ประกันคุณภาพการศึกษา


ประกันคุณภาพการศึกษา

สารพันสารสนเทศ  กับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

นุกูล  นิยมไทย
สวัสดีครับพบกันอีกในฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 ปัจจุบันมีการแข่งขันในเรื่องของคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนตลอดจนประชาชน ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้าน การดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาและกระบวนการตรวจสอบหรือการประเมินว่าเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษามากน้อยเพียงไร (Murgatroyd,Stephen and Morgan,Colin  1994 : 45) จึงได้เกิดเกิดขึ้นในระบบการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่ง มีความสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลคุณภาพการศึกษาที่เชื่อถือได้ เกิดความเชื่อมั่นและสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน 2.ป้องกันการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเกิดความเสมอภาคในโอกาสที่จะได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง 3.ทำให้ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษามุ่งบริหารจัดการศึกษาสู่คุณภาพและมาตรฐานอย่างจริงจัง  ซึ่งมีผลให้การศึกษามีพลังที่จะพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

การประกันคุณภาพการศึกษามีการดำเนินการที่สำคัญ 3  ขั้นตอนดังนี้

                1.  การควบคุมคุณภาพ  (Quality  Control )   เป็นการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาเพื่อให้สถานศึกษาตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นเป้าหมายและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาซึ่งหลักปฏิบัติทั่วไปมาตรฐานจะกำหนดโดยองค์คณะบุคคล ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้มีประสบการณ์ (Murgatroyd,Stephen and Morgan,Colin  1994 : 45) 

2.   การตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit) เป็นการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการจัดการศึกษาว่าเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่กำหนดขึ้นมากน้อยเพียงไร และมีขั้นตอนการดำเนินการที่จะทำให้เชื่อถือได้หรือไม่ว่าการจัดการศึกษาจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

3.  การประเมินคุณภาพ (Quality Assessment)  เป็นการประเมินคุณภาพของสถานศึกษาโดยบุคลากรของสถานศึกษาหรือโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลในเขตพื้นที่และหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลางที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษา 

ทั้งนี้ การตรวจสอบและประเมินคุณภาพนี้จะกระทำอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎเกณฑ์และแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน มีการนำผลการประเมินในทุกขั้นตอนมาใช้เพื่อการวางแผน ออกแบบ และการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการ ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)   สักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชรเขต 1 ภายใต้การอำนวยการของท่านผอ.สมพล  ตันติสันติสม จึงได้ร่วมกันกับทีพัฒนาคุณภาพการศึกษากำหนดมาตรฐานขึ้นในบริบทของเขตพื้นที่เป็น 18 มาตรฐานเพิ่มตัวชี้วัดในมาตรฐานที่ 14  ตัวชี้วัดที่ 14.8 ให้เป็นกรอบในการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาในสังกัด และจุดเน้นอีก 5 องค์ประกอบ  สอดแทรกในมาตรฐานและตัวชี้วัดดังกล่าวแล้ว อาทิเช่นจุดเน้นภาษาไทยผ่านการท่องอาขยานเมืองกำแพงเพชรและอำเภอ  คณิตศาสตร์มีการท่องสูตรคูณและทักษะการคิดเลข การอนุรักษ์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโดยการฝึกระบำคล้องช้าง ระบำ ก.ไก่ ระบำชากังราว ด้านคอมพิวเตอร์ให้ครูและนักเรียนสามารถใช้ได้ในการจัดการเรียนการสอนและเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของนักเรียน ด้านสุดท้ายคือการรักภูมิใจในความเป็นเมืองมรดกโลกของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งได้ประชุมครูให้ทราบทิศทางการพัฒนาโดยคู่มือและหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ไปแล้ว และระหว่าง 12 มกราคม 2552 ถึง  10 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีการประเมินสถานศึกษาจากคณะกรรมการที่ได้รับการฝึกอบรมแนวทางและวิธีการประเมินแล้ว ซึ่งจะนำผลดังกล่าวไปรวมกับผลการสอบในปลายภาคเรียนที่ 2 นี้ นำมาจัดระดับคุณภาพสถานศึกษาต่อไป

ประโยชน์ที่ได้จากการประกันคุณภาพการศึกษา

1.             ผู้เรียนและผู้ปกครองมีหลักประกันและความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษา

ที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

2.  ครูได้ทำงานอย่างมืออาชีพ มีการทำงานที่เป็นระบบ โปร่งใส มีความรับผิดชอบที่

ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเน้นคุณภาพ ได้พัฒนาตนเองและผู้เรียนอย่างต่อเนื่องทำให้เป็น ที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชน

3.             ผู้บริหารได้ใช้ภาวะผู้นำและความรู้ ความสามารถในการบริหารงานอย่างเป็นระบบ

และมีความโปร่งใส เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบของ

ผู้ปกครองและชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

4.  กรรมการสถานศึกษาได้ทำงานตามบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสม เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ 

และมีส่วนพัฒนาสถานศึกษาและคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เยาวชนและชุมชนร่วมกับผู้บริหารและครู สมควรที่ได้รับความไว้วางใจให้มาเป็นกรรมการสถานศึกษา

5.             หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้สถานศึกษาที่มีคุณภาพและศักยภาพในการพัฒนาตนเอง

 ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระในการกำกับ ดูแลสถานศึกษา และก่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพทางการศึกษาและคุณภาพของสถานศึกษา

6.             ชุมชนและสังคมประเทศชาติ ได้เยาวชนและคนที่ดี มีคุณภาพและศักยภาพที่จะ

ช่วยพัฒนาองค์กร ชุมชน และสังคมประเทศชาติต่อไป

7.  ผู้รับบริการได้รับความพึงพอใจจากการให้บริการของหน่วยงาน ในระดับสถาน

ศึกษาสถานศึกษาการประกันคุณภาพจะครอบคลุมถึงการสร้างความมั่นใจโดยการใช้ข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้และการวางแผนป้องกันปัญหาที่จะเกิดตั้งแต่ในขั้นการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตร การบริหารหลักสูตร การติดตาม ตรวจสอบและทบทวนเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการแก้ไข ปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การประเมินคุณภาพผลผลิต การจัดทำรายงาน และนำเสนอข้อมูลการประเมินสำหรับ การตัดสินใจในระดับต่างๆ และ สำหรับการวางแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาในระยะต่อไป

ผู้เขียนให้ความหวังของการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาในสังกัดว่าแนวทางที่มี

การวางระบบการตรวจสอบประเมินที่จัดทำครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพสถานศึกษาในเขตพื้นที่เป็นอย่างมากและย่อมจะส่งผลการเตรียมพร้อมรองรับการประเมินภายนอกจาก สมศ.ในโอกาสต่อไปด้วยความมั่นใจ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า

 

 

****************

หมายเลขบันทึก: 236759เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนทานที่ได้แบ่งปันความชัดเจนถึงการวางแผนเพื่อพัฒนาให้ผู้อ่านเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา

ขอบคุณและโชคดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท