สินค้าคุณธรรม สปิริตแบบเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค National Geographic


             เมื่อเสาร์อาทิตย์ 18-19 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมไปทอดกฐิน ได้ร่วมสร้างหน้าต่างพระอุโบสถ อุทิศเป็นส่วนกุศลให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายายด้วย

            เป็นความรู้สึกภูมิใจมาก เพราะกระเบียดกระเสียน เก็บหอมรอมริบเป็นแรมปีเกือบสองปีกับพี่ๆน้องๆ และหมู่ญาติมิตร เพื่อขอร่วมสร้างศาสนสถาน  บำรุงพระศาสนาในวัดซึ่งอยู่บนยอดเขา ห่างไกลชุมชนและความเจริญ คือ วัดสามขุม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            ยิ่งไปเห็นว่า ช่างได้ทำซุ้มประตูและหน้าต่างด้วยลายปูนปั้น ก็ยิ่งทำให้มีความสุขสองสามต่อ ทั้งจากการได้ร่วมบำรุงพระศาสนาร่วมกับญาติพี่น้องและชุมชน ได้ทำกุศลเป็นกตัญญูกตเวทิตาต่อพ่อและแม่ ผ่านการสร้างส่วนรวมของสังคม และได้ส่งเสริมศิลปะแห่งความศรัทธา 

           งานศิลปะลายปูนปั้นของไทยนั้น สำหรับผมแล้ว เป็นการถ่ายทอดสุนทรียปัญญาที่ยิ่งใหญ่และคลาสิค เทียบเท่ากับงานจิตรกรรมฝาผนังแบบเฟรชโก้หรือการเขียนภาพจิตรกรรมบนปูนเปียกของยุโรป 

            มีความจำเพาะตนทางปัญญาสูงยิ่ง ปราดเปรื่อง ฉายโชนสว่างไสว ทั้งสิ่งที่สะท้อนสู่สุนทรียภาพในศิลปกรรม และองค์ประกอบต่างๆอันเป็นที่มาของงานสร้างสรรค์ เป็นต้นว่า วิทยาการในการทำปูนปั้น การสืบทอดอยู่ในกระบวนการชุมชน วิถีปัจเจก ครอบครัวสกุลช่าง และการศึกษาอบรมแบบอาศรม

           นอกจากนี้ ก็ได้ซื้อหนังสือลายไทยสองเล่ม ผมซื้อสะสมไว้สองปีแล้ว เพื่อไปฝากช่างที่สร้างโบสถ์ซึ่งได้นั่งคุยและถูกคอกัน เขาเคยออกปากกับผมว่า หากมีโอกาสไปเจอกันกับเขาที่วัดอีก ช่วยซื้อหนังสือลายไทย ทั้งลายแม่บทและงานคลี่คลายในขั้นสูง ไปฝากเขาด้วย เลยได้นำไปให้เขาเสียที            

           เมื่อมีโอกาสพิเศษหรือได้ทำอะไรที่ประทับใจ  ผมก็มักหาโอกาสให้รางวัลตนเองเพื่อทำหมายเหตุ เชื่อมโยงกิจกรรมในชีวิตเข้ากับเรื่องราวรอบข้างที่ร่วมวาระเดียวกันไปด้วย มันเป็นหนทางทำทุกวันให้มีความหมาย ที่พอเหมาะแก่ตนและช่วยส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ของคนอื่น ในด้านที่มีคุณค่าต่อสังคมไปด้วย

          ส่วนใหญ่ก็มักจะไปลงที่การเลือกซื้อหนังสือหรืองานสร้างสรรค์ที่บอกเล่าและสื่อสะท้อนความเคลื่อนไหวของสังคมที่แวดล้อมเราอยู่ เช่น เพลง งานศิลปะ หรือไม่ก็ไปดูงานนิทรรศการศิลปะ เก็บสูจิบัตร  ไปฟังอภิปราย หรือฟังปาฐกถาหัวข้อดีๆ แล้วก็ซื้อหนังสือ หรือวาดรูปสรุปบทเรียนตนเองไว้ 

           หนังสือและงานจากกิจกรรมเหล่านี้ เป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนสร้างความสุขและให้ปัญญาแก่ผู้คนได้แล้วได้อีก ไม่เหมือนทรัพยากรอย่างอื่นของสังคม ผมจึงทั้งมีความสุขที่จะแสวงหา และอยากให้เป็นการส่งเสริมกำลังคนอื่นที่ทำเรื่องเหล่านี้ให้กับสังคมในทุกโอกาสไปด้วย จะได้มีสิ่งดีๆมากๆในสังคม

           คราวนี้ก็เช่นกัน  ผมมุ่งไปเดินดูหนังสือที่ร้านซีเอ็ดบุ๊ค บางแค ซึ่งเดิมเลยทีเดียว ก็ตั้งใจว่าจะซื้อหนังสือ ช่อการะเกด  ซึ่งเป็นฉบับพิเศษ รวมเรื่องสั้นเทียบเชิญของนักเขียนแนวหน้าของประเทศที่ผมชอบหลายคน คิดว่าแค่นี้ก็พอเหลือเฟือแล้ว ทว่า หนังสือหมดครับ คงมีคนที่ชอบสะสมแบบนี้เยอะเหมือนกัน

            เหตุนั้น  เลยก็ต้องหาหนังสืออื่น แล้วก็เลือกมาได้สามเล่ม ซึ่งได้อ่านด้วย และมีเนื้อหาสาระเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางวิชาการของสังคมไทยและสังคมโลก มีแง่มุมที่ให้อารมณ์ร่วมและสอดคล้องกับวาระความสนใจของผมด้วย คือ...

  • ปาจารยสาร  เรื่องที่ทำให้เลือก เป็นเรื่องในกรอบเกร็ดข่าวการศึกษา กรอบเล็กนิดเดียว คือ วิทยาลัยเท้าเปล่า ในประเทศอินเดีย กับเรื่องการศึกษาทางเลือก  การแพทย์ทางเลือกในศาสตร์ของธิเบต และทรรศนะของ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์  
  • เมืองโบราณ เรื่องที่ทำให้ผมเลือกคือภาพเขียนพระบฏ หรือจิตรกรรมพุทธศิลป์ที่แทนที่จะเขียนเป็นจิตรกรรมบนผนังโบสถ์ก็เขียนลงบนผืนผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางศิลปะของช่างล้านนา อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำวิจัยโดยการสนับสนุนของ สกว แล้วนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ ผมชอบโครงสีและวิธีเขียนเล่าเรื่องแบบล้านนาบนภาพพระบฏ
  • แนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค National Geographic เรื่องที่ทำให้เลือกคือ ข้อค้นพบใหม่เกี่ยวกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ที่สูญพันธุ์ไปก่อนมนุษย์โฮโมซาเปียนแบบเรา กับระเบียบวิธีการวิจัยที่ผสมผสานงานศิลปะเชิงวิทยาศาสตร์..เรียกว่า ดูแล้วสุดยอดครับ สุดยอด  กล่าวคือ เขามีการทำวิจัยอย่างรอบด้าน เสร็จแล้วก็นำเอาความรู้จากการวิจัยมาทำโมเดล แสดงผลการวิจัยสู่งานปั้น แล้วก็นำไปจัดวาง ทำสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เสร็จแล้วก็ถ่ายภาพแล้วก็เขียนนำเสนองานวิจัยออกมาแบบงานสารคดี  มีภาพถ่ายประกอบซึ่งสร้างขึ้นจากการทำงานความรู้ให้เป็นภาพเสมือนจริง 

         งานวิจัยโดยทั่วไป ก็มักจะนึกถึงการวิเคราะห์เพื่อพรรณามิติต่างๆออกมาให้ได้รายละเอียดที่หมดจรด เวลานำเสนอก็มักอยู่ในรูปตาราง การเขียน และอาจจะมีภาพประกอบบ้างก็ในลักษณะของข้อเท็จจริง แต่นี่เลยไปถึงขั้นทำออกมาให้เป็นปรากฏการณ์ที่จับต้องได้ แล้วก็ใช้เป็นข้อมูลนำกลับมานำเสนอผลการวิจัยอีกโดยย่อยให้เป็นงานเชิงสารคดีให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและได้ความซาบซึ้ง

         เรียกว่าโคตรสุดยอดของการสร้างสรรค์ ทั้งในแง่ของงานศิลปะและงานวิจัยสร้างความรู้  

        แล้วก็อีกเรื่องในเนชั่นแนลจีออกราฟิค ที่ทำให้ต้องเลือกและตรงกับวาระตนเองด้วย คือ สารคดีจากการศึกษาเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เรื่อง การทอดกฐิน ซึ่งความน่าสนใจคือ การให้ทรรศนะและวิธีนำเสนอใหม่ของคนเขียน ที่พาเข้าสู่ความแยบคายในเรื่องที่ดูพื้นๆ มากๆ ชอบครับ ชอบ

         หนังสือเนชั่นแนลจีโอกราฟิคนี้ เป็นหนึ่งในงานวิชาการแนวอุดมคติ ของการทำงานเชิงประชาคม และประชาสังคมสำหรับผม จดทะเบียนก่อตั้งที่เมืองวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐอเมริกา เมื่อ 120 ปีที่ผ่านมา  ตรงกับรัชสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 คือ พุทธศักราช 2431* หรือเมื่อปี 1888 โดยก่อตั้งเป็นองค์กรทางวิทยาศาสตร์และการศึกษา ซึ่งสำหรับในประเทศไทยแล้ว งานแนวนี้ ก็มักทำให้ผมนึกถึง ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล กับ คุณกิตติ สิงหาปัต และทีมบุกเบิกการทำสื่อสารคดี โลกสลับสี ในประเทศไทย เมื่อกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา

         เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค ตั้งเป้าหมายเชิงอุดมคติที่น่าสนใจมาก คือ ผลิตความรู้เป็นสินค้าคุณธรรม ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร  ทว่า มุ่งสร้างความรู้ทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับโลก ท้องฟ้า และทะเล เผยแพร่เป็นวิทยาทานทั่วโลก ผ่านสื่อและสิ่งตีพิมพ์แบบต่างๆ 

         ถ้าหากนักวิชาการ ปัญญาชน และสังคมการอ่าน ตลอดจนการศึกษาเรียนรู้ของประเทศต่างๆทั่วโลกพากันเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และความรู้ของโลก ที่จะยอมรับกันว่าดีได้นั้น ต้องนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและพัฒนาตนเองแข่งกันอย่างเดียวเหมือนกันไปหมดแล้วละก็ โลกนี้ก็จะไม่มีเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค เพราะวิธีคิดในการก่อตั้งและดำเนินการจนเป็นคลังวิทยาการสาธารณะชั้นยอดของโลกแห่งหนึ่งของเนชั่นแนลจีออกราฟิคอย่างที่ผมเข้าใจนั้น ต่างไปจากวิธีคิดที่เป็นกระแสหลักดังกล่าวของประเทศต่างๆ

         นับแต่ก่อตั้งขึ้นมา แนชั่นแนลจีโอกราฟิค สนับสนุนการวิจัยและการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับแนวทางของสมาคม กว่า 9,000 โครงการ มีอิทธิพลต่อวิธีคิดและให้ความรู้อย่างกว้างขวางทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มากที่สุดองค์กรหนึ่งของโลก ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้เรียนรู้และเห็นความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน

        ถึงแม้ในปัจจุบัน การวิจัย งานวิชาการ งานเชิงสารคดีจากการวิจัย และปฏิบัติการความรู้ทางสื่อ ของเนชั่นแนลจีโอกราฟิค จะออกไปทางสังคม วัฒนธรรม และเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คน  รวมทั้งงานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม ของหลากหลายเผ่าพันธุ์ในโลก  มากกว่าจะเป็นเรื่องอันเป็นจุดยืนดั้งเดิมของสมาคม คือ ภูมิศาสตร์ของโลก

        ทว่า ความเป็นมหาวิทยาลัยทางอากาศ และมหาวิทยาลัยชีวิตทางการสื่อสารความรู้ ที่ย่อยง่ายเพื่อถ่ายทอดสู่คนส่วนใหญ่ของโลก ก็ทำให้เนชั่นแนลจีโอกราฟิค มีอิทธิพลต่อการสร้างทรรศนะที่กว้างขวางมากขึ้นไปอีกจากภูมิศาสตร์ธรรมชาติ สู่ภูมิศาสตร์ทางสังคมวัฒนธรรมของมวลมนุษย์

        เป็นภารกิจที่งดงามของแรงงานแห่งชีวิต งานทางความรู้ ศิลปะ สื่อ และความศรัทธาต่อวิถีเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันของสังคมโลก

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

* ร่วมสมัยและเป็นปีเดียวกันกับการก่อตั้งโรงศิริราชพยาบาล  ซึ่งต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และพัฒนาการเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

หมายเลขบันทึก: 218043เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2008 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาอ่านและลงชื่อไว้ครับ อ่านแล้วได้ข้อมูลหนังสือหน้าอ่านด้วยขอบคุณครับ

คุณกวินคงเป็นนักอ่าน ดีครับดี นำมาเล่าแบ่งปันบ้างนะครับ

กลุ่มนักวิจัยชุมชนจำนวนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และมองไปข้างหน้าเห็นโอกาสการพัฒนาบทบาทการวิจัยแนวปฏิบัติการเชิงสังคม ที่จะเป็นหัวหอกในการเพิ่มความมี Social impact และการสะท้อนสังคมมากยิ่งๆขึ้น ทำให้นึกถึงอุดมคติการสร้างผลงานและแนวการมีบทบาททางวิชาการของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท