ฉบับที่ ๑๒ การพัฒนาที่ยั่งยืน


การพัฒนาที่มีดุลยภาพ

ฉบับที่ ๑๒

 

ถึงกานต์วลี

                        ผมรู้สึกแปลกใจและเปี่ยมสุขเหลือเกิน ที่ได้รับข่าวจากกานต์ว่า จะมาเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าคนนี้ มาเถอะกานต์วลี ผมเฝ้ารอคอยกานต์เสมอมา..

            ก่อนอื่นผมต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่กานต์ถามมาในจดหมายฉบับล่าสุดเสียก่อนว่า  เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่นั้นต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร  ขอบคุณสำหรับคำถามครับ ซึ่งนั่นหมายความว่ากานต์วลีของผมมีความสนใจในสิ่งที่ผมกำลังจะทำอยู่   กานต์วลีครับผมไม่อยากไขว่คว้าสิ่งที่เกินความจำเป็นอีกแล้ว ผมเพียงต้องการอยู่อย่างมีความสุขโดยไม่ขัดสนเดือดร้อนใจ

“ If  we  command  our wealth, we shall  be rich and free;

If  our  wealth  commands  us, we  are poor  indeed.”

ถ้าหากเราควบคุมความมั่งคั่งของเราได้  เราก็จะรวยและเป็นอิสระ

ถ้าหากความมั่งคั่งควบคุมเรา เราก็จะกลายเป็นคนจนเท่านั้น

                                                      เอ็ดมันด์  เบร็ด  นักปรัชญาอังกฤษเชื้อสายไอริช

            กานต์วลี  ขณะนี้ผมรวย  รวยด้วยความพอเพียง   ความจริงแล้วนั้น เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติตนของประชาชนตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ  ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน  การประกอบธุรกิจ ตลอดถึงการพัฒนาและบริหารประเทศโดยให้ดำเนินไปโดยยึดหลักของความพอดี  พอประมาณ และการดำเนินชีวิตโดยมีเหตุผล 

ซึ่งความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน  คือ  ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ  ความมีเหตุผล หมายถึงการตัดสินเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ  และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

            กานต์วลี เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่  ซึ่งทฤษฎีใหม่นั้นเป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน  โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติหรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี  มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกันรวมทั้งความสามัคคี กล่าวโดยสรุปนะ กานต์  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่  ดูอย่างเกษตรทฤษฎีใหม่นั้นแหละ  เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ

            ผมคิดว่า  กานต์คงยังไม่เข้าใจ   ผมจะขออธิบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกรที่ทรงพระราชทาน ซึ่งพอจะสรุปได้ ดังนี้

                        ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ การผลิต  มีความพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัด ในขั้นนี้ให้พึ่งตนเองได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังให้พอมีพอกิน แบ่งพื้นที่ในการทำอาชีพเกษตรกรให้ถูกต้อง และเมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง

                        ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒ การรวมกลุ่ม  การรวมพลังในรูปกลุ่ม หรือสหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ดำเนินการในด้าน  การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือกันในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำ ลื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก  การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้วจะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด  เรื่องการเป็นอยู่  เกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร  โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต อย่างเพียงพอ  อีกทั้งมีความพร้อมด้านสวัสดิการชุมชน ด้านการศึกษา แต่ละชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา และในด้านสังคมและศาสนา ชุมชนเองควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว  ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าส่วนราชการ  องค์กรอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ และเมื่อผ่านขั้นตอนที่สอง ก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป

                        ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓ การดำเนินธุรกิจ สร้างเครือข่าย กลุ่มอาชีพและขยายกิจกรรมเศรษฐกิจให้หลากหลาย ติดต่อประสานงาน  เพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพของประชาชนในชนบท

                        นี่คือ สามขั้นตอนของทฤษฎีใหม่  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุก ๆ กิจการงาน  ซึ่งจะนำพาพวกเราไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่เดือดร้อนใจ..

                        การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่มีดุลยภาพระหว่าง มิติทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนตลอดไป

                        กานต์วลี ...ผมรู้สึกยินดีที่ได้ข่าวจากกานต์ว่ากานต์จะกลับมายืนอยู่เคียงข้างผม  เพื่อใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ  มีชีวิตอย่างเรียบง่ายและสงบสุข

                                                                       

                                                                                    หวังว่ากานต์จะมาในเร็ววัน

                                                                                                อภิษฐา

 

หมายเลขบันทึก: 218944เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หวังว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นยาใจ สร้างความมีเหตุผล ความพอประมาณ และภูมิคุ้มกันให้ความรักของคุณทั้งสอง มั่งคง ยั่งยืนยาวนาน ตลอดไป ด้วยเป็นกำลังให้นะคะ รออ่านตอนต่อไปอยู่นะคะ

คุณอินทิราครับ

ความรักของทั้งสองคน

จบลงอย่างที่คุณอินทิราจะคาดไม่ถึงเลยทีเดียวครับ

ขอบคุณครับที่ติดตามอ่าน

ผมเขียนเรื่องนี้อย่างมีความสุขครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท