เมื่อวิศวกรทำงานวิจัยสมุนไพร


ไม่ทราบว่าท่านที่เกี่ยวข้องท่านอื่นๆ คิดอย่างผมหรือไม่    ว่าผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปี ๒๕๕๑ ท่านหนึ่ง มีลักษณะการทำงานวิจัยฉีกแนวไปจากวิถีปฏิบัติทั่วไป    คือเป็นวิศวกร ที่ทำงานวิจัยสมุนไพร

 

ตามปกติ งานวิจัยสมุนไพรทำโดย เภสัชกร นักเคมี หรือแพทย์    แต่กรณีนี้ ผศ. ดร. อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ เป็นวิศวกร   สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาฯ

 

ประยุกต์เทคโนโลยีการไหลกึ่งวิกฤต และของไหลวิกฤตยวดยิ่ง (Subcritical and supercritical fluid technology)    ในการสกัดสารสำคัญจากสาหร่ายเซลล์เดียวและจากพืชสมุนไพรไทย   และใช้ปฏิกิริยา hydrolysis ของชีวมวลในของไหลกึ่งวิกฤตเพื่อพัฒนาโปรตีนมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ ยีสต์เหลือใช้จากโรงงานเบียร์  กากรำข้าว  กากถั่วเหลือง  และเศษไหม

จุดสำคัญของวิธีที่ใช้คือ เป็นวิธีที่ใช้อุณหภูมิไม่สูง    ทำให้สารสำคัญไม่ถูกทำลายโดยความร้อน   สารผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัย เช่น สารต้านอนุมูลอิสระจำพวกคาโรทินอยด์   สะกัดจากสาหร่ายเซลล์เดียวด้วยกระบวนการคาร์บอนไดอ็อกไซด์วิกฤตยวดยิ่ง       ใช้น้ำกึ่งวิกฤตในการสะกัดสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มแอนทราควิโนนส์ จากรากของต้นยอ   และกลุ่มฟินอลิก จากมะระขี้นก เป็นต้น

การทำงานของ ดร. อาทิวรรณ ต้องร่วมมือกับหลายฝ่ายอย่างกว้างขวางมาก   รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมก็เห็นโอกาสในการประยุกต์ใช้ Subcritical and supercritical fluid technology ในการผลิตสารสำคัญเป็นผลพลอยได้จากกากของเสียในอุตสาหกรรม  

 

ผศ. ดร. อาทิวรรณ ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๑ จาก สกว.    จากโครงการ การสกัดสารต้านมะเร็งจากรากของต้นยอด้วยน้ำกึ่งวิกฤตและแบบจำลองทาง คณิตศาสตร์    ได้ผลงานตีพิมพ์ ๗ เรื่อง  Total Impact Factor 18.838

 

ผมยกเรื่องนี้มาบันทึกไว้   เพื่อชี้ว่า มหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย จะต้องส่งเสริมการทำงานข้ามศาสตร์   เอาชนะกรอบความคุ้นเคยเดิมๆ

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ต.ค. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 221159เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2008 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท