เวทีระพีเสวนา : ๑๓ . เวทีเสวนากัลยาณมิตร (๑)


ภาคบ่ายเป็นการเสวนาในบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสบายๆ ของตัวแทนจากเครือข่ายโรงเรียนไทยไท และผู้ทรงคุณวุฒิ คือพระไพศาล วิสาโล ศาสตราจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง และ อาจารย์สมบัติ สมพร นักการศึกษาผู้เป็นอาคันตุกะจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

หลังจากที่ได้รู้จักกับเครื่องมือ AAR กันไปเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่จะได้มาลองปฏิบัติกันดูบ้าง

 

การเสวนากัลยาณมิตรวงนี้จึงเปิดด้วยประเด็นของผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด และเรียงกันไปจนครบทุกคน

 

อาจารย์ศีลวัต - ในการจัดเรียนการสอน เมื่อก่อนนี้เราเริ่มที่การสอนของครู และคำถามว่าจะสอนอะไร สอนอย่างไร สอนทำไม ปัจจุบันนี้เริ่มมีคำถามว่าจะสอนให้เข้าไปถึงจิตใจได้อย่างไร และ ใคร หรือตนชนิดไหนที่พร้อมจะเรียน พร้อมจะอยู่กับผู้อื่น

 

จากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันมาหลายครั้ง พบว่าเรื่องที่อยู่ในความสนใจของทุกโรงเรียนคือทุกคนมีบรรทัดสุดท้ายอย่างเดียวกัน เราเชื่ออย่างนี้ และเราจะช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนเกื้อกูลกัน เดินไปด้วยกัน พูดกับสังคมเป็นคณะ

 

อาจารย์กรองทอง ขอบคุณผู้จัดงานระพีเสวนา เพราะรู้สึกมีความสุขกับการได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน การได้มาพูดคุยกันนี้ทำให้ทุกคนเริ่มมีคำถามกับประสบการณ์การทำโรงเรียนของเรา และได้กลับไปตอบคำถามให้ชัด

 

อารมณ์แรกที่มาทำโรงเรียนก็เพราะอยากบอกอะไรกับคนอื่น แต่ยิ่งทำเราก็ยิ่งรู้ว่าเราเป็นผู้เรียนรู้ ผลัดกันเป็นครู ผลัดกันเป็นเด็ก เห็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

 

อาจารย์วัฒนา ผมเรียนจบครูมา ที่จบมาได้เพราะจำชื่อนักวิชาการตะวันตกได้ครบ  จากการเป็นครูพบว่าการไปทำให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงได้ต้องใช้ตัวเอง ต้องเอาตัวเราเข้าไปแตะสัมผัสกับผู้เรียน คนทุกคนต้องมีความเห็นข้างในที่ชัดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เมื่อชัดแล้ว เราแต่ละคนก็จะไปทำให้เรื่องทางกายภาพปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นสีที่เลือกใช้ ต้นไม้ที่เลือกมาจัดวาง วิธีที่เราจัดการเรียนรู้ และอื่นๆ ที่เราเป็นผู้ลงมือกระทำจะค่อยๆ ออกมาเอง แล้วการมองเข้าไปข้างในตัวเด็กก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น

 

อาจารย์ผกามาลย์ - อาจารย์ผู้ใหญ่ที่กรุณามาร่วมเสวนาตั้งแต่เช้าจุดประกายให้เราเกิดความกระตือรือร้น

 

พระไพศาล ความเป็นเรามีหลายระดับ ในระดับลึกคือพุทธภาวะที่เติบโตได้ ถ้ามีปัจจัยเกื้อหนุน การศึกษาที่ผ่านมาทำให้โพธิจิตถูกละเลยไป แต่ไปเสริมในด้านอัตตาตัวตน

 

ทุกอย่างทุกคนเป็นอุปกรณ์ของการเรียนรู้ได้ทั้งนั้น การสร้างเครือข่ายจะช่วยให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ขึ้นได้

 

คำถามที่อยากจะถามคือ แค่ไหน หรือ เพียงใด ในการจัดการศึกษาความยากลำบากอยู่ที่การสร้างดุลยภาพ ระหว่างวิชากับชีวิตจะเอาอะไรแค่ไหน ระหว่างความสุขของครูกับความสุขของนักเรียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมาทบทวนกัน ถ้าครูไม่มีความสุขก็จะไม่ยั่งยืน จะเอาแค่ไหนระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง ระหว่างเป้าหมายระยะยาวกับเป้าหมายระยะสั้น เพราะชีวิตเป็นเป้าหมายระยะยาว แค่ไหนถึงจะพอดีกับความต้องการของนักเรียน ครอบครัว สังคม ประเทศ โลก แค่ไหนถึงจะพอดี แค่ไหนถึงจะพอเหมาะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 231247เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท