One day learning ที่อำนาจเจริญ (๒)


การให้ความรู้กับผู้ป่วยทำได้ทุกที่ ผู้ป่วยอยู่ที่ไหนก็ตามไปได้

ตอนที่

เวลา ๑๑.๓๐-๑๒.๑๕ น. ดิฉันและ ภก.เอนก ทนงหาญ ช่วยกันบรรยายและเล่าเรื่องการสนับสนุนการจัดการตนเองและการให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยเบาหวาน ทำเวลากันได้เร็วแบบไม่น่าเชื่อ

 

ผู้เข้าอบรมอีกมุมหนึ่ง

คุณเอนกบอกว่าการให้ความรู้กับผู้ป่วยทำได้ทุกที่ ผู้ป่วยอยู่ที่ไหนก็ตามไปได้ มีภาพแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าในแต่ละที่ เช่น ใน OPD เวลาเยี่ยมบ้าน ในชุมชน รวมทั้งในค่ายเบาหวาน ทำได้อย่างไรบ้าง ที่สำคัญถ้าผู้ป่วยไม่พร้อมไม่รับ ไม่ต้องทำ (ให้ความรู้) ปัจจุบันการให้ความรู้เป็นกลุ่มที่ OPD ทำน้อยลง แต่ทำ self-help group มากขึ้น ที่คลินิกเท้าก็สอนเฉพาะเรื่อง ผู้ป่วยมีเชื้อราที่เท้าก็สอนเรื่องเชื้อรา สามารถแทรกการให้ความรู้ได้ทุกๆ ที่ เห็นภาพการผสมผสานกิจกรรมการให้ความรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการปกติ

การให้ความรู้ที่ สอ. เดิมคิดว่าเอาคนที่น่าเชื่อถือมาสอนจะดี ปรากฎว่าคนหลับหมด ทีหลังเอาเจ้าหน้าที่ สอ.สอนเองกลับดีกว่า การเยี่ยมบ้าน การออกชุมชน เป็นโอกาสดีเลย เอาชมรมต่างๆ มาเล่าเรื่องก็เป็นการสอนได้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่ม

คุณอเนกเล่าเรื่องการจัดค่ายเบาหวาน ๒ วัน กิจกรรมวันแรกเป็นการ “ลองผิด” วันที่ ๒ เป็นการ “ลองถูก” ให้รู้ว่าถ้าจะทำจริงๆ เช่น เรื่องอาหาร ต้องทำอย่างไร การคิดรูปแบบการให้ความรู้คิดให้ง่ายๆ สนุกไว้ก่อน ความรู้ทีหลัง Staff คนไหนถ้ายังไม่มีความสามารถด้านการสอน ให้ไปทำอย่างอื่น การสอนใช้รูปให้มาก ไม่ใช้ตัวหนังสือ กิจกรรมก็ทำให้ง่าย เช่น เรียงความหวานของอาหารแทนเรื่องอาหารแลกเปลี่ยน หมอดูลายเท้า ปาเป้าหมาย ฯลฯ ได้รู้ว่าพอพูดถึงของหวาน ชาวบ้านมักเข้าใจว่าของหวานเป็นขนมที่เป็นถ้วยๆ เอาอาหารจากตลาดมาจัดกิจกรรมให้เขาเรียนรู้ จัดอาหารแบบโต๊ะจีนแต่ใช้อาหารลาว ให้เขากินของที่เขากินอยู่เดิม แต่ขอให้ลดลง

เราพักรับประทานอาหารกันเมื่อเวลาประมาณ ๑๒.๑๕ น. อาหารกลางวันมีแกงจืด ปลานึ่ง ผัดผัก ส้มตำ (ลาว) ตำแตง (+ไข่ต้ม) เสียดายที่ไม่มีข้าวเหนียว ปิดท้ายด้วยผลไม้ แอ๊ปเปิ้ล และแตงโม ช่วยลดความเผ็ดของส้มตำได้ดี

ภาคบ่ายเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ ๔ ฐานๆ ละ ๒๐ นาที
ฐานที่ ๑ การคัดกรองเบาหวาน ผู้เข้าอบรมได้รู้จักแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานของ รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร เรียนรู้วิธีการตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองจากเลือดปลายนิ้ว ดิฉันและทีมงานบริษัทจอห์นสันฯ รับผิดชอบ ผู้เข้าอบรมหลายคนได้ตรวจเลือดตนเองในวันนี้เป็นครั้งแรก

ฐานที่ ๒ การตรวจและดูแลเท้า รับผิดชอบโดยน้องหงา พเยาว์ ปิยะไพร และคุณอุทัยวรรณ จาก รพร.ธาตุพนม ที่ทั้งคุยให้ฟัง ทำให้ดู และให้ลองทำเอง น้องหงาได้ขอยืม podoscope ของ รพ.อำนาจเจริญมาสาธิตให้ดูด้วย

ฐานที่ ๓ กิจกรรมการให้ความรู้ผ่านเกมปาเป้าและเกมโบว์ลิ่ง+ใบ้คำ มีคุณอเนกและทีมงานบริษัทจอห์นสันฯ รับผิดชอบ ฐานนี้ส่งเสียงดังตลอด ฐานอื่นๆ ต้องพยายามส่งเสียงแข่ง แต่ผู้เข้าอบรมก็ไม่วอกแวก ตั้งใจและร่วมมือในการทำกิจกรรมและเรียนรู้ทุกฐานอย่างดีมาก

ฐานที่ ๔ การตรวจตา มีคุณเรียมรัตน์ รักเสมอวงศ์ จาก สสจ.อุบลราชธานี มาเล่าเรื่องราวงานตรวจภาวะแทรกซ้อนทางตาที่จังหวัดอุบลราชธานีดำเนินการอยู่

ดิฉันไม่มีโอกาสถ่ายภาพกิจกรรมของแต่ละฐาน เพราะต้องประจำฐานที่ ๒ ไปไหนไม่ได้ ภก.นรเทพ เอี่ยมแก้ว ผู้จัดการของทีมจอห์นสันฯ ซึ่งทำหน้าที่กำกับเวลา ได้เล่าบรรยากาศและกิจกรรมของแต่ละฐานให้ฟัง คุณนรเทพชื่นชมฐานเท้ามากว่ายอดเยี่ยมจริงๆ

ทุกฐานรักษาเวลาได้ดีมาก จบกิจกรรมได้ในเวลา ๑๕.๐๐ น. พักรับประทานอาหารว่างอีก ๑๐ นาที จำนวนผู้เข้าอบรมลดลงไปบ้าง ทราบมาว่าบางคนกลับไปขึ้นเวร แต่ถามในห้องบอกว่าวันนี้มีผู้เข้าอบรมเหลืออยู่มากกว่าการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา

ช่วงสุดท้ายดิฉันเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประชุมถามคำถาม มีหมอจิ้นและคุณอเนกช่วยตอบคำถามด้วย ต่อท้ายด้วย AAR ผู้เข้าประชุมลุกขึ้นมาตั้งคำถามและ AAR ได้อย่างไม่เคอะเขิน บางคนสารภาพว่ามีความคาดหวังเพียงได้มาพักผ่อน เปลี่ยนบรรยากาศจากที่ทำงาน แต่มาแล้วได้ความรู้ อยากให้ครั้งต่อๆ ไปให้ไปจัดประชุม/อบรมนอกสถานที่บ้าง ห้องประชุมนี้มาบ่อยแล้ว

เลิกประชุมแล้วมีผู้เข้าอบรมคนหนึ่งมาบอกเรื่องที่ไม่ง่วงไม่หลับ ทีแรกฟังแล้วงงที่มาบอกว่าตนเองเป็น “ราชินีหมอนทอง” แต่ครั้งนี้ไม่หลับ

 

ทีมวิทยากรและคุณทิฆัมพร (ขวาสุด) ผู้รับผิดชอบโครงการ

ดิฉันมองเห็นโอกาสที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร จะทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายได้ เพราะจากที่ผ่านมาเมื่อไปจัดประชุม/อบรมที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง จังหวัดใกล้เคียงจะขอส่งคนของตัวมาร่วมด้วยเสมอ และยังสามารถเชิญคุณอเนกและทีม รพร.ธาตุพนมมาช่วยได้ ฝากหมอจิ้นและคุณเรียมรัตน์ช่วยสานต่อด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 222665เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2008 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์ อ่านแล้วเห็นภาพและรู้สึกไปกับอาจารย์ด้วยเลยค่ะ

นุชไม่ได้เข้าG2Kมานานมากเค่ะ เพิ่งจะเข้ามาอ่านของอาจารย์เป็นเรื่องแรกค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์นุช

หายหน้าไปจาก G2K นานเลยนะคะ ตามไปเยี่ยมความคืบหน้าในบล็อกหลายครั้งแล้วค่ะ

ตอนนี้มีงานใหม่เข้ามาเป็น KM สุขภาวะชุมชนภาคใต้ ระยะเวลา 1 ปี อยากชวนอาจารย์นุชมาช่วย ไม่ทราบสะดวกไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท