Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๘)_๒


การสร้างชุมชนนักปฎิบัติของศิริราช
         หลังจากกำหนด domain เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการกำหนดคุณสมบัติสมาชิกที่จะเข้าไปอยู่ในdomain แต่ละ domain ซึ่งจะต้องเป็นผู้ปฎิบัติในเรื่องนั้น จริงๆ และรับจำนวนจำกัดเนื่องจากศิริราชมีบุคคลากรจำนวนมากหากจะจัดให้มีวงแลกเปลี่ยนต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ จำนวนมาก ซึ่งในการจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนแต่ละครั้ง ต้องอยู่ในจำนวนที่ facilitator และสถานที่รับได้ สำหรับรูปแบบการแลกเปลี่ยนนั้น จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเดือนละ 2 ครั้ง ในช่วงเวลา 12.30 -14.00 น. และเมื่อมาพบกันครั้งต่อไป ก็จะมีการพูดถึงความรู้ว่าได้อะไรไปบ้าง นำไปใช้อย่างไร ได้ผลหรือไม่อย่างไร สำหรับ facilitator ก็จะแลกเปลี่ยนกันในวงแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกันว่าจะจัดการอย่างไรกับคนที่ไม่พูด จัดการอย่างไรกับคนที่พูดมากเกินไป
         คุณสมใจ เนียมหอม  กล่าวว่า การทำการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลศิริราชจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ร่วมโครงการฯ ก่อนว่ากิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้จะ ไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีสคริป ไม่มีตัวแทนและการมาพบกันครั้งต่อไปก็จะเริ่มให้ผู้ปฏิบัติเล่าถึงการปฏิบัติงานที่เขาทำจริง โดยให้เล่ามาจากใจ ฉะนั้นบทบาทของ facilitator จะต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยคุณสมใจ ยกตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ซึ่งในการเตรียมความพร้อมในส่วนของพยาบาลจะต้องเตรียมผู้ป่วยทั้งทางด้านสังคม ร่างกาย จิตใจ แต่ปัญหาก็คือจะเตรียมอย่างไรในเวลาจำกัดเพียง 5 นาที ในกรณีผ่าตัดฉุกเฉิน ฉะนั้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะนำบุคคลากรที่ปฏิบัติจริงมาแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคนทำอย่างไรกันบ้างในช่วงเวลา 5 นาที คนที่เล่าก็จะเล่าว่า 5 นาทีทำได้ โดยขณะที่โกนขนหน้าท้องไปก็พูดไป บางคนก็เสริมว่าระหว่างลงลิฟท์กับคนไข้ก็พูดได้ ซึ่งกว่าจะถึงห้องผ่าตัดก็จะสามารถเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยได้ครบ
         ทั้งนี้คุณสมใจ กล่าวด้วยว่า facilitator จะต้องย้ำว่าเมื่อได้วิธีการที่ดีแล้วทุกคนต้องลองนำไปใช้ดู แล้วกลับมาเล่าอีกครั้งว่าที่ทำไปได้ผลอย่างไร บริบทต่างกันหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการทบทวนและสำรวจซ้ำอีกครั้ง เมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งต่อไป บางคนก็จะมีประเด็นที่เพิ่มเติมเมื่อเขาได้ทำแล้วเห็นข้อควรปรับปรุง หรือควรเพิ่มเติมเทคนิคอย่างไรบ้าง เป็นต้น 

คว้าความรู้จากภายนอกมาใช้ประโยชน์ได้จริง
         นอกจากนี้ยังพบว่าในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในแต่ละครั้งได้มีการนำความรู้จากตำรา และความรู้จากภายนอกเข้ามาเพิ่มศักยภาพในการแลกเปลี่ยนความรู้กันด้วย เช่นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแผล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ในการดูแลแผลมามาก แต่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็ยังมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องการเลือกน้ำยาล้างแผล ซึ่งแต่ละคนก็จะมีตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง แต่ในการแลกเปลี่ยนครั้งแรกไม่พบข้อยุติในการเลือกใช้น้ำยา ผลการแลกเปลี่ยนจึงสรุปว่าให้แบ่งกลุ่มกันกลับไปค้นความรู้ข้างนอกแล้วกลับเข้ามาคุยกันอีกครั้งว่าจะเลือกอย่างไร และมีการไปสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ แล้วก็มาให้ความคิดเห็นหลังจากนั้นก็นำไปปฏิบัติแล้วก็มาเปรียบเทียบผลว่า ผลการรักษามีความแตกต่างกันอย่างไร  แล้วเขียนเป็นคลังความรู้ไปเผยแพร่ในเว็บไซด์ได้เนื่องจากเป็นความรู้ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว
         จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของโรงพยาบาลศิริราชในการก้าวสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นี้แม้จะยังไม่บรรลุเป้าหมายใหญ่ แต่กระบวนการจัดการความรู้ที่โรงพยาบาลศิริราชนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายนี้ ได้ก่อให้เกิดความสำเร็จเล็กๆ (ซึ่งความจริงไม่เล็ก) ระหว่างทาง มีความสำเร็จทั้งที่มองเห็น และมองไม่เห็น เช่นองค์กรมีชื่อเสียงมากขึ้นกระทั่งเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานด้าน การจัดการความรู้, มีความรู้ที่เกิดจากแนวการปฏิบัติจริงทั้ง 17 CoP ขนไข้ได้รับการบริการดีขึ้น ที่สำคัญบุคลากรทำงานหนักแต่กลับไม่บ่นและมีความสุขกับการได้ทำงาน
         ดังนั้น“การจัดการความรู้”ในบริบทของโรงพยาบาลศิริราช จึงเป็นแนวคิดในการบริหารองค์กรแบบใหม่ ซึ่งโรงพยาบาลศิริราชได้นำมาต่อยอดและเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการในการจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กรที่เหมาะสม กับระบบบริหารและวัฒนธรรมขององค์กร สามารถนำความรู้ในองค์กรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะพัฒนาไปเป็นองค์กรเรียนรู้อย่างแท้จริงในอนาคต”
    

ติดต่อ งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงพยาบาลศิริราช เลขที่ 2 ตึกผู้ป่วยนอกเก่า ชั้น 3
ถนนพรานนก แขวงศิริราช  เขตบางกอกน้อย กทม.  10700
โทรศัพท์ 02-419-9009 ,โทรสาร 02-412-6445
E-mail :
[email protected]
www.si.mahidol.ac.th/km

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22342เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2006 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท