เรียนเลขไปทำไม


เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทุกคนต้องนำเรื่องพื้นฐานของเลขมาใช้ไม่มากก็น้อย

                ถ้าเด็กถามคำถามนี้ ผู้ใหญ่หลายคนอาจนึกคำตอบไม่ได้ทันที เพราะรู้แต่ว่าเลขหรือวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาหลักตั้งแต่สมัยเริ่มเรียนหนังสือสมัยเด็กๆ ใครๆก็ต้องเรียนเลข ถ้ามีคนที่ไม่เข้าใจเรื่องจำนวน ปริมาณ หลักการการคำนวณ น่าสงสัยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันอย่างไร

                เด็กแรกเกิดที่หิวก็คงไม่จำเป็นต้องรู้อะไร เพราะหิวก็ร้อง แม่หรือพ่อก็เอานมมาให้ดูด ถ้าดูดนมแม่ยิ่งง่าย เพราะแม่มักมีนมให้ลูกเพียงพอตามธรรมชาติ แต่ถ้าเด็กไม่ได้ดูดนมแม่ แม่หรือพ่อต้องชงนมให้ดูด ซึ่งถ้าไม่เข้าใจเรื่องจำนวน คงชงนมตามฉลากข้างกระป๋องด้วยความยากลำบาก ถ้าชงผิดอาจทำให้ลูกได้สารอาหารมากหรือน้อยเกินไป ในระหว่างที่เด็กค่อยๆเติบโตขึ้นมาในช่วงก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษา การเรียนรู้ทักษะพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาเลขจะเกิดขึ้นผ่านการมีประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณอาหาร จำนวนขนมที่เป็นชิ้น การเลือกชุดที่พอดีกับรูปร่าง แม้ผู้ใหญ่จะไม่ได้ตั้งใจสอนพื้นฐานวิชาเลข แต่ถ้าเด็กได้มีโอกาสคิดตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่กำลังทำ สมองของเด็กจะซึมซับ ทำความเข้าใจต่อยอดจากสิ่งที่มีความพร้อมเดิมมาตั้งแต่เกิด เด็กส่วนหนึ่งที่มีความถนัดหรือชอบเรียนรู้ทักษะด้านที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ มักเชื่อมโยงและต่อยอดได้โดยง่าย เด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะความสามารถที่ดี มักต้องการการชี้แนะจากคนรอบข้าง ไปพร้อมๆกับประสบการณ์ที่หลากหลายมากพอ จึงจะเรียนรู้เชื่อมโยงทักษะความพร้อมเดิมที่มีอยู่ กับสิ่งที่เป็นตัวเลขหรือสัญลักษณ์เมื่อเข้าเรียนในชั้นเรียน ภาษาพูดหรือเขียนเป็นทักษะอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเสริมการเรียนรู้ให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

                ถ้าการเรียนรู้เลขพื้นฐานในชั้นเรียนระยะเริ่มแรกของเด็กๆเกิดจากการท่องจำเป็นหลัก เลขหรือวิชาคณิตศาสตร์จะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเด็กเหล่านี้ต้องทบทวนด้วยการทำแบบฝึกหัดจำนวนมาก จึงจะทำโจทย์เลขได้ถูกต้อง และสำหรับเด็กหลายคนวิชาเลขจะกลายเป็นศาสตร์ลึกลับที่ไม่อยากเรียนรู้ในที่สุด

                เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทุกคนต้องนำเรื่องพื้นฐานของเลขมาใช้ไม่มากก็น้อย ในฐานะผู้ซื้อหรือผู้ขาย ในฐานะที่ต้องทำงานมีรายได้ การคำนวณรายจ่ายที่ต้องใช้และให้เหลือเก็บออม หรือในฐานะที่ต้องเสียภาษีเงินได้ มีคนจำนวนมาก(รวมถึงหมอหลายคน)ที่เรียนวิชาเลขมามากมาย แต่ไม่เคยคำนวณภาษีด้วยตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมาเรียนเลขเพื่อสอบให้ผ่านและสอบเข้าเรียนต่อได้เท่านั้น

                ผลการศึกษาปัญหาความบกพร่องในการเรียนเลขของเด็กจำนวนมาก พบว่าลักษณะของเด็กที่มีความบกพร่องด้านการคำนวณหรือคณิตศาสตร์ แบ่งออกได้เป็นกลุ่มต่างๆคือ

1.    ไม่เข้าใจความหมายของจำนวน

2.    ไม่เข้าใจหลักการทางคณิตศาสตร์  เช่น เพิ่ม ลด แบ่ง ลำดับ การประมาณ เป็นต้น

3.    ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์หรือแม้แต่ความหมายของตัวเลข

                ในบทความชุดนี้จะขยายความเฉพาะกลุ่มแรก และเสนอแนะแนวทางการช่วยเหลือตั้งแต่ระยะปฐมวัย

หมายเลขบันทึก: 225142เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท