หนึ่งชั่วโมง...ช่วยเด็กก้าวร้าว


ขอบคุณน้องกรณีศึกษาออทิสติก คุณแม่ของน้องกรณีศึกษา และทีมงานสถาบันไพดี้ ที่ทำให้เกิดบันทึกของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้

บันทึกต่อไปนี้ ผมจะลองแทรกเหตุผลทางคลินิกพร้อมบทสนทนาที่ตัดตอนจากเหตุการณ์ทั้งหมดของการประเมินและวางแผนการรักษาจากกรณีศึกษา คือ เด็กชายออทิสติก อายุ 11 ปี 

เวลา 15.30 น. น้องเอ (นามสมมติ) เดินลงมาจากรถ มีคุณแม่พามาที่สถาบันไพดี้ คลิกดูสถานที่ที่ http://www.paidi-th.com/ น้องเอทักทายนักกิจกรรมบำบัดโดยไม่สบตา และไม่ยอมเดินเข้ามาที่สถาบันฯ แต่มุ่งตรงไปหยิบขนมและน้ำส้มในร้านค้า น้องมีความสามารถนำของไปวางบนโต๊ะ Cashier โดยต้องใช้คำสั่งบอก (เตือนไม่เกิน 2 ครั้ง) คุณแม่พยายามที่จะห้ามและบังคับให้ไปที่สถาบันฯ ทันที นักกิจกรรมบำบัดจึงสร้างสถานการณ์นี้เป็นการลองฝึกทักษะการซื้อของและวางเงื่อนไขให้เข้าไปทำกิจกรรมที่สถาบันฯ หลังจากจ่ายเงินและนำของที่ซื้อใส่ถุงอย่างเรียบร้อย เพิ่มคำชี้แนะให้น้องเอรู้จักขอเงินจากคุณแม่แล้วจ่ายเงินกับ Cashier ยืนอดทนรับเงินทอน นำเงินทอนคืนคุณแม่ และรอหยิบถุงใส่ของพร้อมขอบคุณ นักกิจกรรมบำบัดแนะนำให้คุณแม่เข้าใจขั้นตอนการฝึกให้น้องเอเรียนรู้จากทักษะชีวิตจริง

เวลา 15.40 - 16.00 น. นักกิจกรรมบำบัดวางแผนประเมินความสามารถของน้องเอ ในกรณีทำกิจกรรมที่มีรูปแบบอิสระ (วางกระดาษ 2 แผ่น สีเทียน 1 กล่อง เบาะนั่งแบบวงกลม 3 ชิ้น ห้องโล่งกว้าง 1 ห้อง) โดยสังเกตการช่วยเหลือของคุณแม่ การแสดงออกของน้องเอ พบว่า น้องเอมีความถี่ของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จำนวน 5 ครั้ง เช่น ไม่ยอมวาดรูป แย่งทานขนม วาดรูปอย่างเร็ว ตีหน้าตนเอง ลุกเดิน ร้องเสียงดัง เป็นต้น คุณแม่มีความเข้าใจแต่มีสีหน้าเครียดเล็กน้อย นักกิจกรรมบำบัดแนะนำให้คุณแม่พยายามสร้างเงื่อนไข เช่น วาดรูป 3 แบบ (วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม) จำนวนแบบละ 3 รูปแล้วระบายสี เมื่อเสร็จแต่ละรูปจึงยอมให้ทานขนม 1 ชิ้น คุณแม่สามารถสอนน้องเอได้แต่ยังคงหงุดหงิดเมื่อน้องเอไม่ทำตามหรือทำแบบเร็วๆ เพื่อทานขนม นักกิจกรรมบำบัดจึงให้คำสั่งน้องเอเพื่อมองตามรูปที่วาดพร้อมจับมือชะลอให้ระบายสีในรูปแต่ละแบบอย่างช้าๆ นักกิจกรรมบำบัดเน้นให้คุณแม่เห็นถึงความสำคัญในการชี้นำการช่วยเหลือเพื่อวาดรูปในแบบกิจกรรมบำบัด น้อเอสามารถทำได้ด้วยพฤติกรรมที่เหมาะสมในเวลา 5 นาที

เวลา 16.00-16.30 น. นักกิจกรรมบำบัดวางแผนประเมินความสามารถของน้องเอ ในกรณีทำกิจกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ มีเป้าหมาย และใช้ความคิดสร้างสรรค์ (ดินน้ำมันหลายสีจำนวน 1 กล่อง ที่พิมพ์ 2 รูป ห้องที่สงบ โต๊ะเข้ามุมหร้อมเก้าอี้ 2 ตัว) นักกิจกรรมบำบัดใช้วิธีการประเมินเพื่อค้นหาวิธีการจัดกิจกรรมการรักษาที่เหมาะสม โดยอธิบายให้คุณแม่ของน้องเอทราบถึงเป้าหมายของกิจกรรมการรักษาเพื่อให้น้องเอสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่นๆ ด้วยการทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย นักกิจกรรมบำบัดเน้นสร้างทัศนคติที่ดีแก่คุณแม่ ซึ่งเป็นผู้คาดหวังและมีความคิดอยากให้น้องเอแยกตัวจากคุณแม่ไปกับผู้อื่น เพราะน้องเอมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อแยกตัวจากคุณแม่ นักกิจกรรมบำบัดใช้กิจกรรมสาธิตให้คุณแม่เรียนรู้พร้อมประเมินทั้งคุณแม่และน้องเอว่าจะสามารถปั้นดินตามแบบได้หรือไม่ นักกิจกรรมบำบัดนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างเก้าอี้ที่น้องเอและคุณแม่ของน้องเอนั่ง พร้อมใช้คำสั่งให้น้องเอปั้นดินเป็นวงกลมพร้อมกับผู้บำบัดและคุณแม่ น้องเอพยายามสนใจปั้นดินเล็กน้อย แต่ยังห่วงทานขนม ที่น่าสนใจคือน้องเอลดอาการวิตกกังวล (Separate anxiety) และเบี่ยงเบนความสนใจจากตัวคุณแม่ไปปั้นดินอย่างมีเป้าหมายแทน ใช้เวลา 3 นาทีในการปั้นดินและพิมพ์แบบ แต่นักกิจกรรมบำบัดปรับรายละเอียดของกิจกรรมให้น่าสนใจขึ้นโดยแนะนำให้คุณแม่ของน้องเอลองคิดกระบวนการต่อมา คุณแม่ได้บอกน้องเอให้ปั้นเป็นตัวงู น้องเอสนใจมากขึ้นแต่ลังเลว่าจะปั้นดินเป็นตัวงูได้อย่างไร นักกิจกรรมบำบัดลองเข้าไปพร้อมสร้างสัมพันธภาพโดยการปั้นดินให้ดูพร้อมช่วยเหลือน้องเอบ้างจนเขาสามารถปั้นดินเป็นตัวงูได้ ใช้เวลาสนใจต่อเนื่องถึง 3 นาที

เวลา 16.30-16.45 น. แนะนำให้นักจิตวิทยาเข้ามาประเมินเพื่อวางแผนปรับพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างละเอียด นักกิจกรรมบำบัดแนะนำให้คุณแม่นั่งบนเบาะที่อยู่ไม่ไกลจากน้องเอ และให้นักจิตวิทยานั่งแทนที่คุณแม่พร้อมคอยบังคับให้น้องเอนั่งทำกิจกรรมที่มีเงื่อนไขและเป้าหมายมากขึ้น สังเกตว่าน้องเอเริ่มคุ้นเคยและสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นบ้างเล็กน้อย คุณแม่เล่าว่าเคยให้น้องเอทำกิจกรรมที่ชอบคือ เขียนตัวอักษร ระบายสี แต่เขาไมชอบงานปั้นดินหรือระบายสีรูปปูนปั้น นักกิจกรรมบำบัดอธิบายเพิ่มว่า การส่งเสริมให้ลองทำกิจกรรมที่ท้าทายอาจช่วยสร้างความคับข้องใจเล็กน้อย แต่เมื่อปรับกระบวนการให้ช่วยเหลือน้องเอและขยายเพิ่มทักษะความรับผิดชอบ ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ทักษะการคิดแก้ไขปัญหา และทักษะอื่นๆ (คลิกดูเพิ่มทักษะชีวิตจาก http://www.paidi-th.com/article/show_article.php?id=7) จะทำให้ความคิดและพฤติกรรมของน้องเอมีความหมายและมีเป้าหมายมากขึ้น หากน้องเอทำกิจกรรมง่ายๆ หรือกิจกรรมที่เป็นประจำซ้ำๆมากเกินไป เขาจะมีความรู้สึกอยู่ว่างจนพึงพิงคุณแม่ (Dependent attachment) มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสิ่งเร้าภายนอก (Insecurity of tactile sensitivity) จนพัฒนาเป็นความรู้สึกแยกตัวจากบุคคลอื่น (Social isolation) นักจิตวิทยาและนักกิจกรรมบำบัดร่วมประเมินพฤติกรรมจากกิจกรรมระบายสี นำจานสีไปล้าง นำผ้าชุบน้ำมาเช็ดโต๊ะ เก็บอุปกรณ์จนเสร็จ น้องเอใช้เวลาสะสมของการทำพฤติกรรมที่เหมาะสมถึง 8 นาที มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมรวมถึง 5 ครั้งสะสมเป็นเวลาถึง 10 นาที

เวลา 16.45-17.00 น.  ให้คำปรึกษากับคุณแม่เพื่อวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมที่บ้าน และ/หรือ ที่สถาบันในวันหยุด และนักกิจกรรมบำบัดแนะนำเพิ่มเติมถึงความถี่ของการให้โปรแกรมนี้ให้เหมาะสมกับการปล่อยให้น้องเอเรียนรู้ในโรงเรียนถึง 5 วัน นั่นคือคงต้องมีการสำรวจกิจกรรมในโรงเรียนและปรับเปลี่ยนเพิ่มความถี่ของการปรับพฤติกรรม (เพิ่มความสนใจในการทำกิจกรรมและลดอาการก้าวร้าวเมื่ออยู่ห่างจากคุณแม่) เป้าหมายที่เร่งด่วนจากการประเมินความสามารถในการระบายสีปูนปั้นกับนักจิตวิทยา ได้แก่ น้องเอควรได้รับการฝึกความรับผิดชอบในงานที่หลากหลายพร้อมๆกับการฝึกทักษะทางจิตสังคมอื่นๆ เช่น รู้จักอดทนและสนใจทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย รู้จักคิดและเลือกที่จะทำตามกติกาของการทำกิจกรรมกับผู้อื่น

 

หมายเลขบันทึก: 217511เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2008 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณครับอาจารย์ป๊อป ที่กรุณาเราอย่างมาก ขออนุญาตนำไปเผยแผ่ต่อใน web -

ของสถาบันนะครับ

ยินดีอย่างยิ่งครับคุณยงยศ และขอบคุณที่ช่วยเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจหลายๆท่านต่อไปครับ

น่าวนใจมากเลยนะคะ

เป็นนักกิจกรรมบำบัดนี่ต้องเก่งน่าดู ใช้หลักจิตยาเยอะจัง

ทำยังไงถึงจะควบคุมตัวเองได้มากขนาดนี้ สถานการณืเครียดเพียงใด เราต้องแยกให้ออก ยกใจตัวเองลอยเหนือจากภาวะนั้น แต่ก้อต้องใส่ใจอย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณครับคุณปลายฝน คำตอบคือ มีสติในเวลาประเมินเพื่อวางแผนการรักษาผู้รับบริการ การมีสติและฝึกใช้เหตุผลทางคลินิก จะทำให้มีความเชี่ยวชาญทางกิจกรรมบำบัดครับ

ผมคุยกับ นักธุกิจหญิง คนหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ เขามีปัญหามากเรื่อง คุณแม่ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปหลังจากป่วยหนัก (น่าจะเป็นสโตรก)

คุณแม่หงุดหงิดง่าย และสมาธิสั้นมากขึ้น เดินทางไปมาระหว่างบ้านลูกหลานตลอด จนเหนื่อยแทนต้องตามใจ จากเดิมพี่บอกว่าท่านไม่ได้เป็นแบบนี้

พี่ท่านนี้บอกผมว่าท่านเครียดมาก ขอปรึกษา ผมเลยนึกถึง อ.ป๊อบ ขึ้นมาทันทีครับ..

ขอบคุณครับคุณเอก

ยินดีให้คำปรึกษา หากนัดเวลาตรงกันที่คลินิกกิจกรรมบำบัด เชิงสะพานปิ่นเกล้าครับ ติดต่ออีเมล์หรือมือถือเพื่อนัดเวลาได้ครับ

การให้คำปรึกษาและแนะนำกิจกรรมบำบัดทางจิตสังคม เป็นเรื่องสำคัญต่อการปรับตัวทั้งจากผู้รับบริการที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองและที่กำลังดูแลผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบัน

ขอบคุณพี่ป๊อปมากนะคะ ที่กรุณาน้อง ๆ สถาบันไพดี้ เพื่อช่วยเหลือน้องเอ

ขออนุญาตนำไปแปะที่บล็อกนะคะ

ยินดีครับคุณฝน จากสถาบันไพดี้

โตขึ้นหนูอยากเป็นนักจิตวิทยาหนูจะเลือกเรียนสายวิทย์-คณิตได้ไหมค่ะช่วยแนะนำหนูหน่อย

ขอบคุณครับคุณไอซ์

เมื่อเลือกเรียนสายวิทย์ หนูสามารถเรียนจิตแพทย์ นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม นักจิตวิทยาคลินิก ฯลฯ ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท