วิธีสอนแบบแก้ปัญหา


วิธีสอนแบบแก้ปัญหา

วิธีสอนแบบแก้ปัญหา

ความหมาย

                วิธีสอนแบบแก้ปัญหา  เป็นวิธีสอนที่ให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ( Scientific Method ) ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่มีขั้นตอน มีเหตุผล มีการรวบรวมข้อมูล มีการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล ดังนั้น จึงอาจเรียกวิธีสอนแบบนี้ว่า วิธีสอนแบบวิทยาศาสตร์

 

ลักษณะเด่น

                การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหามีลักษณะเด่น  คือ  ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรม  มีชิ้นงานที่เป็นรูปธรรม  ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและเพื่อน  ได้พัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา  และตระหนักรู้ในปัญหาที่เกิดขึ้น  ผู้เรียนได้ฝึกคิดด้วยตนเองและพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน  โดยผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

 

แนวคิดสำคัญ

                การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา  มีแนวคิดหลักการจากนักการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศ  ได้แก่

·       พระธรรมปิฎก

·       บลูม

·       เลวิน

·       ทอแรนซ์

·       ออซูเบล

·       เพียเจต์

·       บรุนเนอร์

การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา  มีแนวคิดสำคัญ  คือการนำปัญหามาใช้ใน

กระบวนการเรียนรู้  ผู้เรียนได้เผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์จริงร่วมกันคิดหาทางแก้ไขปัญหา  เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย  การเรียนรู้แบบแก้ปัญหานี้จะช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านต่างๆ  ได้แก่  การฝึกทักษะการสังเกต  การเก็บข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูล  การตีความและสรุปความ  การคิดแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน  มีเหตุผล  ฝึกการทำงานกลุ่ม  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ซึ่งกันและกันระหว่างผู้เรียน  โดยผู้เรียนจะเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาการคิดด้านต่างๆ  ไปด้วยกัน  ได้แก่  ด้านความรู้  ความจำ  ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การคิดวิเคราะห์  การสังเคราะห์  และการประเมินค่า

 

ความมุ่งหมาย

1.       มุ่งทักษะการสังเกต การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ตีความ และสรุป

2.     มุ่งทักษะการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์อันเป็นวิธีที่มีเหตุผลซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการที่ผู้เรียนจะนำวิธีการไปใช้ในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตประจำวันได้

3.     มุ่งฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์พิจารณาเหตุผล และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

4.    มุ่งฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดอิสระ และการทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อน

 

ขั้นตอนการสอนแบบแก้ปัญหา สรุปได้ดังนี้

1.       ขั้นเตรียม

1.1  ครูต้องศึกษาแผนการสอน  เนื้อหา  จุดประสงค์การสอนอย่างละเอียด

            1.2  ครูต้องกำหนดกิจกรรมให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน

2)   ขั้นดำเนินการสอน

2.1  ขั้นกำหนดปัญหา  เน้นให้นักเรียนเห็นปัญหาและขอบเขตของปัญหา

            2.2  ขั้นตัดสินใจที่จะวางแผนแก้ปัญหา  นักเรียนแบ่งกลุ่ม  กำหนดวิธีการที่จะค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ

            2.3  ขั้นเก็บข้อมูล  ลงมือค้นคว้าและเก็บรวบรวมข้อมูล

4.       ขั้นตั้งสมมติฐาน  เป็นขั้นวางแนวทางที่จะหาคำตอบของปัญหา นักเรียนจะต้องสมมติฐานว่าปัญหานั้น ๆ จะมีสาเหตุมาจากอะไร หรือวิธีการแก้ปัญหานั้นน่าจะแก้ไขได้โดยวิธีใด

5.       ขั้นพิสูจน์  นำเอาสมมติฐานที่ตั้งไว้หลาย ๆ อย่าง มาทดลองพิสูจน์ หรือพิจารณาแบ่งประเภท  ตรวจสอบ 

6.       ขั้นวิเคราะห์  พิจารณาดูว่า ข้อมูลใดมีหลักเกณฑ์ หรือมีหลักที่มีหลักฐานสนับสนุนได้มาก

7.       สรุปผล  นักเรียนย่อมสามารถสรุปหลักสำคัญ ๆ หรือสามารถประเมินผลวิธีการแก้ปัญหาหรือเลือกวิธีการใดที่ได้ผลดีที่สุดในการแก้ปัญหา

 

3)  ขั้นประเมินผล 

       ครูประเมินผลการทำงานของนักเรียน ชี้แจงข้อดีและข้อบกพร่องเพื่อให้นักเรียนปรับปรุงแก้ไขต่อไป 
 
 

แผนภูมิ           แสดงขั้นตอนวิธีสอนแบบแก้ปัญหา 
 

 

                 ขั้นเตรียม 
 

  •  
    •  
      • ศึกษาแผนการสอน                                                             ครู
      • กำหนดกิจกรรม

  

                 ขั้นดำเนินการสอน

  •  
    •  
      • ขั้นกำหนดปัญหา

§         ขั้นตัดสินใจที่จะวางแผนแก้ปัญหา

§         ขั้นเก็บข้อมูล                                                             นักเรียน

  •  
    •  
      • ขั้นตั้งสมมติฐาน
      • ขั้นพิสูจน์
      • ขั้นวิเคราะห์
      • ขั้นสรุปผล

 
                  ขั้นประเมินผล                                                                                        ครู

  •  
    •  
      • ครูประเมินผลการทำงานของนักเรียน             

 (ที่มา : สำนักงานทดสอบทางการศึกษา กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ  “การสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ) 

 

บทบาทของครูผู้สอน

                บทบาทของผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา   มีดังนี้

·       กำหนดสถานการณ์หรือเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจริงซึ่งเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน  เลือกปัญหาที่ตรงกับความสนใจของผู้เรียน  เป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้เรียน

·       รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้  แหล่งเรียนรู้  ภายในและภายนอกห้องเรียน

·       กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน

·       ให้คำแนะนำ / คำปรึกษา  และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในการแสวงหาแหล่งข้อมูล  การศึกษาข้อมูล  การศึกษาข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เรียน

·       กระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลายและเหมาะสม

·       ติดตามการปฏิบัติงานของผู้เรียนและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

·       ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยพิจารณาจากผลงานกระบวนการทำงาน  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์

·       สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นประชาธิปไตย  เพื่อให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกด้านความคิดเห็นและแสดงออกด้านการกระทำที่เหมาะสม

 

บทบาทของผู้เรียน

                บทบาทของผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหามีดังนี้

·       ร่วมกันเลือกปัญหาที่ตรงกับความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม

·       เผชิญกับสถานการณ์ปัญหาจริงๆหรือสถานการณ์ที่ผู้สอนจัดให้

·       วางแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน

·       ศึกษาค้นคว้าและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

·       ลงมือแก้ปัญหารวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูล  สรุปและประเมินผล

 

 

 

ข้อดีของวิธีสอนแบบแก้ปัญหา

1.       ผู้เรียนได้ฝึกวิธีแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ฝึกการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ

2.       ผู้เรียนได้ฝึกการค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆ

3.       เป็นการฝีกทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มและฝึกความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย

4.       ประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับจากการฝึกแก้ปัญหา จะมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตจริงทั้งในปัจจุบันและอนาคต

                     5.  เป็นการสอนเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง  ครูจะมีบทบาทน้อยลง

 

ข้อจำกัดของวิธีสอนแบบแก้ปัญหา

1.       ผู้เรียนต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ถ้าผิดไปจะทำให้ผลสรุปที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

2.       ผู้เรียนต้องมีทักษะในการค้นคว้าหาข้อมูลจึงจะสรุปผลการแก้ปัญหาได้ดี

3.       ถ้าผู้เรียนกำหนดปัญหาไม่ดี หรือไม่คุ้นเคยกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะทำให้ผลการเรียนการสอนไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะในการใช้วิธีสอนแบบใช้กระบวนการแก้ปัญหา

1.       ครูควรทำความเข้าใจในปัญหา และมีข้อมูลเพียงพอ

2.       การวางแผนแก้ปัญหา ควรใช้หลากหลายวิธีการ และแยกแยะปัญหาออกมาเป็นส่วนย่อยๆเพื่อสะดวกต่อการลำดับขั้น

การประยุกต์ใช้

                การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา  นี้ใช้ได้กับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  แต่ครูผู้สอนต้องศึกษาและหาวิธีการที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมคิดวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและคิดหาแนวทางแก้ปัญหานั้นๆด้วยวิธีการที่หลากหลาย  ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ด้านทักษะ  กระบวนการ  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์

 

บรรณานุกรม

ทิศนา  แขมมณี.  (2551).  ศาสตร์การสอน.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์

                มหาวิทยาลัย.

กลุ่มส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา.(2550).การจัดการเรียนรู้แบบ

                กระบวนแก้ปัญหา.กรุงเทพมหานคร:ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย  จำกัด.

ผลการใช้วิธีสอนแบบแก้ปัญหาโดยเน้นการจัดการชั้นเรียน ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชา 

                ศิลปศึกษาของนิสิตคณะครุศาสตร์. (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก:htt://www.onec.go.th

กระบวนการแก้ปัญหา. (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก:  

                http://edu.swu.ac.th/ae/project/ed322/principles%20of%20teaching/oldweb/P8.5.htm

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 233501เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2009 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอมูลละเอียดดี ขออนุญาตนำไปศึกษาเรียนรู้นะค่ะ  ขอบคุณค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท