การเรียนรู้กับการเรียนการสอนหน่วยที่2


การเรียนรู้กับการเรียนการสอนหน่วยที่2

ระบบ

ระบบ คือหน่วยรวมของสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างมีระเบียบและสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผล เพื่อให้การดำเนินงานนั้นบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จากนิยามดังกล่าวระบบจึงมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1) จุดมุ่งหมาย
2) กระบวนการ
3) ส่วนประกอบต่างๆ


องค์ประกอบของระบบและวิธีระบบ
ระบบโดยทั่วไป จะมีองค์ประกอบดังนี้

1) สิ่งนำเข้า (Input) ได้แก่ การกำหนดปัญหา จุดมุ่งหมายทรัพยากรที่ใช้
2) กระบวนการ (Process) ได้แก่การลงมือแก้ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูล การนำวัตถุดิบมาใช้ มาจัดกระทำอย่างเหมาะสมเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย
3) ผลผลิต (Output) คือผลที่ได้จากการแก้ปัญหาหรือสรุปการวิเคราะห์เพื่อประเมินต่อไป
4) ผลย้อนกลับ (Feedback) คือการตรวจสอบผลผลิตเพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวจะมีความสัมพันธ์กันในการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานและการแก้ปัญหาเพื่อทำให้ผลที่ได้มีประสิทธิภาพการดำเนินงานลักษณะนี้เรียกว่า วิธีระบบ (System Approach)
           แนวคิดเรื่องระบบนี้ นำมาใช้ครั้งแรกในวงการอุตสาหกรรม และการทหารก่อน ต่อมาจึงมีผู้นำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเรียกว่า ระบบการสอน (Instructional System) จุดมุ่งหมายสำคัญของระบบการสอนก็คือการนำวิธีระบบมาใช้ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการออกแบบ หรือวางแผนการสอนอย่างมีระบบนั่นเอง

 

รูปแบบการสอนโดยใช้รูปแบบจำลอง ASSURE
การใช้รูปแบบการสอน แบบ ASSURE เป็นวิธีระบบรูปแบบหนึ่งที่นำมาจากแนวคิดของไชน์พิชและคณะ (1993) โดยมีระบบการดำเนินงานตามลำดับขั้นดังนี้
A = ANALYZE LEARNER'S CHARACTERISTICS การวิเคราะห์ผู้เรียน ที่สำคัญได้แก่ การวิเคราะห์พฤติกรรมเบื้องต้นและความต้องการของผู้เรียน ทั้งในด้าน 1. ข้อมูลทั่วไป เช่น อายุ เพศ ระดับการศึกษา เจตคติ ระบบสังคม วัฒนธรรม 2. ข้อมูลเฉพาะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนการสอน เช่น ประสบการณ์เดิม ทักษะ เจตคติ ความรู้พื้นฐาน และความสามารถในบทเรียนนั้นเพียงใด การวิเคราะห์จะช่วยให้ผู้สอน สามารถตัดสินใจเลือกสื่อและจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
S = STATE LEARNING OBJECTIVES AND CONTENTการกำหนดจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายการเรียนที่ดี ควรเป็นข้อความที่แสดงลักษณะ สำคัญ 3 ประการคือ
1. วิธีการปฏิบัติ PERFORMANCE (ทำอะไร) การเขียนจุดมุ่งหมายควรใช้คำกริยาหรือข้อความที่สังเกตพฤติกรรมได้ เช่น ให้คำจำกัดความ อธิบาย บอก หรือจำแนก เป็นต้น

2. เงื่อนไข CONDITIONS (ทำอย่างไร) การเขียนจุดมุ่งหมายการเรียน ควรกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นภายใต้การปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ การกำหนดเงื่อนไข เช่น บวกเลขในใจโดยไม่ใช้กระดาษวาด หรือ ผสมแป้งโดยใช้ช้อน เป็นต้น

3. เกณฑ์ CRITERIA (ทำได้ดีเพียงไร) มาตรฐานการปฏิบัติซึ่งควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เช่นระดับของความสามารถในการปฏิบัติ ระดับของความรู้ที่จำเป็น เพื่อการศึกษาต่อในหน่วยการเรียนที่สูงขึ้นไป
S = SELECT, MODIFY OR DESIGN MOTHODS AND MATERIALS การกำหนดสื่อการเรียนการสอน อาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการดังนี้ คือ
1) การเลือกใช้สื่อการเรียนการสอน

2) ดัดแปลงจากสื่อวัสดุที่มีอยู่แล้ว

 3) การออกแบบสื่อใหม่
U = UTILIZE METHODS AND MATERIALS กิจกรรมการใช้สื่อการเรียนการสอน พิจารณาได้ 3 ลักษณะคือ 1) การใช้สื่อประกอบการสอนของผู้สอน เช่น ประกอบคำบรรยาย และอธิบาย 2) การใช้สื่อเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนของผู้เรียน เช่น ชุดการสอน บทเรียนด้วยตนเอง 3) การใช้สื่อร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน เช่น เกม สถานการณ์จำลอง และการสาธิต การมีส่วนร่วมของผู้เรียน การใช้สื่อการเรียนการสอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมี ส่วนร่วมหรือได้ลงมือกระทำร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนได้มากที่สุด
R = REQUIRE LEARNER'S RESPONSE การกำหนดพฤติกรรมตอบสนองของผู้เรียน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั้น ผู้เรียนจะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองและมีการเสริมแรง สำหรับการพฤติกรรมการตอบสนองที่ถูกต้องอยู่เสมอ เช่น การให้สังเกตไปจนถึงการให้ทำโครงการหรือออกแบบสิ่งของต่าง ๆ การที่ผู้สอนให้ข้อมูลย้อนกลับทันทีต่อการตอบสนองของผู้เรียน จะทำให้แรงจูงใจในการเรียนและการเสริมแรงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
E = EVALUATION การประเมินผล ควรพิจารณาทั้ง 3 ด้านคือ
1) การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
2) การประเมินสื่อและวิธีใช้
3) การประเมินกระบวนการเรียนการสอน

 

การออกแบบการสอน
1) ความหมายของการออกแบบ หมายถึง การนำความรู้ทางทฤษฎี มาจัด รูปแบบในการจัดดำเนินงาน หรือวางแผนระบบการเรียนการสอนและทรัพยากรการเรียน ดังนั้น การออกแบบจึงช่วยให้ได้แผนงานหรือรูปแบบการดำเนินงาน ด้วยความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงาน
2) องค์ประกอบหลักในการออกแบบการสอน

            การออกแบบการสอน เป็นการวางแผนการสอนอย่างมีระบบ จุดเริ่มของการออกแบบการ สอน ก็คือ การคิดพิจารณาองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของระบบและพิจารณาสภาพทั่วไปเกี่ยวกับการเรียนการสอน ดังนั้น การออกแบบระบบการสอนจึงต้องพิจารณาเรื่องต่างๆ ด้วยการตอบคำถามสำคัญ 4 ประการ ดังนี้

 1. โปรแกรมการสอนนี้จะออกแบบสำหรับใคร (คำตอบก็คือผู้เรียน ดังนั้น ขั้นแรกจึงต้องศึกษา คุณลักษณะของผู้เรียน)
 2. ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้อะไร หรือ มีความสามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง (คำตอบก็คือ จุดมุ่งหมายการเรียน)
 3. เนื้อหาวิชาหรือทักษะต่างๆ ที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาให้บรรลุจุดมุ่งหมายการเรียนนั้น ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดอย่างไร (คำตอบก็คือ ต้องคิดหาวิธีสอน สื่อและกิจกรรมการเรียนการสอน ฯลฯ)
 4. จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ หรือเกิดการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด (คำตอบก็คือ ต้องคิดหาวิธีประเมินการเรียนและการสอน)

             กล่าวโดยสรุป คำตอบทั้ง 4 ประการข้างต้น ก็คือ องค์ประกอบเบื้องต้นในการพัฒนาหรือการวางแผนการเรียนการสอน องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ออกแบบระบบการเรียนการสอน จะต้องพิจารณาองค์ประกอบเบื้องต้นทั้ง 4 ประการนี้อย่างรวมๆ ร่วมกันทั้งหมดก่อนที่จะออกแบบระบบการสอน

 

การออกแบบระบบการสอน

จากองค์ประกอบหลักทั้ง 4 ประการดังกล่าวมาแล้วนั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์ในการออกแบบการสอน จะได้ขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญ 10 ประการ คือ
 1. สำรวจหรือศึกษาความต้องการการเรียนรู้ (Learning Needs) เพื่อออกแบบโปรแกรมการเรียนการสอน กำหนดวัตถุประสงค์ (Goals) การพิจารณาความจำเป็นบังคับและความจำเป็นก่อนหลัง
 2. เลือกเรื่องและ/หรือภารกิจต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ และกำหนดความมุ่งหมายทั่วไป
 3. ศึกษาคุณลักษณะผู้เรียน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน
 4. วิเคราะห์เนื้อหาและหรือภารกิจที่จะสอนให้ละเอียด
 5. กำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนตามลักษณะเนื้อหาและองค์ประกอบของภารกิจ
 6. กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะทำให้การเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมาย
 7. เลือกทรัพยากรการเรียนการสอนต่างๆ (Instructional Resources) ที่จะช่วยให้กิจกรรม การเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
 8. บริการสนับสนุนการพัฒนาระบบการเรียนการสอน และส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการ สอน ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้รวมไปถึงเรื่องการผลิตสื่อ และวัสดุการเรียนการสอนด้วย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 216806เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท