KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 615. แนะนำหนังสือ KM ในภาคการศึกษา (๕.๑)


นานาทัศนะ : การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษา

 

 

ตอนที่ ๑ , ตอนที่ ๒ , ตอนที่ ๓ , ตอนที่ ๔

 

ส่วนที่ 1
สรุปนานาทัศนะ: การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษา           

สรุปจากปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในการจัดงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้ 4 ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1

การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้: KM กับโรงเรียนชาวนา (เกษตรกรรมยั่งยืน)

โดย      นายเดชา  ศิริภัทร : ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ

[ปาฐกถาพิเศษในงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้ 4 ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษา ครั้งที่ 1 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2550   ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี ของโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษา]

แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความรู้

ต้นกำเนิดของการจัดการความรู้มีที่มาจากประเทศทางตะวันตก แต่การนำการจัดการความรู้มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งมีบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันไปนั้น ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูง โดยมูลนิธิข้าวขวัญได้นำการจัดการความรู้ไปปรับใช้ในการสร้างรูปแบบการจัดการความรู้ในโรงเรียนชาวนา

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวว่า คนไทยมีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกหรือวัฒนธรรมต่างชาติได้เป็นอย่างดี มีวัฒนธรรมอยู่ระหว่างวัฒนธรรมจีนกับอินเดีย และสร้างวัฒนธรรมของตนได้โดยไม่ถูกกลืน คนไทยส่วนใหญ่ชื่อเป็นอินเดีย แต่เชื้อสายเป็นจีน ส่วนคนจีนหรือคนอินเดียไปอยู่ที่ไหนในโลกก็ยังเป็นคนจีนหรือคนอินเดีย แต่ทั้งสองชาติเมื่อมาอยู่ในไทย ก็ถูกกลืนกลายเป็นคนไทยหมด แสดงว่าวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่แข็งและอ่อนแบบน้ำ สามารถไปละลายสิ่งอื่นได้หมด ฉะนั้น การนำการจัดการความรู้มาปรับใช้ปฏิบัติในแบบไทยๆ เป็นสิ่งจำเป็น มีตัวอย่างเกษตรกรไทยหลายคนได้ปรับปรุงพันธุ์พืชผลการเกษตรของต่างประเทศให้เหมาะกับสังคมไทย เช่น ปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนที่มีเม็ดใหญ่ เนื้อหุ้มเม็ดไม่มิด ของเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย ให้มีคุณภาพดีขึ้น หรือปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวที่ได้มาจากประเทศอินเดียให้เป็นมะขามหวานได้

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ให้ความหมายของการจัดการความรู้ ว่าเป็นการจัดการให้มีการค้นพบความรู้ความชำนาญที่แฝงเร้นในตัวคน (Tacit Knowledge) และดึงออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตกแต่งให้ง่ายต่อการใช้สอยและมีประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งต่อยอดให้งดงามและใช้ได้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและกาละเทศะมากยิ่งขึ้น เป็นการนำความรู้ใหม่และความรู้เก่ามาสมานกัน เกิดความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ และที่สำคัญคือ เกิดการเรียนรู้และเกิดปัญญาร่วมกันทั้งกลุ่ม นำมาแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องยากๆ ได้สำเร็จ เช่น นำมาแก้ปัญหาการศึกษาได้สำเร็จ

นอกเหนือจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี มีมุมมองว่า แนวคิดการค้นพบความรู้ความชำนาญที่แฝงเร้นในตัวคน เป็นปัญหาการศึกษาของไทยที่มองว่าคนไม่ได้รับการศึกษาแบบทางการจะไม่มีความรู้ ทั้งๆ ที่ความรู้ไม่ได้เกิดเฉพาะจากการศึกษาแบบทางการเท่านั้น แต่เกิดจากประสบการณ์การทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งมีในตัวของทุกคนที่มีความรู้ความชำนาญในการทำงานเรื่องนั้นๆ ถ้าไม่ไปค้นพบหรือไม่ดึงมาใช้ คนๆ นั้นก็จะไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีเกียรติ และไม่ได้ใช้ความสามารถหรือความรู้ฝังลึกในตนให้ก่อเกิดประโยชน์ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้ คือ ต้องเคารพคนทุกคนในฐานะที่ทุกคนมีความรู้ความชำนาญที่แฝงเร้นในตนเพราะมีประสบการณ์จากการทำงาน ต้องใช้ความรู้ฝังลึกที่เกิดจากประสบการณ์ตรงเป็นตัวตั้งเพราะมีคุณค่ามากกว่า ดังนั้น ต้องเปลี่ยนมุมมองการศึกษาใหม่ ต้องยอมรับว่าการศึกษาที่แท้จริงต้องศึกษาจากทุกคนทุกแหล่ง ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะคนที่ได้รับการศึกษาแบบทางการเท่านั้น ทั้งนี้ ความรู้จากประสบการณ์ตรงจะมีคุณค่ามากกว่าความรู้เชิงวิชาการหรือความรู้เชิงทฤษฎีซึ่งอาจจะเป็นความรู้จริง แต่อาจจะใช้งานไม่ได้ ตรงข้ามกับความรู้จากประสบการณ์การทำงานตรงซึ่งเป็นความรู้ที่ใช้ได้จริง เพียงแต่ว่าอาจไม่มีการจดบันทึกเป็นวิชาการ จึงเหมือนกับไม่มีคุณค่า

การนำความรู้ความชำนาญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็เพื่อเพิ่มความรู้ที่ทุกคนมีให้มากขึ้น เป็นการเพิ่มความรู้ของกลุ่ม ซึ่งแสดงว่า การจัดการความรู้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็นกลุ่มเท่านั้น และไม่ใช่นำความรู้เดิมมาใช้ แต่ต้องนำมาปรับ มาประยุกต์หรือต่อยอดให้ง่ายต่อการใช้สอยและให้มีประโยชน์เพิ่มขึ้น เป็นการใช้ความรู้ภายนอก (Explicit Knowledge) เข้ามาเสริมกับความรู้ภายในหรือความรู้แฝงเร้นในตัวคน (Tacit Knowledge) ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เหมาะสม ทันสมัย และปรับใช้ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ความรู้ภายนอกที่เข้ามาใช้ต้องอยู่บนฐานความรู้ภายในหรือความรู้แฝงเร้นในตัวคน เมื่อนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ให้เหมาะสมและใช้ได้จริง จะเกิดนวัตกรรม (innovation) เรียกได้ว่าใช้กระบวนการจัดการความรู้ หากนวัตกรรมไม่เกิดไม่ถือว่าใช้กระบวนการจัดการความรู้

สรุปว่า การจัดการความรู้ต้องเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้เดี่ยวๆ ไม่ถือเป็นการจัดการความรู้ เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งกลุ่ม เมื่อเรียนรู้ร่วมกัน จะนำความรู้ทุกเรื่องมาวางตรงกลาง และทุกคนจะเข้าถึงความรู้นั้น ทำให้เกิดปัญญาร่วมกันทั้งกลุ่ม กลายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การแก้ปัญหาหรือทำสิ่งยากๆ ได้สำเร็จ ซึ่งก่อนจะเกิดปัญญาร่วมกัน ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการดึงความรู้ที่แฝงเร้นในตัวคนออกมาใช้ให้ได้ เกิดการต่อยอดความรู้ นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และเกิดนวัตกรรม

โดยแท้จริง การจัดการความรู้คือการปฏิบัติและต้องปฏิบัติให้ได้ เหมือนกับการขี่จักรยาน อ่านหนังสือเท่าไร อ่านคู่มือเท่าไร หรือดูทีวีเท่าไร ก็ขี่จักรยานไม่ได้ ต้องลองขี่จักรยานจริงๆ พอขี่ได้แล้วจะเกิดความรู้แบบการจัดการความรู้ คือความรู้ที่ขี่จักรยานได้ ถ้าขี่ไม่ได้ ก็ยังไม่ใช่การจัดการความรู้ ต้องฝึกให้ได้ผลจึงเรียกว่าการจัดการความรู้ ตามหลักปฏิบัติ ประการแรกคือ ห้ามเกร็ง ถ้าเกร็งแล้วจะล้ม ประการที่สอง ดูสภาพแวดล้อม พอขี่จักรยานได้จริง จะปล่อยมือก็ได้ ไม่มีรูปแบบ ขี่จักรยานปล่อยมือได้แสดงว่ามีความชำนาญแล้ว ซึ่งมีความชำนาญเพราะมาปรับให้เข้ากับสภาพถนน สภาพอากาศ สภาพลม เป็นต้น การปรุงอาหารก็เช่นกัน คนตำส้มตำให้รสชาติดีก็อยู่ที่ความชำนาญ ต้องหัดตำหัดชิมถึงจะรสชาติดีได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงรู้อย่างเดียวแต่เป็นทักษะที่ทำได้ด้วย เช่นเดียวกับธรรมะของพุทธศาสนา ไม่ใช่มีปริยัติอย่างเดียว ต้องอยู่ที่การปฏิบัติด้วย ถ้าใครรู้ศีล รู้ธรรมะทุกข้อ แต่ไม่สามารถรักษาศีลหรือธรรมะได้ ไม่ถือว่ารู้ศีลหรือรู้ธรรมะ เรียกว่าไม่ได้จัดการความรู้ในเรื่องธรรมะ ฉะนั้น หากใช้การจัดการความรู้ต้องมีการปฏิบัติและปฏิบัติได้ ปฏิบัติไปแล้วก็เกิดความชำนาญ เกิดความรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างในเรื่องนั้นๆ

การจัดการความรู้เพื่อสังคมฐานความรู้

การจัดการความรู้เพื่อสังคมฐานความรู้ หมายความว่าสังคมต้องมีความรู้เป็นฐาน เป็นความรู้แบบการจัดการความรู้ คือความรู้ที่ใช้งานได้ ความรู้ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ ซึ่งตรงกับคำว่าสังคมอุดมปัญญา มาจากแนวคิดของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ว่า ปัญญา หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงความจริงได้ ฉะนั้น สังคมอุดมปัญญาหมายถึงสังคมที่สามารถจะเข้าถึงความจริงได้ ความจริงมีหลายชั้นมาก ถ้าเข้าถึงความจริงไม่ได้ไม่ถือว่ามีปัญญา แต่ถ้าเข้าถึงความจริงได้ไม่ว่าชั้นไหนก็ถือว่ามีปัญญาได้ระดับนั้น

ปัจจุบันสังคมไทยเข้าไม่ถึงความจริงแท้ เป็นแค่ความจริงระดับหนึ่งหรือสิ่งสมมติที่ใช้แทนสิ่งต่างๆ ถ้ากฎหมายหรือสังคมยอมรับก็ใช้ได้ แต่ถ้าไม่ยอมรับไม่ว่าจะไปอยู่ตรงไหนก็ไม่ได้ เพราะเป็นของสมมติ จึงอย่าไปติดกับของสมมติ เหมือนเช่น การมีตำแหน่งทางราชการหรือวิชาการก็เป็นของสมมติ เป็นหัวโขน เมื่อมีหัวโขนก็ต้องใช้ในฐานะที่มีตำแหน่ง แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องถูกถอดออก เป็นตัวตนของเรา เช่นเดียวกับความรู้มีหลายระดับ ต้องรู้ทุกระดับถึงจะเป็นการจัดการความรู้ เมื่อจัดการความรู้ได้ก็ไปสู่สังคมอุดมปัญญาได้

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี มีมุมมองว่า การจัดการความรู้เป็นการจัดวางตำแหน่งความรู้ ทั้งนี้ สิ่งแรกคือความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ในตัวคนที่เกิดจากการทำงานจนมีความชำนาญ จึงจัดวางไว้เป็นฐานล่าง เหมือนการสร้างตึกที่ต้องมีเสาเข็ม มีคาน มีพื้นเป็นฐานราก ส่วนตัวอาคารที่เป็นข้างบนเป็นส่วนต่อยอด ซึ่งฐานรากต้องแน่น อาคารจึงจะอยู่ได้ เปรียบเสมือนความรู้ฝังลึกของแต่ละคนเป็นฐานราก และนำความรู้จากตำรามาเป็นฐานต่อยอดขึ้นไป แต่ที่เกิดปัญหาของการศึกษาในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ได้มีการปฏิรูปการศึกษามากว่าสิบปีแล้ว ก็เนื่องจากการศึกษาไม่ได้นำความรู้ฝังลึกของคนที่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบมาเป็นฐานราก การศึกษาให้ความสำคัญกับความรู้ของคนที่ได้รับการศึกษาในระบบเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การศึกษาให้ความสำคัญกับความรู้จากตำรา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้ฝังลึกของคน จึงไม่มีรากแก้ว ไม่มีฐาน ไม่มีเสาเข็ม ไม่มีคาน สร้างเท่าไหร่ก็พังลงมา เท่าที่เห็นว่าการศึกษายังวิกฤติ เช่น การสอบเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 (O-NET /A-NET) หากมองอย่างนักจัดการความรู้ พบว่า เกิดจากการไม่ได้สร้างรากฐานให้แน่น มีแต่ต่อยอดมากมาย จึงล้มลงมา การจัดการความรู้เน้นตรงรากฐานให้ได้ก่อน นั่นคือ จัดตำแหน่งของความรู้ฝังลึกของคนเป็นฐานรากและต่อยอดความรู้ขึ้นไปไม่เกินฐาน อย่างเช่น ถ้าประเทศไทยต้องการแข่งกับต่างประเทศ ก็ต้องสร้างรากฐานความรู้ให้แน่นเท่านั้นถึงจะต่อยอดเท่าต่างประเทศหรือดีกว่าประเทศคู่แข่งได้ เป็นต้น

สิ่งต่อมาของการจัดการความรู้ คือ ต้องทำให้เกิดจิตสำนึกและเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ โลกในอนาคตจะเกิดปัญหามากมาย ถ้ามนุษย์บนโลกไม่เปลี่ยนจิตสำนึกและกระบวนทัศน์ใหม่ เช่น โลกร้อนขึ้น เพราะคนมีจิตสำนึกและกระบวนการทัศน์ที่ผิด ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากคนมองแยกส่วน มองอะไรเป็นส่วนๆ และแยกตัวเองออกจากส่วนอื่น ไม่ได้มององค์รวม ไม่ได้มองเห็นความเชื่อมโยงหรือเห็นผลกระทบที่ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมองในมิติของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ต้องสร้างจิตสำนึกหรือกระบวนทัศน์ขึ้นใหม่ จึงจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้

ยกตัวอย่าง ชาวนาจะใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกข้าวเพื่อให้ตนเองร่ำรวยขึ้น จะได้ปลดหนี้สินได้ หากต้องการให้ชาวนาเปลี่ยนไปใช้สิ่งอื่น เช่น ใช้ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ก็ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือจิตสำนึกของชาวนาใหม่ หากไม่เปลี่ยนก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่ต้องการให้ชาวนาเปลี่ยนการใช้ปุ๋ย ก็ยังคงทำให้ชาวนามีหนี้สินเหมือนเดิม เช่นเดียวกัน มีตัวอย่างงานวิจัยด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเกษตรกรรมแบบยั่งยืนหรือเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ ก็เพราะมีกระบวนทัศน์แบบเดิมที่จะใช้ปุ๋ยเคมีเท่านั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ให้เห็นผลดีที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกัน การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเกิดไม่ได้บนจิตสำนึกหรือกระบวนทัศน์เก่าที่มองเฉพาะเศรษฐกิจอย่างเดียว จึงต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่เช่นกัน

กระบวนทัศน์เปรียบเหมือนโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ หากจะปรับก็ต้องปรับจากโปรแกรมเดิม ก็คือปรับจากกระบวนทัศน์เดิม จะไปใช้หรือปรับโปรแกรมอื่นไม่ได้ ทั้งนี้ การสร้างจิตสำนึกและกระบวนทัศน์ขึ้นใหม่ สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการใช้กระบวนการจัดการความรู้ เพราะเกิดจากการเรียนรู้และการปฏิบัติ เป็นการเกิดปัญญาที่มาจากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจากของจริง

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้วยการใช้การจัดการความรู้ จะใช้ 2 กระบวนการร่วมกัน คือกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการกลุ่ม นั่นคือ คนที่ต้องการให้ปรับกระบวนทัศน์ใหม่จะต้องเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ (learning process) ซึ่งไม่ใช่การสอน การดูงาน หรือการอบรม แต่จะต้องลงมือทำเองและเรียนรู้จากการกระทำนั้น อย่างไรก็ดี กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ยากถ้าไม่มีกระบวนการกลุ่มเข้ามาสนับสนุน ฉะนั้น กระบวนการเรียนรู้กับกระบวนการกลุ่มจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับกระบวนทัศน์ใหม่

สรุปว่า การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของมนุษย์ได้ และเมื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์แล้วปัญหาต่างๆ ก็จะเปลี่ยนได้จริง การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้วยการใช้การจัดการความรู้จะต้องใช้ 2 กระบวนการร่วมกัน คือ กระบวนการเรียนรู้และกระบวนการกลุ่ม เมื่อมนุษย์เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ เกิดความรู้ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ นั่นคือเกิดปัญญา ที่เป็นความสามารถในการเข้าถึงและเข้าใจสภาพความเป็นจริง ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนตนเองหรือแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป บ่มเพาะเป็นความรู้ฝังลึกในตัวคนที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างสังคมฐานความรู้

การนำการจัดการความรู้หรือ KM ไปใช้: กรณีตัวอย่างการจัดการความรู้ลงสู่โรงเรียนชาวนา

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของมนุษย์ได้ โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการกลุ่มเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดปัญญาที่นำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ มูลนิธิข้าวขวัญจึงได้นำแนวคิดการจัดการความรู้ไปสร้างรูปแบบการจัดการความรู้ในโรงเรียนชาวนา

มูลนิธิข้าวขวัญเริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งขณะนั้นยังอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม (ATA) ต่อมา พ.ศ. 2532 ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาก่อตั้งเป็นองค์กรใหม่ ในนามศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม (Technology for Rural and Ecological Enrichment: TREE) และเมื่อ พ.ศ. 2541 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติภาคสนามในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาของผู้ผลิตและผู้บริโภค

มูลนิธิข้าวขวัญมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอ
บางปลาม้า อำเภออู่ทอง และอำเภอดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 36 เครือข่าย โดยมีกิจกรรม เป้าหมาย และวัตถุประสงค์การดำเนินงานสำคัญๆ เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรหันมาสนใจการทำนาข้าวหรือการทำเกษตรปลอดสารพิษ

กิจกรรมส่วนใหญ่ขององค์กรต้องการให้เกษตรกรและชุมชนมีการเรียนรู้จากความรู้ภายนอก และฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิม พร้อมนำความรู้มาจัดการอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น สานสร้างเครือข่ายของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เห็นคุณค่าและความสำคัญกับเรื่องของวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข การมีสุขภาวะระยะยาว รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นอย่างรอบด้าน

กิจกรรมสำคัญที่มูลนิธิข้าวขวัญมีความภาคภูมิใจคือ การขยายองค์ความรู้เชิงลึกให้เข้าถึงกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายที่มีความพร้อมในการพัฒนาแนวคิดเพื่อการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ นั่นคือ โรงเรียนชาวนา โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ การกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี การปรับปรุงสภาพดิน และการพัฒนาพันธุ์ข้าว และได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเครือข่ายที่สำคัญ คือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจัดการความรู้ภายใต้หลักสูตร 3 หลักสูตร

นอกจากนั้น มีการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรีและเครือข่ายในประเทศ ด้านการเกษตร ในระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรพึ่งตนเองในโลกยุคใหม่ และใช้เกษตรเคมีเป็นบรรทัดฐาน และจัดตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้น เพื่อดำเนินการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวนา โดยวางหลักสูตรร่วมกับเกษตรกร เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกในการลดต้นทุนการผลิต และสามารถพึ่งตนเองได้โดยมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีเป็นสำคัญ

กระบวนการนำการจัดการความรู้ไปใช้ที่โรงเรียนชาวนา ดำเนินการดังนี้

1. การถอดบทเรียนกระบวนการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน หรือการใช้การจัดการความรู้ไปสร้างรูปแบบการจัดการความรู้ในโรงเรียนชาวนา ของมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเริ่มจากโจทย์หรือปัญหา และนำเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ซึ่งเหมือนกับอริยสัจ 4 ใน
พุทธศาสนา เริ่มจากที่ชาวนาใช้สารเคมีในการปลูกข้าว ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี มูลนิธิข้าวขวัญจึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยใช้การจัดการความรู้ในการแก้ปัญหา เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการทำนาแบบอิงกับการใช้สารเคมีทุกประเภท กับการทำนาแบบอินทรีย์ที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายในการลดปัญหา
5 ข้อ คือ การลดต้นทุนและแก้ปัญหาหนี้สิน สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น ชุมชนอยู่เป็นสุข และฟื้นฟูวัฒนธรรมและศักดิ์ศรี  

การดำเนินกระบวนการจัดการความรู้ ได้นำองค์ความรู้เก่าและใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ เช่น การเกษตร วัฒนธรรม ความเชื่อ วิธีปฏิบัติตนของชาวนามาเป็นฐานราก และนำแหล่งเรียนรู้ มูลนิธิ หรือองค์กรอื่นไปเสริมหรือต่อยอดให้พอที่จะไปใช้ทำงานได้ เป็นการเรียนรู้ก่อนทำ เรียนรู้ระหว่างทำ และเรียนรู้หลังทำ ก็จะกลายเป็น 1 รอบของการจัดการความรู้ รอบแรกจะเกิดองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเกิดจากความรู้เก่าและความรู้ใหม่มารวมกัน ทั้งนี้ ความรู้ใหม่นั้นจะเกิดจากการปฏิบัติจริง เป็นความรู้หรือนวัตกรรมที่ไปอยู่ในชุมชน ต่อมาก็จะกลายเป็นความรู้ฝังลึกของชาวนา จากนั้น ดำเนินการจัดการความรู้ รอบที่ 2 ในลักษณะเช่นเดียวกัน และทำไปเรื่อยๆ ซึ่งการจัดการความรู้ไม่ใช่ทำเพียงรอบเดียว แต่ต้องทำไปเรื่อยๆ แต่ละรอบของการจัดการความรู้จะเกิดฐานความรู้ฝังลึกที่เพิ่มขึ้น ลึกขึ้น ขยายขึ้น ประกอบกับถ้าสามารถนำความรู้ใหม่มาเสริมได้มากขึ้นเรื่อยๆ รอบต่อๆ ไปของการจัดการความรู้ก็จะเกิดฐานความรู้ฝังลึกที่ขยายขึ้นไปได้อีก และต่อยอดให้สูงขึ้นไปได้

2. หลักสูตร ในการเรียนของโรงเรียนชาวนา ประกอบด้วย 3 หลักสูตร แต่ละหลักสูตรใช้เวลาทั้งสิ้น 18 สัปดาห์ๆ ละ 3 ชั่วโมง โดยเนื้อหาของหลักสูตรมีดังนี้

2.1 ระดับประถมศึกษา เป็นระดับเริ่มต้น หลักสูตรเน้นการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นการศึกษาโรคแมลงโดยเฉพาะ จึงต้องเรียนรู้เรื่องพืชสมุนไพรที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชและระบบนิเวศน์ในแปลงนา จุดประสงค์ต้องการให้ผู้เรียนยอมรับว่าในการทำนาไม่ต้องใช้สารเคมีในการป้องกันแมลงศัตรูข้าว นอกจากนี้ หลักสูตรยังผ่อนผันให้ผู้เรียนสามารถนำยาฆ่าหญ้าพร้อมปุ๋ยเคมีและเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากท้องตลาดมาใช้ในแปลงนาได้

2.2 ระดับมัธยมศึกษา เป็นหลักสูตรต่อเนื่องหลังจากผู้เรียนได้ประสบการณ์ในระดับประถมศึกษามาแล้ว หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาเป็นการปรับปรุงสภาพดินโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของดินและวิธีการปรับปรุงดินโดยวิธีธรรมชาติ เน้นการเลิกใช้ปุ๋ยเคมี 100% ให้มารู้จักวิธีการผลิตปุ๋ยหมัก การทำปุ๋ยพืชสดแทน แต่เรื่องของยาฆ่าหญ้ายังผ่อนผันให้ใช้อยู่เหมือนเดิม

2.3 ระดับอุดมศึกษา เป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากสองหลักสูตรข้างต้น เป้าหมายในหลักสูตรนี้กำหนดไว้อย่างเข้มข้นว่า ผู้เรียนต้องเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงทุกชนิดอย่างเด็ดขาด รวมถึงเลิกใช้พันธุ์ข้าวที่ซื้อมาจากท้องตลาด เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับเกษตรกรรมยั่งยืน มีวิชาที่เปิดสอนสำหรับผู้เรียน คือ การคัดพันธุ์ข้าวขึ้นมาใช้เอง และที่สำคัญต้องเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีใดๆ เลย

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 224025เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2008 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท