OUTCOME MAPPING II: M&E อารัมภบท "ข้ามน้ำ แบกแพ"


OUTCOME MAPPING 2: M&E

อารัมภบท "ข้ามน้ำ แบกแพ"

ครั้งหนึ่ง มีบัณฑิตคนหนึ่ง เดินทางไปยังที่ต่างๆมากมาย เพื่อศึกษาซึ่งแก่นแท้แห่งชีวิต เรียนรู้จากการเห็นจริง สัมผัสจริง การเดินทางของเขามีทั้งบนบก บนภูเขา ลำห้วย ป่าดงพงไพร แม่น้ำ ทะเล มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาได้้เดินเท้ามาจนถึงริมแม่น้ำใหญ่ มองไปทางซ้าย มองไปทางขวา ก็ไม่เห็นมีที่ข้าม ไม่มีสะพาน ไม่มีช่องแคบ ลองเดินเลียบริมน้ำขึ้น ล่องริมน้ำลงทั้งสองทิศทาง ก็ยังมีแม่น้ำใหญ่กั้นขวางดินดงเขียวชอุ่มที่ตนเองอยากจะไปสำรวจ หยุดนั่งลงคิดคำนึง มองซ้าย  มองขวา ในที่สุดก็เห็นต้นไม้เล็กสองข้างทาง น่าจะเด็ดกิิ่ง ริดใบ มาผูกแพด้วยเถาวัลย์ได้ ก็ลงมือทำ ค่อยๆตัดถอน ริด กรีด วัด มัดผูกกิ่งและต้น จนสุดท้ายก็ได้แพขนาดหนึ่งที่นั่ง บัณฑิตท่านนี้ก็ค่อยเข็นแพลงน้ำ ปรากฏว่าแพก็ลอยได้สมใจ รู้สึกยินดี ไต่ขึ้นไปนั่งบนแพ แล้วก็ค่อยๆถ่อแพข้ามแม่น้ำ

พักใหญ่ แพก็พาบัณฑิตหนุ่มมาถึงฝั่งตรงกันข้ามอันเขียวขจี มีทั้งผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์ เบื้องหน้ามีมหาขุนเขามหึมา เป็นทีีมหัศจรรย์เจริญตายิ่งนัก บัณฑิตก็เกิดความปิติ และสำนึกในบุญคุณของแพที่ช่วยตนเองมาถึงนิเวศน์ปานเทพยสถานเช่นนี้ยิ่งนัก ก็เลยผูกเถาวัลย์กับราวแพ ทำเป็นสายพยุงและรัดติดกับหลัง แบกเอาแพเดินทางต่อไปด้วย เพราะเสียดายเครื่องมือเยี่ยมยอดชิ้นนี้จนมิอาจจะปล่อยทิ้งไปได้ การเดินทางเริ่มลำบากขึ้นๆเมื่อถึงปากทางขุนเขาทะมึน พื้นที่ขรุขระสูงชัน ด้วยความเหน็ดเหนื่อย บัณฑิตทรุดตัวลงนั่งอย่างสิ้นแรง หันมามองแพที่ผูกติดกับตัว สักพักใหญ่ในที่สุด ก็หยิบมีดออกมา ตัดเถาวัลย์ที่ผูกอยู่ท้ิงไป แล้วก็ออกเดินทางต่อไป

นิทานเรื่องนี้ ผมดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นๆ ที่ท่านรองศาสตราจารย์นายแพทย์อำนาจ รัตนบัลล์ ได้กรุณาเล่าประกอบกิจกรรมใน Workshop ครั้งที่สองเรื่อง Outcome Mapping ที่ผมเคยเล่ามาสิบตอน ซึ่งเป็น Outcome Mapping I เรื่องการทำแผน หรือ planning มาคราวนี้เป็นภาคต่อคือ Monitoring and Evaluation หรือเรียกย่อๆว่า M&E เราได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. และวิทยากรผู้น่ารัก น่านับถือ และกรุณามาหล่อเลี้ยงเราทีมเดิมจาก สคส. นำทีมโดย อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด และ facilitators คือ คุณอ้อม คุณอ้อ คุณธวัชชัย ในการเอื้ออำนวยความสะดวกจาก มสช. คือคุณยุ้ย ผู้จัดการสถานที่อบรม menu อาหาร (และยุงป่าหนึ่งฝูงใหญ่) มา entertain สมาชิกผู้เข้าร่วมเป็นพิเศษ (ณ เวลาที่พิมพ์ ยังไม่มีรายงาน case Malaria หรือ ไข้เลือดออก แต่คงต้องรออีกระยะนึง ถึงจะเห็นผลสัมฤทธิ์)

อาจารย์นายแพทย์อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นใน workshop นี้ จนไม่ทราบว่าจะเขียนจบเมื่อไร หรือเขียนกี่ตอน แต่ที่หยิบเอาเรื่องนี้ (ข้ามน้ำ แบกแพ) ขึ้นมาอยู่ในอารัมภบท ทั้งๆที่เล่าในวันสุดท้ายนั้นมีเหตุผลหลายประการ

ในการทำงาน เราทุกคนหวังผลสำเร็จ ระหว่างทางที่ทำงาน เราก็ได้ทดสอบทฤษฎี ค้นคว้าวิจัย ลองทำตาม ลองของใหม่ เปลี่ยนปรับ ในช่วงชีวิตของเรา ก็ได้เคยเจอเครื่องมือ เครื่องไม้มากมาย ในที่สุดเราก็เริ่มคุ้นเคยกับเครื่องมือบางชนิด กฏบางกฏ rules บาง rules ที่เราชื่นชมชื่นชอบมากเป็นพิเศษ ถ้าจะมีอะไรมาให้ทำ เราก็อดมิได้ที่จะลองนำเอาเครื่องมือชิ้นเดิม กฏเดิม rule เดิม มาลองประเดิมดูก่อน เพราะความคุ้น (บางคนอาจจะเรียก "เทปม้วนเก่า" หรือ "downloading" แล้วแต่ว่าจะมาจากสำนักใด)

ซึ่งทำเช่นนี้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ที่ที่เราจะเริ่มจากสิ่งคุ้นเคย แต่ถ้าเลยเถิดจนกลายเป็น reflex หรืออัตโนมัติมากไป เราอาจจะพบว่าเรากำลังถือค้อนนำมาตอกโป้งๆ เพื่อจะตัดกระดาษอยู่ก็ได้ !!!

ปฐมเหตุ หรือพยาธิกำเนิดเรื่องนี้มันซับซ้อน อาจจะเป็นได้จาก blindspot ชนิด not-recognize what we see คือ ไม่ได้คิดอะไรในสิ่งที่ตนเองกำลังทำ ถูกครอบงำจากอดีต ยิ่งถ้าเป็นระดับผู้บริหารงาน บริหารโครงการ บริหารองค์กร ถ้าไม่มี awareness ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรไม่ออก ก็งัดเอากฏเดิมที่เคยใช้เมื่อ 10 ปี 5 ปีที่แล้วมาเป็นฐานในการทำงาน ในโลกาภิวัฒน์สมัยแบบนี้ ก็จะไม่มีวันทันการ และไม่มีทางที่จะเกิดนวัตกรรมอะไรได้ เพราะความคิดจินตนาการถูกผูกมัดกับกฏเดิม เครื่องมือเดิม rules เดิม ที่ทำให้ตนเอง​ "เคย" ประสบความสำเร็จในอดีต ก็จะเหมือนกับบัณฑิตที่หลงไหลผูกพันกับแพ ที่ครั้งหนึ่งเคยช่วยตนเองฝ่าฟันอุปสรรคชิ้นใหญ่คือมหาวารีที่กั้นฝั่งอยู่ได้ มิสามารถจะปล่อยวาง แม้ว่าบริบทจะเปลี่ยนไปอย่างมากมายแล้วก็ตาม

ธรรมะมีไว้ใช้ มิใช่เพื่อท่องบ่น หรือเพื่อบูชาบนหิ้ง

ธรรมะ ความรู้ ทฤษฎี ฯลฯ ก็เหมือนกัน ทั้งหมดเป็น "เครื่องมือไว้ใช้" ไม่ได้เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ เป็น landmark เป็นอาภรณ์ของประดับ ไว้อวด ไว้โชว์ บางครั้งเราเผอเรอ ผูกพันกับเครื่องมือเรามาก จนถึงขนาดใครมาตำหนิ ใครมาแสดงความไม่เชื่อ ใครพูดในแง่ไม่ดี กับเครื่องมือเหล่านี้ เราพาลโกรธขึ้ง เคียดแค้น จะเป็นจะตาย ไม่ได้มองให้ลึกซึ้งว่าทำไมประสบการณ์ของคนอื่นกับเรื่องนี้ มันถึงได้แตกต่างจากเรา การนับถือ ท่องจำธรรมะได้ กลับกลายเป็นประตูสู่จิตเศร้าหมอง การมีความรู้ ทฤษฎีจำนวนมาก กลับกลายเป็นข้อจำกัด เป็นกรอบ เป็นที่คุมขังศักยภาพที่แท้ของตนเองไป

นี่คือสาเหตุที่ผมนำเอาเรื่องสั้นนี้มาอารัมภบท เพราะ M&E ของ OM นั้น ผมได้สรุปในเช้าวันสุดท้ายว่า "OM คือการค้นหา และเปิดประตูสู่ศักยภาพที่แท้" การทำ M&E ใน OM แทบจะเป็นการฝึกตนเองให้มีจิตตื่นรู้ ลุกโพลง เปี่ยมด้วย awareness mindfulness ที่นำเอากิจกรรม พฤติกรรม ความสัมพันธ์ ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น มาค้นหาความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเรียนรู้การเดินทางจาก A ไป B เพื่อที่เราจะได้ "ทราบวิธี" การเดินทางจาก B ไป C ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้ แต่กระบวนการทำ M&E จะช่วยให้้้เราสะสมทักษะ ที่จะสามารถหาเครื่องมือที่เหมาะสมได้ต่อๆไป ไม่มีวันหมด

หมายเลขบันทึก: 221598เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2008 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบพระคุณครับอาจารย์

  • เห็นด้วย คิด และ เชื่ออย่างที่ท่านอาจารย์นำเสนอทุกประเด็น
  • เคยพูด เคยเขียน เคยแสดงทัศนะในเรื่องเหล่านี้  แต่ยอมรับว่ามันกระจัดกระจาย ค่อนข้างจะไร้พลัง ไม่เหมือนที่ได้เห็นได้อ่านจากบันทึกนี้
  • เป็นการประมวลแง่คิดที่กลั่นมาให้เห็นชัดแจ้ง  ไม่คลุมเครือ คิดตาม ตรองตามแล้ว  ผู้อ่านจะได้ประโยชน์มากมาย
  • ถ้าจะให้ยกว่าประเด็นใด บรรทัดไหนที่ "โดน" มากๆ  ผมลำบากใจที่จะยกมาทวนซ้ำ  เพราะมันมีมาก เกรงจะกลายเป็นต้อง Copy มาทั้งชุดครับ
  • ผมอ่านบันทึกนี้ช้ามาก  ชนิดที่ผมเรียกเองว่า "Deep Reading" และอ่าน 2-3 เที่ยวครับ  เพื่อเก็บเกี่ยวอย่างละเอียดในสิ่งที่ตรงใจเหล่านั้น
  • และเพราะอ่านละเอียดเลยได้ของแถมมาช่วยเล็กน้อยครับ .. ได้ช่วยพิสูจน์อักษร  ที่พิมพ์ตกหล่น ผิดพลาดไป เพื่อท่านจะได้ไปปรับแก้ได้สะดวกขึ้น .. ผมเองก็เป็นบ่อยครับ  ดีใจที่มีคนคอยบอกคอยชี้  ไม่ใช่ใครที่ไหน น้อง "โอ๋" แห่ง มอ.นี่แหละครับ
  • ที่ผมเจอมีดังนี้ครับ

-  ตัดเถาวัลย์ที่ผูกอยู่ท้ิง

Measurement and Review หรือเรียกย่อๆว่า M&E

-  ถึงจะเห็นผลสัมฤทธิ

-  ลองทำตาม ลงของใหม่ เปลี่ยนปรับ ในช่วงชีวิตของเรา

-  พาลโกรธขึง เคียดแค้น

  * * *  ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

 

ข้างบนนั้นเป็นของผมเองครับ

อาจารย์ Handy  P ครับ

นึกอยู่ในใจ ใครหนอจะมาอ่าน series นี้บ้าง กัลยาณมิตรของแท้และดั้งเดิมก็ผุดปรากฏเหมือนใจเราผูกกัน ตอนเขียนก็ deep writing ครับ แถวๆเที่ยงคืน บรรยากาศเลยมัวๆเบลอๆ เพราะเมื่อเช้าขึ้นเครื่องมา ต้องตื่นแต่ตีสี่ พบว่า blur ขนาดชื่อ conference ยังจับเอาอะไรมาจากไหนก็ไม่ทราบ ที่จริง M&E คือ monitoring and evaluation น่ะครับ แหะๆ

งานนี้ถ้าจะให้ถูก spirit เหมือนใน workshop ต้องเอาเรื่องเล่ามาแลกเปลี่ยนกันยิ่งสนุกนะครับ ยังไม่มีหรือนึกไม่ออกไม่เป็นไร แต่ถ้าเอามาประกอบมากเท่าไร เมล็ดพันธุ์ความคิด ประสบการณ์ จะยิ่งงอกงามชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับผม

เรื่อง คนแบกแพ เดินเขา นี่ ก็เพิ่งได้ยิน ครั้งแรกครับ ขอบคุณมากครับ

สิ่งที่คนแบกแพหายไป คือ sensing หรือ ไม่เฉลียวใจ ไม่เอะใจ

การบันทึก OC map นี่ ถ้า บันทึกคนเดียว ผมว่า มันจะดูขาดๆไป ต้อง team learning

ถ้าฝันคนเดียว ไม่ชวนใครมาร่วมฝัน ก็ไม่เป็น Shared vision

ถ้าบันทึกด้วย อคติ ลำเอียง เอาแต่มุมมองเดิม แผ่นเสียงตกร่องกับอดีต ก็เต็มไปด้วย mental model ที่เป็นอกุศล

หาก บันทึก จดจำ โดยไม่คำนึงบริบท ไม่บันทึก สภาวะจิตของตนขณะนั้นๆที่แก้ปัญหา ไม่ชำนาญ ไม่รอบจัด ควบคุมตนเองไม่ได้ การไปเจอ ประสบการใหม่ ความท้าทายใหม่ แต่ไม่เอา Upstream ไปใช้ ก็ดูจะขาด Personal mastery ไปหน่อย

หากไม่สนใจ สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อจิตใจผู้คน แสดงว่า ไม่ได้ คิดเป็นระบบ

สวัสดีค่ะ

น้อมใจรับข้อคิดสอนใจค่ะ

ธรรมะมีไว้ใช้ มิใช่เพื่อท่องบ่น หรือเพื่อบูชาบนหิ้ง

อ.วรภัทร์ครับ

กำลังคิดเหมือนกันว่า ถ้าหาก OM ลดลงไปเหลือแต่ "ฟอร์ม" ในการประเมิน ไม่ได้ใช้ dialogue ไม่ได้ใช้ sensing ในการทำงาน ก็จะลงเอยไม่แตกต่างอะไรกับเครื่องมือ เครื่องไม้ ทีเราเอามาปู้ยี่ปู้ยำมาเสียนักต่อนักครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท