เค้กวิทยาลัยอาชีวศึกษา


เค้กวิทยาลัยอาชีวศึกษา

สัปดาห์แห่งเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ครูส่วนใหญ่ก็ได้มีเวลาพักผ่อน บางสถานศึกษาเป็นช่วงที่เก็บคะแนนระหว่างภาคเรียน  สิ้นปีนี้และต่อเนื่องปีใหม่ เป็นวันที่ได้มีหยุดยาว ครูหลายท่านได้กลับไปบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดหรือเยี่ยมญาติ ตลอดจนได้มีโอกาสได้ท่องเที่ยวในช่วงนี้ รวมไปถึง ครูบางท่านต้องรีบจัดการกับข้อสอบที่ติดค้างไว้ ตรวจให้เสร็จก่อนจะถึงปีใหม่ ซึ่งมีเคล็ดไว้ว่า  เราจะไม่ปล่อยในงานในปีที่ผ่านไปเป็นดินพอกหางหนู (ชวด) ของปีหน้า และปีใหม่ต้องให้ขยันขันแข็งเหมือนวัวต่อไป

เกริ่นมาเสียยาว ไม่เข้าเรื่อง สักที  ก็มีครูอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะครูของวิทยาลัยอาชีวศึกษาบางแห่ง ที่มีผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องปากต้องใจของชาวบ้านร้านรวงในต่างจังหวัด  จะเดากันถูกหรือไม่ ไม่แน่ใจก็ต้องนี่เลย   เค้ก  และต้องเป็นเค้กของวิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งก็เป็นที่สงสัยอีกเหมือนกันว่า ทำไมถึงมีเค้กเฉพาะปีใหม่ 

เค้กวิทยาลัยอาชีวศึกษา กลายเป็น branding  ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างจังหวัด หลายแห่งมียอดซื้อและยอดจำหน่ายหลักล้าน ติดตลาดไปเรียบร้อย ถึงแม้จะเปลี่ยนผู้อำนวยการสถานศึกษากี่ท่าน แต่ชาวบ้านร้านช่องก็ยังเรียกหา  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจแทนชาวอาชีวศึกษาด้วยกัน   ในมุมกลับกัน หากผู้อำนวยการสถานศึกษาท่านนั้น ได้ย้ายไปสถานศึกษาใหม่แล้วไปเริ่มต้นกิจกรรมทำเค้กวิทยาลัยอาชีวศึกษาของจังหวัดใหม่  และถ้าประสบความสำเร็จอีกต้องยกประโยชน์และความสามารถของผู้อำนวยการที่ติดตัวไปตลอด  หลายคนคงจะจำ branding ลักษณะเดียวกันนี้คือ  ผู้ว่าราชการดอกทานตะวันได้ดี เป็นตัวอย่างของ branding แบบนี้

http://far m4.static.flickr.com/3078/2885281442_399b50074b_m.jpg
ภาพจากwww.flickr.com  Sushi Cake II by Whipped Bakeshop



อะไรคือสิ่งที่เป็นตัวแปรของเรื่องนี้  สิ่งแรกที่คิดก่อนประเด็นแรกคือ   เทศกาลปีใหม่  เป็นเทศกาลอื่นก็ไม่ได้อีก  แล้วทำไมต้องเป็นขนมเค้ก เป็นคุกกี้ไม่ได้หรือ คงจะเป็นเพราะว่า  ตั้งแต่เด็กเราถูกหล่อหลอมมาว่า เทศกาลนี้ต้องเป็นเค้กเท่านั้น น่าจะมีใครสักคน (คงไม่ใช่สักคน จะต้องส่วนใหญ่นั้นแหละ) มาช่วยเปลี่ยนความคิดที่ว่า ปีใหม่กินขนมชั้น ดีหรือไม่   แล้วทำไมต้องวิทยาลัยอาชีวศึกษาหล่ะ ทั้ง ๆ ที่เรามีชื่อคำนำหน้าวิทยาลัยมากมาย เช่น วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ใหม่ล่าสุด วิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยี  แน่นอนคำตอบคือ ก็วิทยาลัยอาชีวศึกษาจะมีคณะคหกรรมศาสตร์ และมีสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ งานนี้ตรงกับอาชีพและผลิตภัณฑ์ที่สุด  มีครูเก่ง ๆ มากมายในวิทยาลัยอาชีวศึกษาหรือวิทยาลัยเทคนิคที่มีสาขานี้บรรจุเป็นหลักสูตรเปิดสอนอยู่ ยังไม่นับรวมวิทยาลัยสารพัดช่างที่มีหลักสูตรระยะสั้นในการทำขนมเค้ก  แต่เอ่ยชื่อ  เค้กอาชีวศึกษา กลับกลายเป็นว่า ทุกคนจะนึกถึงแต่วิทยาลัยอาชีวศึกษากันหมด  อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้  เค้กแบบนี้เกิด ต้องบอกว่า เป็นทุกภาคส่วน เริ่มที่ผู้บริหาร ครู นักเรียนนักศึกษาและบุคลากรอื่น


ครูคนเดียวในแผนกทำได้หรือไม่ ทำได้แต่ ....ก็คงจะเป็นเพียงนักจัดการ ซึ่งหากฝีมือรสชาติ รูปแบบไม่เป็นที่ต้องการ ยากที่จะประสบความสำเร็จได้  จะต้องเป็นกระบวนการเริ่มตั้งแต่ ใครจะเป็นคนที่จะลงมือกำหนดส่วนผสม ตกแต่งหน้าเค้ก และนักเรียนนักศึกษาอึดพอหรือไม่ ในช่วงสัปดาห์ทรหดนี้ แล้วคนที่จะขายเป็นใคร หาตลาดในช่วงนี้ใครจะเป็นคนดำเนินการขายแล้วต้นทุนกำไรการจัดเก็บเงินหน้าที่ฝ่ายใด  ทฤษฎีงานบุคคล put the right man on the right job ได้ใช้แน่นอนตอนนี้  ครูคณะพณิชยการ ได้เรียนและปฏิบัติเป็นรูปธรรม ฝึกทักษะนักเรียนนักศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. ได้แน่นอน   แล้ว package ในการใส่ขนมเค้กที่เท่ ๆ เก๋ ๆ ครูศิลปะและนักเรียนนักศึกษาได้มีส่วนร่วมหรือไม่   ขึ้นต้นว่า  งานจะออกมาได้ดีและมีชื่อเสียงขนาดนี้  “เป็นงานที่เบานั้นคงจะยาก 


http://farm3.static.flickr.com/2218/2356585567_63454a5d5b_m.jpg
ภาพจาก www.flickr.com  Felt Cake by Shirley's Workshop

 

ทำไมเราไม่มีเทศกาลอื่น แล้วเป็นขนมหรืออาหารอื่น โดยเฉพาะบ้านเรามีเทศกาลเยอะมาก แต่เทศกาลฮิต ๆ และกลุ่มลูกค้าที่เป็นของผู้ใหญ่และเด็ก ๆ ร่วมกันก็จำกัดลงไป  การเรียนอาชีวศึกษา เมื่อได้ลงมือปฏิบัติจริงและปฏิบัติซ้ำจนเกิดทักษะ ถือเป็นแนวทางของการเรียนวิชาชีพ  ก็เป็นที่น่ายินดีที่เราเคยได้ยิน เช่น  ได้กินซาลาเปาอาชีวศึกษาอร่อยในงานบุญประจำจังหวัด  ได้ยินเรื่อง โรตีกรอบในเทศกาลงานฉลองครบรอบวันเกิดของอาชีวศึกษา ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เช่น ขนมรา  ลูกหยี  มะขามคลุก ข้าวแต๋น (นางเล็ด) ปั้นสิบและอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง ในที่นี้ ซึ่งอยากให้ต่อท้ายเป็นแบบเค้กอาชีวศึกษา

เทศกาลงานปีใหม่นี้ ขออวยพรให้กับครูที่ทำงานหนักทุกท่าน  ไม่ว่า จะเป็นครูขนมเค้ก หรือครูท่านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีกำลังใจในการทำงาน ผลิตนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป งานนี้เป็นงานอร่อยและงานหนัก ทั้งสร้างชื่อเสียงให้กับคนอาชีวศึกษาทุกคน  ไปพร้อม ๆ กัน


 

พิมพร  ศะริจันทร์  ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่ 31 ธันวาคม 2551
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคเหนือ
ผู้ที่จะนำบทความนี้ ไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น

 

หมายเลขบันทึก: 233136เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2009 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท