ห้องประชุมและอุปกรณ์ กับชุมชนและองค์กรเรียนรู้


"....การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organizatio : LO) และการขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning Community : LC) จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบและโครงสร้างทางกายภาพเล็กน้อยๆนี้ด้วยเช่นกัน มองในด้านการพัฒนาการเรียนรู้และมิติการศึกษาเรียนรู้เพื่อการพัฒนา เรื่องห้องประชุมและอุปกรณ์ ก็จัดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ..."

            การจัดการกลุ่มผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ให้กลายเป็นพลังกลุ่มเรียนรู้  จะเป็นแนวหนึ่งของการจัดองค์กรแบบพลวัตร และเป็นการนำเอาความเป็นชุมชนมาบูรณาการกับวิธีขององค์กรจัดการแบบสมัยใหม่

ชุมชนเรียนู้และการจัดองค์กรเรียนรู้

           รูปแบบอย่างนี้ การทำงานในแนวประชาคม และประชาสังคม จัดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของชุมชนแห่งการเรียนรู้ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ สมาชิกของกลุ่มก้อนมีโครงสร้างการรวมตัวกัน  ด้วยการปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ร่วมสร้างค่านิยม สำนึกความเป็นส่วนรวม และกรอบการจัดวางตนเองในกลุ่มร่วมกัน

           มีมิติของจิตใจ ความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์ และสุนทรียภาพของการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกัน ทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในสิ่งที่ต้องการ  ได้สุขภาวะ  พร้อมไปกับได้ความเติบโตและงอกงามทางจิตวิญญาณ 

           องค์กรที่เป็นทางการทั้งในภาครัฐ  เอกชน และภาคประชาสังคม ในปัจจุบัน  ให้ความสนใจและบูรณาการแนวดำเนินการอย่างนี้เข้าไปในองค์กรอย่างแพร่หลายพอสมควร ทำให้การงาน การดำเนินชีวิต สุขภาพและความสุข  รวมไปจนถึงการมีมิติสังคมและวัฒนธรรมในองค์กร  ผสมผสานและกลมกลืนอยู่ด้วยกัน  ลดวิถีแยกส่วน และยกระดับความเป็นจริงของสังคมให้เข้าสู่ความซับซ้อนที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากยุคอดีต

           เป็นแนวการพัฒนาองค์กรที่ส่งเสริมให้การทำงาน การดำเนินชีวิต การพัฒนามิติทางจิตวิญญาณของมนุษย์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคม ไปด้วยกัน 

ผสมผสานการมีส่วนร่วม เข้าสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้

           รูปแบบการประชุม การจัดการเรียนรู้ และการศึกษาอบรม เพื่อบูรณาการมิตินี้เข้าไปในงานประจำที่องค์กรต่างๆดำเนินการอยู่  ก็เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนองค์กร  ให้เกิดพัฒนาการในมิตินี้เพิ่มขึ้นมาได้

           การจัดห้องประชุมและอุปกรณ์  เป็นเรื่องเชิงเทคนิคมากๆเรื่องหนึ่ง ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยและทำไปอย่างเป็นงานประจำแบบเดิมๆ  แต่สามารถทำขึ้นใหม่ให้เป็นปฏิบัติการเชิงความคิดและสร้างการเรียนรู้เชิงกระบวนการให้เกิดขึ้น  เพื่อทำให้การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน  มีพลังการมีส่วนร่วม และเกิดมิติการเรียนรู้ทางสังคมขึ้นมาแทนโครงสร้างเชิงอำนาจภายในองค์กรจัดการเล็กๆ 

           ทำให้คนเกิดการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ  ได้วิธีคิดและความมีจิตใหญ่  ซึ่งรูปแบบที่เป็นทางการมักลดภาวะการเรียนรู้มิติดังกล่าวลงไปมาก 

            ทีมจะเก่งในการทำงานและมีบทบาทร่วมกัน  ซึ่งบางเรื่องที่เหมาะสมก็จะเกิดขึ้นมากกว่ารูปแบบการตั้งเป็นคณะกรรมการแบบแข็งๆ  พร้อมกับเกิดมิติการได้รับการกล่อมเกลาจากกระบวนการทางสังคมซึ่งมีพลังที่สงบเย็น  มากกว่ารูปแบบที่ก่อให้เกิดพลังกดดันและบีบคั้นจากกลุ่ม  ทำให้มีสำนึกทางสังคม  ได้ใช้วิจารณญาณ  สามารถเชื่อมโยงงานขององค์กรเข้ากับจุดหมายเชิงอุดมคติของสังคม องค์กรบริการสาธารณะสะท้อนและเชื่อมโยงกับภาคสังคมมากยิ่งๆขึ้น

            ผมมีโอกาสในการออกแบบและปรับปรุงห้องประชุมขนาดต่างๆ ขององค์กร  ก็มักจะผสมผสานมิตินี้เข้าไป เพราะสังเกตว่า ห้องประชุม สภาพสถานที่  และการจัดอุปกรณ์ต่างๆ โดยทั่วไป  มักไม่ละเอียดอ่อนกับองค์ประกอบทางด้านนี้  จึงมักเน้นการจัดแบบส่งเสริมโครงสร้างที่เป็นทางการ  เต็มไปด้วยเงื่อนไขให้เกิดโครงสร้างเชิงอำนาจ  คำนึงถึงการกักผู้คนให้อยู่เป็นสัดส่วน  ควบคุมให้อยู่ในภาวะภายนอกเหมือนๆกัน

            ผู้คนเมื่อก้าวเข้าไปก็จะรู้สึกได้ถึงพลังควบคุม และคุยกันเพื่อสร้างข้อตกลงได้ง่ายๆเร็วๆ เหมือนกับได้งาน แต่ออกไปทำในชีวิตจริงไม่ค่อยได้  สภาพห้องไม่เอื้อต่อบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมพลังการปรึกษาหารือ  มีเครื่องไม้เครื่องมือมากมายอย่างที่ควรจะมี แต่ก็มีเพื่อเรียกว่ามีอย่างทันสมัยไปอย่างนั้น ไม่มีพลังต่อการใช้เพื่อการเรียนรู้ ไม่เป็นประธาน หรือปัจจัยหลักต่อกิจกรรมทางปัญญาของกลุ่มคน

บางบทเรียน ขององค์กรจัดการเรียนรู้นานาชาติ

            หลายคนที่ได้ใช้ห้องประชุมที่ทำงานผม รวมทั้งคนในองค์กร มักให้การประเมินกลับที่ดี  แต่เบื้องหลังการถ่ายทำนั้น เรื่องพวกนี้เราทำกันอย่างมีที่มา มิใช่เรื่องบังเอิญ และปล่อยให้เป็นเรื่องเล็กๆน้อย ไปตามยถากรรม โดยใช้การคิดสร้างสรรค์เป็นกลุ่ม (Creative Group) เหมือนกลุ่มทำงานสร้างสรรค์สื่อ ศิลปะ และงานจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ชอบใช้

  •  บอร์ดและแหล่งดิสเพลย์ มีบอร์ดเยอะๆ หลากหลาย และทำให้ผนัง มีสภาพที่ดิสเพลย์งาน เพื่อทำงานระดมความคิดได้ง่ายๆ  ห้องประชุมและอบรมส่วนมาก มักคำนึงถึงการตบแต่งให้หรูหรา ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ดึงอารมณ์ความหรูหราฟุ่มเฟือยและให้ความสะดวกสบาย มาเป็นประธาน ไม่ออกแบบโดยคำนึงถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนที่แตกต่างและเน้นกระบวนการเรียนรู้ ให้เป็นประธาน
  • รูปแบบการกระจายเสียงในห้อง มีระบบเสียงที่กระจายเสียงโดยใช้ระดับเสียงที่ไม่ดังและใช้ลำโพงเข้าใกล้ผู้คน  ซึ่งจะเพิ่มพลังความเป็นธรรมชาติ  แทนการลดจำนวนลำโพงให้เหลือไม่กี่คู่และใช้การเร่งความดังให้ครอบคลุมกลุ่มทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดภาษาความห่างเหิน และผู้คนตระหนักถึงกระแสสังคมรวมๆ ทำให้ปัจเจกกลายเป็นตัวเล็กจิ๊บจ้อย  ไม่ต้องมีตัวตน  ไม่มีพลัง ไม่มีความหมาย  มีส่วนร่วมแบบคนที่ว่างเปล่าแบบสุญญากาศ
  • อุปกรณ์ส่งเสริมการลุกขึ้นมีส่วนร่วมในนามตนเอง มีและใช้ไมโครโฟน ที่กระจายเข้าถึงกลุ่มคนหลากหลาย  หากเป็นกลุ่มจำนวน 40-50 คนขึ้นไป  การมีไมโครโฟนน้อย  จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของการเข้าถึง  การจับไมโครโฟนและพูดสื่อสารกับผู้คนผ่านอุปกรณ์ได้  จะมีภาษาของอำนาจ ที่เหนือกว่ากลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงไมโครโฟนและพูดในที่ชุมชนไม่ได้
  • เสื่อ ฟลิปชาร์ต และโน๊ตบุ๊ค พร้อม ในเชิงวิธีคิดก็คือ ต้องผสมผสานเทคโนโลยีและอุปกรณ์  ที่เกื้อหนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้คนในสถานการณ์ของการทำงานและเรียนรู้ที่หลากหลาย  ไม่จำกัดวิธีการที่เป็นสูตรสำเร็จ และมีแนวคิดที่แยบคายกำกับ  เช่น มีวิธีคิดและรู้ว่าโน๊ตบุ๊คกับเครื่องฉายภาพขึ้นจอขนาดใหญ่ เข้าถึงผู้คนได้ทั้งหมดในระยะเวลาเดียวกัน  เหมาะสำหรับการพูดคุยชี้แจงและสร้างวาระร่วมกัน (Common Agenda)  หรือสร้างกระแสตามกันให้เกิดขึ้นในกลุ่ม ถ่ายทอดข้อมูลแบบทางเดียวและทีเดียวได้  แต่จะขาดมิติการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  บางเรื่องจึงต้องใช้การนั่งคุยบนเสื่อ และการทำงานเป็นกลุ่มบนฟลิปชาร์ต  แต่ละอย่างและแต่ละกระบวนการ  มีนัยต่อการทำงานและเป็นกลวิธีการจัดการชุมชนเรียนรู้ และสร้างองค์กรเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ ไม่เหมือนกัน

ส่งเสริมความเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กรและชุมชนเรียนรู้

         มองในด้านการพัฒนาการเรียนรู้และมิติการศึกษาเรียนรู้เพื่อการพัฒนา  เรื่องห้องประชุมและอุปกรณ์  ก็จัดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ  ที่สามารถดำเนินการให้สื่อสะท้อนการมุ่งเน้นความเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) และการขับเคลื่อน ชุมชนแห่งการเรียนรู้  (Learning Community : LC)  ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบและโครงสร้างทางกายภาพเล็กๆน้อยๆนี้ไปด้วย

         ในภาคประชาชนและในการทำงานชุมชน ก็มีความสำคัญไม่น้อย  ทุกหนแห่งไม่ควรลืมที่จะถ่ายทอดเรื่องราวพวกนี้ให้ชาวบ้านและชุมชน ไม่อย่างนั้นสังคมทั่วไปจะตามความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ทันเฉพาะความทันสมัยทางรูปแบบ  แต่มิติทางวัฒนธรรมและกระบวนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งไปจนถึงการได้วิธีคิด จะไม่ไปด้วยกันครับ.

          

หมายเลขบันทึก: 222152เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2008 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท