การจัดการความรู้ ครูและผู้ปกครอง


การจัดการความรู้ ครูและผู้ปกครอง

ผสานสัมพันธ์ ผู้ปกครอง  ครู  ดูแลลูก(ศิษย์)รัก ช่วงวัยรุ่น

 

ลักษณะเรื่องเล่า  :  เป็นเรื่องเล่าความสำเร็จในการปฏิบัติงานที่เกิดจากกระบวนการแลกเปลี่ยน

       เรียนรู้ร่วมกันของครูกับผู้ปกครองนักเรียนหลังนำการจัดการความรู้ไปใช้

ความเป็นมาของเรื่องเล่าเร้าพลัง  :

        การพัฒนานักเรียนให้นักเรียนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  ความสามารถ  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวังไว้  โดยผ่านกระบวนการทางการศึกษานั้น  นอกจากจะดำเนินการด้วยการส่งเสริม  สนับสนุนนักเรียนแล้ว   การป้องกันและการช่วยเหลือแก้ปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั้งด้านการสื่อสาร  เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้คนในเชิงบวกแล้ว  ในเชิงลบก็มีปรากฏเช่นกัน  เป็นต้นว่า  ปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาการระบาดของสารเสพติด  ปัญหาการแข่งขันในรูปแบบต่าง ๆ  ปัญหาครอบครัว  ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์  ความวิตกกังวล  ความเครียด  มีการปรับตัวที่ไม่เหมาะสมหรืออื่น ๆ ที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้น                  ภาพความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนานักเรียนให้เป็นไปตามที่มุ่งหวังนั้น  จึงต้องอาศัย            ความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทุกคน  โดยเฉพาะผู้ปกครอง  บุคลากรครูทุกคนในโรงเรียน  ซึ่งมีครูที่ปรึกษาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการต่าง ๆ  เพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิดด้วยความรักเมตตาที่มีต่อลูกศิษย์  และภาคภูมิใจในบทบาทที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนให้เติบโต งอกงาม  เป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป

    โรงเรียนอู่ทอง  จึงตระหนักถึงความสำคัญ  ได้จัดให้มีการประชุมผู้ปกครองนักเรียนทุกห้องเรียนในทุกภาคเรียน  โดยผู้เล่าเรื่อง เป็นครูที่ปรึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/9  ได้นำกระบวนการจัดการความรู้มาใช้ในการประชุมผู้ปกครองชั้นเรียน  เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการดูแลลูกรัก  และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครอง  ครู  และสถานศึกษา

ขอบเขตของวิธีปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ  :

                    ในการดำเนินการประชุมผู้ปกครองชั้นเรียน ม.1/9 นั้น  ครูที่ปรึกษาได้ดำเนินการดังนี้

                1.   แบ่งกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ  ละประมาณ  6-8  คน 

                2.  ชี้แจงกระบวนการจัดการความรู้  แล้วให้แต่ละกลุ่มเลือกคุณอำนวย  คุณลิขิต  ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ผู้ปกครองที่มีอาชีพรับราชการ

                3.   กำหนดหัวเรื่องคือ  “การดูแลลูกรักช่วงวัยรุ่น”

                4.   ผู้ปกครองแต่ละคนเล่าเรื่องเกี่ยวกับผลงานที่น่าภาคภูมิใจในการดูแลลูกรักช่วงวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จ  มีการซักถามแบบชื่นชมเพื่อช่วยกันสกัดหรือถอดความรู้ออกมาจากวิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ผลสำเร็จที่น่าชื่นชมนั้น  และบันทึกเป็นขุมความรู้ไว้

                5.  สังเคราะห์วิธีปฏิบัติที่ได้ในแต่ละกลุ่มสรุปเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้   

6.   ตัวแทนทุกกลุ่มออกมานำเสนอวิธีปฏิบัติที่ร่วมกันสังเคราะห์ในกลุ่มตน  มีการซักถามแบบชื่นชม

7.   ครูที่ปรึกษาและผู้ปกครองร่วมกันสังเคราะห์วิธีปฏิบัติในการดูแลลูกรักช่วงวัยรุ่นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/9  ได้วิธีการที่ครูและผู้ปกครองจะนำไปใช้ปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จต่อไปได้

การจัดการความรู้ของครูและผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1/9  ครั้งนี้ ได้  วิธีปฏิบัติในการดูแลลูกรักช่วงวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จ  สรุปดังนี้

1.  ผู้ปกครองต้องทำให้ลูกเข้าใจก่อนว่าวัยนี้ทั้งตัวลูกและเพื่อนต่างก็โตขึ้น  ร่างกายและจิตใจมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยหนุ่มสาว  เกิดความต้องการต่อความรู้สึกทางเพศ  ถ้าเราไม่รู้จักระวังตัวหรือควบคุมตัวเองอย่างเหมาะสมมีโอกาสที่เกิดปัญหาเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย

2.  ผู้ปกครองยกตัวอย่างสถานการณ์ต่าง ๆ  คุยกับลูกพร้อมแนะนำแนวทางที่เหมาะสม

3.  ต้องหลีกเลี่ยงการจับไม้จับมือ  การสัมผัสเนื้อตัว  แม้จะเป็นเพื่อนซี้ที่สนิทกันมากก็ตาม

4.  ไม่ควรอยู่ในที่ลับตาสองต่อสองกับเพื่อนต่างเพศหากมีความจำเป็นควรชวนคนอื่นอยู่เป็นเพื่อนด้วย

5.  การพูดคุยกันทางโทรศัพท์ควรแนะนำลูก  ซักถามอย่างเป็นกันเองเช่นคุยอยู่กับใคร  เขารู้สึกอย่างไรกับเรา  เราควรวางตัวอย่างไรในฐานะที่ยังเป็นนักเรียน  รู้จักปฏิเสธให้เป็น  เป็นต้น

6.  การที่ลูกชวนเพื่อนมาบ้านหรือไปบ้านเพื่อนต่างเพศไม่ควรไปตามลำพังถึงแม้ว่าเราจะเชื่อใจลูกก็ตาม  หากลูกจะไปงานวันเกิดหรือไปทำรายงานก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีเพื่อน ๆ คนอื่นไปด้วยหลายคน  หากไม่แน่ใจก็ควรไปส่ง  หรือขอนั่งเป็นเพื่อนด้วยก็น่าจะได้

7.  การร่วมงานเลี้ยงในหมู่เพื่อน ๆ  ผู้ปกครองควรกำหนดข้อตกลง  ข้อห้าม  เช่น การดื่มเหล้า  สูบบุหรี่  การแต่งกายที่เหมาะสม  เวลากลับ  เป็นต้น

ผลที่เกิดขึ้น  :

                จากการสังเกตพฤติกรรมนักเรียนเมื่อผู้ปกครองและครูนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติแล้ว  พบว่านักเรียน ม.1/9  ทุกคนมีพฤติกรรมที่ดี  ปลอดจากปัญหาทางเพศ  สิ่งเสพติด และการทะเลาะวิวาท  สร้างความปลาบปลื้มใจแก่ครูและผู้ปกครองทุก ๆ คน  อีกทั้งผู้ปกครองทุกคนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  ติดต่อสอบถาม ปรึกษาปัญหากัน และมีทัศนคติที่ดีต่อครูและสถานศึกษาเป็นอย่างมาก

 

หมายเลขบันทึก: 216807เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ชื่นชมการใช้ KM เป็นเครื่องมือพัฒนางานของชาวอู่ทอง
  • ยิ่งผลพวงตกอยู่กับลูกศิษย์ด้วยแล้ว ยิ่งชื่นใจ
  • เป็นกำลังใจให้กับการทำงานของอาจารย์เสมอค่ะ โดยเฉพาะการขยายผลในปีนี้
  • ขอบคุณชาวอู่ทองทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจ ทำให้พวกเรากลายเป็นองค์กรต้นแบบ ของ สกศ. ไปแล้ว
  • หลวมตัวลงเรือลำเดียวกันไปแล้ว ยังไงก็ต้องช่วยกันพายต่อแล้วล่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท