จาริกแดนพุทธภูมิ ตามรอยบาทพระศาสดา ประเทศอินเดีย เนปาล(ตอนที่ 1 พุทธคยา)


                         

ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวประเทศอินเดีย เนปาล โดยเลือกเส้นทางตามรอยบาท พระศาสดา สังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา)    แสดงปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน(กุสินารา)   ตามความตั้งใจที่มีมานานว่าในชั่วชีวิตหนึ่งขอให้ได้ไปจาริกดินแดนพุทธภูมิกราบบาทพระบรมศาสดาสักครั้ง โดยไม่เกรงกลัวความยากลำบาก เพราะใจมีความยินดี เมื่อได้ไปแล้วก็บอกได้ว่ามีความประทับใจและมีความสุขยิ่ง จนแอบคิดลึกๆว่าน่าได้ไปอีกสักครั้ง

       ความสุข ความประทับใจเกิดขึ้นจากการที่เราได้ไปกราบบาทพระบรมศาสดาของเราในสถานที่จริงและเพราะการเดินทางครั้งนี้มีผู้นำคณะที่เต็มไปด้วยความรู้ ความสามารถ นั่นคือ ผศ.ดร. สำเนียง เลื่อมใส ผู้อำนวยการศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ทัวร์ที่มากด้วยศรัทธาและประสบการณ์ที่ทำให้มีความสะดวกสบายตลอดเส้นทาง อีกทั้งพระธรรมฑูตที่ให้ความรู้ถึงเรื่องพระพุทธองค์ในทุกแห่ง ทำให้คณะจาริกแสวงบุญยิ่งศรัทธาและเข้าถึงธรรมะลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งพระสงฆ์ในวัดไทยทั้งในอินเดียและเนปาลก็มีเมตตา สร้างความอบอุ่นให้แก่คณะอย่างถ้วนหน้า

       การเดินทางในช่วงเดือนตุลาคมอากาศร้อนคล้ายประเทศไทย จึงต้องเตรียมร่ม หมวก ผ้ายางสำหรับรองนั่ง หนังสือสวดมนต์ (สองอย่างหลังทัวร์จัดให้)นอกนั้นก็ไม่ต้องเตรียมอะไรเป็นพิเศษ

          จุดแรกที่เดินทางไปถึงคือ พุทธคยา ดินแดนที่   พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พุทธคยาตั้งอยู่ในรัฐพิหาร เมืองนี้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เป็นเมืองชนบท ประชาชนค่อนข้างยากจน เครื่องบินลงที่เมืองคยา ซึ่งเป็นสนามบินเล็กๆ จากสนามบินก็เข้าสู่โรงแรมที่พัก เห็นคนขอทาน   มากมาย ร้องเรียก อาจารย์ อาจารย์ ยื่นมือขอเงิน ผู้เขียนเองก็แปลกใจว่า เขารู้ได้อย่างไรว่าคณะของเราส่วนใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ เมื่อขึ้นรถเพื่อเดินทางไปยังเจดีย์พุทธคยา พระธรรมทูตก็เฉลยให้ทราบว่า ครั้งหนึ่งพระสงฆ์เดินทางมาพร้อมลูกศิษย์ ลูกศิษย์เรียกพระว่าอาจารย์ เขาจึงเข้าใจว่า ต้องเรียกคนไทยทุกคนว่าอาจารย์ เมื่อผู้เขียนไปถึงที่หมายก็พบว่าเจดีย์พุทธคยาสวยสง่างาม อินเดียปฏิสังขรณ์ตลอด  ขณะที่ผู้เขียนไปถึงก็กำลังบูรณะ ที่นี่มีเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์โมริยะ พระองค์เป็นผู้สร้างเสาหินไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่า ณที่แห่งนี้คือสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ พระองค์ประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นที่นี่เป็นต้นที่สี่ ผู้เขียนกราบลงที่แท่นวัชรอาสน์ แท่นที่พระพุทธองค์ประทับจนตรัสรู้ด้วยความปิติ ระลึกนึกถึงกระกรุณาของพระองค์ที่มีต่อชาวโลก ตรัสรู้แล้ว สั่งสอนต่อเพื่อให้ชาวโลกพ้นทุกข์ พ้นวัฏสงสาร ชาวพุทธทุกหนแห่งจึงเดินทางมาที่นี่เพื่อกราบพระบาท ทั้งชาวไทย ศรีลังกา ทิเบต จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ ในขณะที่สวดมนต์ ทำสมาธิใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ บางคนในคณะได้ใบโพธิ์ที่ร่วงหล่นลงมาให้ เป็นที่ยินดีปรีดายิ่ง  เก็บเอาไว้บูชา

       ภายในเจดีย์พุทธคยา มีพระพุทธรูป เรียกว่า พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นตามศิลปสมัยปาละมีพระพักตร์เปี่ยมด้วยเมตตา และมีประวัติที่น่าสนใจยิ่ง ใครมีความทุกข์ โศกเศร้าเมื่อมองเห็นพระพักตร์ก็คลายความทุกข์ โศกเศร้าด้วย คณะของเราได้เข้าไปนมัสการ บูชาและห่มผ้าจีวรใหม่ นอกจากคณะของผู้เขียนแล้ว ยังมีชาวพุทธกลุ่มอื่นๆผลัดกันเข้ามานมัสการอย่างเนืองแน่น ทุกคนที่เจอกันครั้งนี้เป็นมิตรไมตรีกัน ยิ้มให้กัน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธจากประเทศใดก็ตาม

       จากเจดีย์พุทธคยา ผู้เขียนและคณะออกเดินทางไปยังบ้านนางสุชาดา บุตรีคหบดีผู้ถวายข้าวมธุปายาสให้แก่   พระพุทธองค์ พระองค์รับมาฉันแล้วทรงลอยถาดข้าว        ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา บ้านของนางสุชาดาในปัจจุบัน มีเพียงเนินอิฐและดิน ตามประวัติกล่าวว่านางมีปราสาทสามหลัง รอบๆบ้านนางเห็นท้องทุ่งนามีข้าวขึ้นเขียวชอุ่ม จากบ้านนางสุชาดามองเห็นภูเขาลูกหนึ่งไม่ไกลจากที่นี่ บริเวณนั้นคือดงคสิริ สถานที่ที่พระพุทธองค์เคยกระทำทุกรกิริยา พร้อมกับปัจจวัคคีย์ที่คอยดูแล เมื่อพระองค์เห็นว่าหนทางดังกล่าวไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ พระองค์จึงเลิกเสียและกลับมาฉันอาหารเหมือนเดิม ทำให้ปัญจวัคคีย์คิดว่าพระองค์ละเลิกความตั้งใจและมักมากเสียแล้ว จึงหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

       จากบ้านนางสุชาดา ผู้เขียนกับคณะเดินทางด้วยเท้ามุ่งตรงไปยังสถานที่ที่พระพุทธองค์ลอยถาดริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขณะเดินทางสองข้างทางเต็มไปด้วยสวนผักของชาวบ้าน แต่ละต้นอ้วนอวบ น่ากิน ชาวบ้านก็ทำงานอย่างขยันขันแข็ง แต่ละคนมีผิวสีดำอย่างพวกดราวิเดียนทั้งสิ้น ผู้เขียนได้ถ่ายรูปเอาไว้ด้วยความประทับใจ บ้านชาวบ้านแต่ละบ้านเป็นบ้านเล้กๆไม่ใหญ่โต ริมผนังบ้านก็มองเห็นขี้วัวมีลักษณะเป็นแผ่นกลมๆแปะไว้เพื่อเอาไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มาก่อนจึงไม่แปลกใจนัก แต่ดีใจที่ได้เห็นด้วยตาของตนเอง

       เมื่อถึงที่ลอยถาดของพระพุทธองค์ก็นึกถึงประวัติพระพุทธเจ้าที่เคยเรียนว่าที่ตรงนี้พระพุทธองค์ลอยถาดทวนกระแสน้ำ ตามประวัติกล่าวว่า พระองค์ทรงอธิษฐานว่าถ้าได้บรรลุธรรมขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำ(ถ้าแปลตามธรรมาธิษฐานก็แปลได้ว่าพระองค์ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทวนหรือไม่ยอมทำตามกิเลส กิเลสเปรียบเหมือนน้ำที่ไหลลงต่ำหรือตามน้ำ ทวนคือการสวนกระแสกิเลสนั่นเอง) ขณะนี้เราได้มายังสถานที่จริงๆบอกได้ว่ามีความรู้สึกปลื้มปิติอย่างยิ่ง แม่น้ำเนรัญชรายามเดือนตุลาคมมีน้ำน้อย เห็นสันทรายโดยทั่วไป มองไปยังฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามก็เห็นเจดีย์พุทธคยา ตั้งเด่นเป็นสง่าจับตาโดยเฉพาะขณะนี้เป็นเวลายามเย็น

       เมื่อนมัสการสถานที่อันสำคัญนี้แล้ว ผู้เขียนและคณะก็เดินทางต่อไปยังวัดไทยพุทธคยา ที่นี่ได้พบชาวพุทธ ท่านเจ้าอาวาสผู้มีเมตตา เราได้ทอดผ้าป่าที่นี่ ได้ทำบุญในวันนี้บอกได้เลยว่าอิ่มใจจริงๆ เมื่อเสร็จจากทอดผ้าป่าแล้วก็ได้เดินทางเข้าที่พัก เพื่อพักผ่อนจะได้เดินทางไปยังสถานที่ปฐมเทศนาอีกในวันต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 224010เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2008 04:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท