ความคิด การกระทำ ความจริง


เฮีย เมื่อเฮียปฏิเสธบางสิ่ง บางสิ่งก็ถูกทอดทิ้งนะ

 

สองสามวันก่อน ผมขับรถผ่าน สี่แยกกลับบ้าน ที่เชียงใหม่เดี๋ยวนี้ก็มีเด็กขายพวงมาลัยอยู่บนท้องถนน

ดูแล้วก็น่าหวาดเสียว ผมจอดรถรอไฟแดงอยู่ เด็กชายตัวเล็กอายุน่าจะใกล้เคียงกับลูกชายคนเล็กผม เดินมาข้างหน้า ข้างหน้ามีรถหลายคัน เด็กชายพนมมือไหว้ที่กระจกรถทุกคัน แต่ไม่มีคันไหนเลื่อนกระจกซื้อ จนมาใกล้จะมาถึงรถผม

ในรถ ลูกสาวและลูกชาย จ้องมองดูเด็กขายพวงมาลัยที่เดินใกล้เข้ามา สลับกับมองมาที่ผม เหมือนกับว่า พ่อของเขาจะทำเหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า

หลายครั้งที่ผ่านมาผมไม่ซื้อพวงมาลัยจากเด็กเหล่านี้ เพราะมีความคิดว่า เด็กไม่น่ามาเดินอยู่ที่นี่ ที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับเด็กมาเดินอยู่ การซื้อพวงมาลัยของผม จะเป็นการจองจำเด็กให้อยู่ที่สี่แยกนี้ ถ้าผมไม่ซื้อคนอื่นไม่ซื้อ เด็กก็คงเลิกขายไปเอง

เมื่อเจอกับเด็กขายพวงมาลัยที่สี่แยกครั้งแรก ในชีวิตของลูกของผม เขาถามว่า

"เขาไม่เรียนหนังสือกันหรือ ป๊า"

"เรียนซิครับ ตอนนี้มันตอนเย็นเลิกเรียนแล้ว เขามาช่วยพ่อแม่หาเงิน"

"ป๊า ไม่ช่วยซื้อหรือครับ"

"ไม่ ป๊าไม่ซื้อ เพราะการซื้อพวงมาลัยนี่ เด็กพวกนี้เขาได้เงินก็จะมาขายอยู่ที่สี่แยกนี่ประจำ"

"อ้าว แล้วเขาก็ไม่มีตังค์ไปให้พ่อแม่เค้านะซิ"

"!!??!!"

ทุกครั้งที่ผมปฏิเสธการซื้อพวงมาลัย และขับรถห่างจากเด็กขายพวงมาลัยเหล่านี้ ผมรู้สึกผิด แต่ก็พยายามหาเหตุผลให้ตัวเอง สบายใจ ว่าทำถูกแล้ว แม้ความคิดจะบอกว่าถูก แต่หัวใจเจ้ากรรม ก็หนึบๆในอก

 

สองเดือนก่อนหน้านี้ ผมได้ไปอบรมให้รพร.ด่านซ้าย ที่ ทรัพย์ไพรวัลย์ รีสอร์ท จ.พิษณุโลก ผมเคยมาหลายครั้งที่นี่ แต่ไม่เคยได้เลี้ยงช้าง ครั้งนี้เรามีเวลาว่างหลังเลิก workshop ภาคบ่าย ออกมาเดินเล่น และมาเลี้ยง ช้าง เก้า เชือก ความจริง สิบเชือก แต่เชือกล่าสุดยังอยู่ในครรภ์ ยังไม่ออกมาให้ผมเล่นกับมัน

ผม พี่วิธาน และ แอ๊ด หมดเงินไปหลายร้อยเพื่อเลี้ยงช้าง มีความสุขกับการเลี้ยงช้างมาก ผมนั่งมองช้างเล่นกันไปมา วันละสองชั่วโมงโดยไม่ไปไหนเลย ตลอดสองสามวันที่อยู่ที่นั่น

อาทิตย์ถัดมา ผมเดินทางกลับจากการไปเป็นกระบวนกรฝึกผู้หล่อเลี้ยง ในพื้นที่จริง ตามโครงการ ELIAS THAI หลังลงเครื่อง ผมแวะไปทานข้าวกับ พี่ช้าง (คุณหมอสุพัตรา) ที่ร้านอาหารชานเมือง

ช้างน้อยเร่ร่อนตัวหนึ่งมีควาญช้างพาเดินเข้ามาในร้าน

"เลี้ยงช้างไหมครับ ยี่สิบบาทครับ"

ความคิดผม

"ไม่ซื้อดีกว่า พวกนี้ซื้อไปก็เอาช้างมาทรมานอยู่บนถนน เดี๋ยวได้เงินก็พามาขออยู่นั่น ถ้าไม่ช่วยกันซื้อ ก็เอากลับไปเองแหละ"

ผมสั่นหัว ช้างน้อย ร้องลั่นราวกับประท้วง

ช้างน้อยถูกพาเดินออกไปจากร้าน โดยไม่มีใครซื้อกล้วยให้กิน

ผมรู้สึกอึดอัดในอกอีกแล้ว เสียงควาญช้างที่เลี้ยงช้างที่ทรัพย์ไพวัลย์ ดังแว่วในหู

"เจ้านาย รู้ไหม ว่า ช้างวันหนึ่งกินอาหารเท่าไหร่"

"วันละห้าสิบกิโลมั้ง"

"วันละสองร้อยกิโลครับ"

"หา !!!!"

คุณบุญ เจ้าของทรัพย์ไพวัลย์ บอกกับผมว่า หมดเงินไปหลายแสนต่อเดือนในการหาอาหารให้ช้าง เก้าเชือกในความดูแล

ผมหงุดหงิดกับตัวเองมาก บอกไม่ถูก แต่ก็ปลอบใจตัวเอง ว่าคิดดีแล้ว ถูกแล้ว ช้างจะได้ไม่ต้องมาเดินในเมืองอีก ขืนไปซื้อก็เท่ากับไปสนับสนุนการพาช้างออกมาหากินในเมืองนะซิ

แต่... หัวใจผมก็ประท้วงผม หนึบๆ อยู่ในอกอีกแล้ว

หลายวันถัดมาผมคุยกับแอ๊ด(พัฒนา แสงเรียง)เรื่องนี้ เรื่องช้าง ว่าผมไม่แน่ใจว่าผม คิดถูกไหม ที่ไม่ยอมเลี้ยงช้างเร่ร่อน เพราะใน workshop เราเน้นเรื่องฐานใจมากว่า ถ้าไม่แน่ใจว่าคิดถูกหรือ หาเหตุผลให้ตัวเองถูก ให้ฟังเสียงหัวใจตัวเอง เพราะหัวใจไม่เคยโกหกเรา

แอ๊ดตอบผมว่า "เฮีย เมื่อเฮียปฏิเสธบางสิ่ง บางสิ่งก็ถูกทอดทิ้งนะ"

ใช่เราปฏิเสธ ไม่ซื้อพวงมาลัยตามความคิดความเชื่อของเรา เด็กก็ไม่ได้เงินกลับบ้าน

คำถามที่ควรมาก่อนคือ ทำไมเด็กมาขายพวงมาลัย ถ้าไม่ขายล่ะ เขาจะทำอะไร

เราไม่ซื้อพวงมาลัย เพราะไม่อยากเห็นเด็กมาเดินขายที่สี่แยก แต่เด็กยังคงขายต่อไป เพราะพ่อแม่เขาไม่ได้มีเงินเหลือพอให้ลูก ใช้เวลาไปเรียนสถาบันกวดวิชา เรียนเปียโน เล่นเกมในห้าง ทานข้าวในห้าง กินไก่ชิ้นหนึ่งซึ่งราคาเท่ากับ ครี่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ ทานข้าวปั้นญี่ปุ่นหนึ่งคำ ซึ่งซื้อพวงมาลัยได้ สองพวง

เราไม่ซื้อ แล้วเราทำอะไร ที่จะช่วยให้เด็กไม่ต้องขายพวงมาลัย

การที่เราไม่ซื้อ เด็กก็ยังขายพวงมาลัยต่อไป เขาต้องหาเงินกินข้าวและดูแลครอบครัว คุณเคยถามตัวเองบ้างไหม ว่าถ้าเด็กถูกห้ามขายพวงมาลัย แล้วเขาจะหาเงินยังไง

คุณจะทำอะไร หรือ คุณคิดว่าคุณได้คิดไปแล้วว่าคุณถูกแล้ว

ผมไม่ซื้ออาหารให้ช้าง เพราะหวังว่าช้างจะไม่ต้องเดินเร่ร่อน

ความจริง การไม่ซื้ออาหารให้ช้าง ช้างก็ยังเร่ร่อนต่อไป เพราะ สาเหตุที่เอาช้างมาเร่ร่อน ส่วนหนึ่งอาจมาจากนายทุน แต่ความเป็นจริงคือ ปากท้องมันไม่มีอะไรจะใส่ ต้องหาอะไรใส่

คืนนั้น ช้างน้อยตัวนั้น ก็อดได้กล้วย แต่ยังคงต้องเดินไปบนถนน ที่มีแสงไฟ ความเจริญ แต่ไม่มีอะไรที่กินได้ และไม่มีใครให้กินอะไร เพราะทุกคนหวังดีต่อช้างน้อยตัวนั้น ว่าจะไม่ต้องเดินเร่ร่อนต่อไป

แต่ช้างน้อยก็ยังคงเดินเร่ร่อนขอเงินซื้อกล้วยให้ตัวเองต่อไป ทุกคนก็มีความสุขที่คิดว่าได้ช่วยช้างตัวนั้นไปแล้ว

ความจริง ช้างน้อยตัวนั้นท้องว่าง และยังคงเดินเร่ร่อนต่อไป

เด็กชายตัวน้อยคนนั้นมาหยุดอยู่ที่กระจกรถผม

ผมเอื้อมมือไปกดสวิทซ์กระจก เลื่อนกระจกลง

"พวงเท่าไหร่"

"ยี่สิบครับ" เด็กน้อยตอบอย่างนบน้อม มือยังคงพนมอยู่

"ลูกมี ใบยี่สิบไหม ป๊ามีแต่ใบใหญ่ไม่มีใบย่อย" ผมหันไปถามลูกสาว

ลูกสาวผมควักเงินออกจากกระเป๋า โดยไม่ลังเล ยิ่งกว่าตอนควักเงินซื้อการ์ตูนเล่มโปรด

เหมือนกับกลัวว่าถ้าไม่รีบควักออกมาจะไม่ได้ซื้อพวงมาลัย

ผมยื่นเงินให้ แล้วเลื่อนกระจกปิด เด็กน้อยรับเงิน แล้วก้มไปค้นกระเป๋าใบน้อย พร้อมกับทำหน้าสงสัยว่าผมเลื่อนกระจกปิดทำไม

ผม เอ๊ะใจ หันไปถามลูกสาวว่า "ให้ใบอะไรไปล่ะลูก"

"ยี่สิบ"

ตัวเล็กหลังรถตะโกนบอก

"ไม่ใช่ เจ๊เอาใบห้าสิบให้"

"จะเอาตังค์ทอนไหมลูก"

ลูกสาวยิ้มและสั่นหัว

"ไม่เป็นไร ลูก เอาไปเถอะไม่ต้องทอน" ผมกดกระจกลง บอกเด็กชายตัวน้อย

เด็กชายทำหน้างงๆ แต่ก็ยังไม่ลืมยกมือไหว้ขอบคุณ

ไฟเขียว ผมขับรถผ่านสี่แยกนั้นมา

หัวใจผมไม่หนึบๆ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา มันคงยังเต้นเป็นจังหวะของมันต่อไป

เด็กสองคนในรถผลัดกันดูพวงมาลัย และคุยว่าจะเอามันไปแขวนที่ไหน

เด็กชายตัวน้อยคนนั้น คงเดินขายพวงมาลัยต่อไป แต่อย่างน้อยเขาก็มีเงินในกระเป๋าแล้ว

ห้าสิบบาท 

ส่วนผมก็ได้กระทำอะไรไปแล้ว ตามที่หัวใจบอก

อ๊อตโต้ ชามม์เมอร์ เขียนไว้หนังสือ Theory U ว่า

"ในโลกที่ผันผวนภายภาคหน้า เราได้แต่ใช้หัวใจเราเท่านั้นที่นำทาง"

หัวใจของเราสามคนพ่อลูก ก็บอกให้เราทำอะไร ตรงกัน

ช่างมันเถอะ ว่าเราคิดอะไร บางที ฟังและวางใจในสิ่งที่หัวใจเราบอกบ้าง โลกใบนี้มีความหวังเสมอ

อ้อ สำหรับคนที่ไม่ได้ยิน หรือไม่เชื่อว่าหัวใจบอกอะไรเราได้

ผมภาวนาให้ทุกครั้งที่มีโอกาส หวังสักวันคุณจะได้ยิน จริงๆนะครับ หัวใจผม บอกมา

คำสำคัญ (Tags): #theory u#ฐานใจ
หมายเลขบันทึก: 227215เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2008 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท