ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

เสียงสะท้อนอีกมุมที่ไม่ค่อยได้ยิน


นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังจะเกิดขึ้นแล้วจริง ในอีกไม่นานนี้ ทั้ง ท่าเรือ เขื่อน นิวเคลียร์ โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ ฯลฯ



เสียงสะท้อนอีกมุมที่ไม่ค่อยได้ยิน

โดย     ทรงวุฒิ พัฒแก้ว, ประสิทธิ์ชัย หนูนวล, ชัยพงศ์ เมืองด้วง

องค์กร กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช

ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๑ หน้า แทบลอยด์


"นิคมอุตสาหกรรมมาที่นครศรีธรรมราชจริงหรือ"

"มันเหมือนที่มาบตาพุด จังหวัดระยองใช่ไหม"
"มีเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยนะ"

  "จะเอาพื้นที่ตั้ง 20,000 ไร่ ทำไมเยอะจัง"

 "แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเชฟรอนล่ะ"

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา  พี่น้องทั่วภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากนโยบายของรัฐ  ได้มาร่วมประชุมที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  โดยใช้ชื่อว่า "ร่วมกำหนดอนาคตภาคใต้" จากการสัมมนาในวันนี้เอง ข้อมูลการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบสูงต่อพื้นที่ได้ถูกเปิดออกในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากการสัมมนาและการรับรู้ของชุมชนสรุปได้ว่า  ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีการนำเสนอโครงการพัฒนาต่างๆ   เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ของกลุ่มบริษัทต่างๆ  จำนวนมาก  ตั้งแต่การสำรวจ  การขุดเจาะ การตั้งฐานปฏิบัติการ รวมทั้งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม   ทั้งนี้ แต่ละโครงการจะนำเสนอเฉพาะส่วนที่ตนเองต้องการ  ไม่เชื่อมโยงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของโครงการใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีโครงการต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งติดตามได้ส่วนหนึ่ง ดังนี้

การขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย   การตั้งแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย  ท่าเรือและฐานสนับสนุนปฏิบัติการบนฝั่ง  ต.กลาย  อ.ท่าศาลา  และ  ต.ปากพูน อ.เมือง  การจัดตั้งท่าเรืออุตสาหกรรมใน  ต.กลาย  อ.ท่าศาลา  และ  ต.สิชล  ต.ทุ่งปรัง  อ.สิชล  การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  ใน ต.กลาย อ.ท่าศาลา และ ต.สิชล ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล การจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน อ.ท่าศาลา อ.สิชล และอำเภอขนอม

จากจำนวนก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมที่สำรวจค้นพบมหาศาลในอ่าวไทย   ทำให้มีการวางแผนการใช้พลังงานและสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ   การนิคมอุตสาหกรรมจึงเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม   และท่าเรืออุตสาหกรรมเพื่อรองรับ   แม้ว่าโครงการนี้ของรัฐบาลยังอยู่ระหว่างการศึกษา และยังไม่ชี้วัดว่าจะคัดเลือกพื้นที่ไหน   แต่มีแนวโน้มที่สูงมากที่จะเกิดในพื้นที่ อ.ท่าศาลา และ อ.สิชล

เรื่องที่น่าตกใจคือ   เรื่องนี้มีผลกระทบในพื้นที่  ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม  สังคม และวัฒนธรรม  แต่การดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลชุมชนน้อยมาก จนแทบไม่ทราบความเคลื่อนไหวว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่ตนเอง  โดยเฉพาะพื้นที่  อ.ท่าศาลา และ อ.สิชล ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับแทบทุกโครงการ แต่เจ้าของพื้นที่แทบไม่รับทราบข้อมูล   คำถามที่สำคัญคือ เรื่องนี้ประชาชนควรรับทราบข้อมูลอย่างไร  และขนาดไหน  หรือจะไม่ให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต

"ได้รับข่าวจากเพื่อนที่ได้ไปเข้าร่วมสัมมนาที่  ม.วลัยลักษณ์  ทราบว่าจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมที่บ้านคอเขา วิตกกังวลจนนอนไม่หลับ แล้วเราจะอยู่อย่างไร เขาจะเอาเราไปไว้ที่ไหน พื้นที่ตั้ง 2 หมื่นไร่ไม่ใช่น้อยนะ"   แม่บ้านมุสลิมกล่าวกลางวงร้านน้ำชาในการสนทนาเรื่องนี้ หลังทราบข่าวเรื่องนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

รองประธานกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับมิติศาสนาและวัฒนธรรมไว้อย่างน่าสนใจ   สรุปได้ว่า "ในส่วนของพื้นที่พี่น้องมุสลิม เรามีทั้งพื้นที่มัสยิด   กุโบร์  (หลุมฝังศพของมุสลิม)  สถานที่เหล่านี้รบกวนไม่ได้ ทำลายไม่ได้ไม่ว่ากรณีใด อีกทั้งในพื้นแถบฝั่งทะเลแถวนี้มีพี่น้องมุสลิมอาศัยจำนวนมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ และจะต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด" พูดจบได้รับเสียงตบมือดังลั่นกลางวงสนทนา เพราะนี่คือการต่อสู้ในทางจิตวิญญาณและมิติทางศาสนาอย่างแท้จริง

บังหยา  แกนนำชาวประมงพื้นบ้านและเป็นมุสลิมได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า  "ตอนสร้างมัสยิดพี่น้องระดมทุนช่วยเหลือกันเพราะเชื่อว่า  เมื่อมีการประกอบศาสนกิจในมัสยิด  พี่น้องที่ได้ทำบุญไป ก็จะได้รับส่วนบุญไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีมัสยิด หรือไม่มีการประกอบพิธีศาสนาเสียแล้วจะมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ   และเป็นศูนย์รวมความศรัทธาได้อย่างไร"  บอกด้วยสีหน้าเป็นกังวลและเหมือนว่าจะบอกอะไรมากกว่านี้ แต่พูดไม่ออก

จากข้อมูลที่ได้รับมาสร้างความวิตกกังวลแทบทุกพื้นที่  มากน้อยต่างกัน แม้จะได้รับการยืนยันว่า จะป้องกันผลกระทบในทุกด้านให้มากที่สุด แต่จากประสบการณ์ของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่มาบตาพุด  พี่น้องจะนะ  เรื่องท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ยืนยันว่านี่เป็นเพียงยาหอมเบื้องต้นเท่านั้น เป็นเพียงเพื่อต้องการให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบสบายใจ   และเสียสละเพื่อพี่น้องทั้งประเทศ   แต่ความทุกข์ของคนในพื้นที่ไม่คุ้มกับการเสียสละ  และความทุกข์ที่ได้รับ  และช่วยกันยืนยันว่า  "อยู่แบบเราก็สบายดีแล้ว   มีทิศทางการพัฒนาและการช่วยเหลือประเทศชาติอีกมาก  คำตอบเรื่องนิคมอุตสาหกรรมไม่ใช่คำตอบสุดท้าย"

เรื่องนี้ดูเหมือนว่า   คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ  ชาวบ้านที่ทำการประมงในแถบนี้ ได้ฟังแล้วใจหาย เพราะมีผลกระทบมากที่สุดในการประกอบอาชีพ   เพราะทั้งการกัดเซาะชายฝั่งจากท่าเรือ   ระบบน้ำที่ปล่อยลงในทะเล   อีกทั้งเรือที่วิ่งเข้าออกรบกวนการทำประมง  ในวงการพูดคุยของพี่น้อง  "เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา"  บังมุ ซึ่งเป็นแกนนำกล่าวว่า  "เราทำมาหากินกับทะเล  เราคือยามเฝ้าทะเล เรารู้ว่าควรรักษาทรัพยากรชายฝั่งอย่างไร เรายังทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งดีกว่าการเป็นยามหรือเป็นแม่บ้านของอุตสาหกรรมแน่นอน เราจะพิทักษ์ทะเลและต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด"

ตอนเย็นมีแผ่นป้ายที่ตรงสะพอนลอยกลางถนนสายนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี   ใกล้สถานที่ทำการกลุ่ม มีข้อความว่า  "เราอยู่สบายดีแล้ว  รวมพลังไม่เอานิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อ.ท่าศาลา อ.สิชล อ.ขนอม"

บทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้หลังจบการสัมมนา คงยังเป็นการต่อสู้อีกยาว เพราะต้องมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง  แต่สำหรับชุมชนแล้ว  การต่อสู้เพื่อปากท้องและทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน   เป็นเรื่องที่สำคัญมากจริงๆ ดังป้ายแรกที่ได้ประกาศไว้แล้ว.

หมายเลขบันทึก: 235557เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อมาได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท