การบริหารทรัพยากรเวลา


การบริหารเวลา

การบริหารเวลา

"ในยุคที่เวลามีค่ามาก เราจะนำความสำเร็จที่ผ่านมามาเป็นข้อมูลเท่านั้น และโปรดระลึกตลอดเวลาว่าเราให้เวลาเพื่อชื่นชม ภาคภูมิใจกับความสำเร็จกับงานที่ผ่านมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นเราจะใช้เวลาในการแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนางานต่อไป"

 

 

 

 

บทนำ: อยากหลงความภูมิใจกับความสำเร็จเก่าๆ

จนลืมคิดสิ่งใหม่ทำสิ่งใหม่

        ในยุคของการทำงานที่เน้นคุณภาพของสินค้าและบริการที่เป็นหนึ่งหรือที่เป็นเลิศ พนักงานทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีจุดเน้นที่เปลี่ยนไป หากพนักงานยังคงติดยึดกระบวนทัศน์เก่า ๆ วิธีการเก่า ๆ หรือภาพนึกเก่าก็จะทำให้การพัฒนาคุณภาพของงานไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น

หลายคนคงเคยมีความภาคภูมิใจในการทำงานที่ประสบความสำเร็จมาในอดีต ซึ่งงานนั้นอาจจะเกิดขึ้นมาหลายวัน หลายเดือน หรืออาจจะหลายปีที่ผ่านมา ความสำเร็จหรือความภาคภูมิใจต่าง ๆ เหล่านั้นหากผู้ปฏิบัติงานยังคงตรึงตาตรึงใจหรือชื่นชม ภูมใจอยู่กับความสำเร็จเก่า ๆ ที่ผ่านมานั้น ก็จะทำให้พนักงานไม่มีความกระตือรือร้น ความทะยานยากหรือมีความต้องการอย่างแรงกล้าในการค้นหาแนวทาง วิธีการใหม่ ๆ เพื่อมาพัฒนางานให้ก้าวล้ำนำหน้ายิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น "ในยุคที่เวลามีค่ามาก เราจะนำความสำเร็จที่ผ่านมามาเป็นข้อมูลเท่านั้น และโปรดระลึกตลอดเวลาว่าเราให้เวลาเพื่อชื่นชม ภาคภูมิใจกับความสำเร็จกับงานที่ผ่านมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นเราจะใช้เวลาในการแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนาต่อไป"

 

กระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงาน: ปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัยของเวลา

        กระบวนทัศน์ใหม่ หลายคนคงสงสัยว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ใคร่ขออธิบายง่าย ๆ ก็คือ "กรอบความคิดใหม่ที่เป็นแนวทางแนวการยึดถือเพื่อปฏิบัติงาน" ดังนั้น การทำงานในแต่ละช่วงเวลาผู้ทำงานจะต้องปรับกรอบแนวความคิดใหม่เพื่อเป็นทิศทางในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปโดยไม่ติดยึดกับแนวทางเก่าๆ  การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่ต้องใช้เวลาศึกษาและการฝึกฝนจึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้  เช่น เราเคยผ่านเบ้าหลอมการวาดภาพวิวทิวทัศน์มาในสมัยเรียนเรียนหนังสือในตอนเด็กๆ ดังนั้นเราจึงมีภาพวิวที่เหมือนกันคือ  มีเส้นกึ่งกลางกระดาษ มีภูเขาสองลูก บนท้องฟ้ามีนกสองถึงสามตัว มีพระอาทิตย์สีแดงอยู่ระหว่างกลางภูเขาสองลูก  ด้านหน้ามีทะเลและเรือใบ  รวมทั้งชายหาดมีต้นมะพร้าวสองถึงสามต้น โดยต้นมะพร้าวมีลำต้นโค้งเข้าหาทะเล  การที่ทุกคนมีวิวทะเลเหมือนกันก็เกิดจากการเรียนรู้นั่นเอง

        ในปัจจุบันกระบวนทัศน์ใหม่ที่พนักงานทุกคนจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อปรับแนวคิดในการทำงานเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จต่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืนมี 5 ด้านดังต่อไปนี้

•1.   คนเป็นปัจจัยนำ คนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความสำเร็จในการทำงานมากโดยคนเป็นปัจจัยนำเกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ คนมีคุณค่า คนนำสู่ความสำเร็จ และคนเป็นผู้เพิ่มผลผลิตในทุกด้าน  ดังนั้นเราต้องมิความคิดและผลักดันในการพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมให้เร็วที่สุดเพื่อทันต่อการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลง

•2.   มุ่งแสวงหาประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพเป็นคำที่หน่วยงานต้องถามหาและนำมาปฏิบัติ การที่หน่วยงานมุ่งแสวงหาประสิทธิภาพเกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นด้วยกันคือ ความรวดเร็ว ความถูกต้อง และ ความถูกใจ  ดังนั้นทุกคนในองค์กรจะมีความคิดและต้องให้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจในการสร้างประสิทธิภาพ

  • 3. การมีส่วนร่วม ในยุคของการทำงานเป็นทีมเพื่อความสำเร็จร่วมกันจะต้องเกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นด้วยกันคือ การร่วมกันคิด การร่วมกันปฏิบัติ และการร่วมประเมินเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องมีความคิดและปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและจริงใจ

•4.   ความเป็นเลิศในการบริการ  เกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นด้วยกันคือ ทุกคนในหน่วยงานเป็นผู้ให้บริการ ทุกคนทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมายในเชิงบวกเสมอ และ การบริการจะต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่า  ทุกคนจะต้องมีความคิดและปฏิบัติต่อกันเพื่อบริการซึ่งกันและกันทั้งกับลูกค้าภายในและภายนอกให้เป็นที่ประจักษ์

•5.   การมีทักษะที่ดี เกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นด้วยกันคือ การคิดดี การจัดการดี และ การสื่อสารที่ดี  ดังนั้นทุกคนในหน่วยงานจะต้องคิดและพัฒนาตนเองให้มีทักษะเพราะทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นมากในยุคนี้

 

ความสำคัญของการบริหารเวลา: เวลาเป็นทรัพยากรที่หมดไป

จากกระบวนทัศน์ 5 ประการดังกล่าว ทุกคนในองค์กรจะต้องยึดถือปฏิบัติให้บรรลุผลตามเป้าหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลา กล่าวคือ ใช้เวลาในการปรับตัวและมีทักษะทั้ง 5 ด้านโดยเร็วที่สุด ดังนั้น การบริหารเวลาของทุก ๆ คนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จในที่สุด

        เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่า "ที่ทำงานหนักมาก......เครียดมากในการทำงาน.....เบื่องานที่ทำเหลือเกิน......ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว......ไม่มีเวลาในการอ่านหนังสือ....ทั้งเรียนทั้งทำงานเป็นภาระที่หนัก" คำกล่าวต่าง ๆ เหล่านี้จะหมดไปถ้าหากผู้ที่บ่นดังกล่าวข้างต้นรู้จักการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

        มีนักวิจัยค้นพบว่า "มนุษย์เรานั้นได้ใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีอยู่ทั้งหมดเพียง 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และยังมีเวลา 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลาที่สูญเปล่าไม่ก่อประโยชน์ใด "   ดังนั้น เราควรจะหันมาสนใจในการจัดการเวลา หรือที่เรียกว่า บริหารเวลา ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง หน่วยงาน ครอบครัว และประเทศชาติ

 

ความหมาย/ลักษณะของเวลา: ควบคุมเวลาดีกว่าให้เวลาควบคุม

        การบริหารเวลา หมายถึง "การกำหนดและการควบคุมการปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามเวลาและวัตถุประสงค์ที่กำหนด เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในงานหน้าที่ที่รับผิดชอบ"

        เวลา มีความสำคัญต่อทุกคน ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของเวลามีลักษณะพิเศษคือ

  • 1. เวลาเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ใช้แล้วหมดไป
  • 2. เวลาไม่สามารถซื้อเพิ่มได้ ไม่ว่ารวยหรือจน
  • 3. เวลาไม่สามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้
  • 4. เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ไม่หวนย้อนกลับมาอีก

 

จากธรรมชาติของเวลาดังกล่าวข้างต้น เราผู้ปฏิบัติงานควรใจจดใจจ่อกับการบริหารเวลาเพื่อให้ชีวิตและการงานบรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะ มีคำกล่าวของนักปราชญ์ที่ว่า "การคลาดสายตาจากเป้าหมาย เราจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในการค้นหา" ดังนั้น "เราอย่าเสียเวลาอีกเลย ใช้เวลากับเป้าหมายนั้นเถิด แล้วจะเกิดผลดีตามมา"

 

หลักการบริหารเวลา: กำหนดเป้าหมายชีวิตและงาน

        หลักการบริหารเวลา "ควบคุมเวลาและงาน แทนที่จะให้เวลาและงานมาควบคุม" จงกำหนดเป้าหมายของตัวเองเกี่ยวกับงานและชีวิต การกำหนดนั้นจะทำให้ตัวเองมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าตัวเองนั้นต้องการอะไร ทั้งด้านการงานและชีวิต เช่น บางคนกำหนดเป้าหมายของตัวเองเกี่ยวกับงานว่า จะเป็นผู้จัดการฝ่ายภายในระยะเวลา 5 ปี หรือกำหนดตัวเองเกี่ยวกับชีวิตว่า จะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเมื่อมีอายุ 50 ปี การกำหนดเป้าหมายของงานและชีวิต มักจะกำหนดเป็นช่วง ๆ เช่น ก่อนขึ้นปีใหม่ หลังจากรับตำแหน่งใหม่ หรือหลังจากความเปลี่ยนแปลงจากหน้าที่การงานและชีวิต

        การกำหนดเป้าหมาย หลักการ วิธีการทำให้บรรลุผล ระยะเวลา  รวมทั้งความสำเร็จ จะต้องคิดควบคู่กันอย่างเป็นระบบ(ตามเอกสารแบบฝึกปฏิบัติ)

 

การจัดสรรเวลา: ปันส่วนในทุกด้านเพื่อความสมบูรณ์

        เราทุกคนควรจะจัดสรรเวลาเพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน เพราะการจัดสรรเวลาจะเป็นกรอบแนวทางในการให้บรรลุความสำเร็จ ดังนั้น เราควรจัดสรรเวลาในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • 1. จงจัดสรรเวลาให้กับ การทำงานเพื่อความสำเร็จในการทำงานและชีวิต
  • 2. จงจัดสรรเวลาให้กับ การคิดเพื่อเป็นคลังแห่งปัญญา
  • 3. จงจัดสรรเวลาให้กับ การอ่านเพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูล
  • 4. จงจัดสรรเวลาให้กับ การเล่นเพื่อความเป็นหนุ่มสาว
  • 5. จงจัดสรรเวลาให้กับ การหัวเราะเพื่อสร้างเสียงดนตรีในหัวใจ
  • 6. จงจัดสรรเวลาให้กับ ความรักเพื่อความอิ่มเอิบ เบิกบาน หัวใจ

 

หลักการจัดสรรเวลา: ทั้ง 24 ชั่งโมงมีความหมาย

การจัดสรรเวลาในแต่ละวันเริ่มต้นจากตื่นนอน จบลงด้วยการเข้านอนโดยการเขียนกิจกรรมทั้งหมดจนครบแต่ละวันหรือ 24 ชั่งโมง จากนั้นลองจัดหมวดหมู่กิจกรรมหลักว่าใช้เวลาไปเท่าใดแล้วนำมาเทียบกับหลักเพื่อปรับตัวเองให้สอดคล้องกับหลักการ(ตามเอกสารแบบฝึกปฏิบัติ)

หลักในการจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมหลัก ๆ ในแต่ละวันมีดังต่อไปนี้

  • 1. ทำงานประมาณ 8 ชั่วโมง
  • 2. พักผ่อนประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  • 3. แสวงหาความรู้ประมาณ 1-3 ชั่วโมง
  • 4. เดินทางประมาณ 1ชั่วโมง
  • 5. กิจกรรมสุขภาพ 1-2 ชั่วโมง

 

การจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วน: จงแยกแยะให้ชัดแจ้ง

การจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการทำงานมีหลักดังต่อไปนี้

  • 1. จัดทำบัญชีรายชื่องานเก่า งานใหม่ งานที่ไม่คาดคิด และงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
  • 2. จัดประเภทของงาน ได้แก่ งานตามเวลา งานไม่ตามเวลา งานเร่งด่วน งานไม่เร่งด่วน งานสำคัญ และงานไม่สำคัญ
  • 3. จัดลำดับงานโดยเรียงตามลำดับ คือ งานตามเวลา งานเร่งด่วน งานสำคัญ และงานที่เหลือทั้งหมด
  • 4. จัดตารางปฏิบัติงานโดยเริ่มจากลงตารางจากงานตามเวลา งานเร่งด่วน และงานสำคัญรวมทั้งงานที่เหลือทั้งหมด
  • 5. ปฏิบัติงานตามตารางเวลาที่กำหนด
  • 6. ประเมินผลงาน เป็นการประเมินผลว่าในรอบวันได้ปฏิบัติงานตามที่กำหนดครบถ้วนหรือไม่เพียงใด หากมีงานใดที่ยังคงคั่งค้างให้ระบุงานนั้นเพื่อนำไปวางแผนในวันต่อไป
  • 7. จัดทำบัญชีรายชื่องานเก่าที่ค้างตามข้อ 6 งานใหม่ งานที่ไม่คาดคิด งานที่เกิดประจำ และดำเนินการวางแผนตามข้อ 2 และข้ออื่น ๆ ตามลำดับ

 

การวิเคราะห์งาน/สาเหตุที่ทำให้เสียเวลา: รู้จุดอ่อนเพื่อเพิ่มจุดแข็ง

การวิเคราะห์เป็นการจำแนกงานที่ทำอยู่ว่าเป็นงานประเภทใดซึ่งจัดแบ่งงานเกี่ยวข้องได้ 4 ประเภทคือ

  • 1. วิเคราะห์งานเก่า
  • 2. วิเคราะห์งานใหม่
  • 3. วิเคราะห์งานที่ไม่คาดคิด
  • 4. วิเคราะห์งานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

 

การวิเคราะห์งานทั้งสี่ด้านดังกล่าว ผู้ปฏิบัติงานจะต้องวิเคราะห์สิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติงานเพื่อค้นหาวิธีการ แนวทางการแก้ไข เพื่อทำให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สาเหตุที่ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติงานที่มักจะพบอยู่เป็นประจำมีหลากประการ ลองสำรวจตัวเองตามรายการจำนวน 40 ข้อ ดังต่อนี้คือ

       

1 ..........  ขาดการมอบหมายงานให้ผู้อื่นทำ

2 ..........  ชอบผ่อนผัน ผัดวันประกันพรุ่งในการทำงาน

3 ..........  ขาดการวางแผนกำหนดวิธีการปฏิบัติของงานที่จะทำล่วงหน้า

4 ..........  ไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน

5 ..........  ไม่มีการกำหนดแผนการปฏิบัติงานประจำวันและสัปดาห์

6 ..........  เสียเวลาให้กับงานอื่นๆที่ไม่มีความสำคัญมากเกินไป

7 ..........  ไม่ได้ลำดับความสำคัญก่อนหรือหลังหรือความเร่งด่วนของงาน

8 ..........  ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่จะต้องทำให้เสร็จในแต่ละงาน

9 ..........  ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ทั้ง ๆ ที่งานอื่นยังไม่เสร็จเสร็จ

10..........  ชอบก้าวก่ายการทำงานของคนอื่น แทนที่จะสนใจ ใส่ใจทำงานของตนเอง

11..........  ขาดระบบการควบคุมติดตามงานที่มีประสิทธิผล

12..........  มีทัศนคติเชิงลบหรือไม่ชอบงานที่ทำ

13.......... ขาดการสอนงานผู้ใต้บังคับบัญชาให้สามารถทำงานได้

14.......... ขาดการปรับปรุงงานพัฒนางาน

15.......... ให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยของงานมากเกินไป

16.......... ไม่กล้า ลังเลในการตัดสินใจ

17.......... เสียเวลากับการแก้ปัญหาการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชามากไป

18.......... ใช้เวลาพักรับประทานอาหารกลางวันนานเกินไป

19.......... เสียเวลากับการพุดคุยกับบุคคลอื่นในเรื่องไร้สาระมากไป

20.......... เสียเวลากับการค้นหาและจัดเก็บเอกสารมากเกินไป

21.......... พูดคุยโทรศัพท์นานเกินไป

22.......... ใช้เวลากับการอ่าน และโต้ตอบหนังสือหรือจดหมายมากไป

23.......... ใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร สิ่งพิมพ์ในระหว่างเวลามากเกินไป

24.......... มีโทรศัพท์เข้ามามากเกินไป

25.......... ขาดข้อมูลของหน่วยงานที่ต้องมีการติดต่อกันอยู่เสมอ

26.......... ไม่กล้าปฏิเสธกับการขอข้อง ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

27.......... มีคนอื่นมารบกวน หรือขัดจังหวะบ่อยในขณะที่กำลังทำงาน

28.......... ชอบเดินไปติดต่องานด้วยตัวเองในทุกเรื่อง

29.......... มีเพื่อนร่วมงานที่ไม่รู้งาน หรือทำงานขาดประสิทธิภาพในการทำงาน

30.......... ใช้เวลากับงานกิจกรรมทางสังคมมากเกินไป

31.......... ขาดความตั้งใจ หรือใจลอย ไม่มีสมาธิในการทำงาน

32.......... ใช้เวลามากในการประชุมแต่ละครั้ง แต่ละสัปดาห์

33.......... จัดการประชุมทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องประชุมก็ได้

34.......... เริ่มและเลิกประชุมเกินเวลานัดหมายเสมอ

36.......... ไม่ชอบนำเทคโนโลยีมาช่วยการทำงาน

37.......... มักตื่นสายเสมอ

38.......... ลงมือทำงานเอง เพราะคนอื่นๆ ทำงานไม่ได้ดังใจเราเป็นประจำ

39.......... ไม่ได้สร้างตัวตายตัวแทน

40.......... ไม่ได้วางเป้าหมายของตัวเองในการทำงานในแต่ละปี

 

 

        เมื่อสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีหลายข้อที่เป็นปัญหาทำให้เราเสียเวลา อย่าลังเลใจจงเริ่มขจัดเสียแต่เนิ่นๆ หากพบมากกว่า 20 ข้อ จงเริ่มด้วยหาเวลาทบทวนตัวเองและปฏิวัติครั้งใหญ่เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหากขจัดสิ่งที่ทำให้เสียเวลาลงไปจะทำให้มีเวลาทำงานที่ควรทำมากยิ่งขึ้นซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้เวลานั่นเอง

 

การเพิ่มความเร็วในการทำงาน: เพิ่มจุดแข็งเพื่อทำลายจุดอ่อน

        นอกจากแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติงาน ยังมีวิธีการที่จะช่วยให้เรานั้นสามารถทำงานบรรลุความสำเร็จได้โดยการเพิ่มความเร็วในการทำงานหรือเพิ่มความเร็จในการจัดการงานให้แล้วเสร็จ ซึ่งพนักงานทุกคนทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการต้องร่วมือกันเป็นทีมในการเพิ่มความเร็วในการทำงานโดยมีวิธีการที่พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

•1.   ขยัน ขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อต่อสิ่งขวางกันโดย "ใจจดใจจ่อไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค"

•2.   รอบคอบ มีความรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนในทุกด้านโดย "ปิดทางข้อผิดพลาด ปิดโอกาสความสูญเสีย"

•3.   รอบรู้และลุ่มลึก ต้องแสวงหาพลังสติปัญญามาสู่กับปัญหาและการพัฒนางานโดย"รู้บางสิ่งในทุกเรื่อง รู้ทุกเรื่องในบางสิ่ง"

•4.   สู้งาน การทุ่มเท เอาจริงเอาจัง และมีพลังใจที่ดีโดยคิดเสมอว่า  "งานหนักไม่เคยฆ่าคน คนนี่แหละจะฆ่างาน"

•5.   สื่อสารดี เครื่องมืออันทรงพลังในการทำงานร่วมกันโดย "อ่าน ฟัง พูด เขียน ต้องเรียนกันไม่รู้จบ"

•6.   มีหลักการ การมีหลักการเพื่อทำงานเป็นวิธีการของผู้ที่เจริญแล้วโดย "หลักยึดที่เป็นเหตุเป็นผล ยอมเสียคนไม่ยอมเสียหลักการ"

•7.   ทำงานไม่พลาด การคิดวางแผนอย่างชาญฉลาดป้องกันความผิดพลาดโดย "ครั้งแรกและทุกครั้งไม่พลาด ถ้าทำอย่างฉลาดจะไม่พลาดเลย"

•8.   ไม่ขาด P.D.C.A.  (PLAN DO CHECK ACTION)  วงจรการแสวงหาคุณภาพที่ดีกว่าด้วยการศึกษาวิจัยต้องอยู่ในความคิดและการปฏิบัติโดย "แสวงหาสิ่งใหม่ที่ดี ทั้งชีวีต้องวิจัย"

•9.   ร่วมฮาเฮหย่อนใจให้พลัง มนุษย์มีชีวิตจิตใจและความรู้สึก ต้องการการเสริมพลังใจและกายให้แข็งแกร่งโดย "ให้รางวัลกับชีวิต เพื่อพิชิตความเครียด"

 

ประสิทธิภาพในการบริหารเวลา: เพื่อประสิทธิผลของงาน

        การบริหารเวลาเป็นเครื่องมือในการสร้างประสิทธิผลของงาน และเมื่องานได้ประสิทธิผลเท่ากับเราใด้ใช้เวลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด วิธีการมีดังนี้

•1.   มีจุดยืนตัวเองเรื่องเวลา จงกำหนดกรอบเพื่อกำกับการทำงานทุกอย่างด้วยเวลาเสมอ

•2.   ค้นหาวิธีการใหม่ๆ  จงคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อลดเวลา หรือใช้เวลาเท่าเดิมแต่ได้ปริมาณและคุณภาพมากขึ้น

•3.   ใส่ใจพัฒนางาน จงพัฒนางานให้ก้าวล้ำเสมอ

•4.   มุ่งมั่นสานต่อความคิด  จงพยายามสานต่อความคิดให้เป็นจริงและปรากฏเห็นได้ในทางปฏิบัติงาน

•5.   จิตใจอยู่กับงาน  จงมีสมาธิกับงานเสมอ

•6.   ตนและองค์การก้าวหน้า  จงสรรสร้างพัฒนาตน องค์การให้มุ่งสู่ความสำเร็จตามที่ทุกฝ่ายปรารถนาอย่างไม่ลดละ

 

.......ไปทำงานที่อื่นดีกว่า....


หมายเลขบันทึก: 237457เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2009 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท