ชีวิตที่พอเพียง : ๖๗๓. ทำงาน CSR แบบเน้นเป็นแหล่งปัญญา


          ผมเข้าไปเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อปลายปี ๒๕๔๙   หน้าที่หลักคือไปร่วมขับเคลื่อนงาน CSR ซึ่งกำหนดไว้แล้วว่าเน้นการพัฒนาเยาวชน   ต้องการทำงานให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างแท้จริง    ไม่ใช่งาน CSR แบบโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์หน่วยงาน

          ยุทธศาสตร์แรกที่ผมเข้าไปทำ คือยุทธศาสตร์ปลดล็อก    ปลดปล่อยมูลนิธิสยามกัมมาจลออกจากความเป็นแหล่งทุน    มาเป็นแหล่งเชื่อมโยงเครือข่าย...เครือข่ายองค์กรและกิจกรรมเพื่อพัฒนาเยาวชน  

          มูลนิธิสยามกัมมาจล ไม่ใช่แหล่งทุน สำหรับให้ใครๆ ที่ทำงานเยาวชนมาขอ    แต่ทำหน้าที่สร้างประชาคมของหน่วยงานและคน ที่ทำงานสร้างสรรค์เยาวชน   หน้าที่แบบนี้ทำยาก ไม่มีวิธีการที่เป็นสูตรตายตัว และเราก็ไม่มีทักษะเพื่อทำเรื่องนี้มาก่อน   ที่จริงก็มีบ้าง แต่ต้องเอาหลายๆ “บ้าง” มาปะติดปะต่อ    ลงมือทำแบบลองผิดลองถูก   โดยคนลงมือทำคือทีมผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร (เปา) 

          เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่ง เราก็เริ่มเข้าใจ และมีทักษะ    รวมทั้งมีเพื่อนร่วมทาง (เครือข่าย) มากขึ้น   นี่คือปัญญา...ปัญญาในการทำงานสร้างสรรค์เยาวชน    ที่จะเอาไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์พัฒนาเยาวชน  

          มูลนิธิสยามกัมมาจล ยังใส่ปัญญาเข้าไปในกิจกรรม CSR ผ่านการประชุมคณะกรรมการ CSR ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งประชุมกันทุกเดือน ครั้งละ ๒ ๑/๒ ชั่วโมง   มี ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน   กรรมการได้แก่ นายอานันท์ ปันยารชุน, มรว. ดิศนัดดา ดิศกุล, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม, ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย, คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ และนายวิจารณ์ พานิช    กรรมการที่มีองค์ประกอบเป็นบุคคลเหล่านี้ ประชุมกันในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจชัดเจน   มันสนุกและประเทืองปัญญาหาที่เปรียบมิได้สำหรับผม    และท่านเหล่านี้ก็ระดมสติปัญญาและประสบการณ์ทั้งชีวิต เอามาตั้งคำถามและให้ความเห็น   ซึ่งมองมุมหนึ่งก็เสมือนทำให้คุณเปาเป๋ไปเป๋มาด้วยความมึนงง (และคร้ามบารมีกรรมการ)    แต่มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือการทำงาน CSR แบบเน้นใส่ปัญญา ไม่ใช่เน้นใส่เงิน  

          เป็น CSR แบบเน้นใส่ปัญญา    ใช้ปัญญาเอาไปทำกิจกรรมเชื่อมโยง หรือสร้าง ประชาคมพัฒนาเยาวชน   เงินเป็นเพียงเครื่องมือส่วนย่อย ไม่ใช่หัวใจ

สำหรับผม ผมได้เรียนรู้จากงานนี้เหลือคณา

วิจารณ์ พานิช
๒๐ ม.ค. ๕๒

             

หมายเลขบันทึก: 236648เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

1.ในฐานะอาสาสมัคร(อยู่เบื้องหลังทีมงาน) ขอเรียนว่ามูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์โชคดีมากที่คุณหมอรับเข้ามาเป็นแกนหลักพวกเรา และเพิ่มมูลค่าแก่งานทุกด้านค่ะ

2.ตาม comment ที่คุณหมอกรุณาส่งให้ใหญ่เกี่ยวกับการเล่าตัวอย่างรร.เศรษฐกิจพอเพียง นั้น ขอเรียนดังนี้ :

          * กรณีรร.จุฬาภรณราชวิทยาลัยนั้น ได้ขยายข้อความใน blog (เติมใหม่ใน 2-3ย่อหน้าข้างท้าย )ให้เห็นทิศทางข้างหน้าของรร. รวมทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงใหม่ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมตาม weblink :

http://www.okkid.net/blog_journal_detail.php?journal_id=874&member_id=277

ทั้งนี้ หลังการจัดเวทีมหกรรม "เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง" ระหว่างวันที่ 30-31มค.-1กพ. คงมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมอีกตามที่คุณหมอได้ตั้งข้อสังเกตไว้ค่ะ

          * กรณี รร.มกุฏเมืองราชวิทยาลัยนั้น ได้ทราบว่า ทุกวันนี้รร.ยังไม่ทิ้งภาระกิจ "นักสืบสายน้ำ" ซึ่งเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้สืบทอดปณิธานและวัตรปฏิบัติจากนร.รุ่นต่อรุ่นที่ยังคงออกสำรวจคุณภาพน้ำหน้าโรงงานร่วมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ อันเป็นที่ประจักษ์สายตาแก่ผู้ไปเยี่ยมเยือนอย่างต่อเนื่อง มีการถอดบทเรียนเผยแพร่ขยายเครือข่าย "นักสืบสายน้ำ" ไปยังเยาวชนในท้องถิ่นที่อยู่ริมแม่น้ำจังหวัดอื่นๆอีกด้วย ....ครั้งต่อไปพวกเราจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมติดตามสาระดีๆมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมอีกค่ะ

http://www.okkid.net/blog_journal_detail.php?journal_id=870&member_id=277

           

ใหญ่เพิ่งเล่าเรื่องรร.เทศบาลจามเทวีเสร็จใน OKkid.net ขอเรียนมาเพื่อทราบตาม weblink นี้ค่ะ:

http://www.okkid.net/blog_journal_detail.php?journal_id=875

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท