เชิญร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สิรินธร (ไดโนเสาร์ กาฬสินธุ์) 9 ธ.ค. 51 นี้


พิพิธภัณฑ์สิรินธร ทรงคุณค่า เล่าขานตำนานไดโนเสาร์ กาฬสินธุ์

        ดิฉันมีความภาคภูมิใจ  ที่อยากจะเล่า (อีกครั้ง) ให้ทุกท่านได้รู้จักกับแหล่งขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งบริเวณที่พบอยู่ติดกับโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา  อ.สหัสขันธ์  จ.กาฬสินธุ์  ซึ่งดิฉันทำหน้าที่ครูอยู่ที่นี่เอง  หลายท่านอาจจะเคยมาท่องเที่ยวแล้ว  แต่หลายท่านอาจจะยังไม่เคยรู้จัก  จากการขุดค้นพบในครั้งนี้  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในด้านความเจริญเพื่อนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้  ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้สร้างพิพิธภัณฑ์สิรินธร  ขึ้นมา ซึ่งจะทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี  ในวันที่  9  ธ.ค. 51 นี้  จึงอยากเชิญชวนท่านมาร่วมรับเสด็จและเที่ยวชม ถ้าท่านเป็นคุณครู หรือคุณพ่อคุณแม่ ก็เหมาะสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีทางด้านวิทยาศาสตร์ แก่นักเรียนและบุตรหลาน  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้  นับได้ว่าเป็นแหล่งวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์แห่งเดียวในประเทศไทยเลยก็ว่าได้  ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม เชิญอ่านและดูภาพประกอบ ต่อไปนี้ได้เลยนะคะ

ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พบโดยพระครูวิจิตรสหัสคุณ
เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ในปีพ.ศ. 2537 และได้เริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ โดยคณะสำรวจไดโนเสาร์จากกรมทรัพยากรธรณี ตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2537 พบว่า ภูกุ้มข้าว ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัด กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย โดยพบกระดูกไดโนเสาร์เกือบทั้งตัว กองรวมอยู่กับกระดูกไดโนเสาร์กินพืชอีกชนิดหนึ่ง กระดูกทั้งหมดอยู่ในชั้นหินที่วางตัวอยู่บนไหล่เขาของภูกุ้มข้าวซึ่งมี รูปร่างคล้ายลอมฟาง มีความสูงประมาณ 240 เมตร ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ขุดค้นซากไดโนเสาร์พบกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น เป็นกลุ่มของกระดูกส่วนขา สะโพก ซี่โครง คอ และหางของไดโนเสาร์กินพืชไม่น้อยกว่า 7 ตัว นอกจากนี้ยังพบฟันของไดโนเสาร์ทั้งกินพืช และกินเนื้ออีกอย่างละ 2 ชนิด จากลักษณะของกระดูกพบว่าเป็นไดโนเสาร์กินพืชสกุลภูเวียง ( Phuwiangosaurus sirindhornae ) 1 ชนิด และเป็นไดโนเสาร์กินพืชชนิดใหม่อีก 1 ชนิด คาดว่าอาจเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก

 

ลักษณะของซากดึกดำบรรพ์
เป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย โดยพบกระดูกไดโนเสาร์เกือบทั้งตัว มากกว่า 650 ชิ้น เป็นกระดูกส่วนขา ซี่โครง คอ และหางของไดโนเสาร์กินพืชไม่น้อยกว่า 7 ตัว นอกจากนี้ยังพบฟันของไดโนเสาร์กินพืชและกินเนื้ออีกอย่างละ 2 ชนิด เป็นกระดูกของไดโนเสาร์กินพืชภูเวียงโกซอรัส สิรนธรเน (Phuwiagosaurus sirindhornae)” และไดโนเสาร์กินพืชชนิดใหม่อีก 1 ชนิด ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยขั้นรายละเอียดอยู่

การเดินทาง
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 227 ก่อนถึงตัวอำเภอสหัสขันธ์ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาข้างโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษาเข้าสู่วัดสักกะวัน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร

หมายเลขบันทึก: 227780เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2008 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท