สอบครั้งแรก.....การสื่อความหมาย ตอนที่ 1


 

เล่าแต่เรื่องทริปในคอร์สที่ไปเรียน ไม่ค่อยได้เล่าเรื่องเรียนบ้างเลย คราวนี้น่าจะได้เล่าแล้วเพราะทริปในคอร์สเล่าไปเกือบหมดแล้ว

เล่าเรื่องสอบครั้งแรกก่อนเลย เพราะตื่นเต้นมาก ต้องทำตัวเป็นไกด์นำเที่ยวพาเพื่อนๆ เดินตามทางเดินที่เราเลือกและทำการสื่อความหมายในเรื่องของต้นไม้ สัตว์ ในเชิงระบบนิเวศ และควรมี Theme ของเรื่องที่จะพาเดิน

ตอนแรกเกือบถอดใจขอเล่าเรื่องเมืองไทยดีกว่า แต่อาจารย์ก็มาลุ้นว่า เชื่อว่าเราต้องทำได้ เลยพยายามเลือกเส้นทางเดินที่เราสามารถไปสำรวจได้บ่อยๆ เช็คจากแผ่นพับเมือง Greymouth พบว่ามีเส้นทางเดินเที่ยวค่อนข้างเยอะพอสมควร เลยใช้เวลาสำรวจเกือบทุกวัน บางเส้นทางก็วกวนเดินกันหลง ต้นไม้ที่พบก็ไม่ค่อยรู้จัก (ยังเรียนไม่เยอะ) ในที่สุดก็เลือก Coronation Domain Walk ซึ่งเป็นเส้นทางเดินที่มีระยะทางสั้นมากแต่ที่ตัดสินใจเลือกเพราะมีต้นไม้ที่อาจารย์เพิ่งสอนไปและคิดว่าจะทำการเปรียบเทียบการใช้พืชเป็นยาสมุนไพรของชาวเมารีก้บของคนไทย กรณีที่เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกันเพราะเจอมีต้นไม้ที่คิดว่าคล้ายๆ กับต้นไม้บ้านเรา

                      Kawakawa : Macropiper excelsum               Family Piperaceae

ต้นนี้อยู่ในตระกูลเดียวกับ พริกไทย (Black pepper: Piper nigrum) ชะพลู (Piper sarmentosum) พลู (Betle piper: Piper betle)ของบ้านเรา และชาวเมารีก็นำเอาใบของพืชชนิดนี้ใช้เป็นยาสมุนไพรในการฟอกเลือด นอกจากนี้ใบและเปลือกสามารถเอาไปทำแบบอบไอน้ำเพื่อแก้ปวดเมื่อย และยังใช้เพื่อป้องกันแมลงมารบกวนพืชที่เก็บไว้ในบ้านโดยเฉพาะหัวมัน ใช้ใบสอดไว้ระหว่างหัวมันที่เก็บไว้ แล้วสุมไฟอ่อนๆ จะกันแมลง หรือเอาไปใส่ในกองไฟไว้ไล่ยุงก็ได้ เลยคิดจะเปรียบเทียบพืชชนิดนี้กับของบ้านเราแล้วเอารูปของต้นไม้บ้านเราให้ดูเปรียบเทีียบ ว่าคล้ายกันจริง อีกอย่างที่น่าสนใจคือ Kawakawa (คาวาคาวา ไม่ใช่คาวาซากินะ) เป็นพืชที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกับ Kava ที่ประเทศฟิจิ นำเอารากมาทำเป็นเครื่องดื่ม แม้ว่าจะอยู่ในตระกูลเดียวกันแต่ก็คนละสกุล และคุณสมบัติก็แตกต่างกัน เราก็สามารถเล่าให้เพื่อนๆ ฟังได้ว่าเคยไปชิม Kava ที่ฟิจิมาแล้ว รสชาติเผ็ดๆ กินแล้วเกิดอาการชา กินมากก็เป็นโทษ มีผลต่อระบบประสาท แต่คนแถวนั้นชอบกิน

บ้านเราใบพลูใช้แก้ลมพิษ หรือแก้ปวดท้อง พริกไทยใช้ในอาหารช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารเช่นเดียวกับใบชะพลูที่ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร

 

   

             Black nightshade : Solanum nigrum               Family Solanaceae 

ต้นนี้เห็นแล้วคล้ายมะเขือพวงบ้านเรา (Devil's fig : Solanum torvum) แต่ของที่นี่เป็นวัชชพืช แต่ชาวเมารีก็ใช้ใบซึ่งมีแคโรทีนสูงมาต้มกิน แต่ควรระวังเพราะมีความเป็นพิษ ต้นนี้ก็อยากเอาไว้เปรียบเทียบกับมะเขือพวงที่เราใช้ทำอาหาร และค้นในหนังสือพบว่าทางภาคเหนือของประเทศไทยก็มี ต้นชนิดนี้ชื่อมะเขือนก ซึ่งชาวเขาใช้น้ำที่บีบจากลูกและใบไว้ไล่ทากที่เข้าไปในจมูก หรือใช้เป็นยาฆ่า่แมลงได้ สำหรับมะเขือพวงของเรามี Torvoside ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ตับไปใช้คลอเรสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้ยังมีเส้นใยและ pectin ซึ่งจะช่วยดูดซับไขมันจากอาหาร



                 Seven finger or Pate : Schefflera digitata               Family Araliaceae

ต้นนี้ชาวเมารีใช้รักษาเกลื้อนหรือโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา หรือน้ำกัดเท้า สำหรับบ้านเราต้นไม้ที่อยู่ในสกุลเดียวกันคือหนุมานประสานกาย (Schefflera leucantha,Vig) ซึ่งเราใช้ใบต้มกินเพื่อรักษาโรคทางเดินหายใจ Saponin ในใบจะออกฤทธิ์เหมือน antihistamine ช่วยขยายทางเดินหายใจ

เดินสำรวจต้นไม้ที่พอน่าสนใจและรู้จักได้ไม่กี่ชนิด แต่อาจารย์ให้พาเพื่อนเดินและพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมง ระยะทางที่เดินนี่ถ้าเดินแบบไม่สนใจอะไรมากแค่ 5-7 นาทีก็จบแล้ว ต้องหาอย่างอื่นมาเพิ่มเติมหรือต้องศึกษาพืชอื่นๆ ที่น่าสนใจในเส้นทางเดินนี้

ก็แทบจะแวะไปเดินเกือบทุกวันเพราะไม่ไกลมากจากที่พัก โชคดีที่อาจารย์แจกหนังสือพืชและสัตว์ในนิวซีแลนด์ให้ (รวมอยู่ในคอร์สที่เรียน) เลยได้พาหนังสือเดินเที่ยวกับเราเกือบทุกวัน จนรักเส้นทางนี้มากเพราะจากการที่เดินดูต้นไม้ทุกวันเรียนรู้ชื่อและความเป็นมาทำให้ตื่นเต้นกับการที่จะสอบครั้งนี้เพราะเส้นทางนี้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นอย่างไรโปรดติดตามตอนต่อไป.......             




หมายเลขบันทึก: 235038เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2009 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับคุณ จินตมาศ

มาดูต้นไม้ นอก ถ้าไม่บอกนึกว่าไม้บ้านเรา

ดีครับได้เรียนรู้ด้วย

  • ท่าทาง บังหีมจะหายไข้แล้ว แวะมาเยี่ยมคนอื่นได้แล้ว
  • ตอนต่อๆ ไปมีแต่เรื่องที่เรียนแล้ว เรื่องเที่ยวเล่าหมดแล้ว

สวัสดีครับ

หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรึเปล่าครับ

มีเรื่องของ Nature game ด้วยไหมครับ

  • หากสนใจกิจกรรมดูผีเสื้อของกลุ่มรักษ์ผีเสื้อ  เรียนเชิญที่ www.savebutterfly.com ครับ
  • วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ก.พ. ๕๒ นี้ทางกลุ่มฯมีกิจกรรม Butterfly walk ที่สวนรถไฟครับ  หากสนใจจะไปร่วมกิจกรรม ก็ตามนี้เลยครับ

 Butterfly Walk ครั้งที่ 2/2552 ในวันอาทิตย์ที่ 15 ก.พ. 2552

       ที่อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ  อยู่ในสวนรถไฟ  เขตจตุจักร กรุงเทพฯ  ครับ

จะไปกัน  ในวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 นี้
 

เวลา 09.00 - 11.00 น.
ไปเรียนรู้เ รื่องราวของผีเสื้อ ดูผีเสื้อ ถ่ายภาพผีเสื้อ  เทคนิคการดูผีเสื้อในธรรมชาติ
กับคุณเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์

เวลา 11.00 - 12.00 น.
เสวนาหาแนวทางร่วมกัน ในการจัด  โครงการศึกษาผีเสื้อป่ามรดกโลกดงพญาเย็น
จากนั้นแยกย้ายกันไปตามอัธยาศัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณต้น-ระมาดโทร. 089-815-8501 ด้วยความยินดีครับ

  • สวัสดีค่ะ คุณ nuvall
  • ใช่ค่ะ เป็นหลักสูตร Ecotourism ค่ะ แต่ไม่มีเรื่องของ Nature game
  • เน้นอยู่ 3 เรื่อง
  • คือเรื่องของวัฒนธรรมพื้นเมือง มีอาจารย์ที่เป็นชาวเมารีเป็นคนสอน 
  • เรื่องของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ พืชพันธ์ไม้พื้นเมือง สัตว์พื้นเมือง
  • เรื่องการสื่อความหมาย การนำหลักการของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปใช้ การอ่านแผนที่และการดูเรื่องของดินฟ้าอากาศก็อยู่รวมในนี้ด้วย
  • ขอบคุณสำหรับรายละเอียดกิจกรรมค่ะ รอบนี้คงต้องขอบายก่อน คิดว่าคงได้เจอกันสักครั้งนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท