สุญญตา : หลักธรรมที่มุ่งถึงการปฏิบัติ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

สุญญตา : หลักธรรมที่มุ่งถึงการปฏิบัติ

หลักปฏิบัติที่ปรากฏในคัมภีร์เถรวาท


ในคัมภีร์เถรวาทมีการกล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุญญตาอยู่อย่างน้อย  ๒  คัมภีร์ คือ  ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา  เช่น ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค  โดยเฉพาะพระไตรปิฎกมัชฌิมนิกาย  อุปริปัณณาสก์  เล่มที่ ๑๔  กล่าวถึงหลักปฏิบัติ  ๕  ข้อ  คือ


๑. ภิกษุตั้งจิตไว้ในภายใน  ทำจิตให้สงบ  ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น  ตั้งจิตให้มั่น  คือ  ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้  สงัดจากกาม  และอกุศลธรรมทั้งหลาย  บรรลุปฐมฌาน...ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน...

๒. ภิกษุนั้นใส่ใจในสุญญตาภายใน  และฝึกฝนจนมีสัมปชัญญะในสุญญตาในภายใน

๓. ภิกษุนั้นใส่ใจในสุญญตาภายนอก  และฝึกฝนจนมีสัมปชัญญะในสุญญตาในภายนอก

๔. ภิกษุนั้นใส่ใจในสุญญตาทั้งภายในและภายนอก  และฝึกฝนจนมีสัมปชัญญะในสุญญตาทั้งภายในและภายนอก  

๕. ภิกษุนั้นใส่ใจอาเนญชสมาบัติ (อรูปสมาบัติ)  และฝึกฝนจนมีสัมปชัญญะในอาเนญชสมาบัติ



จากสาระสำคัญของหลักปฏิบัติทั้ง ๕  ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า  คำว่าตั้งจิตไว้ในภายใน  ใส่ใจสุญญตาภายในและใส่ใจสุญญตาภายนอกนี้  พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า  “สุญญตาภายใน  คือ  อารมณ์ที่อาศัยเบญจขันธ์ของตน  สุญญตาภายนอก  คือ  อารมณ์ที่อาศัยเบญจขันธ์ของคนอื่น”  เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ  ให้จิตเห็นความว่างในเบญจขันธ์ของเราและของคนอื่น  ข้อปฏิบัตินี้มุ่งให้จิตเห็นความว่างหรือฝึกอบรมให้จิตเห็นความว่าง


ในคัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธมรรคมีการให้อรรถาธิบายไว้ว่า  “พระโยคาวจร  ครั้นกำหนดได้ว่าสังขารทั้งปวงเป็นของสูญ (ว่างเปล่า)  ด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณอย่างนี้แล้ว  จึงกำหนดสุญญตา (ความว่างเปล่า) เป็น ๒  เงื่อนอีกว่า  สังขารนี้ว่างเปล่าจากอัตตา (ตัวตน) ก็ดี  จากอัตตนิยะ (ของๆ ตน) ก็ดี  ข้อนี้เป็นการยืนยันว่าผู้ที่จะเข้าถึงสุญญตาได้นั้นจะต้องปฏิบัติได้ถึง ขั้นปฏิสังขานุปัสสนาญาณ  จึงจะเข้าถึงสุญญตาหรือเห็นสุญญตาได้





สารัตถสำคัญของสุญญตาคือ  ความว่างนี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระพาหิยทารุจริยะว่า


“พาหิยะ  เมื่อเธอเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น,  ฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง,  รับรู้อารมณ์
ที่ได้รับรู้ก็สักแต่ว่ารับรู้,  รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง  เมื่อนั้น
เธอก็จะไม่มี  เมื่อใดเธอไม่มี  เมื่อนั้น  เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น  เมื่อใด
เธอไม่ยึดติดในสิ่งนั้น  เมื่อนั้นเธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น  ไม่มีใน
ระหว่างโลกทั้งสอง  นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์”

(ขุ.ชุ (บาลี) ๒๕/๑๐/๑๐๓.)


จากพุทธพจน์ดังกล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่า  ข้อปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงสุญญตา คือ  ให้ถือแต่สักว่าไม่ให้สำคัญมั่นหมายเป็นตัวตน  เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะเข้าถึงความว่างที่กล่าวว่า  เมื่อนั้นเธอก็จะไม่มีและเห็นถึงผลของความว่างนี้ว่า  เป็นที่สุดแห่งทุกข์  หรือที่สุดของพรหมจรรย์นี้




**************************************************************************




ความเหมือนกันระหว่างความหมายของอนัตตากับความหมายของสุญญตา



ในงานวิจัยของจันทรัชนันท์  สิงหทัต  ระบุว่า  “ความหมายของสุญญตาดั้งเดิมที่ปรากฏในพระไตรปิฎกของเถรวาทนั้นพระองค์ทรงใช้ในฐานะเป็นคำแทนกันได้  กับคำว่า  อนัตตา”  ซึ่งหากเป็นดังนั้น  ย่อมจะหมายความได้ว่า  ทั้งอนัตตาและสุญญตานั้นมีความหมายเดียวกันและเป็นสิ่งเดียวกัน





ดังนั้นทั้งอนัตตาและสุญญตาย่อมมีทั้งความเหมือนกันและความแตกต่างกันอยู่  ดังต่อไปนี้


อนัตตาที่ปรากกฎในพระสูตรนั้นส่วนมากมักจะมีการบ่งบอกความหมายเกี่ยวกับความไม่ใช่ตัวตนหรือไม่มีตัวตนที่แท้จริงของเบญจขันธ์และสรรพสิ่งเป็นต้น  เช่นในอนัตตลักขณสูตรพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  รูป, เวทนา, สัญญา, สังขารและวิญญาณ  เป็นอนัตตา”  โดยที่พระองค์ทรงชี้ให้เห็นเหตุผลที่เบญจขันธ์เป็นอนัตตาดังที่พระองค์ตรัสว่า  “เพราะรูป, เวทนา, สัญญา, สังขารและวิญญาณเป็นทุกข์  สิ่งใดเป็นทุกข์  สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”


นอกจากตรัสว่าเบญจขันธ์เป็นอนัตตาแล้ว  ยังตรัสถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดมีเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาเช่นกัน  ดังที่ตรัสกับพระราหุลว่า


“ราหุล  ปฐวีธาตุ  อาโปธาตุ  เตโชธาตุ  และวาโยธาตุ  ทั้งภายในและภายนอก  เป็นสักแต่ว่า
ปฐวีธาตุ  อาโปธาตุ  เตโชธาตุ  และวาโยธาตุเท่านั้น  พึงเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง  อย่างนี้ว่า  “นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่ได้เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

สํ.ข.(บาลี) ๑๗/๑๖/๔๔


จากรายละเอียดดังกล่าวมา  แสดงให้เห็นว่า  ธาตุทั้ง ๔  คือ   ปฐวีธาตุ  อาโปธาตุ  เตโชธาตุ  และวาโยธาตุย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดเบญจขันธ์  เพราะเบญจขันธ์เป็นที่ประชุมกันเข้าของธาตุทั้ง ๔  เมื่อเบญจขันธ์มารวมกันเข้า  การสมมติว่าสัตว์  บุคคล  ตัวตน  เรา  เขา  สมมติว่าเป็นรูป, เวทนา, สัญญา, สังขารและวิญญาณ  ก็เกิดมีขึ้น  แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่อัตตา  ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร  เป็นเพียงตัวตนที่สมมติขึ้นในชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น



นอกจากเบญจขันธ์และปัจจัยที่ทำให้เกิดเบญจขันธ์จะเป็นอนัตตาแล้ว  สิ่งที่เนื่องด้วยเบญจขันธ์  พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นอนัตตาด้วย  เช่น  “ตา, รูป, หู, เสียง, จมูก, กลิ่น, ลิ้น, รส, กาย, โผฏฐัพพะ, ใจ และธรรมารมณ์ก็เป็นอนัตตา


อายตนะภายในและอายตนะภายนอก คือ  ตากับรูป  หูกับเสียง  จมูกกับกลิ่น  ลิ้นกับรส  กายกับโผฏฐัพพะ  ใจกับธรรมารมณ์  เป็นของเนื่องด้วยเบญจขันธ์  คือมีได้เพราะอาศัยเบญจขันธ์  หากขาดเบญจขันธ์แล้ว  อายตนะเหล่านี้ก็ไม่สามารถเกิดมีได้  และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนอีกแห่งหนึ่งว่า  “รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์  ไม่เที่ยงเป็นทุกข์  สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”
สํ.สฬ.(บาลี) ๑๘/๔-๖/๒-๓


จากข้อความข้างต้นนี้มีอรรถาธิบายว่า  อายตนะภายนอกจะเป็นอนัตตาได้เพราะอายตนะภายนอกเป็นทุกข์มาก่อน  เมื่อไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  จึงส่งผลเป็นอนัตตา  ส่วนอายตนะภายในคือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ก็มีนัยเช่นเดียวกัน  รวมความว่า  ทั้งเบญจขันธ์  อายตนะภายใน  อายตนะภายนอก  และธาตุทั้ง ๔  ทั้งหมดล้วนเป็นอนัตตา


สรุปว่า
ทั้งรูปและนามก็ล้วนเป็นอนัตตา  ไม่ใช่ตัวตน  หรือไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร  เป็นเพียงการประชุมกันเข้าของสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น




**************************************************************************




เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับสุญญตาและลักษณะของสุญญตาตามที่ปรากฏในพระสูตรโดยมีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้


ในคัมภีร์พระสูตรฝ่ายเถรวาทได้กล่าวถึงสุญญตาไว้  ๓  ลักษณะกว้างๆ คือ  เรื่อง เบญจขันธ์,  เรื่องสิ่งที่เนื่องด้วยเบญจขันธ์  และเรื่องธรรมว่างเช่นกับอนัตตา  ถ้าตรัสถึงเบญจขันธ์ว่าง  บางทีพระพุทธเจ้าตรัสถึงโลกว่างด้วย  เช่นที่ตรัสกับพระอานนท์ว่า


“อานนท์  เพราะว่างจากอัตตา  และจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา  ฉะนั้นเราจึง
เรียกว่าโลกว่าง  สิ่งที่ชื่อว่า  ว่างจากอัตตา  หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา  
คือจักขุว่างจากอัตตาหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา  รูปว่างจากอัตตาหรือ
จากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา  จักขุวิญญาณว่างจากอัตตาหรือจากสิ่งที่เนื่อง
ด้วยอัตตา  จักขุสัมผัสเป็นธรรมว่างจากอัตตาหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วย
อัตตา ฯลฯ  แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์  หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างจากอัตตา  หรือจากสิ่งที่เนื่อง
ด้วยอัตตา

อานนท์  เพราะว่างจากอัตตา  หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา  ฉะนั้น
เราจังเรียกว่า  โลกว่าง”

ส.สฬ. (ไทย) ๑๘/๘๕/๗๘.



อย่างไรก็ตามข้อความอย่างเดียวกันนี้  มีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ /๑๘๖/๕๒๘  ด้วยซึ่งจากการศึกษาแล้ว  แม้พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกว่าง  แต่โดยใจความแล้วก็ทรงหมายเอาเบญจขันธ์รวมทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอกนั่นเองว่ามีสภาพว่าง  อายตนะภายในและอายตนะภายนอกล้วนมีสภาพเป็นสุญญตา  เมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกรวมกันจึงเป็นโลก  และโลกนี้ก็มีสภาพว่างดังแสดงมาแล้วข้างต้น


อย่างไรก็ตามเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงเบญจขันธ์  พระองค์ก็ตรัสว่าเบญจขันธ์มีสภาพว่างเปล่าเช่นดังพุทธพจน์ในเผณปิณฑูปมสูตรว่า  “รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ  เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ  สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด  สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย  วิญญาณอุปมาด้วยมายากล  ภิกษุเพ่งพิจารณาเห็นขันธ์ ๕  โดยแยบคายด้วยประการใดๆ ขันธ์ ๕  นั้นก็ปรากฏเป็นของว่างเปล่าด้วยประการนั้นๆ”


จากพุทธพจน์ที่แสดงมานี้ชี้ให้เห็นว่า  ขันธ์ ๕  เป็นสุญญตา  โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า  รูปเปรียบเหมือนกลุ่มฟองน้ำ   สัญญาเปรียบเหมือนพยับแดดซึ่งปรากฏแก่ผู้ที่มองเห็น  แต่เมื่อผู้นั้นเข้าไปใกล้ก็จะจับฉวยเอาไม่ได้  สังขารเปรียบเหมือนต้นกล้วย  เพราะต้นกล้วยเป็นพืชที่ไม่มีแก่นในตัวเอง  บุคคลไม่สามารถจะหาแก่นไม้จากต้นกล้วยได้  ส่วนวิญญาณเปรียบเทียบเหมือนมายากลหรือผู้แสดงมายากล  ซึ่งเป็นสิ่งหลอกลวงให้เห็นว่ามีอยู่จริง  แต่ก็ไม่มีอยู่จริง  เพราะไม่สามารถหยิบฉวยเอามาเป็นตัวตนหรือของตนได้แต่ประการใด  ฉะนั้นเมื่อรวมความแล้วจึงถือว่าเบญจขันธ์มีสภาพว่างเปล่านั้นเอง



นอกจากนั้นยังมีพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับเบญจขันธ์ว่าหมายถึงสภาพที่ว่าเปล่าดังที่ตรัสไว้ว่า “มัจจุราชย่อมมองไม่เห็น  ผู้พิจารณาเห็นโลกเหมือนฟองน้ำและพยับแดด”  ซึ่งคำว่าโลกในที่นี้  พระอรรถกถาจารย์  อธิบายว่าได้แก่   “เบญจขันธ์”  คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  นั่นเอง



ส่วนพุทธพจน์ที่ตรัสกับ  โมฆราชว่า  “โมฆราช  เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า  มีสติทุกเมื่อ  ถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย  เป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชเสียได้  ด้วยอาการอย่างนี้  บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้  มัจจุราชจึงมองไม่เห็น”  นั้นมีอรรถาธิบายว่า  โลกที่ทรงแสดงแก่ท่านโมฆราชนี้สันนิษฐานว่าเป็นเบญจขันธ์เช่นกัน  เพราะที่ตรัสต่อมาว่าถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย  เพราะคำว่าอัตตานุทิฏฐินี้แปลว่า  การตามเห็นว่าตัวตน  ฉะนั้นการถอนตัวตนในที่นี้จึงหมายถึงให้ถอนความเห็นว่าเป็นตัวตนในเบญจขันธ์นั่นเอง



เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับโลกในที่นี้ว่าพระพุทธเจ้าทรงหมายถึงอะไร  จะได้นำเสนอคำอธิบายของพระสารีบุตรเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นโลกคือสังขารว่าไม่เป็นไปตามอำนาจและเป็นของว่างเปล่า  ดังรายละเอียดซึ่งปรากฏในโมฆราชปัญหานิเทส  ดังต่อไปนี้


๑. ด้วยการกำหนดเห็นสังขารไม่เป็นไปตามอำนาจ  คือ  บุคคลย่อมไม่ได้อำนาจในเบญจขันธ์ว่า  ขอเบญจขันธ์ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธและพึงได้ในเบญจขันธ์ว่า  ขอให้เบญจขันธ์ของเราจงเป็นอย่างนี้  อย่าเป็นอย่างนั้นเลย

๒. ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารเป็นของว่างเปล่า  คือ  เห็นเบญจขันธ์ไม่มีแก่นสาร  ไร้แก่นสาร  ปราศจากแก่นสาร  โดยสาระแก่นสารที่เป็นของเที่ยง  โดยความเป็นของยั่งยืน  โดยความเป็นของมั่นคง  หรือโดยความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา”

      ขุ.จู. (บาลี) ๓๐/๘๘/๑๔๒.)


สรุปได้ว่า
 อนัตตาและสุญญตานี้มีความเหมือนกันมากในแง่ของการใช้อธิบายขยายความเกี่ยวกับเบญจขันธ์โดยให้เห็นเป็นของว่างเปล่า  หรือเมื่อจะอธิบายขยายความอายตนะภายในและอายตนะภายนอกพระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า  “สิ่งทั้งปวงซึ่งเป็นการรวมหมดตั้งแต่จักษุกับรูป,  โสตะกับสัททะ, ฆานะกับคันธะ, ชิวหากับรส,  กายกับโผฏฐัพพะ  และมโนกับธรรมารมณ์


ดังนั้น
 จะเห็นได้ว่า  พระพุทธเจ้าและพระสาวกคือพระสารีบุตรเป็นต้น  ได้ให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับอายตนะภายในและอายตนะภายนอกโดยใช้ทั้งคำว่า  สุญญตาและคำว่า อนัตตา ควบคู่กันไป

หมายเลขบันทึก: 229334เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2008 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท