การถอดบทเรียนโครงการพนมในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี


คนโคกโพธิ์มีต้นทุนของการสร้างความสมานฉันท์

วันนี้(15 ม.ค.52)ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมติดตามโครงการพนม(หรือชื่อเต็ม โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้) ณ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

โครงการพนมเป็นโครงการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้ข้าราชการได้ใกล้ชิดประชาชนโดยมีโครงการเป็นเครื่องมือ อาจเป็นโครงการก่อสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน คุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและกีฬา ขึ้นอยู่กับประชาคมของแต่ละตำบลจะคัดเลือกกันขึ้นมา โดยมีผู้สนับสนุนชุมชนเป็นข้าราชการตำบลละ 6-7 คน ซึ่งเป็นเหมือนแถวหน้าของราชการที่ทำงานติดพื้นที่

เท่าที่ได้อ่านเอกสารโครงการปี 52ทำให้รู้สึกได้ว่าคนโคกโพธิ์มีต้นทุนของการสร้างความสมานฉันท์ค่อนข้างสูง เพราะมีกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนเข้าด้วยกัน เช่น ดื่มน้ำชาสัญจร ชี้แจงโครงการทุกวันศุกร์(ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ที่มัสยิดของพี่น้องมุสลิม) และการนัดเวลาประชาคมที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ทีมงานตำบลนาเกตุได้ถอดบทเรียนการทำงานในปีที่ผ่านมาด้วย

ผมได้เสนอแนะการถอดบทเรียนการทำงานของทีมงานพนมว่า ควรจะระบุว่าการทำงานของเราทำให้ได้คนหรือได้เพื่อนมากขึ้นๆด้วยสาเหตุใด การทำงานของเราได้ตอบปัญหาอะไร ตรงกับเป้าหมายของชุมชนหรือไม่ และเราได้เรียนรู้อะไรจากการทำงาน รวมทั้งความรู้สึกของคนทำงานรวมทั้งชุมชนด้วย ควรเปิดโอกาสให้ผู้นำธรรมชาติได้แสดงตัวตนและความคิดของเขา สุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของชุมชนทำให้สามารถพัฒนาชุมชนที่มีจุดเด่น (และอาจเป็นจุดขายของชุมชนหรือสินค้าที่เขาทำขาย)ได้ต่อไปในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 235354เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2009 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รู้สึกดีกับโครงการพนม  แต่ถ้าจะให้เกิดผลดีมากที่สุด บุคคลต้องเสนอโครงการโดยเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  ไม่ใช้เพื่อพวกพ้องของตนเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท