พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


เมื่อ 2475

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้าย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ประชาธิปกศักดิเดชน์ ฯ

 

ภายหลังทรงศึกษาทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้พอสมควร ตามประเพณีขัตติยราชกุมารแล้ว ในปี พ.ศ. 2449 ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ที่วิทยาลัยอีตัน (Eton College) ในชั้นมัธยม จากนั้นทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช (The Royal Military Academy, Woolwich) ทรงสำเร็จในวิชาการทหารปืนใหญ่ม้าและทรงได้รับแต่งตั้งเป็น นายร้อยตรีกิตติมศักดิ์ แห่งกองทัพบกอังกฤษ หลังจากนั้นเสด็จกลับมา ทรงรับราชการเป็นนายทหารปืนใหญ่ อยู่ 6 ปี ในปี พ. ศ. 2460 ได้ทรงผนวชและจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเข้าศึกษาพระธรรมวินัย และรับใช้บวรพุทธศาสนา จากนั้นทรงลาผนวช

ทรงอภิเษกสมรส กับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี (ในราชสกุลสวัสดิวัตน์) แล้วจึงเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารชั้นสูงสุด ในโรงเรียนเสนาธิการทหารเอกอล เดอแกร์ (L' Ecole de Guerre) ประเทศฝรั่งเศส

 

ในปลายปี พ.ศ.2467 ได้เสด็จกลับมาทรงรับราชกาลทหารบก ต่อมาได้ทรงเป็นผู้บังคับการกองพลทหารบกที่ 2 และผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ถึงปี พ.ศ.2468 จึงทรงดำรงพระราชสถานะเป็น องค์รัชทายาท เนื่องจากพระเชษฐาได้เสด็จทิวงคตถึง 3 พระองค์ ทั้งทรงได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 จึงต้องทรงขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมาตาม มติเอกฉันท์ของพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ คณะเสนาบดี และพระราชหัตถเลขานิติกรรมในรัชกาลที่ 6 ทั้ง ๆ ที่ไม่ทรงเต็มพระราชหฤทัยนัก ด้วยทรงพิจารณาเห็นว่า ทรงมีประสบการณ์น้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทย ตกอยู่ในภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก อีกทั้งผู้มีการศึกษาบางกลุ่ม ต้องการสิทธิทางการเมืองอีกด้วย แต่กระนั้นพระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อต่อพระราชภารกิจอันหนักหน่วง กลับทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ที่จะทรงทำหน้าที่เพื่อพระราชวงศ์ประเทศชาติและประชาชน

 

ตลอดระยะเวลา 9 ปี แห่งรัชสมัย ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระสติปัญญา พระวิริยะอุตสาหะ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อจะได้ทรงทราบถึงสารทุกข์สุขดิบของราษฎรด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะทรงถือตามประเพณีการปกครองประเทศสยามแต่โบราณว่า พระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนย่อมร่วมทุกข์สุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

ในทางเศรษฐกิจ ได้ทรงตัดสินใจพระราชหฤทัยแก้ไขปัญหาวิกฤตด้วยการตัดทอนงบประมาณแผ่นดิน จัดตั้งสภาการคลังเพื่อควบคุมรายจ่าย และทรงตัดทอนงบประมาณในส่วนของพระมหากษัตริย์ด้วย

 

ในทางการเมืองการปกครอง ทรงมีพระราชดำริแต่แรกเริ่มรัชกาลว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น นับวันจะพ้นสมัย จึงทรงศึกษาวิธีการปกครองต่าง ๆ และทรงเตรียมการอย่างเป็นลำดับขั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "อภิรัฐมนตรีสภา" ขึ้น เป็นสภาที่ปรึกษาของพระองค์ โดยมีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ผู้ชำนาญการในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสมาชิก โปรดเกล้าฯ ให้มี "สภากรรมการองคมนตรี" ขึ้นเพื่อ "เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งการใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิด" และเพื่อ "เป็นวิธีการในการทดลองและเรียนรู้เกี่ยวกับ การประชุมแบบรัฐสภา" นอกจากนั้นยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการจัดการรูปแบบการปกครองแบบเทศบาล เพื่อ "ฝึกฝนประชาชนในวิธีการใช้สิทธิลงคะแนนเสียง" ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า "ประชาชนควรที่จะควบคุมการปกครองท้องถิ่น ให้เป็นเสียก่อนที่จะพยายามเข้าควบคุมการปกครองประเทศ โดยผ่านทาง "รัฐสภา"

 

ในด้านการศึกษาและการศาสนา ทรงเห็นว่า "วิชชาเป็นที่ตั้งแห่งความเจริญทั้งมวล" และวิทยาศาสตร์ เป็นหนทางสู่การพัฒนาประเทศ แต่ก็ทรงตระหนักยิ่งนักว่าการแผ่ขยายของอารยธรรมต่างชาติที่ทันสมัย จะนำความระส่ำระสายมาสู่สังคมไทย จึงทรงมีพระราชดำริว่า การศึกษาไม่ควรแยกจากวัด ควรที่จะจัดการศึกษาทางศีลธรรมไว้เคียงคู่กับการให้ความรู้สมัยใหม่ นอกจากนั้นยังทรงมีพระราชดำริแน่วแน่ว่า ควรจัดการศึกษาอบรมประชาชนในการใช้ชีวิตตามแบบประชาธิปไตยด้วย

 

แนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครองเหล่านี้ยังไม่ทันสัมฤทธิ์ผล การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ก็เกิดขึ้นเสียก่อน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

ด้วยเป็นพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงทรงยินยอมสละพระราชอำนาจและพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ฉบับแรกแห่งพระราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชปณิธาน ที่จะพระราชทานอำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศ แก่ประชาชนโดยทั่วไป

 

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และในระบอบประชาธิปไตยนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชมานะที่จะทรงทำหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในการเสนอแนะเกื้อกูลระบอบการปกครอง แต่แล้วเมื่อมีความคิดเห็นขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลในหลักการสำคัญๆ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา เช่น การที่รัฐบาลได้แต่งตั้งพรรคพวกเข้าเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงทรงสละราชสมบัติ ในขณะที่ทรงพักฟื้นจากการเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ ใจความตอนหนึ่งของพระราชหัตถเลขาสละสมบัติ ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 มีความว่า

"...ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใดขณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร..."

 

 

หลังจากทรงสละราชสมบัติแล้ว ได้ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไป ทรงวางพระองค์เยี่ยงคหบดีชนธรรมดาทั่วไป จนกระทั่งเสด็จสวรรคตโดยฉับพลันเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะทรงมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นการส่วนพระองค์อย่างเรียบและง่ายที่สุดปราศจากพิธีรีตองใดๆ ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง จึงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นิวัติสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงดำรงพระชนม์ชีพถึง 79 พรรษา จึงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527



สถาบันพระปกเกล้า
Copyright © 1999 - 2003 King Prajadhipok Museum. All rights reserved.
Comments & Suggestions: [email protected] , King Prajadhipok's Institute

              

              

          

    

 

หมายเลขบันทึก: 228622เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2008 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พระปกเกล้าจอมราชันย์

พระราชทานรัฐธรรมนูญ

ประชาธิปไตยให้สมบูรณ์

ทรงพระคุณหนุนธรรมนำทาง

ขอบคุณค่ะครูกานท์กรุงสยาม

มาเยี่ยมชมติดตามถามเรื่องข่าว

แลกความรู้เชิดชูทุกค่ำเช้า

บล๊อกของชาวโกทูโนว์โอเคจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท