควรและเริ่มแบ่งปันเกื้อกูลให้กับสังคมในวงกว้างได้ บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นได้อย่างหนึ่ง.

 ----------------------------------------------------

(1) ชาวบ้านในท้องถิ่น ออกเสียงว่า สะ-ทาน ซึ่งยังไม่มีโอกาสศึกษาค้นคว้าว่าที่ถูกเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร เพราะทั้งในแง่ที่เป็นสระสาธารณะของชุมชน โดยเรียกว่าสระธารณ์ กับการเป็นสระที่ชาวบ้านและชุมชนสร้างขึ้นให้เป็นทานแก่คนทั่วไป โดยเรียกว่า สระทาน นั้น ต่างก็มีความหมายที่สื่อถึงความเป็นทรัพย์สินเพื่อบำรุงส่วนรวมเหมือนกัน

(2) ต่อมา ประเทศไทย โดยกรมอามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการส้วมร้อยเปอร์เซนต์ทั้งประเทศ

(3) ในทศวรรษ 2530 ประเทศไทยก็ดำเนินการขยายผลโครงการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยกลวิธีการสาธารณสุขมูลฐาน งานสุขาภิบาลและการป้องกันควบคุมโรคระบาดในท้องถิ่น ผ่านการจัดหาแหล่งน้ำสะอาด และการสร้างส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ได้จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง ของการสาธารณสุขมูลฐาน

(4) ในทศวรรษ 2540 เริ่มขยายกรอบแนวคิดด้านสุขภาพให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาสังคมที่กว้างขวางและครอบคลุมมิติต่างๆทุกด้าน ก่อเกิดกลวิธีการพัฒนาเชิงรุก เน้นการสร้างนำซ่อมให้บูรณาการมิติส่วนรวมของชุมชนระดับต่างๆ เช่น ชุมชนน่าอยู่ เมืองน่าอยู่ การสร้างเสริมสุขภาพ และการสร้างสุขภาวะชุมชน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 238004เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มองโลกดีโลกก็ดีขึ้นทันใด

ดีบังเกิดแก่ใจผู้ใฝ่ถวิล

มิตรญาติไม่ขาดใยหอมไอดิน

บ้านตาลินถิ่นเชื้อมีเนื้อยาง

ร ะ ลึ ก ถึ ง นำ ศ รั ท ธ า

อายุบวร

สวัสดีครับอาจารย์ ผมเข้ามาอ่านบทกลอนอาจารย์อยู่หลายรอบ เพื่อจะลองตอบเป็นกลอนดูสักหน่อย แต่จนแล้วจนรอดก็ไปไม่ไหวครับ รำลึกถึงครับอาจารย์

ตกลงเลยไม่ได้มาร่วมเวทีเสวนาที่บ้านทุ่งสักอาศรมแล้วละครับ หยุดสามวันนี้มีอันให้ต้องไปบรรยายวันอาทิตย์ ไม่พอดีที่จะไปไหนได้เลย เลยหยุดเขียนงานค้างๆ อยู่กับบ้านครับ อาจารย์ไปไหนที่ต้องผ่านกรุงเทพฯ แวะไปนอนคุยกันที่คอนโดผมบ้างนะครับ

                                            

  • คลองชลประทาน  กรมชลประทานขุดลอกขึ้นใหม่ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เป็นแนวคลองที่ขุดลอกตามลำน้ำธรรมชาติที่เชื่อมต่อไปถึงบางมูลนากจังหวัดพิจิตรได้และผ่านบ้านตาลิน
  • ในอดีต เมื่อฤดูน้ำหลากจนถึงเดือนอ้าย-เดือนยี่ น้ำจะเต็มลำคลอง ชาวบ้านสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือ ผ่านวัดกลาง และผ่านชุมชนที่สำคัญทั้งบ้านเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ เชื่อมต่อไปถึงหนองจิก ห้วยถั่วใต้
  • ในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ ซึ่งเริ่มมีการขุดลอกคลองสาธารณะโดยโครงการของรัฐบาล (คลองคึกฤทธิ์) สภาพชุมชนท้องถิ่นแถวบ้านห้วยถั่วเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นช่วงที่สภาพแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ลำน้ำธรรมชาติเริ่มตื้นเขิน ป่าละเมาะที่เชื่อมต่อแบบค่อยๆหนาแน่นเป็นผืนป่าเขาเหล็กและเขาสูงที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งหาของป่า หน่อไม้ กลอย หาไม้ทำบ้านและสิ่งสาธารณะ  เริ่มหมดสภาพไป

พูดถึงคลองคึกฤทธิ์ก็มีอันต้องนึกถึงอดีตในวัยเด็กของน้องเอง ตอนนั้นเรียนอยู่ก็ประมาณ ป.6-ป.7 สภาพก็เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึงรองเท้าที่ใส่ไปโรงเรียนก็รองเท้าแตะ เสื้อนักเรียนสีขาวจนไม่เหลือความขาวเพราะน้ำที่ใช้กันสมัยนั้นคือน้ำคลองเพราะไม่มีประปาทำให้เสื้อสีขาวกลายเป็นสีเหลือง ทั้งเสื้อและกระโปรงไม่เคยรีด เพราะลำบากไม่มีเตารีดไฟฟ้า นาน ๆ ครั้งจะได้รีดเตารีดที่ใช้เป็นเตารีดที่ใส่ถ่าน ตัวเตารีดจะเป็นเหล็กข้างในเตารีดจะกว้างพอสมควรเพราะต้องใส่ถ่านครั้งละมาก ๆ จะมีฐานรองรับขี้เถ้าของถ่าน

รีดไปรีดมาถ่านก้อนเล็ก ๆ ก็หล่นออกมาด้านนอกทำให้เสื้อผ้าไหม้ไปหลายตัวเลยก็มี กว่าจะรีดเสื้อผ้าเสร็จไฟถ่านก็อ่อนแรงและดับไปก่อน ต้องเริ่มต้นก่อไฟถ่านใหม่ ทำให้ลำบากเลยไม่ต้องใส่เสื้อหรอกเสื้อผ้าที่ต้องรีด ย้อนกลับไปหาคลองคึกฤทธิ์ น้องเองก็ไปคนหนึ่งทื่ได้มีส่วนร่วมในการขุดคลอง ในสมัยนั้นใช้แรงงานคนถึงหมด ขนาดคลองที่ทางราชการกำหนดคือ กว้าง-ยาว-สูง อย่างละ 1 เมตร จะได้ราคาหลุมละ 60 บาท เงิน 60 บาทตอนนั้นมีค่ามากมายสำหรับชาวชนบทที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ใครที่ขุดดินเก่ง ๆ ตอนนั้นวันหนึ่งได้ตั้งหลายหลุม น้องเองจำได้ว่าได้เงินมา 120 บาท ซื้อผ้าเช็ดตัวลายการ์ตูนไว้ 1 ผืน 20 กว่าบาท ที่เหลือก็ใส่กระปุกออมสิน ภูมิใจมาก (แต่ความเป็นเด็กน้องเองต้องให้น้าโอช่วยขุดตลอด น้าโอเป็นคนที่ขยันมาก ทำงานเก่งมากไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย ไม่เคยบ่นว่ารำคาญหรือเบื่อให้ใครได้ยิน จนกระทั่งทุกวันนี้ น้าโอเป็นคนที่มีน้ำใจประเสริฐมาก ใครทุกข์ร้อนเรื่องอะไรขอให้บอกช่วยได้ทุกข์เรื่อง) ใช้ระยะเวลาในการขุดคลองกันเป็นเดือน สนุกสนานกันมาก แรงงานคนที่ไปขุดกันตอนนั้นเยอะแยะไปหมด ได้พูดได้คุยและได้รู้จักกันมากขึ้น มีเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น แม่ไม่ได้ขุดคลองกับเขาหรอกตอนนั้นแต่เป็นคนเติมแรงให้โดยทำขนมลอดช่องไทยขาย กวนเอง ขายเอง ถ้วยละ 1 บาท บางวันก็เป็นก๋วยเตี๋ยวผัด ผัดแบบง่าย ๆ แต่อร่อยมาก เส้นก๋วยเตี๋ยวแม่ก็ทำเองโดยโม่แป้งแล้วนึ่งเป็นเส้น ในที่สุดก็ได้คลองสาธารณที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่มีเครื่องจักรกลเข้ามาเกี่ยวข้องเลย (น่าภูมิใจเหมือนกำแพงเมืองจีนเลยเนาะ) ต่อมาลำคลองที่เห็นในภาพนี้ก็มีการปรับปรุงแต่ใช้แม๊คโครขุดแล้วสร้างฝายกั้นน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้วอย่างที่เห็นนั่นแหละ

สวัสดีเจ้าครูน้อง : ได้รายละเอียดดีจัง มองย้อนกลับไปอีกที กุศโลบายของการขุดคลองคึกฤทธิ์นี่นับว่าแยบคายมากทีเดียว จริงอย่างที่ครูน้องว่า การลงแรงขุดคลองคึกฤทธิ์ทำให้ชาวบ้าน ลูกเล็กเด็กแดงพากันไปขุดคลองกันทั้งหมู่บ้านเต็มไปหมด เป็นทั้งการพัฒนาระบบชลประทาน-การจัดการน้ำ ซึ่งตอนที่ขุดใหม่ๆนั้นแถวบ้านตาลินและชุมชนหนองบัวก็แก้ปัญหาเรื่องน้ำได้มากทีเดียว หน้าน้ำหลาก ทำให้น้ำจากทางเหนือมีคลองที่จะปล่อยน้ำให้กับชุมชนที่อยู่ทางใต้ได้ดีขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการสร้างทุนทางสังคม และพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการของกลุ่มผู้นำชาวบ้านและองค์กรในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก การเลี่ยงที่จะไม่ใช้เครื่องจักร แล้วหันมากระตุ้นให้ชาวบ้านออกไปใช้แรงงาน ได้ทั้งคลองและได้เรียนรู้ที่จะมีรายได้ที่เกิดจากการทำงาน การใช้น้ำพักน้ำแรง ให้ความรู้สึกได้ทำเรื่องส่วนรวมด้วยมือของชาวบ้านเอง

                 

ครูน้องเขียนบันทึกชุมชนดีนะเนี่ย เรื่องพวกนี้ชาวบ้านหลายคนยังจำได้ เรื่องคลองคึกฤทธิ์นี้พี่ก็ขอทดไว้ก่อนว่าจะวาดรูปเก็บไว้เป็นเรื่องราวของชุมชนนะ ตอนนี้กำลังเขียนงานอยู่เด้อ

แวะไปเขียนในหัวข้อของคนหนองบัวบ้างสิ ครูน้องอยู่ใกล้ชิดกับเด็กๆและชุมชน หากมีเรื่องราวที่รวบรวมไว้ให้เป็นข้อมูลสำหรับเรียนรู้ตนเองของชุมชนได้ ก็เก็บรวบรวมและถ่ายทอดไว้ที่บันทึกหัวข้อเวทีของคนหนองบัวโน่นเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท