นักบริหารมืออาชีพ


บริหารมืออาชีพ

บทบาทของผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ องค์กรวิชาชีพของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมในวิชาชีพ ความจำเป็นและความหมายของผู้บริหารมืออาชีพ ความจำเป็นของการเป็นมืออาชีพ ในยุคโลกาภิวัตน์ทำให้มีความจำเป็นในการที่ผู้บริหารสถานการศึกษามืออาชีพสูงมาก จึงจะทำให้การบริหารจัดการศึกษามีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ และมีคุณภาพตามที่พึงปรารถนา ทั้งนี้ เนื่องจากหลักการและเหตุผลหลายประการ ได้แก่ 1. ปัญหาการบริหารจัดการศึกษาในปัจจุบันมีมากมาย 2. การมีกฎหมายกำหนดให้การบริหารจัดการศึกษาเป็นวิชาชีพชั้นสูง และให้มีมาตรฐานวิชาชีพ 3. ความจำเป็นในการยกระดับการบริหารการศึกษาเป็นวิชาชีพขั้นสูงให้สง่างาม 4.ผลการจัดการศึกษายังไม่ได้คุณภาพ กล่าวคือการปฏิรูปการศึกษายังไม่คืบหน้า การประเมิน สมศ. บ่งชี้สถานศึกษายังไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน 5. การบริหารจัดการศึกษายังไม่เหมาะสม และไม่มีประสิทธิภาพ 6. การผลิตและพัฒนาผู้บริหารการศึกษายังไม่ได้มาตรฐานและมีปัญหามาก 7. ความสลับซับซ้อนในการบริหารจัดการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยมาตรฐานและคุณสมบัติเฉพาะของผู้บริหาร 8. การบริหารจัดการต้องอาศัยระบบและรูปแบบการบริหารที่ครอบคลุมสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบมากมาย 9. การใช้ SBM ในการบริหารสถานศึกษา ความหมายของผู้บริหารมืออาชีพ ถ้าแยกคำว่า นักบริหารมืออาชีพ ออกเป็น “นักบริหาร” คำหนึ่ง กับ “มืออาชีพ” อีกคำหนึ่ง จะได้ความหมายของคำทั้งสอง โดยเริ่มจากความหมายของ นักบริหาร ก่อน ดังนี้ 1.นักบริหาร คือผู้ที่ดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ในหน่วยงานหรือองค์กร จำต้องมี “นักบริหาร” หรือบางแห่งเรียกว่า “ผู้บริหาร” 2. นักบริหาร คือคนที่ทำงานร่วมกับคนอื่น ความสำเร็จของเรา อยู่ที่การทำงานร่วมกับคนอื่น หรือเราเป็น Input การบริหารเป็น Process ความสำเร็จ (Output) ของการบริหาร ต้องผ่านการกระทำของบุคคลอื่น จึงต้องมีเพื่อนร่วมงาน 3. นักบริหาร คือบุคคลผู้เป็นหัวหน้าหรือผู้นำในหน่วยงานนั้นๆ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลง สิ่งใหม่ๆ ภายในหน่วยงาน 4. นักบริหาร คือผู้ที่ทำให้หน่วยงานได้รับความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยตนเองไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานนั้นโดยตรง แต่อาศัยความร่วมมือให้ผู้อื่นเป็นผู้ปฏิบัติแทน ส่วนความหมายของ “มืออาชีพ” นั้น มีผู้ให้ความหมายและคำอธิบายไว้ดังนี้ 1. มืออาชีพ หมายถึง การทำงานด้วยความรู้ความสามารถ ความตั้งใจจริงและทำงานให้เกิดผลงานดีที่สุด 2. มืออาชีพ หมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆเป็นอย่างมาก จนกระทั่งสามารถนำเอาความรู้ความชำนาญ ที่มีอยู่นั้นไปประกอบอาชีพได้อย่างดี และถึงแม้ว่าไม่ได้นำเอาความรู้ ความชำนาญ และความสามารถ ไปใช้ประกอบอาชีพ ถ้าเก่งถึงขั้น ก็เรียกว่า มืออาชีพ ด้วย สำนวนนี้เป็นสำนวนใหม่ เพิ่งเกิดเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ เป็นสำนวนที่ใช้ครั้งแรกๆในทางธุรกิจ เช่น นักขายมืออาชีพ นักบริหารมืออาชีพ ช่างไม้มืออาชีพ นักแข่งรถมืออาชีพ เป็นต้น 3. มืออาชีพ หมายถึงผู้ที่มีความสามารถและประสบการณ์สูงในงานที่ทำ ทำงานทุกครั้งจะทำได้บรรลุเป้าหมาย โอกาสที่จะล้มเหลวผิดพลาดแทบจะไม่มี ผู้บริหารสามารถไว้วางใจได้เมื่อมอบหมายงานให้ทำ คำนี้ตรงกันข้ามกับ “มือสมัครเล่น” “ผู้ฝึกงาน” ซึ่งเป็นผู้เข้ามารับงานไม่นาน ยังขาดทักษะประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งจะต้องมีหัวหน้าคอยแนะนำแก้ไขปรับปรุงอยู่ด้วย เพราะไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ 4. มืออาชีพ (Professional) เป็นคำที่เราไปยืมมาจากวงการกีฬา ในวงการกีฬา มีอยู่ 2 คำคือ มืออาชีพ และ มือสมัครเล่น ซึ่งแยกความแตกต่างกันได้ชัดเจน หากเมื่อไหร่เป็นมืออาชีพ แปลว่าคนคนนั้นต้องดำรงชีวิตด้วยกีฬาประเภทนั้น เช่นนักฟุตบอลอาชีพ นักมวยอาชีพ ในการเป็นมืออาชีพนั้นมีเงื่อนไขมากมายที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อนำคำว่า “นักบริหาร” มารวมกับ “มืออาชีพ” จะได้คำว่า “นักบริหารมืออาชีพ” ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ ทั้งที่แตกต่างกันและคล้ายคลึงกัน ดังนี้ 1. นักบริหารมืออาชีพ หมายถึงผู้บริหารที่พยายามทำให้องค์การประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือนโยบายขององค์การ ด้วยเหตุผลและหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับ โดยประยุกต์ทฤษฎีหรือแนวทางต่างๆ อย่างผสมกลมกลืนกันแล้วนำไปสู่ปฏิบัติ 2. นักบริหารมืออาชีพ หมายถึงบุคคลที่เป็นมืออาชีพในการบริหารจริงๆ เช่น มีประวัติผลงานการบริหารมาอย่างโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนได้รับการยอมรับทั้งระดับหน่วยงาน ระดับจังหวัด หรือแม้กระทั่งระดับชาติ 3. นักบริหารมืออาชีพ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานกิจการต่างๆให้สำเร็จ โดยอาศัยความรู้ความสามารถของตนเองและความร่วมมือของผู้อื่น 4. นักบริหารมืออาชีพ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “มือโปร” มาจากภาษาอังกฤษว่า Professional Manager นั้น มีคุณสมบัติหลักๆ คือ มีการศึกษาดี มีประสบการณ์กว้างจากงานหลายด้าน และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาด โดยกระทำอย่างเป็นระบบ มีลำดับขั้นตอนเป็นระเบียบและมีแบบแผน คุณสมบัติดังกล่าวนี้ จะได้มาก็โดยการฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนามาอย่างเป็นระบบ และใช้เวลายาวนานทีเดียว และที่สำคัญคือ จะต้องมีการผ่านประสบการณ์จากการปฏิบัติมามากพอสมควรด้วย 5. นักบริหารมืออาชีพ หมายถึงชื่อเรียกสำหรับบุคคลที่เป็นผู้บริหารที่เป็น “ลูกจ้างร้อยเปอร์เซ็นต์” ของกิจการที่เป็นบริษัทมหาชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้บริหารมืออาชีพ หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารงานหรือกิจการต่างๆ ให้สำเร็จ โดยอาศัยความรู้ความสามารถของตนเอง และความร่วมมือของผู้อื่น ซึ่งมีลักษณะดังนี้ 1. มีความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะอาชีพนั้นๆ 2. ทำงานโดยใช้ความรู้และสมองเป็นหลัก 3. มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องถูกควบคุมมากนัก และทำงานเพื่อให้เกิดผลงานเป็นหลัก 4. ส่วนใหญ่ผ่านการศึกษาระดับสูง 5. ยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งอาชีพของตนอย่างเคร่งครัด 6. มักจะมีความมั่นคง ทั้งฐานะทางการเงินและสังคม แนวทาง/หลักปฏิบัติที่จะนำไปสู่การเป็นมืออาชีพ 1. ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ตรงต่อเวลา 2. เป็นคนเก่ง เป็นคนดี มีความกล้าหาญ รับผิดชอบ และรู้จักตัดสินใจอย่าง ชาญฉลาด 3. สุภาพ เป็นกัลยาณมิตร 4. ใช้คุณธรรมเป็นเครื่องชี้นำอาชีพ 5. ฝึกฝน พัฒนาตนเองอยู่เสมอ คุณลักษณะของผู้บริหารมืออาชีพ สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทําหลักสูตร “ผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ”กําหนดคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพไว้ 6 ประการ คือ 1. การเป็นผู้นําที่มีคุณธรรม จริยธรรม ในเรื่องต่อไปนี้ 1.1 คุณธรรม จริยธรรมสําหรับผู้บริหารมืออาชีพ 1.2 การบริหารบุคคลตามแนวคิดของศาสนา 1.3 การบริหารจัดการภูมิปัญญาไทย เพื่อการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม 2. การเป็นผู้นำด้านการจัดระบบ ในเรื่องต่อไปนี้ 2.1 การพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ 2.2 การจัดและใช้ระบบสารสนเทศและการสื่อสาร 2.3 การจัดระบบเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2.4 การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ 3. การเป็นผู้นําด้านวิชาการ ในเรื่องต่อไปนี้ 3.1 การพัฒนาหลักสูตรเพื่อความเป็นเลิศ 3.2 การพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนรู้ 3.3 การพัฒนาครูตามแนวปฏิบัติการศึกษา 3.4 การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ 3.5 การประเมินผลเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4. การเป็นผู้นําด้านการบริหารจัดการ ในเรื่องต่อไปนี้ 4.1 การวางแผนกลยุทธ์ เป็นการวางแผนเพื่อนำองค์การไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ ก้าวสู่วิสัยทัศน์ที่ต้องการในอนาคต การวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นการวางแผนในภาพรวมขององค์การ ทุกกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นเป็นปัจจัยที่ชี้อนาคตขององค์การนั้น 4.2 การบริหารแบบมีส่วนรวม 4.3 ผู้บริหาร : ผู้นําการเปลี่ยนแปลง 4.4 การบริหารความขัดแย้ง 4.5 การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 4.6 เทคนิคการบริหารจัดการแนวใหม่ 5. การเป็นผู้นําด้านสังคมและชุมชน ในเรื่องต่อไปนี้ 5.1 การบริหารจัดการโรงเรียน เพื่อชุมชนและสังคม 5.2 การบริหารในบริบทที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม 6. การเป็นผู้นําการพัฒนาตนเองในเชิงบริหาร ในเรื่องการพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นผู้บริหารมืออาชีพ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2542) ได้ประมวลคุณลักษณะผู้บริหารสถานศึกษาที่เอื้อต่อการจัดและบริหารการศึกษาตามแนว พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ดังนี้ 1. ด้านสติปัญญา 1.1 มีความรู้ทางวิชาการ 1.2 มีความรู้วิชาเฉพาะ 1.3 มีความรู้วิชาชีพ 1.4 มีความรู้เรื่องการเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย 1.5 รู้กฎเกณฑ์และวินัยของสังคม 1.6 มีปฏิภาณไหวพริบดี 1.7 ทันต่อเหตุการณ์ 1.8 เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 1.9 เป็นผู้มีการตัดสินปัญหาที่ดี 1.10 เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ 1.11 มีความสามารถในการสื่อสาร 1.12 มีความพร้อมและความเข้าใจต่อเหตุการณ์ 1.13 เป็นผู้บริหารและจัดการที่ดี 1.14 รู้จักมอบอำนาจและความรับผิดชอบแก่ผู้ที่เหมาะสม 1.15 มีความเข้าใจในศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารการศึกษา 1.16 เป็นผู้ตัดสินหรือวินิจฉัยสั่งการ 1.17 เป็นนักอุดมคติหรือเป็นผู้มีอุดมการณ์ 2. คุณลักษณะทางกาย 2.1 เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง 2.2 ร่างกายสง่าผ่าเผย 2.3 เป็นผู้มีความอดทน 2.4 เป็นผู้มีพลัง สามารถทำงานได้นานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย 2.5 มีความเด็ดขาด เด็ดเดี่ยว มั่นคง อดทน 3. คุณลักษณะทางบุคลิกภาพ 3.1 ความทะเยอทะยาน 3.2 ความเชื่อมั่นในตนเอง 3.3 ความซื่อสัตย์ 3.4 ความมานะ 3.5 ความมีจินตนาการ 3.6 ความตื่นตัวอยู่เสมอ 3.7 มีจริยธรรม 3.8 มีน้ำใจเยือกเย็น 3.9 ความเป็นผู้บรรลุนิติภาวะทางอารมณ์ 3.10 มีความรับผิดชอบ 3.11 ความคล่องแคล่ว ว่องไว และตื่นตัวอยู่เสมอ 3.12 รู้จักสร้างและระวังรักษาบุคลิกลักษณะของตนอยู่เสมอ 4. คุณลักษณะด้านการงาน 4.1 ปฏิบัติกิจกรรมทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษา 4.2 ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาบุคลากร ผู้เรียนและชุมชน 4.3 มุ่งมั่นพัฒนาผู้ร่วมงานให้ศึกษาปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพ 4.4 พัฒนาแผนงานทางองค์กรให้สามารถปฏิบัติได้จนเกิดผลดี 4.5 พัฒนาและใช้นวัตกรรมการบริหารจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ 4.6 ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 4.7 รายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ 4.8 ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 4.9 ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นอย่างสร้างสรรค์ 4.10 แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา 4.11 เป็นผู้นำและสร้างผู้นำ 4.12 สร้างโอกาสในการพัฒนาใช้ทุกสถานการณ์ 5. คุณลักษณะทางสังคม 5.1 เป็นผู้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 5.2 เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ 5.3 เป็นผู้มีฐานะทางสังคมดี 5.4 สามารถที่จะร่วมงานกับผู้อื่น 5.5 มีน้ำใจและถ่อมตน 5.6 มีความแนบเนียน 5.7 มีความยุติธรรม 5.8 ให้ผู้น้อยพบปะได้ง่าย 5.9 กินง่ายอยู่ง่ายไม่ถือตัว เข้ากับคนทุกชั้นได้ 5.10 ชมคนเป็น และขยันชม 5.11 ละเว้นการประพฤติชั่ว 5.12 เป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม 5.13 เป็นสัญลักษณ์ขององค์กร 5.14 สร้างบริหารและร่วมงานด้วยหลักการที่ดี 5.15 ความเป็นผู้ใหญ่มีใจกว้าง คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาโดยยึดประเด็นตามการแบ่งคุณลักษณะของผู้บริหารตามมาตรา 39 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการไปยังคณะกรรมการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรงเป็น 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารบุคคล และการบริหารทั่วไป สรุปได้ดังนี้ 1. การบริหารงานด้านวิชาการ 1.1 มีความรู้ และเป็นผู้นำด้านวิชาการ 1.2 มีความรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์ด้านการบริหารงาน 1.3 สามารถใช้ความรู้ ปละประสบการณ์ ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที 1.4 มีวิสัยทัศน์ 1.5 มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 1.6 ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ มุ่งมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 1.7 รอบรู้ทางด้านการศึกษา 1.8 ความรับผิดชอบ 1.9 แสวงหาข้อมูลข่าวสาร 1.10 รายงานผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ 1.11 ใช้นวัตกรรมการบริหาร 1.12 คำนึงถึงมาตรฐานวิชาการ 2. การบริหารงานงบประมาณ 2.1 เข้าใจนโยบาย อำนาจหน้าที่และกิจกรรมในหน่วยงาน 2.2 มีความรู้ระบบงบประมาณ 2.3 เข้าใจระเบียบการคลัง วัสดุ การเงิน 2.4 มีความซื่อสัตย์ สุจริตใจ 2.5 มีความละเอียด รอบคอบ 2.6 มีความสามารถในการตัดสินใจ อย่างมีเหตุผล 2.7 หมั่นตรวจสอบ ติดตามการใช้งบประมาณอยู่เสมอ 2.8 รายงานการเงินอย่างเป็นระบบ 3. การบริหารงานบุคลากร 3.1 มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการบริหารงานบุคลากร 3.2 เป็นแบบอย่างที่ดี 3.3 มีมนุษย์สัมพันธ์ 3.4 มีอารมณ์ขัน 3.5 เป็นนักประชาธิปไตย 3.6 ประนีประนอม 3.7 อดทน อดกลั้น 3.8 เป็นนักพูดที่ดี 3.9 มีความสามารถในการประสานงาน 3.10 มีความสามารถในการจูงใจคนให้ร่วมกันทำงาน 3.11 กล้าตัดสินใจ 3.12 มุ่งมั่นพัฒนาองค์กร 4. การบริหารงานทั่วไป 4.1 เป็นนักวางแผน และกำหนดนโยบายที่ดี 4.2 เป็นผู้ตัดสินใจและวินิจฉัยสั่งการที่ดี 4.3 มีความรู้ และบริหารโดยใช้ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย 4.4 เป็นผู้มีความสามารถในการติดต่อสื่อสาร 4.5 รู้จักมอบอำนาจและความรับผิดชอบ 4.6 มีความคล่องแคล่ว ว่องไวและตื่นตัวอยู่เสมอ 4.7 มีความรับผิดชอบต่องานสูงไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค 4.8 กำกับ ติดตาม และประเมินผล รองศาสตราจารย์เทื้อน ทองแก้ว ได้กล่าวถึง คุณลักษณะของผู้บริหารมืออาชีพ 10 D ดังนี้ 1. Dream ( ความฝัน ) นักบริหารต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ว่า อนาคตของตนเองและงานเป็นอย่างไร และต้องพยายามทำให้เป็นความจริงให้ได้ 2. Dicisveness ( กล้าตัดสินใจ ) นักบริหารจะไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ตัดสินใจอย่างรวดเร็วเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ 3. Doers ( ผู้ปฏิบัติ ) ทันทีที่ตัดสินใจไปแล้วจะลงมือปฏิบัติโดยเร็วที่สุด 4. Determination ( มีความมุ่งมั่น ) นักบริหารจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ ไม่ยอมแพ้ แม้จะเผชิญปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆนานา 5. Dedication ( อุทิศตน )นักบริหารจะอุทิศตนเพื่องานอย่างแท้จริง แม้ว่าบางครั้งอาจจะต้องสูญเสียความสัมพันธ์กับคนอื่นไปบ้าง และจะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 6. Devotion ( การใส่ใจ ) นักบริหารจะรักงานที่ทำ รักในการให้บริการคนอื่น ใส่ใจในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับงาน 7. Details ( ลงในรายละเอียด ) นักบริหารเมื่อเริ่มทำงานจะพิถีพิถันในการทำงาน ลงลึกในรายละเอียดอย่างพินิจพิเคราะห์ 8. Destiny ( กำหนดเป้าหมายชีวิตเอง ) นักบริหารจะกำหนดเป้าหมายของชีวิตตนเองที่มุ่งไปสู่ความก้าวหน้าที่ดีกว่าอยู่เสมอ ปัจจัยทางด้านครอบครัวจะเป็นปัจจัยเสริมความสำเร็จให้กับผู้บริหาร 9. Dollars ( ความร่ำรวย )ความร่ำรวยมิใช่เป้าหมายหลัก แต่มุ่งที่ความสำเร็จ เพราะถ้าประสบความสำเร็จแล้ว รางวัลต่างๆ ก็จะตามมาเอง 10. Distribute ( แบ่งปันความเป็นเจ้าของ )แบ่งปันความเป็นเจ้าของในงานที่ทำให้แก่ผู้รับผิดชอบหลัก และถือว่าความสำเร็จเป็นของทุกคน 10 D ข้างต้น เป็นคุณลักษณะของนักบริหารที่ทำงานสำเร็จ ได้ผลงานเป็นที่ยอมรับ แม้ว่าจะไม่เป็นมืออาชีพในทันใด แต่ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยความอดทนแล้ว การสั่งสมประสบการณ์และการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็จะสามารถเป็น ผู้บริหารมืออาชีพ ให้เขายกย่องได้ จากแนวคิดดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้บริหารมืออาชีพจะเป็นคนที่มองเห็นความสำเร็จของงานที่แน่นอน ทันใจ ทันเวลา ผลงานออกมาดี ไว้ใจได้ จึงควรมีคุณลักษณะดังนี้ 1. รอบรู้ ทันเหตุการณ์ 2. ตัดสินใจรวดเร็ว แม่นยำ และถูกต้อง 3. จับประเด็นได้รวดเร็ว ออกความเห็นได้ทันการ 4. สามารถเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน 5. ยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะปรับตัว 6. มีระเบียบ ละเอียดรอบคอบ เคร่งครัดเรื่องเวลา 7. ซื่อสัตย์ มีคุณธรรมยึดมั่นในจรรยาวิชาชีพ 8. เชื่อมั่นในตนเอง มีมนุษยสัมพันธ์ สามารถประสานงานได้ยอดเยี่ยม บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหาร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542( 2546 : ) ได้ให้ความหมายของบทบาทไว้ว่า “ บทบาท หมายถึงการรำตามบท ” โดยนัยของความหมายดังกล่าวคือ การทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้นั่นเอง นอกจากนี้ พิพัฒน์ โกศลวัฒน์ ( 2535: 15 ) ได้กล่าวถึงเรื่องของบทบาทไว้ว่า “ ... บทบาท ( Role ) หมายถึง รำตามบท หรือพฤติกรรมของบุคคล ที่ถูกผู้อื่นคาดหวังว่าจะต้องแสดงออกให้สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่การงานที่ผู้นั้นดำรงอยู่ บทบาท คือ การปฏิบัติตามสิทธิ” บทบาทจึงเป็นเรื่องที่ผู้อื่นคิดหวัง ให้บุคคลแต่ละคนนั้นแสดงออกมา หรือทำอะไรออกมาให้สมกับฐานะนั้นๆ หากไม่แสดงสิ่งที่คาดหวังออกมา ก็จะถือว่า “ ไม่สมบทบาท ” หรือหากแสดงออกมามากเกินไป ก็จะถือว่า “ ทำเกินบทบาท ” ดังนั้นโดยปกติแล้วบทบาทจึงไม่ถือเป็นข้อผูกพันที่ต้องกระทำเหมือนหน้าที่ หรือผูกพันกับความรู้สึกเหมือนกับคำว่า รับผิดชอบ แต่หากกระทำได้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้สมรรถภาพของบุคคลนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับของบุคคลและสังคมมากขึ้น บทบาท : สิ่งที่ผู้อื่นคิด คาดหวัง ให้เราทำ หน้าที่ : ภารกิจที่กำหนดไว้ ต้องทำ ความรับผิดชอบ : ความรู้สึกยอมรับ ผลจากการกระทำ ทั้งดีและไม่ดี : พันธะที่ต้องปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คนไทยที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ มักจะแสดงบทบาทตามความคิดคำนึงของตนเองมากกว่าการแสดงบทบาทตามความคาดหวังของสังคม จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการแสดงบทบาท ดังนี้ 1. เกิดจากผู้สวมบทบาทไม่สามารถแสดงบทบาทตามที่สังคมกำหนดไว้ได้ ทำให้สังคมขาดความเป็นระเบียบ และขาดความยุติธรรม ซึ่งเกิดจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน 2. เกิดจากความสับสนของบทบาท เช่น บทบาทที่เคยกำหนดไว้ไม่สอดคล้องกับความเจริญของสังคม 3. เกิดจากความขัดแย้งของบทบาท ซึ่งอาจเกิดได้ 2 กรณี คือ ขัดแย้งในบทบาทของตนเอง เช่น ความขัดแย้งระหว่างการอุทิศเวลาให้กับราชการและความจำเป็นที่ต้องดูแลธุรกิจของตนเอง หรืออาจจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างความคาดหวังของตนเองและที่ผู้อื่นคาดหวัง เช่น ผู้บริหารคาดหวังว่าครูน้อยต้องสอนโดยมีบันทึกการสอน ปรับปรุงวิธีการสอนให้เกิดผลดี จนเป็นที่ยอมรับของคนในวงการแล้วเขียนรายงานวิธีการสอน การใช้สื่อ เพื่อขอเป็นผลงานทางวิชาการได้ แต่ครูน้อยกลับคิดว่าสอนพอผ่านไปวันหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพมากมายนัก แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่มาเขียนผลงานทางวิชาการดีกว่า เพราะจะได้เลื่อนระดับและมีเงินประจำตำแหน่ง เป็นต้น 4. เกิดจากความจงใจไม่ปฏิบัติตามบทบาทที่สังคมกำหนด เช่น การใช้อภิสิทธิ์ตำแหน่งหน้าที่การงานของตน แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ให้กับตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น กริฟฟิทส์ ( Griffiths ) ( อ้างถึงใน นพพงศ์ บุญจิตราดุลย์ : 2527 ) ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้บริหารไว้ ดังนี้ 1. บทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้มีความคิดริเริ่ม : คิดริเริ่มงานใหม่ วางแผนจัดระเบียบงาน 2. บทบาทของผู้บริหารในฐานะที่เป็นนักปรับปรุง : ปรับปรุงงานของตนเอง และเปิดโอกาส กระตุ้น ให้กำลังใจผู้ร่วมงานในการปรับปรุงงานให้ดียิ่งขึ้น 3. บทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้ให้การยอมรับ : ยอมรับและกล่าวชมเชยเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานประสบความสำเร็จ 4. บทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือ : ช่วยเหลือด้วยความจริงใจ 5. บทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้ประสานงานที่ดี : ต้องประสานงานและอำนวยความสะดวกในทุกๆด้าน 6. บทบาทของผู้บริหารในฐานะนักพูดที่เก่ง : รู้จักใช้คำพูดที่เหมาะสม จูงใจให้คนอื่นคล้อยตาม ศรัทธา เชื่อถือ 7. บทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้เข้าสังคมได้ดี : รู้จักเข้าสังคมและวางตนให้เหมาะสมกับสังคมนั้น ๆ มีเวลาให้กับสังคมสม่ำเสมอ แต่ไม่มากเกินไปจนเสียงาน จากแนวคิดดังกล่าวสรุปได้ว่าผู้บริหารมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้ 1. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำ 1.1 มีความรู้ความสามารถ ปรับตัวได้ดีตามสภาพแวดล้อมและตามสถานการณ์ 1.2 มีความสามารถในการนำประชุมและขยายความคิดเป็น 1.3 มีความขยัน อดทน สู้งานไม่ถอย 1.4 เป็นแบบอย่างทางด้านจริยธรรม 1.5 เป็นที่พึ่งทางใจของผู้ใต้บังคับบัญชา 1.6 มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การบริหารทีมงาน การวินิจฉัยและการตัดสินใจ เป็นต้น 1.7 มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล 1.8 สามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ดี 1.9 มีประสิทธิภาพ ทั้งร่างกายจิตใจ และสมอง 1.10 สุขภาพจิตดี เข้มแข็งและอ่อนโยน ไม่ใช่ แข็งกร้าวหากแต่อ่อนแอ 2. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้ตัดสินใจ ผู้บริหารจะเป็นผู้ที่ผู้อื่นคาดหวังว่า จะต้องสามารถวิเคราะห์และใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา อย่างมีเหตุผล รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ทั้งยังสามารถสั่งการและผลักดันให้การตัดสินใจนั้นเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง 3. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้ประสานงาน 3.1 ประสานงานภายใน 3.2 ประสานงานกับภายนอกองค์กร 4. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้กำหนดทรัพยากร เพราะผู้อื่นมักจะคาดหวังว่า ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ที่สามารถ กำหนดและจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่อง คน เงิน วัสดุอุปกรณ์และระบบการจัดการ ได้อย่างเป็นธรรม เหมาะสมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพกล่าวคือ 4.1 รู้จักงาน ทั้งงานในวิชาชีพเฉพาะ และงานการบริหาร 4.2 รู้จักคนและ รู้จักใช้คน 4.3 รู้จักตน รู้ซึ้งเกี่ยวกับตนเองในเรื่องความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ อารมณ์ อุปนิสัยทั้งส่วนดีและไม่ดี 5. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้กำกับตรวจสอบ 6. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการแก้ปัญหา คือ สามารถมองและวิเคราะห์ปัญหาสำคัญของหน่วยงาน ได้ชัดเจน ตรงประเด็นและสามารถลงมือแก้ไขอย่างเป็นระบบครบวงจร 7. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้ให้บริการแก่ประชาชน 8. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง 9. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นนักพัฒนา บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงเรียน แอนเดอร์สันและแวนไดค์ ( Anderson and Van Dyke , 1963 : 343-345 ) ได้กล่าวถึง หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงเรียน ไว้ดังนี้ 1. เป็นผู้นำในการวางแผนเกี่ยวกับหลักสูตร 2. ศึกษาและให้ความรู้ในทางด้านทฤษฎีการศึกษาแก่บรรดาอาจารย์ และผู้สนใจ 3. จัดโครงการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียน ชุมชนและประเทศ 4. เปิดบริการแนะแนวขึ้นในโรงเรียน 5. จัดบริการต่างๆขึ้นในโรงเรียน เช่น บริการสุขภาพ และอาหารกลางวัน เป็นต้น 6. จัดการเกี่ยวกับการดำเนินงานของห้องสมุดและเครื่องอำนวยความสะดวกในการสอน 7. ร่วมมือในการคัดเลือกอาจารย์และจัดรายงานที่ทำให้การดำเนินงานของอาจารย์เป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด 8. พัฒนาวิธีการที่ทำให้ขวัญและกำลังใจของคณาจารย์ดีและความประพฤติของนักเรียนเรียบร้อย 9. พัฒนาและรักษาขวัญและกำลังใจของคณาจารย์ให้ดีตลอดไป 10. พัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมอาจารย์ในโรงเรียน 11. พัฒนาโครงการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อนักเรียนทุกคน 12. วางแผนการจัดการเรียนการสอนทั้งเป็นวันและเป็นปี 13. พัฒนาวิธีการรักษาระเบียบและงานธุรการประจำวัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว 14. เปิดโอกาสให้ผู้นำในหมู่บ้านเข้ามาร่วมในกิจกรรมของโรงเรียนบ้างตามสมควร 15. ชี้แจงถึงโปรแกรมการเรียนการสอนและเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโรงเรียนและคณะกรรมการศึกษาทราบ 16. ร่วมมือประสานงานในการจัดบริหารการศึกษาให้แก่เยาวชนในชุมชน 17. จัดการและให้คำแนะนำในการรักษาอาคารเรียนและเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโรงเรียน 18. ร่วมมือในการวางแผนเกี่ยวกับการสร้างอาคารในอนาคต 19. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 20. ยอมเสียสละเพื่อความก้าวหน้าทางการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่หากจะกล่าวถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงเรียน ทั้งที่เป็นบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่กำหนด รวมทั้งภารกิจที่ควรทำตามหลักคุณธรรมจริยธรรม สามัญสำนึกและตามวิญญาณของนักบริหารอันพึงจะมี ดังต่อไปนี้ 1. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหาร ตามมาตรฐานการกำหนด ตำแหน่ง 2. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารต่อการบริหารโรงเรียน ด้านการบริหารงานวิชาการ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารงานงบประมาณ ด้านการบริหาร ด้านการบริหารงานบริหารทั่วไป 3. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารในฐานะผู้นำสังคม 4. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารในการวางแผน 5. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารในการตัดสินใจ 6. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารในการสั่งการ 7. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารกับการประสานงาน 8. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารกับการควบคุม 9. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารกับการสร้างขวัญและกำลังใจ 10. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารกับมนุษยสัมพันธ์ 11. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารในการบริหารเวลา จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารโรงเรียนนั้นเปรียบเสมือนผู้กำหนดทิศทางของสถาบัน เพราะผู้บริหารคือผู้จัดการ ผู้สั่งการและผู้ควบคุมดูแลบุคลากร ครูอาจารย์ในโรงเรียน ให้ปฏิบัติงานทุกอย่างให้เป็นไปตามนโยบาย แผนงาน โครงการและภารกิจทั้งปวง และถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องอย่างไรก็ดี ผู้บริหารพึงตระหนักให้ได้ว่า ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำที่ดีและมีบารมีด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ องค์กรวิชาชีพของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมในองค์กรวิชาชีพ คุรุสภา : สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กำหนดให้มี “องค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา” มีฐานะเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้การบริหารของ “สภาวิชาชีพ” ในกำกับของกระทรวง มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐาน และจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา ต่อมา พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 7 กำหนดให้มี “สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา” เรียกว่า “คุรุสภา” มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้บริหารกิจการของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รวมทั้งดำเนินการ ตามที่ประธานกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการคุรุสภา ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ หรือคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมอบหมาย “คุรุสภา” จึงมีฐานะเป็น “สภาวิชาชีพ” ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งได้แก่ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น 1. วัตถุประสงค์ของคุรุสภา คุรุสภามีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ดังนี้ 1.1 กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาต กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ 1.2 กำหนดนโยบาย และแผนพัฒนาวิชาชีพ 1.3 ประสาน ส่งเสริมการศึกษา และการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ 2. อำนาจหน้าที่ของคุรุสภา คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 2.1 กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ 2.2 ควบคุมความประพฤติ และการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพพื้นฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ 2.3 ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพ 2.4 พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต 2.5 สนับสนุนส่งเสริม และพัฒนาวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณของวิชาชีพ 2.6 ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง และผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 2.7 รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร ของสถาบันต่าง ๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพ 2.8 รับรองความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพ รวมทั้งความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ 2.9 ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ

หมายเลขบันทึก: 237964เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

* ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้เชิงหลักการมาก..

* ในทางปฏิบัติ ผลสัมฤทธิ์ คืองาน "สำเร็จ" (ดีกว่าเพียงแต่ "เสร็จ") คือ ดีทั้ง ได้งาน ตามเป้าประสงค์ และ ได้ใจ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งสามารถขยายผลสร้างความสัมพันธ์ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

                                      nongnarts

ได้รับความรู้มาก ๆเลย ขอบคุณค่ะ

ต้องหาเวลามานั่งอ่าน....

ขอบคุนมากคะ สำหรับเนื้อหาที่ทำให้มีความรู้เสริมเพื่อทำข้อสอบส่งอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท