ไร้กรอบ


"คนฉลาด" คือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ส่วน " คนโง่" นั้น คือ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้แต่ทำตัวราวกับเป็นผู้รู้
 

ไร้กรอบ....ดร.วรภัทร ภู่เจริญ

ไร้กรอบ

เคยได้ยินชื่อ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ไหมครับ
เขาเคยเป็นวิศวกรขององค์การอวกาศนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

เคยได้รับรางวัลงานวิจัยที่ดีที่สุดระดับโลกเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไอพ่นตัดสินใจกลับเมืองไทยเพราะ
1. อยากดูแลพ่อแม่
2. ไม่อยากเป็นพลเมืองชั้นสองในบ้านพักคนชรา
3. อยากเที่ยว และ
4. ชอบกินอาหารอร่อย

เคยเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทที่ปรึกษาของตัวเอง
ผมประทับใจบทสัมภาษณ์ของ ดร.วรภัทรใน "เสาร์สวัสดี" ของ "กรุงเทพธุรกิจ "
เมื่อประมาณ 1-2 เดือนก่อนมาก คนอะไรก็ไม่รู้ ชีวิตมันส์เป็นบ้า ความคิดก็กวนเหลือหลาย

ตอนที่เขาเป็นอาจารย์ วิธีการสอนหนังสือของเขาแปลกกว่าคนอื่น
" ผมออกนอกกรอบตลอดเวลา" เขาบอก

เขาเคยพาเด็กวิศวะไปที่ริมสระว่ายน้ำ เรียนไปและดูนิสิตสาว ๆ ว่ายน้ำไปด้วย
คาดว่าคงไปเรียนเรื่อง "คลื่น"
ระหว่างท่าฟรีสไตล์ กับท่าผีเสื้อ คลื่นที่เกิดขึ้นของท่าไหนถี่กว่ากัน
ระหว่างชุดทูพีซกับวันพีซ แรงเสียดทานกับน้ำ ชุดไหนมากกว่ากัน
แนวการศึกษาน่าจะออกไปทำนองนี้

แต่ที่ชอบที่สุดคือตอนที่เขาออกข้อสอบ ข้อสอบของเขาสั้นและกระชับมาก
" จงออกข้อสอบเอง พร้อมเฉลย" โหย...เด็กวิดวะอึ้งกันทั้งห้อง
คำตอบส่วนใหญ่เป็นการตั้งโจทย์แบบง่ายๆ เช่น ปั้นจั่นมีกี่ชนิด ผลปรากฎว่าได้ศูนย์กันทั้งห้อง เพราะเป็นคำตอบที่ไม่ได้แสดงความคิดที่ลึกซึ้งสมกับที่เรียนมาทั้งเทอม

เหตุผลที่ ดร.วรภัทร
ออกข้อสอบด้วยการให้นิสิตออกข้อสอบเองเป็นเหตุผลที่ตรงกับใจผมมาก
" ชีวิตคนเราจะรอให้อาจารย์ตั้งโจทย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาโจทย์มาเอง
คิดแล้วทำ ถ้าผิดแล้วอาจารย์จะปรับให้"

เขามองว่าเด็กรุ่นใหม่ติดนิสัยเด็กกวดวิชา รอคนคาบทุกอย่างมาป้อนให้ไม่รู้จักคิดเอง
" ถ้ารอและตั้งรับ คุณก็เป็นพวกอีแร้ง แต่พวกคุณแย่กว่าเพราะเป็นแค่ลูกอีแร้ง
คือ รออาหารที่คนอื่นป้อนให้"

โหย...เจ็บ ผมเชื่อมานานแล้วว่าชีวิตของคนเราเป็นข้อสอบอัตนัยที่ต้องตั้งโจทย์เองและตอบเอง ไม่ใช่ข้อสอบปรนัยที่มีคนตั้งโจทย์ และมีคำตอบเป็นทางเลือก ก-ข-ค-ง
ถ้าใครที่คุ้นกับ "ชีวิตปรนัย" ที่มีคนตั้งโจทย์ให้และเสนอทางเลือก 1-2-3-4

คนคนนั้นชีวิตจะไม่ก้าวหน้า เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลาติดกับ "กรอบ" ที่คนอื่นสร้างให้ ไม่เหมือนกับคนที่รู้จักคิดและตั้งคำถามเอง

เรื่องการตั้งคำถามกับชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าลืมว่าเพราะมี "คำถาม" จึงมี"คำตอบ"
เมื่อมี "คำตอบ" เราจึงเลือกเดิน พูดถึงเรื่องการตั้งคำถาม ผมนึกถึง"โสเครติส"

เขาเป็นนักปรัชญาเอกของโลก ที่สอนลูกศิษย์ด้วยการสนทนา
ตั้งคำถามให้ลูกศิษย์ตอบ สร้างองค์ความรู้จาก "คำถาม"
กลยุทธ์ของ " โสเครติส" ในการสอนคือไม่ให้ความเห็นใดๆ แก่นักเรียน
และทำลายความมั่นใจของ นักเรียนที่เชื่อว่าตนเองรู้

"โสเครติส" เชื่อว่าเมื่อเด็กตระหนักใน " ความไม่รู้" ของตนเอง เขาจะเริ่มต้น
แสวงหา " ความรู้ " แต่ถ้าเด็กยังเชื่อมั่นว่าตนเองมี "ความรู้" เขาก็จะไม่แสวงหา "ความรู้"


การตั้งคำถามของโสเครติสจึงมีเป้าหมายโจมตีและทำลายความเชื่อมั่นในภูมิความรู้ของนักเรียน เป็นกลยุทธ์เท "น้ำ" ให้หมดจากแก้ว เมื่อแก้วไม่มีน้ำ
แล้วจึงเริ่มให้เขาเท " น้ำ" ใหม่ใส่แก้วด้วยมือของเขาเอง
" น้ำ" ที่ลูกศิษย์แต่ละคนเทลงแก้วด้วยมือตัวเองมาจาก "คำตอบ" ที่เขาค้นคิดขึ้นมาเอง
" คำตอบ" จาก "คำถาม" ของ "โสเครติส"

" โสเครติส" นิยามศัพท์คำว่า " คนฉลาด" และ "คนโง่" ได้อย่างน่าสนใจ
" คนฉลาด" ในมุมมองของ "โสเครติส" นั้นไม่ใช่คนที่รู้ทุกเรื่อง
แต่ "คนฉลาด" คือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ส่วน " คนโง่" นั้น คือ
คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้แต่ทำตัวราวกับเป็นผู้รู้

ไม่น่าเชื่อว่าก่อนหน้านี้ผมยังมีความภาคภูมิใจใน "ความรู้" ของตนเอง
แต่พออ่านถึงบรรทัดนี้ ทำไมผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย = **********************************************************************

ขอบคุณที่มาดีๆๆจาก FWWDER
 
หมายเลขบันทึก: 219531เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เอาบล็อกLiving companyของอาจารย์วรภัทร ที่ท่านเขียนที่ GotoKnow.org มาฝากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท