วันนี้ได้ละหมาดกับชาวบ้าน


เมื่อผมได้ประสบอุบัติเหตุ ก็ต้องนอนโรงพยาบาลเดือนกว่าๆ หลังจากนั้นก็ต้องกลับมานอนต่อที่บ้าน ไปๆมาๆ ระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลเกือบทุกวัน

แม้จะเจ็บป่วยอย่างไร แม้ร่างกายไม่พร้อมอย่างไร สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ต้องทำก็คือ การละหมาด ตอนที่ผมนอนอยู่ที่ห้อง ICU อธิการก็ฝากบอกว่า"อย่าลืมละหมาด" ผมก็ละหมาดแม้จะอยู่ในอาการสะลืมสะลือ

จากนั้นผมก็ละหมาดคนเดียวมาตลอด แรกๆก็ละหมาดด้วยท่านอน พอนั่งได้ก็ท่านั่ง และทุกวันนี้ก็ยังละหมาดในท่านั่งเพราะยังยืนและงอเข่าไม่ได้

การละหมาดนั้น โดยรูปแบบที่ควรจะทำคือ ถ้าเป็นชายแล้วต้องละหมาดร่วมกับคนอื่น หรือเราเรียกว่าละหมาดญะมาอะฮฺ เว้นแต่กรณีจำเป็นจริงๆถึงจะสามารถกระทำคนเดียวได้

สถานที่รวมละหมาดกันหลายๆคน คือ มัสยิด และมัสยิดมีหลายขนาด ถ้าบ้านเราแล้วก็มีมัสยิดในหมู่บ้านเล็กหน่อย(บางแห่งจะเรียกว่าบาลาเสาะหรือมุศอลลา) และมัสยิดในตำบลจะมีขนาดใหญ่ขึ้น

การละหมาดปกติวันละ 5 เวลา (เช้าตรู่ เที่ยง บ่าย/เย็น คำและดึก) ชายทุกคนก็ต้องละหมาดรวมกันที่มัสยิด และมัสยิดใกล้ๆที่ไม่น่าพลาดคือมัสยิดในหมู่บ้าน พอถึงวันศุกร์ต้องรวมตัวทั้งตำบลครั้งหนึ่ง เรียกว่า ละหมาดญุมอะห์หรือละหมาดวันศุกร์ ก็รวมเฉพาะชาย ส่วนจะรวมทั้งหมดทั้งชาย หญิงและเด็กๆนั้น คงทำกันที่มัสยิดไม่ได้ ต้องหาที่ๆเหมาะสำหรับรวบรวมพบปะทั้งหมดได้ และศาสนาก็ได้กำหนดอย่างชัดเจนแล้วว่า ปีหนึ่งควรจะรวมทั้งหมดสองครั้ง ครั้งแรกหลังวันถือศีลอดหรือที่เรียกว่าอีดฟิฏรี ภาคใต้เรียกว่ารายอปอซอ และครั้งที่สองคือวันอีดอัฎฮา ภาคใต้เรียกว่า รายอฮัจญี อย่างที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันมานี้

สถานที่ที่ใช้รวมพบปะและหมาดกันในวันอีดทั้งสองนั้น ต้องเป็นสนาม (เพราะมัสยิดไม่จุแน่) เรียกว่า มุศอลลาอีด  

ทั้งหมดที่กล่าวมาผมคงอยู่ในกลุ่มที่อภัยให้ละหมาดคนเดียวได้ ไม่จำเป็นต้องละหมาดรวมกับคนอื่น ไม่เพียงแต่ยังยืนไม่ได้ เวลาจะเดินทางไปก็ลำบาก แต่ผมโชคดีหน่อยตรงที่ว่ามัสยิดในหมู่บ้านอยู่หน้าบ้าน แค่ผมหมุ่นล้อเก้าอี้วีลแชร์ก็สามารถร่วมละหมาดกับเขาได้ ในลักษณะละหมาดด้วยท่านั่งบนวีลแชร์ และผมเริ่มกระทำแบบนี้ตั้งแต่สิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน(เมือเกือบสามเดือนที่แล้ว)

วันนี้ผมตั้งใจจะออกไปละหมาดวันศุกร์กับชาวบ้านที่มัสยิดในตำบล แต่ไม่สามารถทำได้เพราะลูกชายที่คิดว่าจะให้เขาขับรถนำไปเกิดไม่อยู่บ้าน และเมื่อเขากลับมาตอนเย็นผมก็ให้เขาพาออกไปละหมาดที่มัสยิดใหญ่ในตำบล แล้วอัลฮำดุลิลลาฮฺผมสามารถร่วมละหมาดกับคนในหมู่บ้านได้แม้ว่าคนจะน้อยกว่าตอนเที่ยงก็ตาม สภาพที่ผมห่างหายจากหมู่บ้านเป็นเวลา 7 เดือนก็ค่อยๆกระจ่างมากขึ้นเพราะผมได้เข้าหาสภาพของหมู่บ้านมากขึ้น ผู้หลักผู้ใหญ่ผมได้ไปทักทายถามทุกข์สุขกัน เด็กๆก็มาทักทายถามทุกข์สุขผม(ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลูกศิษย์)

การละหมาดไม่ใช่มีแค่ทำให้เราได้ทำตามที่อัลลอฮฺสั่ง แต่จะให้ความหมายที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น การไปละหมาดที่มัสยิด คือ การพบปะระหว่างพี่น้องในหมู่บ้าน ถามทุกข์สุข ช่วยเหลือกัน ที่สำคัญกว่านั้นคือได้ฟังคำตักเตือนมากมายทั้งในเวลาละหมาดและนอกเวลาละหมาด

มันยิด ดารุสสาลาม เป็นมัสยิดกลางในตำบลที่ผมอยู่

คำสำคัญ (Tags): #มัสยิด#ละหมาด
หมายเลขบันทึก: 229043เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2008 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ยินดีด้วยครับ ถือว่าก้าวหน้าไปอีกนิดหนึ่งแล้ว สำหรับผมตอนนี้ละหมาดได้เกือบเหมือนปกติแล้วครับ ยกเว้นการนั่งสุดท้ายที่ก้นยังไม่สามารถหย่อนให้เรียดพื้นได้

สู้ๆๆ อัลลาฮัมดูลิลลาฮฺ ที่ได้ทำในสิ่งที่หวัง นั้นก็คือละหมาดพร้อมเพียงกับคนอื่นๆ..

ขอบคุณมากครับ ทั้ง อ.จรุวัจน์ และเจ้าหญิง

แวะมาอ่าน เรียนรู้ค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน  นะคะ

และแล้ว อ.Ibm ครูปอเนาะ  ก็ชนะ ตามนัยของข้อความอาซานความว่า "ฮัยยาอะลัศศอละฮฺ ฮัยยาอะลัลฟาละฮฺ" หรือ "จงมาละหมาด จงมาสู่ชัยชนะ" ขออัลลอฮฺคุ้มครอง อ.Ibm ครูปอเนาะ ตลอดไปครับ อัลลอฮฺฮูอักบัรๆ

ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง อัลฮัมดุลิลละฮฺครับ...ผมไปสอนทุกวันศุกร์ที่โรงเรียนอาจารย์ ไม่รู้ว่าอาจารย์อยู่บ้านมิอย่างนั้นคงได้ไปเยี่ยม ขอให้ดีขึ้นเรื่อยๆนะครับ ด้วยสลามและดุอาอฺ

ดีแล้วครับ ผมก็เคยเป็นเหมือนกันท่านหละครับ จากคนที่เคยเป็นเบอร์ ๑ ในทุกเรื่อง แล้วมาเจออุบัติเหตุที่อัลลอฮฺทรงทดสอบ แล้วมาวัดใจเรากัน ว่าจะไปได้ไหม ผมยังหนุ่มครับ ก็สำนึกเลยครับว่า ยังดีที่โดนตอนหนุ่ม แต่โดนตอนใกล้หลุมฝังศพแล้ว ก็ไม่ต้องหวังแล้วว่าจะได้ผลบุญ ๒๗ เท่าและผลบุญจากมัสยิด

นำมาเผยแพร่แบบนี้ดีมากครับ ทุกคนจะได้สำนึก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท