ส่งความสุขในการฝึกลูกออทิสติกด้วยรักและไตร่ตรอง


ขอบคุณทีม ผอ. ศูนย์การศึกษาพิเศษ จ. ปราจีนบุรี มูลนิธิออทิสติกไทย และประสบการณ์จากโครงการชมรมครูและผู้ปกครองเด็กออทิสติกหลายจังหวัดที่สนใจความรู้ด้านทักษะชีวิตกับกิจกรรมบำบัด ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาครับ

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา...ผมแบ่งเวลาช่วยเหลือให้คำปรึกษาหลายงานเกี่ยวกับการฝึกเด็กออทิสติก

งานแรก คือ การติดตามผลแบ่งกลุ่มเด็กออทิสติกที่สนใจเข้าร่วมโครงการอาชาบำบัด ซึ่งผมให้คำปรึกษาในการสร้างแบบประเมินทักษะความสามารถ ตามโมเดล Domain & Process ของวิชาชีพกิจกรรมบำบัด และใช้หลักการ Program Evaluation ในการสร้างโปรแกรมให้มีระดับที่แตกต่างกันตามความสามารถของเด็กที่ประเมินในครั้งแรก ครั้งที่หก และครั้งที่สิบสองของโปรแกรมที่ผ่านมา 4 รุ่น ตอนนี้ทีมงานอาชาบำบัด กรมทหารม้า จ.นครปฐม น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีครับ

งานที่สอง คือ การได้รับเชิญไปเป็นประธานและวิทยากรให้ครูและผู้ปกครอง ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จ. ปราจีนบุรี งานนี้รู้สึกผู้ฟังตั้งความหวังไว้กับ ดร. ป๊อป จนต้องสร้างแนวการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติบนพื้นฐานความรู้และศักยภาพของผู้ฟัง ได้แก่ ให้คิดและจัดกลุ่มสร้างกิจกรรมการฝึก ระดมความคิดวิเคราะห์ขั้นตอนการฝึกจาก 5 จนถึง 10 หัวข้อ สาธิตและนำเสนอวิธีการฝึก (มีการสมมติสมาชิกกลุ่มเป็นเด็กออทิสติกและผู้ฝึก) แต่ละกลุ่มทำได้ดีแต่ต้องปรับกระบวนทัศน์ให้ทราบถึงการใช้เทคนิคกิจกรรมบำบัดเบื้องต้นในการสอนทักษะชีวิตให้ตรงกับปัญหาและความสามารถของเด็กออทิสติก

งานที่สาม คือ การสังเกตการณ์นักกิจกรรมบำบัดเด็กของคลินิกที่คณะฯ และการพูดคุยผลการประเมินการทำงานและทักษะการให้เหตุผลทางคลินิกของทีมงานสถาบันไพดี้ พบว่า การฝึกฝนผู้บำบัดให้แสดงบทบาทให้ตรงตามกรอบความคิดที่ชัดเจนและมีระบบยังคงใช้เวลานานมากกว่า 1 ปี กว่าจะทำให้ผู้บำบัดมีประสบการณ์ในระดับ 100% Competency & Expert ดังนั้นการให้ความรู้ผู้ปกครองและครูจึงเป็นหัวข้อหนึ่งในการฝึกฝนบทบาทนักวิชาชีพเหล่านี้

งานที่สี่ คือ ผมให้คำแนะนำหลังพูดคุยกับอาจารย์กิจกรรมบำบัดที่ต้องการให้เด็กออทิสติกได้รับการฝึกจากผู้ปกครองในสิ่งแวดล้อมจริง แต่ไม่แน่ใจว่าจะวัดผลเชิงปริมาณได้อย่างไร และผมยังได้คุยกับคุณหมอท่านหนึ่งที่ต้องการคำยืนยันทางวิชาการถึงการฝึกสมองส่วนพัฒนาระบบการรับรู้และเคลื่อนไหวที่มีกิจกรรมและเครื่องมือที่ผู้ปกครองสามารถกระตุ้นได้เองที่บ้าน ผมแนะนำให้เข้าใจกิจกรรมบำบัดที่พัฒนาเป็นวิทยาศาสตร์ของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถประเมินข้อมูลเชิงคุณภาพจากการบันทึกเวลา ความเร็ว ประเภทการทำกิจกรรม การบันทึกความสามารถและปัญหาขณะทำกิจกรรม การบันทึกระดับความสนใจของเด็กขณะทำกิจกรรม และการประเมินระบบการรับความรู้สึกในหลายหลักการ และเราสามารถอาศัยหลักการทำกิจกรรมและฝึกทักษะการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในสิ่งแวดล้อมจริง บูรณาการพร้อมการกระตุ้นองค์ประกอบต่างๆในการทำกิจกรรม ทั้งนี้ระบบการรับรู้และเคลื่อนไหวเป็นเพียงสื่อการรักษาหนึ่งเท่านั้น

งานที่ห้า คือ ผมค้นเอกสารวิชาการส่วนหนึ่งให้ครูการศึกษาพิเศษท่านหนึ่งที่ต้องการทำวิจัยผลของการลดพฤติกรรมการกระตุ้นตนเองด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งต่างประเทศได้ทำการวิจัยอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1982 ก็น่าสนใจว่างานวิจัยของคุณครูท่านนี้น่าจะได้พบข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับเด็กออทิสติกไทย

จากงานทั้งห้ารูปแบบที่ผมเข้าไปให้คำปรึกษา ได้อธิบายสอดคล้องกับสาระจากการทบทวนเอกสารอ้างอิงข้างล่างนี้และต่อยอดสรุปเป็นประเด็นต่อไป

Kientz M.A., Dunn W. A comparison of the performance of children with and without autism on the sensory profile. AJOT1997;51(7):530-7.

Prizant B.M., Rubin E. Contemporary issues in interventions for autism spectrum disorders: A commentary. JASH 1999;24(3):199-208.

Roger SJ. Interventions that facilitate socialization in children with autism. JADD 2000;30(5):399-409.

  • แม้ว่านักกิจกรรมบำบัดจะใช้เทคนิคต่างๆ ตามกรอบอ้างอิงการประสมประสานการรับความรู้สึก (sensory processing or sensory integration) มากมาย แต่ปัจจุบันยังไม่พบประสิทธิผลของการรักษาต่อกลุ่มเด็กออทิสติก แต่มีงานวิจัยกรณีตัวอย่างแสดงผลของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีขึ้นในบางราย เช่น การลดความไวของการได้ยินบ้างหลังใช้ Auditory Integration Training การเพิ่มพฤติกรรมการทำกิจกรรมเล็กน้อยหลังจากใช้ Sensory Integrative (SI) Therapy ทั้งนี้กิจกรรมการรักษาเหล่านี้ค่อนข้างยากในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ระบบความรู้สึกด้วยตัวเด็กเอง ส่วนใหญ่ครูหรือผู้ปกครองเป็นผู้จัดและกระตุ้นเด็กโดยไม่มีการประเมินชัดเจนว่าเด็กชอบหรือต้องการระบบความรู้สึกแบบใดอย่างไร เช่นเดียวกับนักกิจกรรมบำบัดที่ฝึกฝนเฉพาะทางด้านนี้มองภาพเชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาองค์ประกอบของการทำกิจกรรมของเด็กมากเกินขอบเขต
  • การพัฒนารูปแบบการรักษาเด็กออทิสติกที่ได้ผลในปัจจุบัน ได้แก่ การใช้หลักการ Applied Behavioral Analysis (ABA) ซึ่งในบุคลากรแต่ละวิชาชีพย่อมนำไปประยุกต์และจัดกิจกรรมการประเมินและรักษาแตกต่างกัน แต่ไม่สามารถมีโปรแกรมที่สำเร็จรูปและสมบูรณ์แบบตามความสามารถและปัญหาของเด็กออทิสติก เนื่องด้วยความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านระบบการรับความรู้สึกเคลื่อนไหว ระบบการสื่อสารด้วยคำพูด/ภาษาท่าทาง ระบบการแสดงออกทางอารมร์และสังคม ที่แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม กิจกรรม และระดับพัฒนาการของเด็กออทิสติก
  • หลักการสำคัญคือ การใช้ ABA ให้ตรงกับปัญหาหลักของเด็กออทิสติก ที่มีการประเมินระบบการทำงานของร่างกายและวัดผลจากกิจกรรมการรักษาที่มีเทคนิคและกระบวนการวิเคราะห์ที่ชัดเจน
  • หลักการที่ผมคำนึกถึงในขณะนี้ คือ การประเมินและจัดกิจกรรมบำบัดให้ตรงเป้าหมาย เช่น หากมีปัญหาระบบการประสมประสานการรับความรู้สึก และต้องการฝึกทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ผมจะทบทวนประเมินเด็กให้ชัดเจนว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขระบบการประสมประสานการรับความรู้สึกชนิดใด/อย่างไร ที่ส่งผลต่อการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ชนิดใด/อย่างไร หากไม่มีปัญหาข้างต้น ผมจะอาศัย Functional Assessment of Life Skills + Task Analysis ด้วยเทคนิคตามที่ผมได้ร่ำเรียนกิจกรรมบำบัดทางจิตสังคม เช่น Pivotal Response Training (PRT) หรือ Teaching Specific Behaviors พร้อมเน้น Incidental Teaching Approach หรือ Promotion of Generalization of Language & Social Skills in The Family & Life Environment
  • เทคนิคอื่นๆ ที่ผู้สนใจค้นคว้าหรือสร้างโปรแกรมให้ผู้ปกครองฝึกลูกออทิสติกที่บ้าน ได้แก่ social skills groups, adult instruction with social games, self-management techniques for verbal & nonverbal conversational social skills, social stories, video-modelling techniques, direct instruction, peer-mediated approaches, circle of friends, visual cueing.  
หมายเลขบันทึก: 232229เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2008 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2019 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาเรียนรู้ค่ะ  ขอบคุณค่ะ

newyears1.gif 

ขอบคุณครับและส่งความสุขแด่ Krutoi ครับ

ขอบคุณครับและส่งความสุขแด่ครูปูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท