กระบวนการคิด


กระบวนการคิดของมนุษย์

กระบวนการคิดของมนุษย์

 คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของมนุษย์คือ เป็น ผู้รู้คิดจากการรู้คิดนี้เองนำไปสู่กระบวนการคิด เริ่มจากการตีความ พิจารณา ไตร่ตรอง สิ่งที่ได้จากผัสสะ แล้วสรุปเป็นความรู้อย่างหนึ่งอย่างใดแล้วเก็บสะสมความรู้นั้นไว้ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานหรือความรู้เดิมที่ใช้ในการ เปรียบเทียบและตัดสินใจ สรุปความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น เด็กที่เข้าเรียนในชั้นเรียนเป็นครั้งแรกในชีวิต มีหญิงสาวตัวผอม ๆ คนหนึ่งเข้ามาอยู่หน้าห้องเรียนแล้วบอกว่าตัวเธอเป็นครู  แล้วก็สอนให้อ่านหนังสือ ประสบการณ์จากตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ผ่านกระบวนการคิดเกิดความเข้าใจ สรุปได้ว่าครูคือหญิงสาวตัวผอม ๆ ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือ เรียกว่าเกิดจินตภาพ (image) ต่อมาเห็นชายแก่ทำหน้าที่สอนหนังสือและเรียกว่าครูเช่นกัน เป็นจินตภาพอีก 1 ครั้ง กระบวนการคิดจะทำงานเพิ่มเติมจากการตีความถึงลักษณะรูปร่าง กิจกรรม พิจารณาไตร่ตรองทบทวนและจะทำการเปรียบเทียบกับจินตภาพเดิม เห็นความเหมือนและแตกต่าง เกิดความเข้าใจว่าผู้เป็นครูนั้นอาจเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้        แต่ทำหน้าที่สอนหนังสือเหมือนกัน สรุปความรู้ใหม่ได้ว่า ครูคือผู้สอนหนังสือความรู้ใหม่ที่ได้จากการสรุปโดยการตีความพิจารณา ไตร่ตรองเปรียบเทียบกับหลาย ๆ จินตภาพที่ตนมีประสบการณ์นั้น เรียกว่า มโนภาพ (concept) ซึ่งเป็นความรู้ที่กินความหมายกว้างครอบคลุมทุก ๆ จินตภาพที่มีประสบการณ์และรวมไปถึงสมาชิกอื่น ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ของมโนภาพนั้น ๆ ด้วย คือ กินความถึงครูที่เคยพบเห็นและครูคนอื่น ๆ           ที่ยังไม่ได้พบเห็น แต่ก็สรุปว่าครูทุกคนเป็นผู้สอนหนังสือหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความคิดที่อนุมานขึ้นมา

           กระบวนการคิดของมนุษย์มิได้หยุดเพียงการสร้างมโนภาพ      ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่กินความกว้างกว่าความรู้เดิมเท่านั้น แต่ยังเก็บความรู้นั้นเข้าไว้ในความทรงจำเพื่อใช้เป็นความรู้ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับรู้ ความรู้ที่ถูกเก็บไว้นั้นจะกลายเป็นความรู้เดิมที่มีความหมายกินความกว้าง ๆ เมื่อมีการรับรู้ใหม่เข้ามา กระบวนการคิดของมนุษย์จะตีความพิจารณาไตร่ตรองเปรียบเทียบ  แล้วทำการอนุมานสรุปออกมาเป็นความรู้ที่เกิดจากการนำความรู้เดิมมาเป็นหลักฐานสนับสนุน เช่น ความรู้ที่ว่า ครูคือผู้สอนหนังสือ”    ที่ความทรงจำเก็บไว้เป็นความรู้เดิมที่ใช้เปรียบเทียบกับความรู้ใหม่ โดยได้รับการแนะนำให้รู้จักสตรีคนหนึ่งในร้านอาหารว่า คุณจิตราเป็นครู   กระบวนการความคิดจะนำความรู้ในความทรงจำเดิมว่า ครูคือผู้สอนหนังสือกับความรู้ว่า คุณจิตราเป็นครูทำการอนุมานสรุปออกมาเป็นความรู้ใหม่ว่าคุณจิตราเป็น ผู้สอนหนังสือ”   ความรู้ที่สรุปได้ครั้งนี้เป็นส่วนย่อยเฉพาะเรื่องคุณจิตรา รู้ได้โดยการคิดอนุมานนำความรู้เดิมมาสนับสนุนความรู้ใหม่ โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์โดยการไปเห็นหรือได้ยินคุณจิตรากำลังสอนหนังสือเลย

           สรุปได้ว่ากระบวนการคิดของมนุษย์ เริ่มจากการตีความพิจารณาไตร่ตรอง ผัสสะที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เกิดความเข้าใจในผัสสะนั้น   สรุปออกมาเป็นความรู้เฉพาะครั้ง แล้วนำความรู้หลายครั้งมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ สรุปออกมาเป็นความรู้ที่เป็นส่วนรวม ทั้งยังนำความรู้ที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำเพื่อนำมาคิดอนุมานใช้ในการสรุปหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ตรง ๆ แต่อาศัยการคิดที่เกี่ยวเนื่องกันซึ่งจะเห็นได้จากสรุปหาความรู้ใหม่เพิ่มแต่ละครั้งจะต้องนำความรู้เดิมมาเป็นหลักฐานสนับสนุนเสมอ      ดังแสดงให้เห็นในภาพที่ 1

 

จิราภรณ์  ศิริทวี  (๒๕๔๐ : ๓-๔ ) ได้เสนอวิธีคิดที่ทำให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ดวยตนเองดังนี้

            ๑. กล้าคิด (Risk  Taking) คือกล้าหาทางเลือกอื่น ๆ และเสนอออกมาไม่ว่าบังเกิดผลเช่นไรแก่ผู้เสนอก็ตาม แม้ความคิดนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหรือกระทั่งล้มเหลว คนที่กล้าคิดก็ยังกล้าที่จะคิดและพร้อมที่จะเสี่ยงเสนอความคิด นักเรียนต้องฝึกความกล้าเสี่ยง  กล้าเดา  กล้าคิด กล้าเสนอและกล้าปกป้องความคิดของตนด้วยการใช้ทักษะการมีเหตุผลในบรรยากาสที่นักเรียนทุกคนสบายใจ คิดว่า  ผิดเป็นครู ดีกว่าไม่รู้อะไรเลยเพราะไม่เคยคิด

            ๒. คิดคล่อง (Fluency)  คือความสามารถคิดรวบยอด (concept) หรือ ข้อคิดเห็น (ideas) เป็นปริมาณมาก ๆ ได้ ยิ่งคิดคล่องก็ยิ่งมีข้อคิดเห็นมาก เท่าไร โอกาสพบความคิดที่มีคุณภาพสูง เช่น การคิดเรื่องใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครคิดก็จะมีมากขึ้น แม้การคิดคล่องจะเป็นเรื่องของปริมาณแต่ปริมาณจะนำมาซึ่งคุณภาพถ้ามีประสบการณ์มากขึ้น

            ๓. คิดกว้าง (Flexibility) คือความสามารถในการคิดที่ไม่ติดอยู่ในกรอบหรือมุมมองเพียงมุมเดียว คนที่คิดกว้างจะมองเห็นกลยุทธ หรือทางแก้ไขปัญหาที่หลากหลายในการจัดการกับปัญหาหนึ่ง ๆ ไม่ใช่ยึดมั่นกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงประการเดียว ดังนั้น การคิดกว้างจึงเป็นการมองจากหลายมุมมองแม้จะต่างไปจากที่คุ้นเคยเพื่อบรลุความเข้าใจที่กว้างขวางกว่าจนเกินกรอบที่กำหนดไว้เดิม

            ๔. คิดของเดิม (Originality) คือความสามารถคิดอย่างหลักแหลม ทำให้เกิดข้อคิดเห็นที่เป็นของตนเอง ด้วยความสามารถนี้นักเรียนจะเป็นผู้กำหนดทิศทางโลกอนาคตได้

            ๕. คิดดัดแปลง (Elaboration) คือความสามารถต่อเติมข้อคิดเห็นที่มีอยู่แล้วให้น่าสนใจและมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความคิดเก่าคือรากฐานของความคิดใหม่ คนรุ่นใหม่จะใช้ประโยชน์จากความคิดของคนรุ่นเก่าแล้วนำมาดัดแปลงให้ร่วมสมัย ดังคำกล่าวที่เราคุ้นเคยกันดีที่ว่า ลูกต้องดีกว่าพ่อแม่” “ศิษย์ต้องดีกว่าครู  ทั้งนี้เพราะรู้จักคิดดัดแปลง

            ๖. คิดซับซ้อน (Complexity) คือ ความสามารถในการแสวงหาทางเลือกใหม่ที่หลาย ๆ ครั้ง ได้มาด้วยความยากลำบากคนที่คิดซับซ้อนจะจัดระบบสรรพสิ่งที่สับสนได้ดีนำระเบียบออกมาจากความโกลาหลได้

            ๗. คิดวางแผน (Planning) คือ ความสามารถจัดการให้ได้มาซึ่งผลหรือทางออกที่พีงประสงค์ เป็นการรวบรวมการคิดวิธีการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบระบบการคิดวางแผนมีขั้นตอนลักษณะเช่นเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ

                        ๗.๑   ระบุปัญหา

                        ๗.๒   ระบุข้อจำกัด

                        ๗.๓   พิจารณาทางเลือก

                        ๗.๔   บริการทรัพยากรและเวลา

                        ๗.๕   กำหนดแผนงานและ

                        ๗.๖   ไตร่ตรองถึงปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

            ๘. การตัดสินใจ ( Decision Making) คือ การตกลงใจว่าจะกระทำการคิดตัดสินใจเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการ การคิดตัดสินใจจึงไม่ใช่การคิดหาทางเลือกแต่เป็นการประมวลทางเลือกต่าง ๆ โดยใช้วินิจฉัยและระบุข้อตกลงใจว่าจะกระทำการใดในทิศทางใด การดำรงชีวิตของคนเราต้องตัดสินใจ นักเรียนจึงควรฝึกทักษะการคิดตัดสินใจให้เป็นระเบียบระบบเพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

            ๙. คิดระดมสมอง (Brainstorming) คือ เทคนิควิธีการเสาะหาวัตถุดิบเพื่อนำไปคิดต่อ  เป็นการระดมความคิดให้มากหลากหลายเพื่อนำไปใช้หรือพิจารณาโดยการคิดวิธีการต่าง ๆ ต่อไป  การคิดระดมสมองจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการคิด แต่ป็นจุดเริ่มต้นเหมือนกับการประกอบอาหารที่ต้องเสาะหาเครื่องปรุงให้พร้อมก่อน

ลงมือประกอบอาหาร

            ๑๐. คิดให้รู้กันทั่ว (Communication) คือ ความสามารถในการเสนอความคิดหรือข้อคิดเห็นโดยชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้ คิดให้รู้กันทั่วจึงเป็นเรื่องของการสื่อสารเกี่ยวพันกับทักษะการจำแนกแยกแยะ การจัดกลุ่ม การพรรณนา การอภิปราย การโต้แย้ง การเปรียบเทียบ การรู้จักใช้ภาษาที่เหมาะสม ในการสื่อความคิด

 

 

จิราภรณ์  ศิริทวี. เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง เทคนิคการจัดกิจกรรมให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้. 

                  กรุงเทพมหานคร :  โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.๒๕๔๐ ( อัดสำเนา)

 

ทักษะการคิด (Thinking Skills)

 

 

   ทักษะการคิดหมายถึงความสามารถย่อย ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของกระบวนการคิด

ที่สลับซับซ้อน ทักษะการคิดอาจจัดเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ ทักษะการคิดพื้นฐาน 

(Basic Thinking  Skills)   และทักษะการคิดขั้นสูง (Higher - Ordered Thinking Skills)

 

 

Thinking Skills

 

 

 


Basic 

Higher - Order 

Thinking Skills

 

 


Communication

Thinking Skills

Core

Thinking Skills

 

 

 

                     1.  ทักษะการคิดพื้นฐาน (Basic Thinking Skills) หมายถึงทักษะการคิดย่อยที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นต่อการคิดในระดับที่สูงขึ้นหรือซับซ้อนขึ้น  แบ่งได้ 2 กลุ่มย่อย คือ

                           1.1 ทักษะการสื่อความหมาย (Communicate Thinking Skills) เช่น การฟัง การอ่าน                การรับรู้    การจำ  การพูด  การเขียน ฯลฯ

                           1.2 ทักษะการคิดเป็นแกน (Core Thinking Skills) ซึ่งเป็นทักษะการคิดทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การสังเกต  การสำรวจ  การตั้งคำถาม  การเก็บรวบรวมข้อมูล  การจำแนกแยกแยะ 

การจัดหมวดหมู่  การจัดลำดับ  การเปรียบเทียบ  การสรุปอ้างอิง  การแปล  การตีความ  การเชื่อมโยง 

การขยายความ  การให้เหตุผล การสรุป ฯลฯ

2.       ทักษะการคิดขั้นสูง (Higher - Order  Thinking Skills)      เช่น   การวิเคราะห์              

 การสังเคราะห์  การจัดระบบความคิด  การค้นหาแบบแผน  การสร้างความรู้  ฯลฯ

 

©©©©©©

 

มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จนั้น   มักจะมองเห็นโอกาสในทุกปัญหา

แต่มนุษย์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ  มักจะมองเห็นปัญหาในทุกโอกาส

                                                                                  (มานิตย์  ตั้งจิตเกษมสุข)

 

หมายเลขบันทึก: 227595เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2008 02:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ

  • ครูอ้อยมาอ่านเรื่องการคิด
  • คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์  คิดวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์

 

ขอบคุณ สำหรับข้อคิดของ คุณ มานิตย์ ตั้งจิตเกษมสุข ที่น้องเด่นนำเสนอ เยี่ยมจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท