นอนกรน


นอนกรน......มีสาเหตุจากอะไร
      มีอาจารย์ดิฉันท่านหนึ่งนอนกรนดังมากนั่งรถหลับท่านยังกรน น้องๆที่ทำงานด้วยก็บอกท่านนอนหลับกรนดังมากๆๆ เลยเป็นห่วงสุขภาพท่านจึงหาหนังสือและข้อมูลจาก Web ดู.....ผู้ที่สนใจศึกษาลองอ่านดูนะคะ

    นอนกรน 

      ในผู้ใหญ่ อาการนอนกรน มักมีสาเหตุมาจาก

       อายุ เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อต่างๆ จะขาดความตึงตัว ลิ้นไก่ยาว       และ  เพดานอ่อนห้อยต่ำลง กล้ามเนื้อต่างๆ หย่อนยาน รวมทั้งกล้าม   เนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย

       เพศ ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยเป็นเพศชาย ทั้งจากการศึกษาทางระบาดวิทยาและการศึกษาผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม พบว่าเพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง ด้วยอัตราส่วน 7:1 แต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนเพศจะมีผลต่อโรคนี้ได้ เชื่อว่าอิทธิพลของฮอร์โมนส่งผลที่โครงสร้างบริเวณศีรษะและลำคอของเพศชาย เนื้อเยื่อบริเวณคอหนาขึ้นทำให้มีช่องคอแคบกว่าผู้หญิง ฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดี

      ลักษณะโครงสร้างของกะโหลกศีรษะและกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางเลื่อนไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว หน้าแบน ล้วนทำให้ทางเดินหายใจช่วงบนแคบลงเกิดการอุดตัน และทำให้เกิดการหยุดหายใจได้ โรคที่มีความผิดปกติบริเวณนี้ได้แก่ Down's syndrome , Prader Willi syndrome , Crouzon's syndrome เป็นต้น 
      กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่อ้วน แต่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัจจัยทางพันธุกรรมน่าจะเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนปกติ 1.5 เท่า
      โรคอ้วน พบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย OSAS มี Body Mass Index (BMI) > 28 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักมาตรฐาน เมื่อลดน้ำหนักได้ 5-10 กิโลกรัมจะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ ผู้ป่วยที่อ้วนมีโอกาสเกิดการหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากไขมันนอกจากจะกระจาย อยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ที่สะโพก หน้าท้อง น่อง ต้นขา ยังพบว่ามีเนื้อเยื่อไขมันกระจายอยู่รอบๆทางเดินหายใจช่วงบนมากขึ้น ไขมันที่พอกบริเวณคอจะทำให้เวลาที่ผู้ป่วยนอนลง เกิดน้ำหนักกดทับ ทำให้ช่องคอแคบลงได้ หน้าท้องที่มีไขมันเกาะอยู่มากทำให้กระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ ความจุของปอดลดลง ล้วนเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดการหยุดหายใจได้โดยง่ายขึ้น
         แน่นจมูกเรื้อรัง จมูกเป็นต้นทางของทางเดินหายใจ ถ้ามีภาวะใดก็ตามที่ทำให้แน่นจมูกเรื้อรัง เช่นมีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือเนื้องอกในจมูก ย่อมจะทำให้การหายใจลำบากขึ้น
         ดื่มสุรา หรือการใช้ยาบางชนิด จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่คอยพยุงช่องทางเดินหายใจให้เปิด หมดแรงไป เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายขึ้น นอนจากนี้จะกดการทำงานของสมอง ทำให้สมองตื่นขึ้นมาเมื่อมีภาวะการขาดออกซิเจนได้ช้า ซึ่งอาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อหัวใจและสมองได้
         การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้คอหอยอักเสบจากการระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดการอุดตันได้ง่าย และยังส่งผลเสียต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
        โรคต่อมไร้ท่อต่างๆ ได้แก่ Hypothyroidism, Acromegaly พบว่าทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้มากกว่าคนทั่วไป

 

ในเด็ก อาการนอนกรน มักมีสาเหตุมาจาก

        ต่อมทอนซิล (ที่เห็นอยู่ข้างลิ้นไก่ในคอทั้งสองข้าง) มีขนาดโตมาก เพราะมีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังของบริเวณช่องคอ
        ต่อมอะดินอยด์ (อยู่บริเวณด้านหลังโพรงจมูก) มีขนาดโตมาก เพราะมีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังของบริเวณช่องจมูก รวมทั้งโพรงไซนัส
         ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ เพราะเป็นเหตุให้แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก ต้องอ้าปากช่วย ยิ่งทำให้นอนกรนได้มากขึ้น

        ไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะไซนัสอักเสบเรื้อรัง จะมีน้ำมูกข้น และจมูกบวม ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก จึงนอนกรนได้
         ภาวะที่มีเนื้องอกในโพรงจมูก เช่น ริดสีดวงจมูก หรือมีผนังกั้นจมูกคด ซึ่งมักเกิดร่วมกับเยื่อบุจมูกบวมโต ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก จึงนอนกรน ในบางราย มีความผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้กระดูกใบหน้าเล็ก หรือมีเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจใหญ่ เช่นมีลิ้นโต เป็นสาเหตุให้มีภาวะอุดตันของทางเดินหายใจได้ขณะนอนหลับ

นอนกรน......เกิดได้อย่างไร

อาการนอนกรนนี้ คนปกติสามารถเป็นได้ไหม ??

คำตอบทางการแพทย์ถือว่า การนอนกรนเป็นสิ่งผิดปกติ คนทั่วไปเข้าใจว่าคนมีอายุ อาจนอนกรนบ้างเวลาหลับสนิทและเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้ไม่ถูกต้อง แท้ที่จริงแล้ว นอนกรนเป็นอาการที่ชี้บ่งว่าทางเดินหายใจของคนๆ นั้นแคบ เวลาลมหายใจผ่านบริเวณช่องคอตรงที่แคบนั้น จะเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดเป็นเสียงกรน ยิ่งถ้ามีปัญหาแน่นจมูก ต้องอ้าปากเวลานอน จะยิ่งทำให้นอนกรนได้มากขึ้นไปอีก

นอนกรนชนิดไม่อันตราย (Simple snoring)

         เกิดเพราะคนๆ นั้นมีช่องคอแคบกว่าปกติ เวลาเรานอนหงายและหลับสนิท (เป็นเวลาที่กล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกายจะมีการคลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอด้วย) ลิ้นและลิ้นไก่จะตกไปทางด้านหลัง ในคนปกติ เหตุการณ์นี้ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไร เพราะทางเดินหายใจกว้างอยู่แล้ว แคบลงไปเล็กน้อย ก็ยังหายใจได้ดี จึงไม่มีเสียงกรน แต่ในคนที่กรน มีช่องคอแคบอยู่แล้ว ทางเดินหายใจส่วนนี้จะตีบแคบลงไปอีก เวลาลมหายใจผ่านตำแหน่งที่แคบ จะมีการสั่นสะเทือนของเพดานอ่อน ลิ้นไก่ หรือโคนลิ้น ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนประเภทไม่เป็นอันตราย ทำให้เกิดเสียงรบกวน จะไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แต่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้ กลุ่มนี้มักมีการอุดกั้นทางเดินหายใจเพียงเล็กน้อย

ผู้ป่วยนอนกรนชนิดเป็นโรคหรือชนิดอันตราย (Obstructive sleep apnea syndrome หรือ OSAS)

         จะมีช่องคอแคบมาก จากเนื้อเยื่อเพดานอ่อน ลิ้นไก่ หรือลิ้น มีขนาดใหญ่และหย่อนยาน หรือมีคางสั้นมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีเสียงกรนไม่สม่ำเสมอไปตลอดทั้งคืน เมื่อยังหลับไม่สนิทอาจจะเป็นเพียงกรนชนิดไม่อันตราย มีเสียงกรนสม่ำเสมอดี แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ มีลักษณะของการกลั้นหายใจ ตามด้วยการสะดุ้งหรือสำลักน้ำลาย หรือหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ อาจเกิดขึ้นหลายสิบหรือหลายร้อยครั้งต่อคืน      ในขณะที่มีการหยุดหายใจ เนื่องจากทางเดินหายใจอุดตัน ออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลงเรื่อยๆ   ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจ หลอดเลือด ปอด และสมอง ต่อมาภาวะทางเดินหายใจอุดตันซึ่งยังคงอยู่ จะทำให้ออกซิเจนในเลือดแดงลดต่ำลงมากถึงจุดอันตราย ร่วมกับมีการหายใจที่แรงมาก จนต้องใช้กล้ามเนื้อช่วยในการหายใจเพื่อพยายามให้ลมหายใจสามารถผ่านตำแหน่งที่ตีบตันไปให้ได้

          ภาวะนี้จะกระตุ้นให้สมองที่กำลังหลับสนิทอยู่ต้องตื่นขึ้นมา (เจ้าตัวคนนอนมักจะจำไม่ได้ แต่คนที่นอนอยู่ใกล้ๆ อาจเห็นว่ามีการสะดุ้งหรือหายใจเฮือกอย่างแรง หลังจากหายใจไม่ออกหลายครั้ง) ทางเดินหายใจจะถูกเปิดขึ้นและทำให้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปในปอดได้อีก ตอนนี้เองออกซิเจนในเลือดแดงจะกลับสูงขึ้นมา แต่หลังจากนั้นไม่นาน สมองจะเริ่มหลับอีก การหายใจก็จะเริ่มขัดข้องอีกครั้ง แล้วปลุกสมองให้ตื่นขึ้นอีก วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ไปตลอดคืน ทุกคืน

        ส่งผลให้สมรรถภาพการนอนหลับเสียไป เนื่องจากมีช่วงเวลาของการนอนหลับสนิทน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น นอนไปได้ตั้ง 7-8 ชั่วโมง คนทั่วไปน่าจะทำให้นอนได้พอ แต่ผู้ป่วยโรคนอนกรนจะยังรู้สึกเหมือนยังนอนไม่อิ่มเลย รวมทั้งผลเสียที่มีต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจ ระบบไหลเวียนเลือด สมอง และปอด จะดำเนินไปเรื่อยๆ ตามลำดับ จนทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม

การตรวจวินิจฉัยการนอนกรน

  • ตรวจร่างกายอย่างละเอียดทางหู คอ จมูก เพราะสาเหตุอาจอยู่บริเวณดังกล่าว

  • ตรวจพิเศษในท่านอน โดยส่องตรวจหลอดลมชนิดอ่อนตัวได้บริเวณโพรงจมูก ตำแหน่งเพดานอ่อนและโคนลิ้น

  • เอกซเรย์ เพื่อหาตำแหน่งที่ตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน

  • ตจรวจ Sleep Test (Polysomnography) เป็นการตรวจการหายใจสัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ

การป้องกันและการรักษาการนอนกรนของผู้ป่วย

  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  • หลีกเลี่ยงการนอนหงาย ให้นอนในท่าตะแคงข้าง และให้ศีรษะสูงเล็กน้อย

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยานนอนหลับและยากล่อมประสาทก่อนนอน


กรณีที่เป็นการนอนกรนชนิดอันตรายที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย ให้รักษาโดย

-ใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ครอบจมูกขณะหลับ เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น วิธีนี้ปลอดภัย และได้ผลดีในผู้ป่วยเกือบทุกราย
-Radiofrequency จี้กระตุ้นให้เพดานอ่อนหดตัวลง โคนลิ้นหดตัวลง
-การผ่าตัด เอาส่วนที่ยืดยานออก

อันตรายจากการนอนกรน

  • ร่างกายอ่อนเพลีย คล้ายนอนไม่พอ ทำให้เกิดผลเสียต่อการเรียนการทำงาน และอาจเกิดอุบัติเหตุ

  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความสามรถในการจำลดลง หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย

  • มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมองโรคหัวใจขาดเลือด (อาจทำให้เสียชีวิตทันที เพราะหัวใจทำงานผิดปกติขณะเกิดการหยุดหายใจในช่วงหลับ หรือที่เรียกว่าไหลตาย

  • ขาดสมรรถภาพทางเพศ

 

http://www.halalthailand.com/healthy/subindex.php?page=content&category=&subcategory=1&id=169 

http://women.sanook.com/health/tips/tips_15222.php

หมายเลขบันทึก: 235364เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2009 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ปกติเพื่อนร่วมห้อง หรือแม่ จะบอกว่า

เป็นคนนอนไม่กรน

แต่เมื่อไหร่ที่เหนื่อยมาก

เพื่อนบอกว่า นอนกรนเสียงดังมาก

ด้วยความสงสัยว่าสิ่งเพื่อนพูดจริงหรือเปล่า

ใช้ MP3 อัดเสียงตอนนอนเลยค่ะ

วางข้าง ๆ  หัว

เปิดฟังตอนเช้า

ไม่มีเสียงเลยค่ะ

นาฬิกายังเดินเสียงดังกว่าอีก

เพื่อนบอกว่า ติ๊งต๊อง

อัดเสียงกรนตัวเอง

ฮืม เพื่อความมั่นใจในตัวเอง

อิอิ

หวัดดีค่ะ

เคยคุยกับคุณหมอ นอนกรนเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าหากเป็นโรค osas ต้องรักษาค่ะเพราะจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท