50. ไปเยี่ยมหมู่บ้านไท พาเก รัฐอัสสัม อินเดีย


ไท พาเกมาจากพม่า

 

 

            วันนี้เตรียมตัวเดินทางไปหมู่บ้านไท พาเกซึ่งดิฉันไม่ทราบว่าหนทางไกลแค่ไหน  6.00 น. เริ่มออกเดินทางโดยมีภรรยาและลูกชายอาจารย์ไปด้วย ลูกสาวสองคนเฝ้าบ้าน อากาศยามเช้าสดชื่นมาก หมู่บ้านยังหลับไหลในสายหมอก ดิฉันนั่งชื่นชมไร่ชาทอดยาวสุดสายตาตามสองข้างทาง

ราว 7 โมงกว่า อาจารย์แวะไปที่บ้านเพื่อนเพื่อทักทาย บ้านอยู่ท่ามกลางสวนชาเล็กๆ ที่เจ้าของบ้านปลูกไว้รอบบ้าน สวยงามดี พวกเราได้รับประทานขนมที่ทำจากข้าว (ขนมของเทศกาลบิฮู) ทุกบ้านจะมีขนมนี้ไว้รับแขกพร้อมชานมร้อนๆ อร่อยอีกตามเคย คุณพ่อบ้านเป็นไต อาหม ที่อยู่สมาคมฟื้นฟูภาษาไตอาหม แต่แกเอาเอกสาร (แผ่นพับ) ภาษาไต คำยังมาให้ดู ซึ่งมีการฟื้นฟูด้วย  คุยกันสักพัก พวกเราไปเข้าห้องน้ำก่อนเดินทาง ดิฉันเห็นหลังบ้านใช้ครกกระเดื่องเพื่อตำข้าวอยู่ เสร็จแล้วได้เวลาจึงขอบคุณและลาจากมา

ถนนหนทางแย่มาก เป็นหลุมเป็นบ่อ ลูกชายอาจารย์ขับไปสักพักไม่ไหว รถดับบ่อย คุณพ่อจึงกลับมาขับแทน

พอสายๆ เห็นทิวแถวคนงานเก็บใบชาเริ่มเดินออกมาด้วยการพาดเชือกที่ร้อยกระบุงไว้ที่ศีรษะโดยมีผ้าหนาๆ รอง กระบุงห้อยลงข้างหลัง คนงานใส่เสื้อผ้าสีสันสดใสขับผิว ผู้หญิงทำหน้าที่เก็บชา คนงานที่นี่ส่วนหนึ่งอพยพมาจากอินเดียใต้มาเป็นคนงานเก็บชาซึ่งมีความเชี่ยวชาญ แต่คุณภาพชีวิตแย่ บางครั้งก็มีการก่อหวอดต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ

ชาอัสสัมเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมาก ขายทั้งในอินเดียและส่งออก เป็นสินค้าหลักอย่างหนึ่งของรัฐนี้ และเป็นของฝากที่ดีอย่างหนึ่ง เขาจะเริ่มเด็ดยอดใบชาตั้งแต่ 7 โมงกว่า พักกลางวัน เสร็จแล้วเก็บต่อจนถึงบ่ายสามโมง แต่ละคนได้ชากันหลายกระสอบต่อวัน

อาจารย์ขับไปจนถึงบ้านน้ำ พาเก อำเภอดิบรูการ์ฮ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไท พาเก หมู่บ้านอยู่ไกล เส้นทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนลูกรังฝุ่นตลบ ถนนขรุขระมาก นั่งสั่นสะเทือนไปตลอดทาง ในหน้าฝนการเดินทางลำบากมาก อาจารย์ไปจอดรถหน้าวัด ลูกหลานผู้หญิงของอาจารย์ที่เป็นไท พาเกมาคอยอยู่ เธอหน้าหมวยนุ่งชุดแบบปัญจาบี เราทักทายกัน เธอเป็นอาจารย์จบปริญญาตรีแล้ว พูดภาษาไท พาเก อัสสัม และอังกฤษได้คล่อง เธอพาพวกเราเข้าไปในวัดพุทธที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่า ที่วัดมีเณรอยู่ 2-3 รูป เจ้าอาวาสไม่อยู่ เณรกำลังช่วยกันทาสีประตูวัดใหม่ เราเข้าไปกราบพระพุทธรูปในศาลาโล่งกว้าง สาวไท พาเกพาเข้าไปห้องด้านหลังของศาลาเป็นห้องเก็บคัมภีร์ทางศาสนาพุทธ ตัวหนังสือแบบพม่าจารลงในใบไผ่บางๆ มีภาพวาดประกอบเป็นเรื่องราวของ พระไตรปิฎก    รามายณะ ห่ออยู่ในผ้าอย่างเรียบร้อย อยู่ในสภาพดี ในห้องมีคอมพิวเตอร์ 1 ชุดที่บริจาคโดยนักวิชาการชาวต่างชาติที่เข้าไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน และถ่ายเอกสารคัมภีร์เหล่านี้ออกมาหมดแล้ว

คำว่า พาเก เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นเรียกชาวไท ผาแก่ กลุ่มนี้อพยพมาจากเมืองผาแก่ มี เจ้าไทเสา ปกครอง คำว่า ผา แปลว่า  หินใหญ่  แก่ แปลว่า เก่า มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกข้าว ก่อนเริ่มกิจกรรมจะทำพิธีบวงสรวงเทพแห่งพืชพันธุ์ข้าว เรียกพิธี วันนิแฮกนา ทำในปลายเดือนห้าหรือต้นเดือนหก  ในฤดูเก็บเกี่ยวทำพิธีกรรมบูชาแม่โพสพ เรียกว่า ฮ้องขวัญข้าวที่นา  มีการแสดง การละเล่น เพื่อสมโภชทำขวัญข้าวที่เก็บได้ในแต่ละปี ปัจจุบันมีชาวไท พาเกประมาณ 5,000 คนอยู่ที่บ้านน้ำผาแก่ (เหนือ) บ้านผาแก่ใต้ บ้านโม บ้านหลวง บ้านเมืองลัง บ้านติปัน บ้านพะเนง บ้านหนองไล และบ้านนิกัน ทั้งหมดนี้อยู่ในรัฐอัสสัม และอีกสองหมู่บ้าน คือ บ้านวากุน และบ้านลุงกุง ในรัฐอรุณจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) (บุญยงค์ เกศเทศ 2546 : 146-148)

หมู่บ้านน้ำ พาเกตั้งอยู่ริมแม่น้ำ อายุกว่าสองร้อยปี เป็นกลุ่มที่อพยพมาหลังจากไต อาหมอาจจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่อพยพจากพม่าเข้ามาอยู่ที่รัฐอัสสัม ตลิ่งของหมู่บ้านถูกน้ำกัดเซาะ เว้าเข้ามาถึงทางเดินเท้าของหมู่บ้าน ทำให้บ้านของสาวไท พาเกคนนี้ต้องถอยร่นเข้าไปปลูกที่ปากทางเข้าหมู่บ้านเพราะบ้านแกที่ปลูกอยู่ใกล้แม่น้ำอาจจะถูกน้ำเซาะไปในไม่ช้า

บ้านคนไท พาเกเป็นเรือนใต้ถุนสูง หลังคามุงจาก เสาไม้จะอยู่บนต่อม่ออิฐถือปูน อาจเป็นเพราะน้ำท่วมจึงต้องทำฐานรากให้แข็งแรง มียุ้งข้าวหน้าบ้าน ใต้ถุนโล่งใช้กองฟืน มีบริเวณที่นั่งทอผ้า บ้านปลูกในสวนหมากต้นสูง และไม้ผลอื่นๆ ดูร่มรื่น

น้อง สาวไท พาเกพาแวะไปบ้านคล้ายกระท่อมที่ปลูกอยู่ชั่วคราว รอบ้านหลังใหม่ใกล้ถนนใหญ่สร้างอยู่ พบคุณพ่อ คุณแม่หน้าตาเหมือนชาวจีน คุณแม่ทำผมมวยนุ่งซิ่น เราคุยภาษาไทยกัน ดิฉันพูดไทยปนลาวปนภาษาเหนือ (มั่ว) เพื่อจะพยายามสื่อสารกับผู้ใหญ่ทั้งสองคน พอรู้เรื่องกันบ้าง ลูกสาวช่วยแปลให้บ้าง คุณพ่อไม่ค่อยสบายเอาไม้ไผ่เล็กๆ มาร้อยกับด้ายผูกต้นแขนขวาไว้ ลูกสาวไปนำขนม กับชานมมาเลี้ยงพวกเรา  ดิฉันไปบ้านทุกบ้านในอัสสัมจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเช่นนี้เสมอ นี่เป็นน้ำใจและมิตรภาพที่อบอุ่นของชาว   อัสสัม คุณแม่นำพานที่ทำด้วยไม้ไผ่ใส่เงินที่เป็นแบงก์และเหรียญรูปีพร้อมสายสิญจน์มาผูกแขนทั้งซ้ายและขวาให้พวกเราทุกคน ท่านอวยพรด้วยภาษา          ไท พาเก ดิฉันมอบเงินบาทให้เป็นที่ระลึก และเงินรูปีอีกร้อยรูปีใส่พานให้ท่าน ครอบครัวของอาจารย์ก็ทำเช่นกัน เสร็จแล้วนั่งทานขนม น้ำชากันสักพักก็ขอลา คุณแม่มอบพานไม้นั้นให้ดิฉันเป็นที่ระลึก ท่านดีใจบอกให้ไปอีก

น้อง  (สาวไท พาเก) พาพวกเราไปเที่ยวอีกบ้านซึ่งเป็นญาติกัน เราจึงมีโอกาสได้ขึ้นไปบนเรือน นอกชานบ้านบริเวณที่หลังคาบ้านคลุมถึงใช้เป็นที่นั่งรับแขก และเป็นที่นอนด้วย มีภาพพระพุทธรูปแขวนที่ฝาผนัง ส่วนชานเรือนที่ยื่นออกไปอีกด้านไม่มีหลังคาใช้ทำกิจกรรมซักล้าง ตากของได้ ในบ้านเป็นห้องครัวอยู่ข้างในทั้งเตาถ่าน และเตาแก๊ส  แบ่งส่วนหนึ่งเป็นห้องนอน ห้องด้านในสุดเป็นห้องพระ เราเข้าไปกราบพระและออกมา บ้านไม่ค่อยเป็นระเบียบนัก พวกเราออกมานั่งพักข้างนอก เจ้าของบ้านนำขนมออกมาเลี้ยงอีก เป็นข้าวเหนียวนึ่งกับมะพร้าวขูดอร่อยดี ดิฉันน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังจากกลับจากอัสสัมเพราะมิตรภาพอันอบอุ่นนี่เอง  พี่สาวของน้อง ที่อยู่บ้านนี้เป็นโสด ผู้หญิงโสดนุ่งผ้าซิ่นแต่มีผ้าขาวผู้เอวทาบไว้ที่ผ้าซิ่น หญิงที่แต่งงานแล้วทาบผ้าสีไว้ที่เอวผ้าซิ่น เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานภาพของสตรีในกลุ่ม  คนที่ไปอยู่ในเมืองกลับบ้านมาก็นุ่งชุดแบบปัญจาบีเหมือนน้อง นี่แหละ หลังจากนั้นล้างมือที่ชานหน้าบ้านแล้วลากลับออกมาขึ้นรถ เดินทางกลับออกมาสักเล็กน้อย แวะทานกลางวันที่ร้านในหมู่บ้าน เป็นกระท่อมสองหลัง เราเข้าไปจองหนึ่งหลัง อากาศร้อนมาก น้อง มาด้วยทำให้ในรถจะเบียดกันพอควร สงสารรถคันน้อยของอาจารย์ที่ต้องบรรทุกหนักขึ้น และตะลุยไปบนถนนอันแสนหฤโหด ถนนที่นี่ทำด้วยหินทุบที่เต้นตลอดทาง และเป็นหลุมบ่อ คนขับต้องประสาทไวมาก คอยหักหลบ น่าเหนื่อยมาก น้อง บอกนี่ดีขึ้นมากแล้วนะ

เรานั่งรอในกระท่อมสวนอาหารกว่า 45 นาที ยังไม่มีลูกค้า พ่อครัวตัวใหญ่มากพร้อมลูกชาย และภรรยาทำหน้าที่เสิร์ฟ เราได้ทานข้าวที่นึ่งในใบไม้คนละห่อ ผัดมะระขี้นกใส่แครอทและมันเทศ 1 อย่าง ยำผักกูดใส่หอมแดงรสแซบ 1 อย่าง ส้มตำไท พาเกคือกะหล่ำหั่นฝอยใส่สารพัดผักรวมทั้งบีท รูทสีแดงเข้มรสจัดจ้านเหมือนส้มตำพร้อมด้วยพริกสดเขียว (ไม่ได้ใส่พริกเดง) 1 อย่าง ซุบผักใส่มันอีก 1 อย่าง และยำอะไรอีกอย่างดิฉันจำรายละเอียดไม่ได้ มื้อนั้นทานกันอย่างอร่อยเพราะข้าวสุกใหม่ๆ ครอบครัวอาจารย์ไม่ค่อยทานเผ็ดขนาดนั้นจึง    ซี้ดซ้าดกันมาก ไม่น่าเชื่อว่าอาหารเขารสจัดเท่าอาหารอีสาน หรือส้มตำ หรือยำเผ็ดๆ ของบ้านเราเลย ดิฉันทานข้าวไม่หมดเพราะห่อใหญ่มาก ดิฉันขออนุญาตจ่ายเงินไป 315 รูปี  ขออนุญาตเจ้าของร้านเดินไปเข้าห้องน้ำที่บ้านหลังใหญ่ของแก บ้านใหญ่ แต่ไม่สะอาดและไม่เป็นระเบียบนัก คุณยายสวดมนต์อยู่ในห้อง แกเคยไปพม่ามาแล้วเพราะมีรูปพระเจดีย์ชเวดากองแขวนอยู่

เสร็จแล้วเดินทางต่อ น้อง ไปด้วยเพราะรู้ทาง ถนนดีบ้าง ไม่ดีบ้างสลับไปมา แต่เป็นถนนใหญ่ ไม่ได้ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านแล้ว ไม่ได้แวะที่ไหน นอกจากตลาดที่อำเภอตินซูเกีย ตลาดติดทางรถไฟ จอแจมากๆ ดิฉันลงรถไปกับอาจารย์ และน้อง อยากตามไปดูตลาด และอยากยืดเส้นยืดสายด้วย แดดร้อนมาก อาจารย์ซื้อทับทิม (กิโลละ 60-70 รูปี) มะม่วง 40-45 รูปี ซื้อหลายอย่าง หลายกิโล 200 บาท ผลไม้เป็นของแพงสำหรับหลายบ้าน จึงเป็นของฝากที่ดี  ดิฉันแย่งจ่ายให้ ซื้อเสร็จขึ้นรถคราวนี้ไปยาวเลย ไปชายแดนอัสสัม ถนนสองเลนเดิมแต่เปิดให้วิ่งเลนเดียว เพราะอีกเลนกำลังขยายถนน กำลังก่อสร้าง ทำให้ต้องวิ่งสวนกันและหลบกันไปมาบนถนนเลนเดียวนั่นเอง หวาดเสียว เพราะต้องวิ่งแซง หลบลงข้างทางแบบกระชั้นชิด อาจารย์ขับรถเก่งมาก ถนนที่นี่ทำด้วยหินหากราดยางหลายชั้นหน่อยจะแน่นและแข็งแรงมาก แต่เขาทำไม่ดี พอใช้ไปไม่นานกลายเป็นหลุม คราวนี้ยิ่งกว่าโลกพระจันทร์อีก  เส้นทางหฤโหดมาก ถนนแบบนี้ต้องใช้จี๊บยี่ห้อตาตาของอินเดียเหมาะที่สุด (หวังว่าป่านนี้ถนนเส้นนี้คงเสร็จแล้ว)- เราจะไปบ้านกษัตริย์ไต คำตี่ค่ะ (ยังมีต่อ)

----------------

เชิญท่านผู้สนใจหลักสูตรปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา วิชาเอกอินเดียศึกษาเพื่อเรียนรู้อินเดียให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและหาแนวทางในการติดต่อสัมพันธ์กันในด้านการค้า ธุรกิจ การลงทุน การศึกษาฯลฯ ต่อไป

รับสมัครรอบสองในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สนใจโปรดเข้าชม www.lc.mahidol.ac.th โทร. 02-800-2323

หมายเลขบันทึก: 228617เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2008 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อยากดูภาพเยอๆจังเลยค่ะ

แวะมารับข้อมูลดีดีนะคะ

เรียน คุณ Add

   จะพยายามในตอนต่อๆ ไปค่ะ

นักศึกษาไทยในอินเีดีย

ชอบบทความนี้มาก เผอิญได้ไปเที่ยวที่อัสสัมไปอยู่ที่นั่นหนึ่งเดือนกับกลุ่มคนไทยอาหม แต่ไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับคนไทยกลุ่มอื่นๆ แต่ก็ได้อ่านเรื่องราวจากตรงนี้ก็ทำให้อยากไปอัสสัมอีก อยากไปศึกษาดูกลุ่มคนไทยอื่นๆในอัสสัมบ้าง ขอบคุณที่นำเรื่องราวดีๆมานำเสนอ

เคยไปบ้านน้ำพ่าเก่ค่ะ

ได้ค้างคืน ได้คุยกับพี่น้องไทพาเก่ที่นั่น

วันกลับ น้ำตานองหน้า อาลัยกันน่าดูค่ะ

เรียน นักเรียนไทยในอินเดีย

      ชาวไท กลุ่มต่างๆ และไท อาหมในอีสานของอินเดียมีมิตรจิต มิตรใจกับเพื่อนต่างชาติจากเมืองไทยดีมากๆ อัธยาศัยดี ให้เกียรติ และต้อนรับอย่างอบอุ่นมากค่ะ

เรียน คุณรพีพรรณ

     ไทพ่า เกมีความเป็นไทเหลืออยู่มากเหมือนพี่น้องชาวไทยทางภาคเหนือของเรานะคะ

ต้องการไปดูแล และช่วยเหลือ เยี่ยมเยือน มีหนทางใดจะไปได้


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท