การเรียนรู้กับการเรียนการสอนหน่วยที่1


การเรียนรู้กับการเรียนการสอนหน่วยที่1

การเรียนรู้กับการเรียนการสอน

1.       การเรียนรู้ (Learning) การเรียนรู้โดยทั่วไป หมายถึง ความสัมพันธ์ต่างๆ จนถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือมีความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืออาจหมายถึงกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้โดยทั่วไปมักเน้นผลที่เกิดจากการกระทำ

2.       การสอน (Instruction) หมายถึง การจัดประสบการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนการให้การศึกษาและการฝึกอบรมโดยทั่วไป ถือว่าเป็นหน้าที่ของครู

สื่อสาร และวิธีสอน

1. สื่อ ( Medium หรือ Media)

 สื่อเป็นช่องทางของการสื่อสาร  หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่เป็นพาหะนำความรู้หรือสารสนเทศ ระหว่างผู้สื่อกับผู้รับเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ รูปภาพ สิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ ผู้สอนและอื่นๆ ซึ่งเมื่อใช้สิ่งเหล่านี้นำสารเพื่อการเรียนการสอน เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า
สื่อการเรียนการสอน (Instructional Media)

สื่ออาจมีหลายรูปแบบ หรือหลายลักษณะ  แม้แต่สื่อประเภทเดียวกัน ก็อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ภาพยนตร์ มีทั้งขนาด 8 16 และ 35 มิลลิเมตร เทปคาสเสทก็เป็นสื่ออีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นสื่อเกี่ยวกับเสียง และสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อในรูปแบบของภาษา เป็นต้น

-วัสดุ (Materials ) หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นชิ้นหรือเป็นอัน เมื่อนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน อาจเรียกว่า วัสดุการสอนหรือวัสดุการเรียนการสอน

-โสตทัศนวัสดุ (Audio visual Materials ) หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์และกิจกรรมต่างๆ (หรือประสบการณ์ทางการศึกษา) ทั้งหลายที่จัดขึ้นมา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านทางประสาทสัมผัส
          สรุปได้ว่า สื่อการเรียนการสอน หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่ครูและผู้เรียนนำมาใช้ในระบบการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ตามจุดประสงค์การเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2. สาร (Messages) ในกิจกรรมการเรียนการสอนใดๆ ก็ตาม ย่อมมีสาร หรือเนื้อหาสาระในการสื่อสารการสอน ซึ่งสารดังกล่าวอาจจะเป็นเนื้อหาวิชา แนวทางการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คำถามเกี่ยวเรื่องที่ศึกษาคำตอบ หรือคำอธิบายรวมทั้งข้อมูลป้อนกลับ  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับสารก็คือ สื่อจะเป็นพาหะนำสาร   ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูหรือผู้สอนที่จะต้องเลือกสรรสื่อที่ดี ถูกต้องเหมาะสม สามารถนำสารสู่ผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. วิธีสอน วิธีสอน (Instructional Methods) โดยทั่วไป มักอธิบายในลักษณะของการนำเสนอแบบต่างๆ (Presentation Forms) เช่น การบรรยาย และการอภิปราย เป็นต้น วิธีสอนกับสื่อการสอนไม่เหมือนกัน วิธีสอนเป็นลักษณะของกระบวนการที่ใช้ในการสอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียน หรือเนื้อหาสาระในการเรียน ส่วนสื่อเป็นเพียงพาหะนำสารหรือเนื้อหาความรู้ (Information) ระหว่างผู้สื่อกับผู้รับ

คุณค่าของสื่อการสอน 
สื่อการสอนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนดังต่อไปนี้ (กิดานันท์ มลิทอง,2540)

สื่อกับผู้เรียน 

1) เป็นสิ่งที่ช่วยให้การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ง่ายขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และสามารถช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

2) สื่อจะช่วยกระตุ้นและสร้างความสนใจให้กับผู้เรียน ทำให้เกิดความสนุกสนานและไม่รู้สึกเบื่อหน่ายการเรียน

3) การใช้สื่อจะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตรงกัน และเกิดประสบการณ์ร่วมกันในวิชาที่เรียนนั้น

4) ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น ทำให้เกิดมนุษยสัมพันธ์อันดีในระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองและกับผู้สอนด้วย

5) ช่วยสร้างเสริมลักษณะที่ดีในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการใช้สื่อเหล่านั้น

6) ช่วยแก้ปัญหาเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยการจัดให้มีการใช้สื่อในการศึกษารายบุคคล

สื่อกับผู้สอน

1) การใช้สื่อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบการเรียนการสอน เป็นการช่วยให้บรรยากาศในการสอนน่าสนใจยิ่งขึ้น ทำให้ผู้สอนมีความสนุกสนานในการสอนมากกว่าวิธีการที่เคยใช้การบรรยายแต่เพียงอย่างเดียว และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้เพิ่มขึ้นด้วย

2) สื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้สอนในด้านการเตรียมเนื้อหา เพราะบางครั้งอาจให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาจากสื่อได้เอง

3) เป็นการกระตุ้นให้ผู้สอนตื่นตัวอยู่เสมอในการเตรียมและผลิตวัสดุใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการสอน ตลอดจนคิดค้นเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้น่าสนใจยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามสื่อการสอนจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อผู้สอนได้นำไปใช้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี ดังนั้น ก่อนที่จะนำสื่อแต่ละอย่างไปใช้ ผู้สอนจึงควรจะได้ศึกษาถึงลักษณะและคุณสมบัติของสื่อการสอน ข้อดีและข้อจำกัดอันเกี่ยวเนื่องกับตัวสื่อและการใช้สื่อแต่ละอย่าง ตลอดจนการผลิตและใช้สื่อให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การจัดกิจกรรมการสอนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์ที่วางไว้

หลักการเลือกสื่อการสอน 
การเลือกสื่อการสอนเพื่อนำมาใช้ประกอบการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยในการเลือกสื่อ ผู้สอนจะต้องตั้งวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมในการเรียนให้แน่นอนเสียก่อน เพื่อใช้วัตถุประสงค์นั้นเป็นตัวชี้นำในการเลือกสื่อการสอนที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีหลักการอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา คือ

1) สื่อนั้นต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาบทเรียนและจุดมุ่งหมายที่จะสอน

2) เลือกสื่อที่มีเนื้อหาถูกต้อง ทันสมัย น่าสนใจ และเป็นสื่อที่ส่งผลต่อการเรียนรู้มากที่สุด

3) เป็นสื่อที่เหมาะกับวัย ระดับชั้น ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียน

4) สื่อนั้นควรสะดวกในการใช้ วิธีใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเกินไป

5) เป็นสื่อที่มีคุณภาพเทคนิคการผลิตที่ดี มีความชัดเจนเป็นจริง

6) มีราคาไม่แพงเกินไป หรือถ้าจะผลิตควรคุ้มกับเวลาและการลงทุน

หลักในการใช้สื่อ
ในการพิจารณาเลือกใช้สื่อการสอนแต่ละครั้งครูควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของสื่อการสอนแต่ละชนิด ดังนี้
1. ความเหมาะสม สื่อที่จะใช้นั้นเหมาะสมกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของการสอนหรือไม่
2. ความถูกต้อง สื่อที่จะใช้ช่วยให้นักเรียนได้ข้อสรุปที่ถูกต้องหรือไม่
3. ความเข้าใจ สื่อที่จะใช้นั้นควรช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักเรียน
4. ประสบการณ์ที่ได้รับ สื่อที่ใช้นั้นช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักเรียน
5. เหมาะสมกับวัย ระดับความยากง่ายของเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในสื่อชนิดนั้น ๆ เหมาะสมกับระดับความสามารถ ความสนใจ และความต้องการของนักเรียนหรือไม่
6. เที่ยงตรงในเนื้อหา สื่อนั้นช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาที่ถูกต้องหรือไม่
7. ใช้การได้ดี สื่อที่นำมาใช้ควรทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดี
8. คุ้มค่ากับราคา ผลที่ได้จะคุ้มค่ากับเวลา เงิน และการจัดเตรียมสื่อนั้นหรือไม่
9. ตรงกับความต้องการ สื่อนั้นช่วยให้นักเรียนร่วมกิจกรรมตามที่ครูต้องการหรือไม่
10. ช่วยเวลาความสนใจ สื่อนั้นช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจในช่วงเวลานานพอสมควรหรือไม่

ความต่อเนื่องระหว่างรูปธรรมนามธรรม 

จำแนกและการบูรณาการ เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ ดังนั้นการชี้แนะจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสอน และการสอนก็เป็นภารกิจสำคัญของครู ด้วยเหตุนี้ ครูจึงต้องเป็นบุคคลที่สามารถจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนได้อย่างเหมาะสมกับตัวผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามจุดมุ่งหมายของการสอน

กรวยประสบการณ์ของ เอดการ์ เดล (Edgar Dale)

การสอนโดยทั่วไปควรเริ่มจากประสบการณ์ตรง ผ่านไปยังประสบการณ์จำลอง ( เช่น รูปภาพ แผนที่ แผนภูมิและภาพยนตร์ ) ไปสู่สัญลักษณ์ ซึ่งการเรียนจากสื่อต่างๆ ทั้งหลายจะมีผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน การสอนควรควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบจำแนกบูรณาการ ดังนั้น ประสบการณ์รูปธรรมและ / หรือกึ่งรูปธรรม จะช่วยเกื้อหนุนการเรียนรู้และจดจำได้นาน ตลอดจนช่วยให้เข้าใจสัญลักษณ์หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม

วจนสัญลักษณ์ (Verbal Symbols) Abstract
ทัศนสัญลักษณ์ (
Visual Symbols)
การบันทึกเสียง วิทยุและภาพนิ่ง
ภาพยนตร์ (
Motion Pictures)
โทรทัศน์ (
Television) 
นิทรรศการ (
Exhibits)
การศึกษานอกสถานที่ (
Field Trips)
การสาธิต (
Demonstrations)
ประสบการณ์นาฏการ (
Dramatized Experiences) Enactive
ประสบการณ์จำลอง (
Contrived Experiences)
ประสบการณ์ตรงและมีความมุ่งหมาย

         นอกจากสื่อการสอนจะให้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้เรียน แล้วสื่อการสอนยังช่วยให้ผู้เรียนได้บูรณาการประสบการณ์เดิมทั้งหลายเข้าด้วยกันอีกด้วย ดังนั้นการจัดประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมอย่างเหมาะสมในการเรียนการสอน จึงเป็นเหตุผลหรือหลักการสำคัญในการใช้สื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน

พื้นฐานทางจิตวิทยาของการเรียนรู้

1. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มปัญญานิยม (Cognitivist Perspective) นักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม หรือนักจิตวิทยากลุ่มความรู้ความเข้าใจ เชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์ ประสบการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม จุดเริ่มของการเรียนรู้จะอยู่ที่การรู้จักจำแนก สิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันออกจากกัน และสามารถจัดไว้เป็นกลุ่มหรือพวก ประสบการณ์ในการรู้จำแนกจะนำไปสู่การพัฒนาแนวคิด ในเรื่องนั้นๆ กระบวนการขั้นต่อไปก็คือ การนำแนวคิดเหล่านั้นมาบูรณาการ  เข้าด้วยกัน เกิดการเรียนรู้ขึ้นเป็นหลักการ และทฤษฎีต่างๆ ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นนามธรรมและสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ได้นี้ไปเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ในสิ่งอื่นๆ ต่อไป
          Schemata (Schema)
          Assimilation
          Accommodation

2. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorist Perspective) นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม เชื่อว่าการเรียนรู้คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
1. แรงขับ (Drive) หมายถึง ความต้องการของผู้เรียน ซึ่งจะจูงใจผู้เรียนให้หาทางสนองตอบต่อความต้องการของตนเอง
 2. สิ่งเร้า (Stimulus)
สิ่งเร้าอาจเป็นความรู้หรือการชี้แนะจากครูหรือจากแหล่งการเรียน (สื่อ) ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบสนอง
3. การตอบสนอง (Response) เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่สังเกตได้จากพฤติ กรรมของผู้เรียนที่   แสดงออกมา
4. การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้รางวัลเมื่อผู้เรียนตอบสนองได้ถูกต้อง
          สื่อการสอนเปรียบเสมือนสิ่งเร้าเพื่อการเรียนรู้ ตัวอย่างสื่อการสอนที่ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้นี้ได้แก่ บทเรียนโปรแกรม ชุดการสอนและนวัตกรรมการสอนประเภทต่างๆ

3. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มสร้างสรรค์ความรู้ ( Constructivist Perspective ) นักจิตวิทยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องจากกลุ่มปัญญานิยม ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้เรียน ด้วยการนำความรู้เดิม มาวิเคราะห์ และสังเคราะห์อย่างมีเหตุผล แล้วประมวลเป็นความรู้ใหม่เพื่อนำไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ผู้เรียนจะเป็นผู้สร้างสรรค์ด้วยการแปลความหมาย ข้อมูลและสารสนเทศที่มีอยู่รอบๆ ตัวด้วยตนเองดังนั้น จุดประสงค์การเรียนการสอนจึงไม่ใช่การสอนความรู้ แต่เป็นการสร้างสรรค์สถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้เรียนสามารถแปลความหมายของข้อความรู้ต่างๆ เพื่อความเข้าใจด้วยตัวของผู้เรียนเอง ดังนั้น การเรียนการสอนตามความเชื่อของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ก็คือ การชี้แนะแนวทางการเรียนเพื่อเกิดการเรียนรู้ตามความสามารถของผู้เรียน การวัด และประเมินผลการเรียนจะอยู่บนพื้นฐานของความสามารถของผู้เรียนในการใช้ความรู้เพื่อเกื้อหนุนการคิดในการดำรงชีวิตจริง

4. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มจิตวิทยาสังคม ( Social-Psychological Perspective ) จิตวิทยาสังคมเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่รู้จักกันมานานในการศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอน นักจิตวิทยาสังคมเชื่อว่า ลักษณะกลุ่มสังคมในห้องเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ เช่น การเรียนแบบอิสระ การเรียนเป็นกลุ่มเล็ก หรือการเรียนรวมทั้งชั้น บทบาทสำคัญของการเรียนจะอยู่ที่ว่า ผู้เรียนสามารถควบคุมกิจกรรมการเรียนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) มีผลดีกว่าการเรียนแบบแข่งขัน (Competitive Learning)

เทคโนโลยีเพื่อการเรียน
เทคโนโลยี
(Technology) คำว่า เทคโนโลยี อาจให้ความหมายได้ 3 ทัศนะ ดังนี้

1) เทคโนโลยีในลักษณะที่เป็นกระบวนการ (Technology as a Process) หมายถึง การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้อื่นๆ ในการปฏิบัติภารกิจอย่างมีระบบ
  2) เทคโนโลยีในลักษณะที่เป็นผลผลิต (Technology as Product) หมายถึง เครื่องมือ (Hardware) และวัสดุ (Software) อันเป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี ฟิล์มภาพยนตร์เป็นวัสดุ เครื่องฉายภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ และต่างก็เป็นผลผลิตของเทคโนโลยี
 3) เทคโนโลยีในลักษณะที่เป็นทั้งกระบวนการและผลิตผล (Technology as a Mix of Process and Product) เป็นการกล่าวถึง เทคโนโลยีในแง่ (1) การใช้วิธีการ และเครื่องมือหรือวัสดุร่วมกันในเวลาเดียวกัน (2) การใช้เครื่องมือและวิธีการแยกจากกันในเวลาเดียวกัน เช่น เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ เป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กับวัสดุ (Software หรือ Program) อย่างสัมพันธ์กัน
      เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นวิธีการหรือกระบวนการ (Technology as a Process) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาต่างๆ ทางการสอนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
            เทคโนโลยี เป็นการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแขนงวิชาอื่นๆ มาใช้ในการปฏิบัติภารกิจ ดังนั้น เทคโนโลยีการสอน จึงหมายถึง การประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแขนงวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น เทคโนโลยีการสอน จึงเป็นการออกแบบระบบการเรียนการสอนเพื่อให้สามารถจัดความรู้ ทักษะ และเจตคติหรือการเรียนรู้ทั้งหลายให้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         เทคโนโลยีการสอนได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนและก่อให้เกิดวิธีหรือแนวปฏิบัติใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า นวัตกรรมการสอนขึ้นมาหลายรูปแบบ เช่น การสอนแบบโปรแกรม (Programmed Instruction) คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer - Based Instruction : CBI) การสอนโดยใช้ระบบเสียง (Audio-tutorial Systems) การสอนแบบโมดุล (Modular Instruction) เกมและสถานการณ์จำลอง (Game and Simulation) เป็นต้น เทคโนโลยีการสอนบางลักษณะจึงเป็นการใช้สื่อโสตทัศน์และหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ต่างๆ ร่วมกันในลักษณะของสื่อประสม (Multi media) แต่เทคโนโลยีการสอนจะมีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างไปจากการใช้สื่อการเรียนการสอนแบบธรรมดา กล่าวคือ เทคโนโลยีการสอน จะเน้นผู้เรียนและกระบวนการเรียนการสอน และยึดหลักการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นสำคัญ
             บทเรียนโปรแกรมเป็นตัวอย่างที่ดีของเทคโนโลยีการสอน บทเรียนโปรแกรมยึดหลักการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งสกินเนอร์ (B. F. Skinner) ได้พัฒนาบทเรียนโปรแกรมขึ้นมา โดยจัดบทเรียนเป็นขั้นตอนสั้นๆ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน ผู้เรียนได้รับข้อมูลย้อนกลับทุกขั้นตอนการเรียนและได้รับการเสริมแรง เมื่อตอบสนองถูกต้อง การเสริมแรงและข้อมูลย้อนกลับเป็นผลแห่งความรู้ (Knowledge of Results) หรือเกิดการเรียนรู้ขึ้นมาในตัวผู้เรียนนั่นเอง ดังนั้น การสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมหรือการสอนแบบโปรแกรม จึงเป็นกระบวนการที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียน (Active Process) ไม่ใช่ผู้เรียนรอรับความรู้แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างจากการสื่อสาร การสื่อสารเป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้เท่านั้น
            อาจจะกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีการสอนได้พัฒนามาจากทฤษฎีการเสริมแรง ซึ่งทฤษฎีการเสริมแรงนี้ จัดว่าเป็นทฤษฎีพื้นฐานที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยีการสอนขึ้นมาหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามทฤษฎีอื่นๆ เช่นกลุ่มสัมพันธ์ จิตวิทยากลุ่มความรู้นิยม ทฤษฎีสารสนเทศ (Information Theory) และจิตวิทยาพัฒนาการ ต่างก็มีความสำคัญในการเกื้อหนุนให้เทคโนโลยีการสอนพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง

บทบาทของสื่อในการเรียนการสอน
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า สื่อและเทคโนโลยีการสอน สนับสนุนยุทธวิธีเบื้องต้นของการเรียนการสอนได้หลายประการ ที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ใช้สื่อ/เทคโนโลยีช่วยการสอนของครู การใช้สื่อลักษณะนี้เป็นวิธีที่เรารู้จักและคุ้นเคยมากที่สุด โดยครูนำสื่อมาใช้เพื่อช่วยการสอน การใช้สื่อในลักษณะนี้จะช่วยให้การสอนสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถของครู ดังนั้น ถ้าครูจะนำสื่อมาใช้ช่วยในการสอน ครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับหลักสูตร ระบบการสอนและเทคนิคต่างๆ ในการใช้สื่อ รวมทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

2. สื่อช่วยผู้เรียนฝึกทักษะและการปฏิบัติได้ เป็นการจัดสื่อไว้ในลักษณะห้องปฏิบัติการ โดยผู้เรียนเป็นผู้ใช้ภายใต้การชี้แนะของครู เช่น การใช้ห้องปฏิบัติการทางภาษา การเรียนจากบทเรียนโปรแกรม ตลอดจนการฝึกปฏิบัติอื่นๆ และการทำแบบฝึกหัดหรือการค้นคว้าด้วยตนเอง เป็นต้น

3. ช่วยการเรียนแบบค้นพบ สื่อการสอนสามารถช่วยการจัดการเรียนการสอนแบบค้นพบหรือการสอนแบบสืบเสาะ (Inquiry Approach) ได้เป็นอย่างดี เช่น การใช้วิดีโอช่วยสอนวิทยา ศาสตร์กายภาพ เพื่อให้ผู้เรียนเฝ้าสังเกตภาพและเนื้อหา จนสามารถค้นพบข้อสรุปหรือหลักการต่างๆ ได้

4. สื่อช่วยจัดการเกี่ยวกับการสอน สื่อการเรียนการสอนสามารถช่วยให้ผู้เรียนกับผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ดังนั้น สื่อและเทคโนโลยี จึงทำให้บทบาทของครูเปลี่ยนไปจากการเป็นผู้บอกความรู้ มาเป็นผู้จัดการและร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนทำให้สามารถ จัดรูปแบบการเรียนการสอนขึ้นมาหลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียน ปัญหาและสื่อต่างๆ ที่จัดขึ้นมาเพื่อการเรียนการสอนนั้นๆ เช่น 1) การสอนแบบเอกัตบุคคล 2) การสอนแบบกลุ่มเล็ก 3) การสอนแบบกลุ่มใหญ่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบใด ครูก็สามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีเข้าช่วยในการจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นครูยังสามารถกำหนดเวลาและกิจกรรมการเรียนได้อย่างเหมาะสม ตามลักษณะของสื่อที่นำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นๆ

5. สื่อ/เทคโนโลยีในการสอนแบบเอกัตบุคคล การสอนแบบเอกัตบุคคลเป็นวิธีสอนที่กำลังได้รับความสนใจกันมากในปัจจุบัน การสอนแบบนี้มุ่งให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง หรือเรียนเป็นรายบุคคลภายใต้คำแนะนำหรือการชี้แนะของครู โดยอาศัยระบบสื่อที่จัดขึ้นไว้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามจุดมุ่งหมายของการสอน

6. ช่วยการศึกษาพิเศษ สื่อการสอนสามารถจัดขึ้นมาเพื่อช่วยให้การศึกษาแก่คนพิการได้เป็นอย่างดี เรียกว่าสื่อช่วยในการจัดการศึกษาพิเศษได้

7. สื่อการสอนกับการศึกษานอกระบบ จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความรู้ทางวิชาการ สื่อการสอนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการให้การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในหรือ นอกห้องเรียน ตลอดจนการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 216803เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท