ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

บทความ "ลมหายใจอันรวยรินของหอยลาย"


เรือคราดหอยลาย ทำลายหน้าดิน วงจรของสัตว์น้ำ

ลมหายใจอันรวยรินของหอยลาย
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับที่ วัน

เรื่อง : ทรงวุฒิ พัฒแก้ว


 

            อ่าวพื้นที่ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีความยาวประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นอ่าวที่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากชาวบ้านและชุมชนที่นี่ทำการประมงแบบอนุรักษ์ มีการจัดการทรัพยากรโดยใช้กระบวนการของชุมชน ใช้กฎทางสังคมในการควบคุมดูแล

                ครั้งหนึ่งพื้นที่นี้เต็มไปด้วยอวนลากและอวนรุน ปัจจุบันเมื่อชุมชนเอาจริงเอาจัง ช่วยกันตรวจสอบ หากใครไม่เชื่อฟังก็แจ้งทางประมงจังหวัดเข้าจับกุม จนตอนนี้เรืออวนรุนหมดไป ส่วนเรืออวนลากก็ลดลงเหลืออยู่ไม่กี่สิบลำ และกำลังจะเปลี่ยนเป็นเรือลอบ และไซปูแทนจากการทำประมงควบคู่กับการอนุรักษ์ สัตว์น้ำที่จับได้ในแต่ละฤดูกาลจึงมีจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หมู่ 6 บ้านสระบัว "ชาวบ้านแบบบ้านเรา ทำอาชีพประมงอย่างเดียวก็พออยู่ได้ เพราะว่าแค่หมู่ที่ 6 เราจับกั้งได้ถึงครั้งละ 500 กิโลกรัม ปูม้า 500 กิโลกรัม ปูดำ 30 กิโลกรัม" ชาวบ้านคนหนึ่งเล่า ผมยืนคิดเลขในใจ พลางทำปากขมุบขมิบ บวกลบคูณหารจำนวนเงินที่จะได้มา
                ภาพริมหาดยามเช้า เรือประมงกำลังกลับเข้าฝั่ง ชาวประมงหลายคนกำลังขนอวนลงจากเรือ บางคนนั่งแกะสัตว์น้ำออกจากอวน มีภาพหนึ่งที่ประทับใจมากๆ คือ ภาพของเด็กๆ ช่วยกันแกะสิ่งสกปรกออกจากอวน และสาวอวนเข้าเก็บ มีเรือลำไหนเข้ามาเด็กกลุ่มนี้ก็เข้าไปช่วย ว่างก็วิ่งลงเล่นน้ำในทะเล แล้ววิ่งกลับขึ้นมารับค่าตอบแทนคนละ 40 บาทบ้าง 60 บาทบ้าง ผมพูดเล่นกับพี่ชาย หรือบังที่ยืนมองภาพนั้นอยู่ด้วยกันริมหาดว่า เช้าๆ ก่อนไปทำงาน มาสมัครสาวอวนดีกว่า จะได้มีค่าน้ำมันรถไปทำงานบ้าง "อย่าแย่งงานเด็กมันเลย เป็นค่าขนมของเด็กมัน" บังบอกพลางหัวเราะชอบใจ
                หลังจากนั้นประมาณสองอาทิตย์ ผมกลับไปพื้นที่นี้อีกครั้งหนึ่งหลังวันฮารีรายอ พบชาวบ้านกลุ่มใหญ่ยืนคุยกันที่ชายทะเล ผมเข้าไปทักทายตามประสาคนรู้จัก "เช้านี้ไม่ไปออกเรือหรือครับ"  เป็นคำถามที่ถามเสมอ เมื่อเจอหน้ากับพี่น้องแถบนี้
"จะออกเรือได้อย่างไร ตอนนี้มีเรือคราดหอยเข้ามาลากหอยลายในอ่าวบ้านเรา ถูกอวนชาวบ้านเกือบ 50 ราย เสียหายหมด ไม่ใช่เท่านั้น อวนที่ไม่โดนเรือคราดหอย ก็ติดสิ่งสกปรกซากหอยหนาม ปลิงทะเล ซากสัตว์น้ำเน่าๆ จากที่เรือคราดหอยคราดขึ้นมา ถูกคลื่นซัดเข้ามาติดอวน เรือแต่ละลำมีคราดตาถี่ๆ ตั้งสี่อัน คราดลงไปในเลนตั้งเกือบเมตร เขาเอาแต่หอยลาย แต่ซากหอย ซากปู ซากปะการังเสียหายและกระจายไปทั้งอ่าว" ชาวบ้านคนหนึ่งบอก"เรือแต่ละลำใหญ่โตมาก เปรียบกับเรือประมงชาวบ้าน เหมือนกับรถพ่วงข้างกับรถสิบล้อ" ชาวบ้านอีกคนช่วยเล่า"มานี่ลูกบ่าว มาดู" ชาวบ้านคนหนึ่งจูงมือผมไปดูอวนที่ออกไปวางไว้เมื่อคืน ภาพที่เห็นอวนถูกยกออกมาจากเรือวางไว้เป็นกองๆ เต็มไปด้วยซากหอย ซากสัตว์น้ำ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว "นี่ กว่าจะแกะของสกปรกที่อวนหมด ใช้เวลาเป็นสิบวัน บางคนต้องเอาอวนไปฝังเลนให้ซากสกปรกเปื่อยก่อนเพราะแกะออกไม่ได้" อีกคนหนึ่งตัดพ้อให้ฟัง

                ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม มีเรือประมงคราดหอยขนาดใหญ่ประมาณ 60 ลำ เข้ามาคราดหอยลายในอ่าว ต.ท่าศาลา จะเข้ามาคราดตอนกลางคืนประมาณสามทุ่มถึงตีสาม จากนั้นจะแล่นเรือไปขึ้นหอยและนอนพักที่อ่าว อ.ขนอมและอ่าวดอนสัก โดยเข้ามาลากในพื้นที่น้อยกว่า 3,000 เมตร ซึ่งเป็นเขตที่ชาวบ้านทั้งอ่าวไปวางอวนประมงไว้ โดยเรือคราดหอยจะเกาะกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 30 ลำ แล้วจะลากเวียนเป็นวงกลม โดยไม่สนใจอวนประมง หรือชาวบ้าน จนชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 10 ลำ เข้าไปใกล้เรือคราดหอย และวิทยุสื่อสารให้ชดใช้ค่าเสียหาย และอย่าให้ล้ำเข้ามาในเขตวางอวนประมงของชาวบ้าน กลับถูกเรือประมงขนาดใหญ่กลุ่มนี้วิ่งเข้าชน

ขณะนี้ชาวบ้านผู้เสียหายเข้าแจ้งความที่ สภ.ท่าศาลาไว้แล้วประมาณ 60 ราย และในที่สุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา เรือตรวจการณ์ของประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชจับเรือคราดหอยได้ 1 ลำ ลูกเรือประมง 6 คน หลังจากนั้นมีการประกันทั้งลูกเรือประมงและเรือของกลางออกไป โดยชดใช้ค่าเสียหายเพียง 6 รายเท่านั้น

"อันที่จริงชาวบ้านแบบเราก็รู้ว่าหน้าดินในอ่าวนี้มีหอยลาย หอยแครงเยอะขนาดไหน แต่เราไม่เคยจับ ไม่เคยลาก เพราะจะทำลายหน้าดิน ซึ่งเป็นที่อยู่ของกั้ง ปู หากเราทำลายบ้านมันเสียแล้ว มันก็จะไปอยู่ที่อื่นๆ เราจับสัตว์น้ำไม่ได้ เราและลูกหลานจะอยู่ได้อย่างไร" ชาวบ้านที่อาวุโสสูงสุดในขณะนั้นกล่าว "ผมออกเรือมาประมาณ 15 ปีแล้วไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน อวนพังเสียหายหมด สัตว์น้ำที่จับได้ก็ตายเน่า ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ" หนุ่มลูกเรือประมงบอกอย่างเศร้าๆ "แล้วเรือคราดหอยแต่ละลำคราดได้เยอะไหมครับ" ผมโยนคำถามไปกลางวง "ลำหนึ่งลากแค่สองสามชั่วโมง ได้หอยลายประมาณ 1 หมื่นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 40 บาท ลำหนึ่งก็ได้ตั้งสามสี่แสน ลูกบ่าวคิดว่าเยอะไหมล่ะ" เขาย้อนถามผม"คืนหนึ่งคราดได้ตั้งหลายล้าน เพราะเงินมันมาก จึงอุดหู ปิดตา คนที่เกี่ยวข้องในบ้านในเมืองหมด ยังมีแต่ อบต.บ้านเราที่ยังพึ่งได้บ้าง" ชาวบ้านอีกคนเสริม

จากนั้นชาวบ้านกลุ่มนี้ได้พาผมไป อบต.ท่าศาลา นายเราะหมาน ปริงทอง ประธานกรรมาธิการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อบต.ท่าศาลา บอกว่า อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันให้เรือประมงคราดหอยออกห่างจากฝั่งไม่น้อยกว่า 12 ไมล์ทะเล ซึ่งเคยทำสำเร็จโดยการผลักดันของผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อปี 2543 ไม่อย่างนั้นผลกระทบจากการคราดหอยในครั้งนี้จะสร้างให้ชาวบ้านเดือดร้อนจับสัตว์น้ำไม่ได้ไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

เรื่องนี้แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นครศรีธรรมราชรับทราบเรื่อง และได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แต่ก็มีปัญหาการจัดการเรื่องน้ำมันเรือตรวจการณ์ ไม่ทราบพิกัดของเรือที่มาคราดหอยว่าเป็นจุดไหน อีกทั้งยังประสบกับคลื่นลมมรสุมที่ค่อนข้างแรงในช่วงนี้ผลสุดท้ายจะจบลงอย่างไร จะจบเมื่อหอยลายหรือทรัพยากรแถบนี้ถูกทำลายหมดแล้วกระนั้นหรือ


หมายเลขบันทึก: 226743เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2008 02:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนนี้ สถานการืณ ลดลงยังครับพี่ ผมอยากทราบข้อมูลครับ ยังไงรบกวนขอเมลล์ด้วยครับพี่

ตอนนี้มีการศึกษาการจัดการ การใช้ประโยชน์ร่วมกันออกมาแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท