7 วิธีเพื่อบุคลิกดีๆ (น่าคบ น่ารัก ฯลฯ) ตอน 2


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนเรามีเสน่ห์ได้ด้วยบุญเก่า (เมตตาหรือบุญที่ทำด้วยความไม่โกรธทำให้รูปงาม) การแต่งกายดี แต่งพอดี และที่สำคัญคือ บุคลิกภาพผสมผสานกัน ดังคำกล่าวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีที่ว่า "ความงามคือความพอดี"

ท่านอาจารย์เกริกบุระ ยมนาค & พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุลตีพิมพ์เรื่อง "ทำอย่างให้ให้เป็นคนมีเสน่ห์น่าประทับใจ (ตอนที่ 2)" ในนิตยสาร "Gourmet & Cuisine กูรเมท์ แอนด์ ควีซีน (www.gourmetthai.com)" ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง บทความตอนนี้เป็นตอนที่ 2 ต่อจากตอนที่ 1 ครับ

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

คนบางคนน่าคบ น่านับถือ คู่ควรต่อการให้ความไว้วางใจจากคนรอบข้าง... คนเหล่านี้มีอะไรดี ท่านอาจารย์เกริกบุระและพรสรัญกล่าวว่า สูตรทางจิตวิทยาที่ทำให้คนเราน่าคบหรือมีเสน่ห์ได้แก่ สูตร 'A-I-R (แอร์)'

นิตยสารฉบับเดือนตุลาคม 2551 ท่านแสดง 'A' ตัวแรกไว้ 7 ประการแล้ว นิตยสารฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 แสดง 'I' และ 'R' ต่อ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ 

...

'I' คือ 'Interde pendence (อินเทอร์ดีเพนเดนซ์ = พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน = ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน)' ซึ่งเรื่องนี้ท่านอาจารย์สตีเฟน โคเวย์ได้กล่าวไว้ว่า คนเรามีพัฒนาการสำคัญๆ 3 ขั้นตอนได้แก่

(1). dependence (ดีเพนเดนซ์ = พึ่งพาคนอื่น)

  • ช่วงชีวิตที่คนเราพึ่งพาคนอื่นคือ วัยเด็กซึ่งไม่แปลกอะไร ทว่า... เมื่อโตขึ้นมาแล้ว ควรช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ผู้ใหญ่ที่ยังพึ่งพาคนอื่นหรือไม่รู้จักโตมักจะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ไม่รู้จักพอ และแน่นอนว่า ไม่น่าคบ
  • สังคมตะวันออกมีคนที่เป็นผู้ใหญ่หัวใจเด็กมาก คือ โตแล้วก็ไม่ค่อยทำการทำงาน ขอแม่ขอพ่อเป็นประจำ หรือถ้าไม่ขอแม่ขอพ่อก็เรียกร้องอะไรๆ เอาจากสังคม เช่น เดินขบวนประท้วงไม่รู้จักจบจักสิ้น ฯลฯ เนื่องจากต้องพึ่งพิงความสุขจากการเป็น "ผู้รับ (receiving)" หรือมีความสุขจากการ "บริโภค (consumption)"

...

(2). independence (อินดีเพนเดนซ์ = ไม่พึ่งพาคนอื่น / ช่วยตัวเองได้)

  • ช่วงชีวิตที่คนเราช่วยตัวเองได้คือ วัยผู้ใหญ่... ผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือตัวเอง เช่น มีการมีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ ฯลฯ เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
  • ความสุขของคนในชั้นนี้คือ ความสุขจากการ "ไม่รับ (not receiving)"
  • สังคมตะวันตก (ฝรั่ง) พัฒนาไปสู่ขั้นนี้ได้ดีกว่าสังคมตะวันออก ทว่า... การช่วยเหลือตัวเองอย่างเดียวอาจนำไปสู่สภาพ "ตัวใครตัวมัน" ทุกคนต้องแข่งขันแก่งแย่งกัน ทำให้เกิดอาการเครียด เหงา ว้าเหว่ หรือซึมเศร้าได้ง่าย

...

(3). interdependence (อินเทอร์ดีเพนเดนซ์ = ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน / พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน)

  • เมื่อคนเราโตเป็นผู้ใหญ่ ช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่อยู่แบบตัวใครตัวมัน หันมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกิดเป็นชุมชน "คนทำดี" ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมออนไลน์ เช่น gotoknow ฯลฯ หรือสังคมออฟไลน์ (สังคมนอกอินเตอร์เน็ตในชีวิตจริง) จะเกิดการสานต่อความดีอย่างกว้างขวาง ทำให้สมาชิกชุมชน "คนทำดี" เกิดความสุขจากการทำดี เช่น การแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ความรู้ความเข้าใจ ฯลฯ ร่วมกัน
  • ความสุขของคนในชั้นนี้คือ ความสุขจากการแบ่งปัน (sharing) และทำความดีร่วมกัน (doing good together) ทำให้เป็นคนไม่เหงาง่าย ไม่เครียดง่าย และไม่ซึมเศร้าง่าย

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

อาจารย์พรสรัญและอาจารย์เกริกบุระแนะนำวิธีทำข้อ "ไอ (I)" ให้ดีได้แก่

(1). ยอมรับความเห็นของผู้อื่น

  • สาระของการอยู่ร่วมกันฉันมิตรนั้น คือ การยอมรับ "ความต่าง" ของคนรอบข้างให้ได้ เช่น ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น รับฟัง พยายามเข้าใจ (แม้จะไม่เห็นใจก็ควรทำความเข้าใจ) แทรกข้อเสนอแนะนดีๆ เข้าไป ฯลฯ

...

(2). ทำให้คนอื่นดูดี

  • การทำให้คนอื่นดูดีทำได้โดยการกล่าวชมความคิด ผลงาน หรือความสำเร็จของคนอื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง
  • และอย่าลืมแสดงความกตัญญูรู้คุณเมื่อคนอื่นช่วยเหลือด้วยการกล่าวคำขอบคุณ ขอบใจ และตอบแทนความดีผู้มีอุปการคุณทั้งต่อหน้าและลับหลัง

...

(3). แลกเปลี่ยนอย่างพอดี

  • การแลกเปลี่ยนกันอย่างพอดี โดยเน้นการให้และการรับพอประมาณมีส่วนเสริมสร้างมิตรภาพได้ เช่น ลาพักร้อนไปเที่ยวก็มีของฝากติดไม้ติดมือให้คนที่บ้าน หรือคนที่ทำงานบ้าง ฯลฯ

...

(4). ไม่พิพากษา

  • ถึงแม้การได้พิพากษาคนอื่นว่า เลว ชั่ว ช้า หรืออะไรอีกสารพัดจะเป็นของที่น่าสะใจ ทว่า... ถ้าหลีกเลี่ยงการพิพากษาคนอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้โอกาส ไม่ทำให้คนที่พลาดพลั้งกลายเป็น "หมาจนตรอก" มักจะช่วยให้มิตรภาพยั่งยืนขึ้นได้
  • คำกล่าวที่ว่า "ไม้ล้มอย่าข้าม" ยังคงใช้การได้ดีเสมอ

...

(5). แสดงออก

  • การแสดงออกซึ่งความรู้สึกออกมาพอประมาณจะช่วยให้คนรอบข้างเข้าใจว่า "เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร" มีส่วนช่วยลดความเข้าใจผิดกันได้ เช่น เรื่องบางเรื่องที่เพื่อนๆ ไม่ถือสา ทว่า... เราถือสา เรื่องแบบนี้เราอาจจะขอความช่วยเหลือเพื่อน ไม่ให้พูดกระทบเราได้ ฯลฯ

...

  • เพื่อนที่ดีมักจะไม่อาศัยความสุขจากความทุกข์ของคนอื่น เช่น ไม่อาศัยความสุขจากการพูดกระทบ กระแทกเพื่อน ฯลฯ... การแสดงออกพอประมาณโดยไม่ใส่อารมณ์รุนแรงออกไปมีส่วนช่วยให้คนเราเข้าใจธรรมชาติของกันและกันมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้เรา "เลิกคบ" เพื่อนเลวๆ ที่ชอบความสุขจากการทำร้ายคนอื่นออกไปจากชีวิต

...

  • และอย่าลืมว่า ถ้าเราทำอะไรพลาดพลั้งไป... ก็ต้องกล้าพอที่จะขอโทษ ขออภัย ขอขมา หรือถอนคำพูดที่ผิดพลาด เพื่อรักษามิตรภาพดีๆ ไว้ให้นาน
  • ครูภาษาไทยของผู้เขียนสอนไว้ว่า คนไทยชอบคนที่พูดคำว่า "ขอบคุณ ขอบใจ ขอโทษ" เป็น เรื่องนี้ยังคงใช้ได้ดีเสมอ

...

  • การขอโทษนั้น... ถ้าขอโทษหลายๆ ครั้งได้ก็จะเป็นการดี เนื่องจากจะเป็นเครื่องแสดงให้คนรอบข้างรับรู้ว่า เราสำนึกผิดจริงๆ
  • เมื่อทำอะไรผิดพลาดควรกล้าที่จะขอโทษ และแสดงความมุ่งมั่นออกมาว่า เราจะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก หรือทำความดีชดเชยให้ (บาลี = ทัณฑกรรม) เช่น ถ้าเราทำพื้นสกปรก... แม้เราจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานก็ไม่ควรนิ่งดูดาย ควร "ลงไม้ลงมือ" เช็ดถูทำความสะอาดพื้นเสียหน่อย แบบนี้จะ "ได้ใจ (ชนะใจ)" คนรอบข้างเพียบเลย ฯลฯ

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

ต่อไปเป็นตัว "อาร์ (R)" คือ "แรพพอร์ท (Rapport)" หรือไมตรีจิต ส่วนนี้จะมีทั้งส่วนของอาจารย์ทั้งสองและส่วนที่ผู้เขียนเสริมเข้าไปปนกันได้แก่

(1). แสวงหาจุดร่วม

  • คำขวัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ได้ดีเสมอคือ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" นั่นคือ การสังเกต ใส่ใจว่า คนรอบข้างหรือคนอื่นชอบอะไร-ไม่ชอบอะไร... เราจะได้พูดเรื่องที่คนอื่นชอบ หรือที่ดีกว่านั้นคือ เรื่องที่คนอื่นชอบด้วยเราชอบด้วย (ไม่ใช่เรื่องที่เราชอบฝ่ายเดียว)

...

  • อย่าลืมว่า คนที่พูดย้ำแต่เรื่องที่ "ข้าฯ ชอบคนเดียว" เป็นคนที่น่าเบื่อที่สุด... พระหลายรูปเล่าว่า ทุกวันนี้คนชอบพูดแต่เรื่องของตัวเอง ไปวัดก็ไปบ่นให้พระฟัง บ่นๆๆๆๆ แล้วพอสะใจก็บอกพระว่า ไม่ว่างต้องรีบไป (สำนวนบาลีว่า "มีกิจมากมีกรณียะมาก" หรือ 'busy') ว่าแล้วก็ออกจากวัดไปทันที การไปวัดแบบนี้คล้ายกับการนำขยะอารมณ์ไปโยนใส่พระ ซึ่งแม้แต่พระก็ไม่ชอบ

...

(2). สงวนจุดต่าง

  • ควรสังเกตสังกาว่า คนอื่นหรือคนชอบข้างไม่ชอบอะไร แล้ว "สงวนจุดต่าง" ไม่พูดพล่ามแต่เรื่องที่คนอื่นไม่ชอบ
  • ตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่องหมากับแมว... คนที่ชอบน้องหมา ส่วนใหญ่จะไม่ชอบแมว ตรงกันข้ามคนที่ชอบน้องแมว ส่วนใหญ่จะไม่ชอบน้องหมา ที่ชอบทั้งสองอย่างนั้นหาได้ยากหน่อย เวลาจะพูดกับใครก็ควรสนใจว่า คนอื่นชอบหมาหรือชอบแมว จะเข้าหาได้ถูกลู่ถูกทาง

...

(3). หลีกเลี่ยงดีกว่าต้านทาน

  • ช่วงเวลาที่คนรอบข้างขมขื่น หรือกำลังโกรธจัดเป็นเวลาที่ควรรับฟัง และหลีกเลี่ยงการใช้เหตุผลไว้ก่อน เนื่องจากช่วงนี้คนอื่นกำลังต้องการระบาย "ความรู้สึก" ไม่ใช่ต้องการ "ความรู้" จึงไม่ควรรีบร้อนสอดแทรกเหตุผลสวนเข้าไปทันที

...

  • เมื่อคนรอบข้างเย็นลงแล้ว... ถึงเวลานั้นการใช้เหตุผลได้ เรื่องนี้อาจารย์กังฟูกล่าวไว้ว่า "หลีกเลี่ยงดีกว่าต้านทาน" หรือโบราณกล่าวไว้ว่า "น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง"
  • ห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นแห่งหนึ่งเคยจ้างคนหูหนวกไว้รับฟังข้อเรียกร้อง ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ทว่า... ได้ใจ (ชนะใจ) ลูกค้าเพียบเลย เนื่องจากลูกค้าได้ระบายอะไรๆ ออกไป และคนหูหนวกก็ไม่เดือดร้อนอะไรด้วย

...

  • ถึงแม้ทุกวันนี้จะไม่มีใครจ้างคนหูหนวกมารับฟังอะไรกันอีกแล้ว ทว่า... การทำตัวเป็นคน "ลมเพลมพัด" ปล่อยให้เรื่องบางเรื่องผ่านไปเสียบ้างก็ยังดีกว่าการนำตัวไปขวางน้ำ (อารมณ์) ที่กำลังร้อนแรง

...

(4). ช่วยเหลืออย่างพอดี

  • การฝึกตัวเราให้เป็นคนมีความสุขจากการ "ให้" บ้างเป็นครั้งคราวจะช่วยให้เราเป็นคนน่าคบมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรหมั่นสังเกตว่า เรามี "เพื่อนกิน" หรือมีเพื่อนประเภท "ขี้ขอ" อยู่รอบข้างหรือไม่ การสังเกตแบบนี้จะช่วยให้เราเลิกคบเพื่อนเลวๆ ได้

...

  • ธรรมชาติของคนขี้ขอนั้นเป็นคนมักมาก (มีความอยากมาก) และอกตัญญู... ถ้าคิดจะช่วยเพื่ออนุเคราะห์ก็ให้เถิด ทว่า... ถ้าเลือกได้ควรเลิกคบเสียเลยดีกว่า เพราะการคบคนเลวเป็นอัปมงคล หรือเป็นเหตุแห่งความเสื่อมโดยส่วนเดียว

...

(5). ปฏิเสธให้เป็น

  • การให้ความช่วยเหลือ "เกินพอดี" ไปมักจะทำให้คนอื่นไม่รู้จักโต ไม่รู้จักช่วยตัวเอง เปรียบคล้ายเด็กที่ถูกตามใจจนเคย การช่วยเหลืออย่างพอดีจะช่วยให้เราน่าคบ และไม่ถูกฝูงแร้งกา (คนขี้ขอ) เบียดเบียนมากเกินไปจนชีวิตไม่มีโอกาสพบความสงบสุข

...

(6). นอนให้พอ

  • การศึกษาที่ทำในทหารผ่านศึกสงครามอิรัก-อาฟกานิสถานพบว่า คนที่นอนไม่พอมีความเสี่ยง (โอกาสเป็นโรค) ซึมเศร้า เครียด หรือฆ่าตัวตายสูงขึ้น จึงควรนอนให้พอเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นคนเจ้าอารมณ์ ซึ่งทำให้เป็นคนไม่น่ารัก (ผู้เขียนมีข้อเสียตรงนี้มากเป็นพิเศษ คือ ถ้านอนไม่พอก็จะหงุดหงิดง่าย)

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีบุคลิกดี (เป็นน่าคบ น่ารัก ฯลฯ) ไปนานๆ ครับ

...

ขอแนะนำ                                                           

  • ขอแนะนำให้อ่าน "ตอนที่ 1" (บทความนี้เป็นตอนที่ 2)

ที่มา                                     

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์เกริกบุระ ยมนาค & พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล > ทำอย่างให้ให้เป็นคนมีเสน่ห์น่าประทับใจ (ตอนที่ 2) > Gourmet & Cuisine กูรเมท์ แอนด์ ควีซีน (www.gourmetthai.com) > Issue 100. November' 08. หน้า 198. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 18 พฤศจิกายน 2551.

...

หมายเลขบันทึก: 223890เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

จะพยายามทำตามนี้ให้ได้หลายๆข้อค่ะ

เพื่อจะได้เป็นคนน่ารัก น่าคบหาสมาคมด้วย

สวัสดีค่ะ

ดูแลสุขภาพด้วยค่ะ

ที่ภาคใต้ฝนตกทุกวันเลยค่ะ

ขอขอบคุณ... คุณมารียา

  • ข่าว TV บอกว่า พายุหรือความกดอากาศต่ำเข้าไทยช่วงนี้ครับ

สวัสดีค่ะ

  • เป็นเรื่องดีที่ต้องฝึกปฏิบัต
  • ให้กลายเป็นคุณลักษณะติดตัว
  • มีบุคลิกภาพงาม
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์ครูคิมเช่นกันครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท