บันทึกไทยพวน


เอกลักษณ์เฉพาะของชาวลาวพวนนั่นคืองาน สารทพวน

พวน หรือ ลาวพวน เป็นชื่อเรียกชนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย แต่เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ก่อนจะอพยพครั้งใหญ่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งสงครามที่ไทยไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ชาวลาวพวนจำนวนมากจึงถูกกวาดต้อนเข้ามาและตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในพื้นที่แถบภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้

ประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวลาวพวนนั่นคืองาน สารทพวน หรืองานบุญเดือนเก้า จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 หรือราวช่วงเดือนกันยายน

สารทพวนถือได้ว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สำคัญงานหนึ่งในรอบปีของคนพวน จัดขึ้นเพื่อทำบุญรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และยังเกี่ยวพันกับความเชื่อในวิถีการผลิตข้าวของคนลาวพวนอีกด้วย

ที่บ้านโคกหัวข้าว ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นชุมชนคนลาวพวนชุมชนหนึ่งที่จัดงานประเพณีสารทพวนขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีนี้งานสารทพวนตรงกับวันที่ 11 กันยายน

น้องมิ้ม ด.ญ.สุนันท์ ม่วงขาว เยาวชนแห่งบ้านโคกหัวข้าว เล่าให้ฟังว่า ก่อนถึงวันงานสารทพวน แต่ละบ้านจะมีงานที่ต้องช่วยกันเตรียมหลายอย่าง ตั้งแต่กวนกระยาสารท สานตะแหลว ทำกรวยดอกไม้แล้วก็ทำห่อข้าว

กระยาสารทถือเป็นส่วนสำคัญของงาน จัดเตรียมส่วนประกอบ ได้แก่ ข้าวพอง ข้าวตอก ถั่วลิสง ถั่วเขียวและงา เอามากวนเข้าด้วยกันกับน้ำกะทิ น้ำตาลปี๊บ แบะแซแล้วก็เกลือในกระทะ เคี่ยวจนเหนียวได้ที่ก็จะได้เป็นขนมกระยาสารท วันกวนกระยาสารทจะมีญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงมาช่วยงานกันมากมาย เพราะกระยาสารทกวนคนเดียวไม่ได้ ต้องใช้แรงงานคนเยอะๆ มาช่วยกันทำ บรรยากาศเหมือนกับวันรวมญาติเลย น้องมิ้มบอก

กระยาสารทที่กวนเสร็จแล้วจะเอามาใส่ห่อเป็นชิ้นๆ เพื่อเอาไปใส่บาตรที่วัดในวันสารทพวน นอกจากนั้นยังเป็นส่วนประกอบที่ต้องใส่ลงไปในห่อข้าวอีกด้วย

การทำห่อข้าวคือการเอาอาหารคาวหวานต่างๆ รวมทั้งผลไม้รสเปรี้ยวหลายชนิดใส่รวมเข้าด้วยกัน ห่อด้วยใบตอง น้องมิ้มเล่าให้ฟังว่า อาหารที่จะต้องใส่ลงในห่อข้าวก็จะมี ข้าวปากหม้อ ขนมจีนน้ำยากุ้ง และส่วนที่ขาดไม่ได้คือ นกหรือว่าไก่แล้วก็ปลาไหล เรียกว่าดำดินกับบินบน ส่วนผลไม้มี กล้วย อ้อย ฝรั่ง ส้มโอ มะเฟือง และผลไม้พื้นบ้านที่ขาดไม่ได้คือไข่เต่ากับองุ่นป่าที่เรียกว่าส้มโก่ย

ห่อข้าวทำเพื่อเอาไปวางคู่กับต้นตะแหลวที่นา เป็นการเอาอาหารไปไหว้แม่โพสพ ซึ่งจะเป็นช่วงพอดีกับที่ข้าวในนากำลังตั้งท้อง เชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวดี บ้านไหนมีที่นากี่แปลงก็ต้องทำห่อข้าวให้เท่ากับจำนวนที่นา

น้องมิ้มบอกว่า นอกจากนั้นยังต้องสานตะแหลว ทำกรวยดอกไม้ขันธ์ห้า แล้วก็ทำต้นตะแหลวเพื่อเอาไปปักไว้ที่นาอีกด้วย ตะแหลวถือเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่ง สานขึ้นจากตอกไม้ไผ่ 18 ชิ้น ขัดเข้าด้วยกันจนเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมแบน มัดกรวยดอกไม้ขันธ์ห้าเข้า แล้วเอามามัดติดกับต้นมะเลือดอีกทีก็จะได้เป็นต้นตะแหลว

น้องมิ้มเล่าว่า เราต้องเอาต้นตะแหลวไปปักไว้ที่นาทุกแปลงของเราหนึ่งคืนก่อนจะถึงวันสารทพวน พอถึงเช้าวันสารทก็จะไปวัดกัน เอากระยาสารทที่ทำไปใส่บาตร แล้วก็เอาห่อข้าวไปให้พระสวดทำพิธี กลับจากวัดช่วงสายๆ ก็จะเอาห่อข้าวไปแก้ออก เอาวางไว้ที่โคนต้นตะแหลว แล้วก็ต้องบอกกล่าวแก่แม่โพสพว่าลูกเอาอาหารมาถวายให้แม่โพสพได้กิน ขอให้ปีนี้ต้นข้าวในนาออกรวงมากๆ ให้ได้ข้าวเยอะๆ ผลผลิตดี

ติดตามชมเรื่องราวงานสารทพวน ประเพณีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงตัวตน ความเป็นมา วัฒนธรรมข้าวและพิธีกรรมที่สะท้อนสำนึกความสำคัญของธรรมชาติของชาวลาวพวน แห่งบ้านโคกหัวข้าว อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ในรายการทุ่งแสงตะวัน เช้าวันเสาร์ที่ 29 กันยายนนี้ เวลา 06.25 น. www.payai.com

บ้านดงกระทงยาม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ก็มีเหมือนกัน

 ที่มา http://news.giggog.com/education/cat7/news3804/

คำสำคัญ (Tags): #ประเพณีสารทพวน
หมายเลขบันทึก: 219204เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2008 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายไชยอนันต์ พันธ์วิชัย

ขอพจนานุกรมภาษษพวนสักเล่ม มีหรือเปล่าครับ กำลังจะสะสมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท