เมื่อวานนี้(30 พ.ย.2551) ได้ไปฟังการนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ของคณาจารย์กลุ่มหนึ่งจากโรงเรียนในจังหวัดนนทบุรีและเครือข่าย ที่ห้องประชุม โรงเรียนโพธินิมิตวิทยาคม จังหวัดนนทบุรี ในการนี้ ผมเห็นจุดอ่อนบางประการ ที่คิดว่าควรนำเสนอเพื่อเพื่อนครูจะได้ตระหนักตรงกัน และระวังให้มากขึ้น ในอันที่จะหลีกเลี่ยงจุดอ่อนเช่นนี้ จุดอ่อนที่ว่านี้ คือ “การเลือกนวัตกรรมที่ไม่ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ว่า เหมาะสมกับเนื้อหาสาระที่จะสอนหรือธรรมชาติของวิชาหรือไม่” ผมขอยกตัวอย่างต่อไปนี้
1) ครูคนที่ 1 ต้องการพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูป(ประเภทเอกสาร) เพื่อสอนเรื่อง “เซลล์ และ การแบ่งเซลล์” ....จุดอ่อน คือ เรื่องที่สอน เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม การเลือกนวัตกรรมประเภทที่ทำบนกระดาษ ก็ยังคงไม่สามารถช่วยให้มองเห็นภาพเซลล์ หรือการแบ่งเซลล์ที่เป็นรูปธรรม ได้(รวมทั้ง ไม่ทันสมัยด้วย) ในที่นี้ ครู อาจเลือกนวัตกรรมอื่น เช่น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ จัดทำเป็น ชุด E-Learning เป็นต้น
2) ครูคนที่ 2 ต้องการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพื่อการเรียนรู้บนอินเตอร์เน็ต เรื่อง “การขยายพันธุ์พืช”....ในแง่หลักวิชา นวัตกรรมที่เลือก อาจช่วยได้ ในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ แต่ในสภาพข้อเท็จจริง ผมคิดว่า ถ้าให้เด็กไปค้นคว้าในอินเตอร์เน็ต เรื่อง การขยายพันธ์พืช ผมคิดว่า เด็กสามารถสืบค้นองค์ความรู้หรือแนวปฏิบัติได้อย่างมากมายอยู่แล้ว ครูไม่ต้องสร้างเพิ่มเติมก็ได้...ในกรณีนี้ ครูอาจเลือกนวัตกรรมการสอนประเภท “ให้นักเรียนรวมกลุ่มกัน จัดทำโครงงาน การขยายพันธ์พืชที่สำคัญ ๆ หรือพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถขยายพันธุ์ได้ในท้องถิ่น” โดยให้ทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ในท้องถิ่น การออกแบบการสอนในลักษณะนี้ จะช่วยให้เกิดความรู้ เกิดประสบการณ์จริง และ เกิดความสนุกสนานในการเรียน ไม่เบื่อหน่าย
3) ครูคนที่ 3 ต้องการพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย เพื่อสอน เรื่อง “พระธรรม” รายวิชาพระพุทธศาสนา...สื่อที่เลือก อาจช่วยเสริมความรู้ได้ แต่จุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นคือ “เราควรเน้นสอนหลักธรรม เพื่อการนำไปใช้ในชีวิต ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต มากกว่าการเรียนเพื่อรู้” ในที่นี้ สื่อ มัลติมีเดียที่ครูคนนี้พัฒนาขึ้น อาจบรรลุผลเพียงการสร้างความรู้เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของวิชา พระพุทธศาสนา
โดยสรุป ...ในการเลือกนวัตกรรม ผมอยากให้ครูตั้งคำถามว่า 1)นวัตกรรมที่เลือกมีความเหมาะสม ทันยุค ทันสมัย หรือไม่ 2) สื่อ/นวัตกรรมที่เลือกเหมาะสมกับจุดมุ่งหมายหลัก ของรายวิชาหรือไม่ เช่น วิชาการดูแลรักษาบ้าน วิชาพระพุทธศาสนา หรือวิชาที่เน้นการปฏิบัติ เน้นการนำความรู้ไปใช้ ก็ควรเป็นนวัตกรรมที่เน้นการประยุกต์ใช้ หรือการปฏิบัติจริง มากกว่าสื่อ/นวัตกรรมที่เน้นการให้ความรู้ เป็นหลัก 3) สื่อ/นวัตกรรมที่เลือกเหมาะสมกับเนื้อหาวิชาเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ มีสื่อในลักษณะอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ ฯลฯ การเลือกนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระหรือจุดประสงค์การเรียนรู้ จะเพิ่มน้ำหนักหรือคุณค่าของงานวิจัยและพัฒนาได้อย่างมาก ในบางครั้ง การเลือกนวัตกรรมแบบไม่พิถีพิถัน แม้จะดำเนินการวิจัยและพัฒนาแบบสมบูรณ์ ครบวงจร การวิจัยครั้งนั้นก็ไร้ความหมาย
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ ใน การวิจัยเพื่อพัฒนางาน พัฒนาการเรียนรู้
สวัสดีค่ะ อาจารย์
ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ รักษาสุขภาพนะคะ