แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โลกทางจิตเวช


 

มุกหอม วงษ์เทศ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2550

แม่เล่าว่าสมัยข้าพเจ้าไม่สบายตอนเป็นเด็กไม่กี่ขวบ แม่เคยให้ยาผิด

ฉลากแปะซองพลาสติคมีข้อความตามคำสั่งแพทย์ว่า รับประทานหลังอาหาร เช้า/กลางวัน/เย็น ครั้งละ 1/2 เม็ด

แต่ฟ้าบันดาลให้หมึกเลอะเลือนซีดจางทั้งๆ ที่ไม่ใช่ฤดูฝน แม่จึงกรอกยาให้ข้าพเจ้าครั้งละ 2 เม็ด โดยเคร่งครัด
ครบทุกมื้อ-ทั้งวัน

วันนั้นข้าพเจ้าได้รับตัวยาทั้งสิ้น 6 เม็ด แทนที่จะเป็น 1 เม็ดครึ่ง ทบทวีคูณขึ้นจากที่แพทย์สั่ง 4 เท่าตัว อาการที่แม่สังเกตพบคือ ข้าพเจ้าเอาแต่นอนหลับอุตุทั้งวัน ต้องเขย่าปลุกให้ตื่นเพื่อป้อนข้าวและให้ยาเป็นระยะๆ เสร็จแล้วก็นอนต่อ

วันถัดมาจู่ๆ เลข 1 บนสลากยาก็กลับสำแดงตัวชัดขึ้นมาเองราวปาฏิหาริย์ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วันพระหรือวันเฉลิมฯ

แม่คำนวณพีชคณิตอัตราส่วนจนมั่นใจแล้วจึงหยุดประเคนโอสถข้าพเจ้าสามวันติดต่อกันโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พอถึงวันที่สี่แม่ก็ให้ยาต่อตามปกติจนครบ dose

ผลปรากฏว่าข้าพเจ้าลืมตาดูโลกมากขึ้น แต่ยังคงนิทรานานและบ่อยกว่าปกติต่อไปอีกหลายเพลา หลายวัน หลายเดือน และหลายปี

เนื่องจากแม่เป็นผู้เล่าเรื่อง และข้าพเจ้านำมาเล่าอีกต่อหนึ่ง

เราจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากหมึกล่องหน, ปาฏิหาริย์มีจริง, การอ่านฉลากยาของแม่ผิดพลาด, ความจำของแม่คลาดเคลื่อน, การเล่าเรื่องของแม่ตุกติกบิดเบือน, ข้าพเจ้าเสกสรรปั้นแต่งเรื่องเอง หรือในที่สุดแล้วการให้ยาผิดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่

ที่ค่อนข้างแน่ใจได้มีเพียงอย่างเดียวคือ คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานอื่นให้สืบสอบหรือซัดทอด

ในขณะที่คนสมัยนี้เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia กันโครมคราม ข้าพเจ้าสันนิษฐานโดยไม่ได้หารือกับแพทย์หรือพราหมณ์ว่าตัวเองน่าจะเป็นโรค Hypersomnia

ในครรลองเดียวกับที่คนทุกชั้นวรรณะ รวมทั้งจัณฑาล หรือ “Untouchable” ทุกวันนี้ต่างพากันเป็นพวกไฮเปอร์หรือ Hyperactive เพื่อชีวิตที่สนุกและสำเริงกว่า ข้าพเจ้าเองก็เป็นคนไฮเปอร์เหมือนกัน-ไฮเปอร์ซอมเนียเพื่อชีวิตที่สงบและสงัดกว่า

ตำราจิตเวชศาสตร์และโรคทางจิตเวชมีอรรถาธิบายว่า ลักษณะที่สำคัญของอาการนอนหลับมาก หรือ Hypersomnia คือ ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนผิดปกติ โดยนอนหลับมาก หรือง่วงนอนเวลากลางวัน ถ้างีบหลับ ตื่นขึ้นมาแล้วจะไม่รู้สึกสดชื่น

ส่วนช่วงกลางคืนผู้ป่วยจะนอนหลับเป็นเวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ลักษณะทางคลีนิคบอกว่า ผู้ป่วยจะขาดสมาธิและเฉื่อยชา มักถูกมองว่าเป็นคนน่าเบื่อ เกียจคร้าน และอาจมีปัญหาทางด้านสัมพันธภาพกับคนอื่น

สาบานได้, ข้าพเจ้าไม่เคยคิดโทษคุณแม่เลยสักนิด คุณแม่พยายามปกป้องข้าพเจ้าจากโลกภายนอกอันโหดร้าย ข้าพเจ้ารักคุณแม่ยิ่งกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสาธารณ์ใดๆ ในสากลโลก รวมทั้งความยุติธรรม อุดมการณ์และทฤษฎีทุกชนิด

อาการใกล้เคียงอีกชนิดหนึ่งคือ ภาวะง่วงนอนผิดปกติ หรือ Narcolepsy ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนและหลับบ่อย ในเวลากลางวันจะง่วงนอนมาก และฝืนไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยหลับในสถานการณ์ซึ่งไม่เหมาะสม วิธีรักษาคือใช้ยากระตุ้นสมอง ชนิดที่นิยมใช้ได้แก่ methylphenidate และ methamphetamine

ข้าพเจ้าเคยเผลอหลับระหว่างจอดรถติดไฟแดง จนรถคันหลังบีบแตรไล่สนั่น นอกจากนี้ก็เคยผล็อยหลับระหว่างการสนทนาบางครั้ง รวมทั้งตอนพูดโทรศัพท์ด้วย

น่าแปลกที่ข้าพเจ้าเคยฝันว่าตัวเองกำลังหลับด้วย ในความฝันข้าพเจ้าเห็นตัวเองกำลังหลับสนิท และในภาวะกึ่งรู้ตัวกึ่งไม่รู้ตัวนั้น ข้าพเจ้าก็เหมือนจะสำนึกรู้ว่าตัวเองกำลังหลับและกำลังฝันว่าตัวเองกำลังหลับ

เวลามีเรื่องกลัดกลุ้มหม่นหมองยามตื่น ข้าพเจ้าจะอยากหลับเป็นที่สุด ส่วนการอ่านหนังสือก่อนนอนนั้นเป็นอะไรที่เกินเอื้อม แค่เอื้อมจะหยิบก็หลับคาที่แล้ว

มีหนังรัสเซียอยู่เรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคยดูนานมากแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวละครเอกที่เป็นโรคหลับบ่อย ไม่ยินดียินร้ายกับโลกรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะทำอะไร ไปนั่งอยู่ที่ไหน กำลังอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างไร หมอนี่จะเอาแต่งีบหลับตลอดเวลา เรียกว่าเผลอไม่ได้เป็นหลับ

ขนาดวัยรุ่นอันธพาลกำลังตีรันฟันแทงกันเลือดสาดในชานชาลาสถานีรถไฟ เขาก็ไม่แยแส เดินไปเลือกม้านั่งว่างตัวหนึ่งใกล้ๆ แล้วก็ล้มตัวลงนอนแผ่ซะอย่างนั้น ช่วงที่เขาหลับ กล้องจะโคลสอัพและแช่ภาพทิ้งไว้จนข้าพเจ้าก็เผลอโงกเงกสัปหงกไปด้วยเหมือนกัน แต่ก็แค่ไม่กี่วินาที เพราะพอรู้สึกตัวรีบกระดกหนังตาขึ้นมาจ้องจอใหม่ ไอ้บ้านั่นก็ยังหลับอยู่

ตอนจบพ่อหนุ่มขี้เซาขั้นโสดาบันตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าชีวิตด้วยการหลับต่อไป น่าเสียดายว่าหนังในดวงใจเรื่องนี้ ข้าพเจ้าลืมไปแล้วว่าชื่อเรื่องอะไร ใครกำกับ ท่าจะเพราะดูแบบครึ่งหลับครึ่งตื่นก็เป็นได้

บางทีถ้าคนเราหลับกันให้มากกว่าตื่น โลกคงจะร้อนและมีปัญหาน้อยกว่านี้

สลับกับโรค Hypersomnia ข้าพเจ้ายังมีอาการ Obsessive-compulsive Disorder หรืออาการย้ำคิดย้ำทำผสมโรงด้วย

ลักษณะทางคลีนิคคือ การย้ำคิดเกี่ยวกับความกลัวสิ่งต่างๆ เช่น กลัวของสกปรก กลัวเชื้อโรค กลัวของมีคม ผู้ป่วยจะครุ่นคิดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ ซึ่งอาจเป็นคำ วลี หรือประโยค

เรื่องราวที่ย้ำคิดมักเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีเหตุผล หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่สลักสำคัญ ซึ่งผู้ป่วยก็รู้ว่าเป็นเรื่องเหลวไหลแต่ไม่สามารถขัดขืนได้ พร้อมกันนั้นจะรู้สึกไม่สบายใจ เครียดและวิตกกังวล

เช่น ย้ำคิดว่าจะใส่เสื้อตัวไหนหรือถุงเท้าคู่ไหนดี ไม่แน่ใจว่าปิดไฟ ประตูหน้าต่าง หรือล็อครถหรือยัง

ขณะที่กำลังจิ้มตัวอักษรอยู่นี้ ข้าพเจ้าจะเคาะ Save File ทุกๆ สองสามประโยคหรือสองสามคำ เคาะครั้งหนึ่งหลายๆ หน เวลาแก้โน่นปรับนี่ ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ข้าพเจ้าก็จะคลิก Save ตลอดเวลา

เพราะกลัวไฟล์เสียหรือคอมพิวเตอร์แฮงค์ พอลองตรวจสอบดูก็พบว่าเรียงความชิ้นหนึ่งจะถูกกด Save โดยเฉลี่ย 600-800 ครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าเครียดและวิตกกังวลหนักขึ้นไปอีกทันทีที่ทราบผลประมวลนี้-แล้วก็เลยกด Save ซ้ำอีกสองครั้ง

พยาธิสรีรวิทยาของโรคทางจิตเวช (Pathophysiology of Psychiatric Disorders) มีสมมติฐานว่า ความผิดปกติของสมองในโรคย้ำคิดย้ำทำอยู่ที่ striatum ทดสอบด้วย PET scan แล้วพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของ glucose metabolism บริเวณ orbitofrontal cortex และ caudate nucleus ยาต้านเศร้ารักษาโรคย้ำคิดย้ำทำได้ผลดี

ความจริงนอกจาก Hypersomnia กับ Obsessive-compulsive Disorder แล้ว ข้าพเจ้ายังมีอาการ Dysthymic Disorder หรือโรคอารมณ์เศร้าเรื้อรังแทรกซ้อนด้วยอีกสำรับหนึ่ง

ลักษณะทางคลีนิคคือ ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารหรือกินจุ (อย่างหลัง) นอนไม่หลับหรือนอนมาก (อย่างหลัง) อ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่มีสมาธิและท้อแท้สิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไร้ประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะมีอาการดังกล่าวเกือบทุกวันหรือบ่อยมาก

Mental Illness เหล่านี้คาดว่ามีทางบำบัดรักษาให้หายได้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้ถูกจับแยกไปอยู่ในสถานกักกัน หรือถูกสอดส่องควบคุมร่างกายและจิตใจจากชีวอำนาจตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง (ท่านที่ไม่ได้เป็นไฮเปอร์ซอมเนียโปรดอ่าน Madness and Civilization: A History of Insanity in the Age of Reason เพิ่มเติมเอาเองได้เลย)

วิธีตรวจสภาพจิตทั่วไปเบื้องต้นคือการให้จิตแพทย์พูดคุยกับคนไข้ ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่มีเวลานัดไปตรวจเลย ไม่รู้ว่าถ้าไป จิตแพทย์จะคุยอะไรด้วย นึกแล้วก็น่าตื่นเต้นใช่ย่อย

การหยั่งจิตด้วยการพูดคุยนี้เหมือนจะง่ายจนเกินไป แต่อย่าลืมว่าอะไรที่ง่ายสุดอาจจะได้ผลสุด คนบางคนมีลักษณะการพูดจาหรือแสดงความคิดเห็นที่ส่อว่าต้องเป็นโรคจิตหรือไม่ก็ดาวน์ซินโดรมชัวร์ วินิจฉัยกันเองได้โดยไม่ต้องให้ถึงมือหมอ

แต่ตำราก็ว่าบางทีคนที่พูดจาปกติ ดำเนินชีวิตปกติ อาจจะมีบุคลิกภาพผิดปกติ หรือ Personality Disorder ได้เหมือนกัน การวินิจฉัยโรคต้องใช้การสังเกตอาการเอา

เช่น มีพฤติกรรมหลอกลวง, ไม่รู้สึกเสียใจต่อความผิดที่ได้กระทำลงไป, แปลเจตนาผู้อื่นไปในทางร้าย, หวาดระแวงว่าผู้อื่นจะทำร้ายหรือหลอกลวง, ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับผู้อื่น, ยอมผู้อื่นแทบทุกเรื่องเพราะเกรงว่าตัวเองจะถูกรังเกียจ,

มีความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากถ้าตัวเองไม่ได้รับความสนใจ, มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับผู้อื่นเกินความจำเป็น, คิดว่าตัวเองมีความสำคัญกว่าผู้อื่น, คิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ, ครุ่นคิดเพ้อฝันเกี่ยวกับความสำเร็จ อำนาจและความงาม,

ต้องการความสนใจและคำสรรเสริญจากผู้อื่นอยู่เสมอ, คาดหวังว่าต้องได้รับการต้อนรับที่ดีตลอดเวลา, มีท่าทีหยิ่งยโสอวดดี, ถือตามระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด, มีจริยธรรมและมโนธรรมสูง รักความถูกต้อง และพยายามให้ผู้อื่นประพฤติตาม ฯลฯ

อาการที่บ่งชี้ถึง Personality Disorders เหล่านี้อยู่ในกลุ่ม Paranoid Personality Disorder (บุคลิกภาพชนิดหวาดระแวง), Histrionic Personality Disorder (บุคลิกภาพชนิดฮิสทริโอนิค), Dependent Personality Disorder (บุคลิกภาพชนิดพึ่งพาผู้อื่น), Narcissistic Personality Disorder (บุคลิกภาพชนิดหลงตัวเอง), Obsessive-compulsive Personality Disorder (บุคลิกภาพชนิดย้ำคิดย้ำทำ) และอื่นๆ

บุคลิกภาพพวกนี้ปรากฏทั่วไปในหมู่ประชากร เพราะการเป็นโรคจิตก็เหมือนเป็นหวัด ใครๆ ก็เป็นได้ไม่เว้นคนที่มี Reason เป็นศาสดา ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ที่เข้าใจยากและเจ็บช้ำที่สุดก็คือ

ทำไมแค่ง่วงนอนบ่อยหน่อยก็ต้องสถาปนาให้เป็นพวกจิตวิปลาสด้วยล่ะ...


หมายเลขบันทึก: 218419เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับ

นับว่าโชคดีนะครับ ที่ไหวตัวทัน ;)

นั่นหน่ะซิคะ คุณ ธ.วั ช ชั ย

แต่ที่เจอน้อง...เธอก็ดูร่าเริง...ดีนะคะ


สวัสดีครับ คุณแตงไทย

       แวะมาทักทายครับ ^__^

       บทความของคุณมุกหอม น่าสนใจมากครับ ผมเคยอ่านงานเจอว่าเธออาจจะเลิกเขียนหนังสือแล้ว ด้วยเหตุผลบางอย่าง

       ผมเคยเขียนบทความแนวจิตวิทยาไว้หลายบทความ เช่น เรื่องนี้ครับ เผื่อสนใจ

       มหัศจรรย์...ฝันรู้ตัว (Lucid Dreaming)

 

สวัสดีค่ะ

  • อ่านแล้ว
  • พบว่าเป็นโรคจิตไปแทบทุกเรื่อง
  • ต้องหยุดพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างแล้วนะคะ
  • กลัวจะเป็นโรคจิตที่ร้ายแรงไปกว่านี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ  ครูคิม
ไม่อยากให้ครูมองว่าเป็น "โรคจิต" ที่ร้ายแรงเลยค่ะ
แต่ก่อนตัวเองก็คิดว่าได้สัมผัสโรคจิตเหมือนกัน แต่พอปรับมุมมองว่าเป็น "โลกแห่งจิต" จึงทำให้ยอมรับความคิดที่หลากหลายที่ผุดเข้ามาในตัวเองได้มากขึ้น
และโชคดีจังที่เราได้เคยสัมผัสความรู้สึกอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นเราคงไม่เติบโตทางด้านความคิดได้อย่างปัจจุบันนี้
เพราะฉะนั้นครูคิมก็โชคดีเช่นกันค่ะ ที่ได้สัมผัสความรู้สึกที่พบเมื่ออ่านบทความนี้ ไม่อย่างนั้นครูคงไม่ ... เอ๊ะ... ใช่ไหมค่ะ ....
(เริ่มร่ายยาวอีกแล้วค่ะ...เพิ่งโดนคุณพ่อบ่นมาว่า...ตัวเองชอบร่ายยาวค่ะ...)

ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้บังเอิญพบกันค่ะคุณแตงไทย

หนิงอายุ 42ปี เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นHypersomnia เมื่อวันที่ 16 พค.54นี่เอง เป็น Primary Hypersomnia ค่ะ

ที่สนุกไปกว่านั้นทางสามีเป็น Hyperactive ลูกชาย 2คนรับเอา Hyperactive (ADHD) มาด้วยค่ะรักษาด้วยmethylphenidate

ตามหาโรคของตัวเองมานานค่ะ เป็นตั้งแต่ตอนประถม น่าจะราวๆประถม 3-4 ค่ะ อาการก็ตามอายุมาโดยตลอด

จนมาพักหลังนี่รู้สึกอาการคุกคามชีวิตประจำวันเหลือเกินค่ะ

นับว่าโชคดีที่ได้มาพบข้อความของคุณแตงไทยไว้คุยกันต่อคราวหน้านะคะ

สวัสดีค่ะ คุณหนิง [IP: 223.207.32.121]

ขอบพระคุณมากค่ะ ที่บทความนี้ของ คุณมุกหอม ได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ที่อาการคล้ายเคียงกับตัวเองได้รับทราบค่ะ

แตงมี

FB = http://www.facebook.com/TangThai.NJ

e-mail = [email protected]

เข้าไปคุยโดยตรงทางนั้นก็ได้ค่ะ

รักษาสุขภาพกายใจและครอบครัว ให้เข้มแข็งและแข็งแรงเสมอนะคะ

 

สวัสดีครับ

เรียนปรึกษาหน่อยครับ คือว่า ลูกสาวผมมีอาการส่วนคล้ายในบทความมากๆ นอนกลางคืนเหมือนหลับไม่สุด กลางวันหลับในห้องเรียนบ่อย ผลการเรียนลดลงเรื่อยๆเนื่องจากความจำไม่ค่อยดี และสับสนบ่อย ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม. 5 ปีนี้ 2558 อาการเริ่มเป็นตั้งแต่ตอนเรียนระดับประถมแต่คิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นานวันเข้าอาการเริมทวีความรุนแรงมากขึ้น อยากเรียนถามคุณแตงไทยว่า..

โรคลักษณะนี้จะรักษาได้ที่ใหนครับ ช่วยแนะนำด้วยครับ

สวัสดีค่ะ คุณสฎาษิต
แตงต้องขอโทษด้วยนะคะ ที่แตงอาจจะแนะนำเรื่องการรักษตัวทางจิตเวชไม่ได้
ลองคุยกับ หมอทางจิตเวช โดยตรงนะคะ
มิใช่ว่า หมอโรคจิตนะคะ แต่หมอมีความรู้เรื่องการรักษาทางจิตเวช ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทสมอง
ล่าสุดนี้ แตงได้เข้ารักษาตัวทางระบบประสาทสมองโดยตรงกับ
หมอพงษ์เกษม ไข่มุกต์
แต่ก่อนท่านเป็น ผอ.โรงพยาบาลสราญรมย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
ปัจจุบันท่านเป็นรองอธิบดี กระทรวงสาธารณสุข
แต่ท่านได้เปิดคลีนิครักษาแนวนี้ที่หน้า รพ. และพยายามจัดเวลามาให้การรักษาทุก เสาร์-อาทิตย์
เบอร์โทร.ที่คลีนิค มือถือที่ทำงานที่จ.สุราษฎร์ธานี : 096-6364505
รับทราบว่า เสาร์-อาทิตย์ นี้ ท่านเดินทางมาให้การรักษานะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท